Skip to main content
sharethis


ไม่นานมานี้ผู้สื่อข่าว "พลเมืองเหนือ" ได้นำเรือแจวขนาดเล็กพายสำรวจสภาพแม่น้ำปิง ตั้งแต่ช่วงสะพานป่าตัน จนกระทั่งถึง บริเวณสะพานนวรัฐ โดยสำรวจพบสภาพแม่น้ำมีความขุ่นข้นมาก บริเวณพื้นที่ชายตลิ่งที่เป็นดินมีลักษณะทรุดตัวลงบางช่วง และจากการสำรวจความลึกพบว่าแม่น้ำปิงมีความลึก - ตื้นไม่เท่ากันตั้งแต่ระดับ 1 - 10 เมตร นอกจากนี้บางจุดของแม่น้ำปิงยังเริ่มส่งกลิ่นเหม็น และพบว่ามีปลาลอยตายขึ้นมา ประกอบกับมีขยะลอยอยู่เป็นระยะๆ และฟองอากาศลอยอยู่บนผิวน้ำเป็นจำนวนมาก รวมทั้งบางจุดพบเห็นคราบน้ำมัน และไขมันลอยปกคลุมอย่บนผิวน้ำ พร้อมกันนี้ได้สังเกตพฤติกรรมของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณริมแม่น้ำพบว่ามีบางรายนำขยะมาทิ้งลงแม่น้ำ


สิ่งแวดล้อมแจงค่าคุณภาพน้ำปิงต่ำลง                                                                                  นางนันทินี รักรุ่งเรือง นักวิชาการสิ่งแวดล้อม 8 ว. สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เผยสถานการณ์คุณภาพน้ำในแม่น้ำปิงบริเวณเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ว่า ในอดีตส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 2 ซึ่งเป็นระดับที่ดี สามารถนำน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ โดยผ่านการฆ่าเชื้อโรคและปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยทั่วไปก่อน แต่จากผลการเก็บตัวอย่างน้ำตามจุดต่างๆ ของแม่น้ำปิงในปี 2549 ล่าสุดเดือนที่ผ่านมาพบว่า แม่น้ำปิงมีค่าเฉลี่ยคุณภาพน้ำทั้งปีอยู่ในเกณฑ์พอใช้ โดยมีค่าออกซิเจนละลายน้ำ(DO) ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 6.71 ค่าปริมาณความสกปรกของน้ำ(BOD) เฉลี่ยอยู่ที่ 1.25 ค่าแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม (TCB) อยู่ที่ 13,160 และค่าเฉลี่ยแบคทีเรียกลุ่มฟีคัล โคลิฟอร์ม อยู่ที่ 1,744                                                                                                                                 


นางนันทินี เผยถึงสาเหตุที่ทำให้คุณภาพของน้ำในแม่น้ำปิงเสื่อมโทรมลงว่า เกิดจากการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มในปริมาณที่สูง อาจมาจากการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ โดยเฉพาะในบางพื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ตนได้รับแจ้งว่าช่วงกลางคืนมีชาวบ้านบางรายลักลอบนำขยะมาทิ้งลงในแม่น้ำ นอกจากนี้การดูดทรายก็มีผลเช่นกัน เพราะจะทำให้น้ำเกิดการขุ่นข้นมากยิ่งขึ้น และทำให้ระดับค่าออกซิเจนละลายน้ำลดลง เนื่องจากมีถูกแทนที่ด้วยตะกอนต่างๆ โดยจะส่งผลโดยตรงกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ แต่ผลกระทบของการดูดทรายจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่จะผลกระทบโดยตรงกับคุณภาพน้ำ แต่จะเป็นการส่งผลในเชิงของระบบนิเวศน์


"ส่วนใหญ่ปัญหานี้จะเกิดจากชุมชน และอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ เนื่องจากไม่มีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำ นอกจากนี้บ่อบำบัดของเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ทำขึ้นมาก็มีแค่เพียงด้านตะวันตกของแม่น้ำปิงเท่านั้น ทำให้ด้านตะวันออกไม่สามารถบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงแม่น้ำปิงได้"


ค.อ.ป.ส. อัดดูดทรายทำน้ำปิงเน่า
ดร.วสันต์ จอมภักดี ประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิง และสิ่งแวดล้อม (ค.อ.ป.ส.) ยอมรับว่าคุณภาพของระดับน้ำในแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอเมือง อยู่ในระดับ 3 - 4 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เหมาะจะใช้เพื่อการนันทนาการทางน้ำ และการอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีความสกปรก ความขุ่นข้นในระดับสูง โดยสาเหตุหลักเกิดจากการดูดทรายในลำน้ำ ส่งผลให้สิ่งที่ตกตะกอนอยู่ภายในน้ำฟุ้งขึ้นมา โดยจากเดิมสภาพท้องน้ำมีกรวดทราย แต่ภายหลังจากที่มีการดูดทรายไปใช้ประโยชน์มากทำให้ปัจจุบันนี้สภาพท้องน้ำมีแต่โคลน ประกอบกับดำเนินการดูดทรายในลักษณะที่ทำให้สภาพแม่น้ำลึกขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้เกิดในท้องน้ำเกิดแอ่งมากมาย และทำให้น้ำไม่สามารถไหลเวียน ถ่ายเท ชะล้างและบำบัดของเสียด้วยตัวเองตามระบบนิเวศน์ที่ธรรมชาติได้ นอกจากนั้น ยังมีประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำทิ้งสิ่งปฏิกูลลงน้ำ ซึ่งเมื่อไม่สามารถไหลเวียนได้แล้วเมื่อมีสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ลงไปก็จะทำให้เกิดการสะสมจนกระทั่งมีสภาพเน่าเสียอย่างทุกวันนี้ สำหรับสาเหตุอื่นก็อาจมาจากการทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำ การใช้เรือยนต์ที่สภาพไม่เหมาะสมคมนาคมในลำน้ำ การปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำปิง แต่ถึงอย่างไรตนเชื่อว่าสาเหตุที่กล่าวไปนั้นเป็นเพียงแค่องค์ประกอบเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้น้ำปิงมีคุณภาพแย่ก็คือการดูดทราย                                                                                                                             


"ปีที่ผ่านมาน้ำปิงก็ขุ่นอยู่แล้ว แต่มันก็ไม่มากขนาดนี้ ถ้าวัดจากกลิ่นเองก็คงจะรู้ว่าคุณภาพอยู่ในระดับใด และจากที่มีคนมาร้องเรียน ก็ทำให้รู้เลยว่าขณะนี้น้ำปิงเริ่มวิกฤตแล้ว อีกทั้งในกระบวนการชะล้างทางธรรมชาติของตัวเอง ก็ยังทำไม่ได้ เนื่องจากมีการดูดทรายจนทำให้สภาพน้ำกลายเป็นแอ่ง ทำให้น้ำอยู่ในสภาพนิ่ง ไหลไปที่อื่นไม่ได้ ประกอบกับสิ่งปฏิกูลที่มักมีคนทิ้งลงน้ำการเกิดสะสม"


อนึ่ง ระดับตัวชี้วัดของคุณภาพน้ำในระดับผิวน้ำแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ1.ระดับ ดีมาก คือ น้ำที่ยังไม่มีการปนเปื้อน และมีความสะอาดทางธรรมชาติอยู่ในระดับสูง 2.ระดับ ดี คือ น้ำที่ยังปลอดภัยอยู่ สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ ถ้าผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรค 3.ระดับ พอใช้ คือ ไม่เหมาะจะใช้เพื่อการนันทนาการทางน้ำ และการอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีความสกปรก ความขุ่นข้นในระดับสูง 4.ระดับ ต่ำ คือ สามารถใช้เพื่อการเกษตรได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น 5.ระดับ ต่ำมาก คือ ไม่สามารถใช้ได้ แม้แต่การปรับปรุงแล้ว ก็ยังใช้ได้แค่เพียงการคมนาคมเท่านั้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net