Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 26 เม.ย. 50 เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มีเสวนาเรื่อง ออกแบบสถานีอนามัยอย่างไร ได้ใจผู้สูงอายุ โดย ผศ.ร.อ.หญิง ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้สูงอายุว่า ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ การสาธารณสุขและการพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีชีวิตที่ยาวนานขึ้น โดยจากอัตราการเกิดที่สูงในอดีตทำให้ประชากรกลุ่มนี้เคลื่อนตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ ขณะที่การรณรงค์เรื่องการคุมกำเนิดก็ประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชากรวัยเด็กลดลง และประชากรวัยแรงงานและวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยกลับก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยขณะที่เวลส์ ในอังกฤษ ใช้เวลาถึง 107 ปี ในการมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 14% แต่ไทยกลับใช้เวลาเพียง 30 ปีเท่านั้น


 


ทั้งนี้ ขณะที่ผู้สูงอายุมากขึ้น แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ และเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม มีการเคลื่อนย้ายแรงงานหนุ่มสาวเข้าสู่เมือง ผู้หญิงซึ่งมักเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุก็ทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ศักยภาพของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุลดลง  


 


ด้านความเจ็บป่วยและภาวะทุพพลภาพของผู้สูงอายุ ด้วยการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ การพยาบาลและการสาธารณสุข ทำให้อัตราการตายด้วยโรคติดเชื้อเกือบหมดไป ทำให้คนรอดชีวิตและมีอายุยาวขึ้น หากแต่ก็ทำให้ผู้รอดชีวิตมีความพิการหลงเหลือ รวมทั้งผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง กลับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาวะเจ็บป่วยเหล่านี้รักษาไม่หาย มีภาวะพึ่งพิง ต้องการการดูแลต่อเนื่องและระยะยาว ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขาดระบบการดูแลผู้เจ็บป่วยทั้งในสถานบริการและในชุมชนที่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ทั้งยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลที่แท้จริง


 


ด้าน รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื่องจากผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้นและเจ็บป่วยมากขึ้น ทำให้ต้องใช้บริการสถานพยาบาลมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ.2548 ซึ่งจะช่วยบังคับให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอาคารที่เอื้อต่อคนไข้ กลับบังคับใช้เฉพาะอาคารใหม่เท่านั้น โดยไม่มีบทลงโทษกับอาคารเก่ากรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม


 


ดังนั้น จึงการวิจัยในโครงการพัฒนาต้นแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุของสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จึงเกิดขึ้น โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างจากสถานีอนามัยและศูนย์บริการสาธารณสุข 38 แห่ง ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ใช้แบบสอบถามข้อมูลผู้สูงอายุ เด็กและผู้พิการ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและแบบสำรวจสถานีอนามัย


 


ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า โครงสร้างของศูนย์บริการสาธารณสุขค่อนข้างพอใช้ ยกเว้นที่จอดรถที่ไม่เพียงพอ ขณะที่ผู้สูงอายุที่ใช้สถานีอนามัยในนครศรีธรรมราช แสดงความเห็นว่า ราวจับและห้องน้ำควรต้องปรับปรุง


 


กลุ่มตัวอย่างเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสารธารณสุขใน กทม. เห็นว่า โครงสร้างของศูนย์บริการสาธารณสุขค่อนข้างสะดวกกับผู้สูงอายุ ด้านกลุ่มตัวอย่างเจ้าหน้าที่ในต่างจังหวัด เห็นว่า ควรมีการปรับปรุงทางลาด ที่จอดรถ บันได ราวจับ และห้องน้ำ


 


ทั้งนี้ การวิจัยได้เสนอให้ปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุขเดิม โดยจัดให้มีที่จอดรถด้านหน้า และมีทางลาดที่มีพื้นผิวเพื่อให้สะดวกต่อผู้สูงอายุ ส่วนประตูทางเข้าและหน้าต่างอาคาร ควรเป็นแบบบานเลื่อนเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งปรับห้องน้ำ บันได ราวจับ และวัสดุปูพื้นให้เหมาะกับผู้สูงอายุ


 


ส่วนสถานีอนามัยในต่างจังหวัด หากเดิมเป็นสถานีแบบสองชั้น ใต้ถุนโล่ง ควรย้ายคลีนิกผู้สูงอายุมาอยู่ที่ชั้นล่างเพื่อความสะดวกของผู้สูงอายุ รวมทั้งเปลี่ยนเครื่องสุขภัณฑ์ให้เหมาะกับผู้สูงอายุด้วย ทั้งนี้ หากมีการยกพื้น พื้นและอาคารควรมีระยะห่าง 40 ซม. เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางได้สะดวก


 


นอกจากนี้ อาจเพิ่มพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์สำหรับผู้สูงอายุด้วยกัน เช่น ติดตั้งศาลา ม้านั่งสนาม


 


อย่างไรก็ตาม นอกจากงานวิจัยนี้แล้ว รศ.ไตรรัตน์ กล่าวว่า ต่อไปจะยังศึกษาระยะเวลาของสัญญาณไฟจราจรในกทม. ด้วยว่า สัญญาณไฟแดงนั้น นานพอที่ผู้สูงอายุจะข้ามถนนได้หรือไม่ เนื่องจากถนนบางแห่ง มักเร่งระบายรถออก จนมีระยะเวลาเปิดสัญญาณไฟแดงเพียงเล็กน้อย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net