Skip to main content
sharethis

เมื่อวัน 13 เม.ย.50 กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หรือ AHRC ออกแถลงการณ์กรณีที่มีเด็กนักเรียนและประชาชนถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และต่อมา พ.อ. อัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองทัพบกได้ให้สัมภาษณ์ว่าการยิงดังกล่าวเป็นความชอบธรรมของ ชรบ. เพราะเป็นการ "ป้องกันตนเอง" เนื่องจากกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวได้เข้ามาทำร้ายโดยใช้ "ไม้และก้อนหิน"  ดังนี้


 


 


ประเทศไทย: การฆาตกรรมไม่ใช่ข้ออ้างของการป้องกันตนเอง


 


จากเหตุการณ์ที่มีเด็กนักเรียนและประชาชนถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และต่อมา พ.อ. อัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองทัพบกได้ให้สัมภาษณ์ว่าการยิงดังกล่าวเป็นความชอบธรรมของ ชรบ. เพราะเป็นการ "ป้องกันตนเอง" เนื่องจากกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวได้เข้ามาทำร้ายโดยใช้ "ไม้และก้อนหิน"


 


กฎเกณฑ์ของการใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองคืออะไร? หลักการพื้นฐานของสหประชาชาติในการใช้กำลงและอาวุธของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย (The UN Basic Principle on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ได้กล่าวถึงบรรทัดฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่า ต้องใช้หลักการสันติวิธีก่อนการใช้อาวุธ และหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้อาวุธ เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายก็ต้องเลือกใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ โดยต้องเคารพและปกป้องชีวิตของมนุษย์ นั่นหมายถึงว่า การยิงเพื่อป้องกันตนเองสามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือ "เพื่อป้องกันการคุกคามในขั้นที่อาจต้องสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บอย่างร้ายแรง" หรือในกรณีที่มีบุคคลกำลังกระทำการเช่นว่าต่อผู้อื่น  ในหลักการได้เน้นย้ำว่า "ไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม การใช้อาวุธอาจสามารถกระทำได้กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์แห่งการป้องกันชีวิต"


 


ในหลักการดังกล่าวยังได้ระบุถึงลักษณะที่สำคัญอื่นๆ ในการมอบหมายและอนุญาตให้ครอบครองอาวุธ  ที่สำคัญคือ การพกพาอาวุธควรอนุญาตให้แก่เฉพาะผู้ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ซึ่งควรมีการทดสอบเป็นระยะ และการอนุญาตให้มีอาวุธควรได้รับการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการและฝ่ายปกครอง อีกทั้งยังควรกำหนดให้ผู้มีอำนาจในการอนุญาต ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการมีอาวุธของผู้ได้รับอนุญาตด้วย "บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังและอาวุธหรือผู้แทนตามกฎหมาย" "ควรจะต้องเข้าสู่กระบวนการที่เป็นอิสระ รวมทั้งกระบวนการทางศาล ในกรณีของการเสียชีวิตของบุคคลเหล่านี้ หลักการนี้ก็จะตีความรวมไปถึงผู้สืบสันดานด้วย


 


ในระบบที่การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ หลักการเหล่านี้จะได้รับการนำมาปฏิบัติ ซึ่งรวมถึง การฝึกอบรมอย่างเข้มข้น การมีคู่มือการใช้งานหรือการปฏิบัติการ และหลักเกณฑ์ของกฎหมายและการบริหาร เพื่อที่จะลดปัญหาการใช้อาวุธในทางที่ผิดและเพื่อดำรงไว้ซึ่งการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ต่อผู้ที่ถูกทำร้ายโดยอาวุธเหล่านั้น


 


แต่การปฏิบัติในประเทศไทยกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เพราะตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายอื่นๆ กลับใช้อาวุธกันอย่างเสรี ภายใต้ระบบการบังคับบัญชาที่หละหลวม ที่หัวหน้าเข้าใจว่าตนเองมีหน้าที่ในการปกป้องลูกน้องเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ในการอบรมสั่งสอน ความง่ายในการใช้อาวุธเข่นฆ่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่มีการวิสามัญฆาตกรรมในสงครามยาเสพติด ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิตมากมาย กรณีนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการใช้อาวุธไปในทางที่ผิดอย่างเป็นระบบของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความบกพร่องของศาลและภาคส่วนอื่นๆ ของระบบยุติธรรมที่ไม่สามารถหาวิธีการคลี่คลายปัญหาได้


 


ในสถานการณ์ทางภาคใต้อันร้อนระอุที่เต็มไปด้วยภยันตรายนี้ ทางเลือกในการใช้อาวุธถูกทำให้อยู่ในอันดับต้น ทั้งๆ ที่ควรจะอยู่ในอันดับท้ายที่สุด รัฐบาลรัฐประหารชุดปัจจุบันที่ดูเหมือนจะสนับสนุนมาตรการสมานฉันท์ แต่ในทางปฏิบัติกลับทำเช่นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่านมา นั่นคือการเพิ่มจำนวนทหาร ตำรวจ และเพิ่มจำนวนอาวุธให้อยู่ในมือของผู้ที่อาจก่อความผิดพลาดโดยง่าย เช่น ทหารพราน และชาวบ้านที่อยู่ในภาวะหวาดกลัวและอาจถูกทำให้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความรับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นสิ่งที่ยังไม่ดำรงอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


การฆาตกรรมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการป้องกันตนเอง การกล่าวว่ากลุ่มวัยรุ่นสมควรได้รับผลลัพธ์เช่นนี้เพราะได้ทำการขว้างปาท่อนไม้และก้อนหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่นั้น ถือเป็นคำกล่าวที่ขัดกับทั้งหลักกฎหมายและศีลธรรม แต่ดูเหมือนพ.อ.อัคร ทิพโรจน์ จะพูดถูกอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ว่าจะไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายต่อชรบ. เพราะพวกเขาทำตามหน้าที่ และหน้าที่ที่ว่าภายใต้ พรก.ฉุกเฉินนั้นก็คือการที่เจ้าหน้าที่สามารถทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า การควบคุมตัว การค้นสถานที่ และอะไรอื่นๆ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดหากตนได้กระทำขึ้น


 


นอกจากนี้ หลักการพื้นฐานของสหประชาชาติในเรื่อง การใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย ยังประกอบไปด้วยหลักการที่สำคัญอีกสองส่วนได้แก่


 


"รัฐบาลควรสร้างกระบวนการให้เกิดความเชื่อมั่นว่า การใช้กำลังหรืออาวุธอย่างไม่ระมัดระวัง หรือในทางที่ผิด โดยเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายจะต้องถูกลงโทษทางอาญาภายใต้หลักกฎหมาย"


 


"สถานการณ์พิเศษต่างๆ เช่น ความไม่สงบทางการเมืองหรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมให้เบี่ยงเบนหลักการพื้นฐานนี้ได้"


 


รัฐบาลไทยจะตอบคำถามต่อสหประชาชาติอย่างไร ต่อเรื่องการใช้อาวุธทำร้ายประชาชนเช่นนี้?


 


 


 


 


----------------


หมายเหตุ - กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หรือ AHRC เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ที่ทำงานด้านการตรวจสอบและรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย AHRC ก่อตั้งปี 2527 และมีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net