Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา มวลชนกรรมกรราว 250 คนทำการเคลื่อนไหวชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ลงมาแก้ไขปัญหาแรงงานที่พวกเขากำลังประสบ


 


กลุ่มผู้ชุมนุมหลักเป็นกรรมกรผลิตเครื่องประดับส่งนอก จากบริษัทอัลมอนด์ ประเทศไทย ซึ่งเปิดโรงงานการผลิตอยู่ที่มีนบุรี กรุงเทพฯ โดยมีกรรมกรจากโรงงานผลิตยางรถยนต์ กู๊ดเยียร์ รังสิต ที่กำลังมีปัญหากับนายจ้างเช่นกันร่วมสมทบการชุมนุม


 


กรรมกรผลิตเครื่องประดับชี้แจงเหตุผลที่มาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลว่าเป็นเพราะพวกเขาซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานถูกนายจ้างปิดงานโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา และไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากการเคลื่อนไหวชุมนุม


 


"ปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงาน"


สมาชิกสหภาพแรงงาน 254 คน ถูกนายจ้างใช้มาตรการกดดันด้วยการปิดงานหรือการห้ามไม่ให้เข้าทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างเพื่อบีบให้สหภาพแรงงานยอมรับเงื่อนไขการจ้างงานที่นายจ้างกำหนด รวมถึงการเรียกสวัสดิการที่เคยให้ลูกจ้างคืน โดยนายจ้างยื่นข้อเสนอเงื่อนไขการจ้างงานใหม่ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต่อลูกจ้างของบริษัทอัลมอนด์ 578 คนทันทีที่สหภาพแรงงานเซ็นต์ยอมรับ และถอนข้อเรียกร้องของสหภาพที่ยื่นต่อนายจ้างเพื่อเพิ่มสวัสดิการคนงาน ซึ่งสหภาพแรงงานทุกแห่งมีหน้าที่รวบรวมข้อเรียกร้องจากคนงาน นำเสนอต่อนายจ้าง เจรจาต่อรองเพื่อการปรับปรุงสวัสดิการของคนงานให้ดีขึ้น การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานอัลมอนด์ ทำทุก 2-3 ปี


 


ข้อเรียกร้องของสมาชิกสหภาพแรงงานอัลมอนด์ในปีนี้ เรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่ารถโดยสารมาทำงาน 8 บาทตามอัตราค่าโดยสารรถประจำทาง ให้นายจ้างจ่ายค่าอาหารมื้อกลางวันทั้งหมดโดยไม่หักจากคนงาน ปรับพนักงานรายวันที่กินค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 191 บาท เป็นพนักงานรายเดือน ปรับค่าจ้างขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ให้ลูกจ้างรับเหมา (พนักงานที่ถูกจ้างแบบชั่วคราว) ได้รับสวัสดิการเท่ากับพนักงานประจำ พนักงานที่ทำงานมา 10 ปีขึ้นไปให้มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มปีละ 1 วัน ให้บริษัทอัลมอนด์จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับคนงาน


 


ข้อเสนอของนายจ้าง "ตามที่เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดสภาพแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถอยู่รอดและมีความสามารถในการแข่งขัน บริษัทฯ จึงขอยื่นแจ้งข้อเรียกร้อง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อสหภาพแรงงานอัลมอนด์….บริษัทฯ สนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายภายในบริษัทฯ เพื่อช่วยหลือให้พนักงานสามารถกู้ยืมได้ในกรณีที่จำเป็น โดยบริษัทฯจะจ่ายเงินช่วยเหลือการก่อตั้งสหกรณ์ ให้เป็นทุนเริ่มต้น 100,000 บาท…ให้ค่าช่วยเหลืองานแต่งงานครั้งแรกที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายรายละ 2,000 บาท…กรรมการสหภาพแรงงานอัลมอนด์ และสมาชิกทุกคน ต้องใช้เวลาในการทำงานให้เต็มเวลาตามที่บริษัทฯ กำหนด พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ขอยกเลิกสิทธิการลาของกรรมการสหภาพฯ ที่นอกเหนือจากมาตรา 102 แห่ง พรบ. แรงงานสัมพันธ์ พ.. 2518 …ให้ข้อตกลงฯ มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี"


 


"เลิกจ้างแกนนำ" ข้อหา แขวนพระเครื่องเข้าไปในอาคารการผลิต


ก่อนการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานนายจ้างประกาศเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงาน 4 คนรวมประธานสหภาพแรงงาน ปทุม คำดีวัน ด้วยข้อหา แขวนพระเครื่องเข้าไปในอาคารการผลิต สหภาพแรงงานจึงนำเรื่องขึ้นสู่ศาลเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและให้นายจ้างรับแกนนำที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน


 


เวลาผ่านไป 1 ปี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าลูกจ้างมีความผิดกรณีแขวนพระเข้าอาคารการผลิต เพราะเป็นการละเมิดกฎระเบียบของบริษัท โดยความเห็นของศาล สายห้อยพระเครื่องซึ่งทำจากเชือกร่มถือเป็นเครื่องประดับ ดังนั้นจึงเป็นการขัดต่อกฎระเบียบที่ห้ามการนำเครื่องประดับใดๆเข้าอาคารการผลิต


 


แกนนำการเจรจาข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานทั้ง 4 คนจึงถูกเลิกจ้างตามที่นายจ้างต้องการ เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีดังกล่าวในวันที่ 6 กันยายน 2549


 


7 ปีที่แล้ว เมื่อกรรมกรบริษัทอัลมอนด์รวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงาน นายจ้างประกาศเลิกจ้างผู้ก่อการทั้งหมด 45 คน และฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้าง 43 ล้านบาทต่อคน มีกรรมการสหภาพแรงงาอัลมอนด์ที่ถูกฟ้องทั้งหมด 19 คน รวมเป็นเงินทั้งหมด 817 ล้านบาท ข้อหาทำให้บริษัทเสื่อมเสีย ในที่สุด สหภาพแรงงานได้ประสานไปยังขบวนการแรงงานสากล โดย "โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย" ให้ความช่วยเหลือในการสื่อสารกับ "สหพันธ์แรงงานนานาชาติของคนงานในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ เหมืองแร่ พลังงาน และคนงานทั่วไป" ซึ่งเกิดขึ้นโดยการรวมตัวกันของสหภาพแรงงานใน 125 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยและมีสมาชิกทั่วโลกประมาณ 20 ล้านคน หลังจากที่สหภาพแรงงานอัลมอนด์ แจ้งปัญหาการละเมิดสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ได้เกิดการขับเคลื่อนของคนงานในประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกาซึ่งบริษัทอัลมอนด์ เปิดสำนักงานใหญ่อยู่ที่นั่น มีการชุมนุมในย่านค้าเพชร พลอย และเครื่องประดับราคาแพงในกรุงนิวยอร์ค ในที่สุดบริษัทหันกลับมาเจรจากับสหภาพแรงงาน รับแกนนำกลับเข้าทำงาน ยุติคดีความทางศาล และทำข้อตกลงกับสหภาพว่าจะไม่แทรกแซง หรือขัดขวาง การดำเนินงานของสหภาพแรงงาน


 


"1 โรงงาน 4 นายจ้าง"


คนงานอัลมอนด์ที่มาร่วมการชุมนุมของสหภาพแรงงานมีมาจากทุกแผนกการผลิต ทั้งแผนกเชื่อม แผนกขึ้นรูป แผนกขัดเงา แผนกหล่อ แผนกตัด (Diamond Cutting) พวกเธอใส่ชุดเครื่องแบบแตกต่างกันหลายหลายสี มีทั้งสีแดง สีเขียว สีชมพู สีฟ้า สีเหลือง สีไข่ไก่ สีขาวลาย เมื่อถูกถามว่าเธอเป็นพนักงานบริษัทอัลมอนด์ใช่หรือไม่ และทำงานที่โรงงานนี้มานานเท่าไหร่ คนหนึ่งตอบว่าเธอเป็นพนักงานบริษัท อัลมอนด์มา 15 ปีแล้ว และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมาตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 7 ปีที่แล้ว


 


อีกคนหนึ่งบอกว่าเธอทำงานที่โรงงานแห่งนี้มา 3 ปี แต่เธอยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานบริษัทอัลมอนด์ ทุกวันนี้ถึงแม้จะทำงานที่อัลมอนด์ แต่เธอกินค่าจ้างจากบริษัทเอเย่นต์ที่รับจ้างเหมาส่งแรงงานให้กับอัลมอนด์อีกต่อหนึ่ง เมื่อถามว่าเธอเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือไม่ เธอบอกว่ายังไม่ได้เป็น เพราะเสี่ยงเกินไปที่นายจ้างจะรู้และจะต้องถูกเลิกจ้าง เมื่อถามต่อว่าทำไมถึงมาร่วมการชุมนุม เธอบอกว่าเพราะสหภาพแรงงานอัลมอนด์กำลังเรียกร้องสวัสดิการให้ "คนงานเหมาช่วง" (คนงานที่ถูกจ้างผ่านบริษัทเอเย่นต์) อย่างเธอ ให้ได้เหมือนคนงานประจำที่บริษัทอัลมอนด์จ้างโดยตรง เธอจึงมาร่วมการชุมนุมถึงแม้ว่าจะต้องแอบอยู่ข้างหลังเพราะกลัวหัวหน้างานจะมาเห็นเข้า


 


คนงานหญิงอีกคนหนึ่งบอกว่าเธอทำงานที่นี่มา 5 เดือนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการบรรจุ และยังอยู่ในช่วงทดลองงาน ถ้าผ่านทดลองงาน ก็อาจจะสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน" เมื่อถูกถามว่าเธอลังเลเพราะไม่แน่ใจในสหภาพแรงงานอัลมอนด์ใช่หรือไหม เธอบอกว่าไม่ใช่ แต่เป็นเพราะ "กฎหมายแรงงานห้ามไม่ให้ลูกจ้างที่มีนายจ้างเป็นคนละนิติบุคคลรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเดียวกัน"


 


"ชีวิตกรรมกรเหมาค่าแรงและลูกจ้างชั่วคราวระยะยาว"


ในเงื่อนไขของการไม่มีสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างประจำปี กรรมกรเหมาค่าแรงเลี้ยงชีพด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หมายถึงวันละ 191 บาทต่อวัน ถ้าอยู่ในเขตอยุธยา หมายถึง 160 บาทต่อวัน ไม่มีสวัสดิการอื่น นอกจากเบี้ยขยัน (ในเงื่อนไข ไม่ขาดลา มาสาย) ในความเป็นจริงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวไม่สามารถตอบสนองการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐานของกรรมกรในเขตเมือง ทางออกของพวกเขาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้คือการทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้ค่าจ้างที่เพียงพอแก่การยังชีพ จ่ายค่าเช่าห้อง ค่ารถมาทำงาน ใช้หนี้ ส่งไปให้พ่อแม่และลูกที่อยู่บ้านนอก คนงานเหมาค่าแรงส่วนใหญ่ทำงานเฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ค่าจ้าง 286 บาทต่อวัน และการขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างหลังเลิกงานโรงงานเป็นอีกทางหนึ่งของการหารายได้ของกรรมกรโรงงาน


 


ก่อนการเกิดไฟไหม้โรงงานผลิตยางรถยนต์ของบริษัทกู๊ดเยียร์ที่รังสิตซึ่งทำให้นายจ้างประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด สมาชิกสหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทยได้นำปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างบริษัทกู๊ดเยียร์กับสมาชิกสหภาพแรงงานเข้าสู่การพิจารณาของศาลแรงงานกรณีบริษัทไม่จ่ายสวัสดิการให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานที่บริษัทว่าจ้างแบบสัญญาปีต่อปีมาเป็นระยะเวลานานถึง 10 ปี ลูกจ้างกลุ่มนี้ถูกเลิกจ้างก่อนที่จะครบกำหนดเวลาเซ็นต์สัญญาการจ้างรอบใหม่ ลูกจ้างจึงนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อันเป็นกระบวนการไตรภาคี ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตัดสินว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพราะลูกจ้างกลุ่มนี้มีบทบาทในการทำข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานในช่วงที่ผ่านมา แต่นายจ้างฟ้องร้องศาลแรงงานให้ล้มคำตัดสินของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้เป็นผลสำเร็จ อีกทั้งประกาศเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานที่ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสวัสดิการของลูกจ้างชั่วคราวระยะยาวกลุ่มนี้


 


สมาชิกสหภาพแรงงานคนทำยาง 2 คนได้จบชีวิตลงด้วยโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ในระหว่างที่รอคำพิพากษาของศาล และอีกหลายชีวิตที่เหลืออยู่กลายเป็นคนงานเร่ร่อน วันหนึ่งมีงานทำ อีกวันหนึ่งตกงาน…


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net