Skip to main content
sharethis


 


สำนักข่าวประชาธรรมอุดรธานี


 


 


ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ว่า จากแผนการลงพื้นที่ของคณะทำงานเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันสร้างสรรค์สังคม กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ในพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ที่วัดโพธิ์ชัยศรีสว่าง บ้านหนองลุมพุก ต.นาม่วง กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม เมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) และในวันนี้ (20 มี.ค.) ที่อาคารอเนกประสงค์  โรงเรียนโนนสูงพิทยาคาร  อ.เมือง  จ.อุดรธานี  ทั้งสองเวทีได้มีชาวบ้านมาร่วมในเวทีกันอย่างคับคั่ง  จนทะลักห้องประชุมทั้งสองจุดดังกล่าว ซึ่งประเมินแล้วคาดว่าไม่น้อยกว่า 500 คน


 


ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประชุมของคณะทำงานฯ ในวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา แล้วมีมติร่วมกันเพื่อลงพื้นที่ รับฟังความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ 4 ตำบล เริ่มจาก ต.นาม่วง วันที่ 19 , ต.โนนสูง  ต.หนองไผ่  วันที่ 20 และสุดท้าย ต.ห้วยสามพาด วันที่ 21 มี.ค. ที่โรงเรียนสามพาดพิทยาคาร


 


อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง 2 ครั้งด้วยกัน คือ วันที่ 8 มี.ค. และวันที่ 16 มี.ค. กับ ผศ.จรูญ  ถาวรจักร  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  ในฐานะประธานคณะทำงานฯ เพื่อให้ทบทวนการลงพื้นที่จัดเวทีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ผู้แทนของฝ่ายบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดิเวลลอปเมนต์  จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ ได้ยืนยันกับคณะทำงานฯ ว่า จะยุติการเคลื่อนไหวใดๆ ในพื้นที่ทั้งหมด รวมทั้งปิดศูนย์ประชาสัมพันธ์ที่ ต.ห้วยสามพาด ในระหว่างการดำเนินการของคณะทำงาน แต่กลับพบว่าบริษัทฯ มิได้ยุติความเคลื่อนไหวดังที่รับคำกับคณะทำงาน  และศูนย์ฯ ที่ ต.ห้วยสามพาด ก็ยังทำงานกันปกติ แถมในขณะนี้ก็ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุนโครงการฯ จดชื่อชาวบ้านเพื่อเข้าร่วมเวทีโดยจ่ายหัวละ 150 บาท


 


บรรยากาศทั้งสองวัน มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก มีคณะทำงานฯ นำโดย ผศ.จรูญ  ถาวรจักร  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  ประธานคณะทำงานฯ , เจ้าหน้าที่จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) , เจ้าหน้าที่สำนักงานจากสิ่งแวดล้อม ภาค 9, ผู้แทนส่วนราชการจังหวัดอุดรธานี และ ผู้แทนบริษัทอิตาเลี่ยนไทย พร้อมด้วยพนักงานจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมบันทึกภาพและปะปนกับชาวบ้านอยู่ในเวที แต่พบว่าไม่มีคณะทำงานที่เป็นตัวแทนของฝ่ายชาวบ้าน และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) รวมทั้งชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มคัดค้านโครงการฯ เข้าร่วมเวที


 


ในเวทีผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ได้สอบถาม และแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่า มีขอบเขตถึงไหน?  และผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับเป็นอย่างไร? โดยคณะทำงานได้ตอบข้อซักถามว่า จะต้องมีการรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดของชาวบ้านไปศึกษา ส่วนขอบเขตยังไม่ทราบแน่ชัดจนกว่าจะมีการรังวัดพื้นที่เหมืองเสียก่อน เพื่อจะได้ทราบผู้มีส่วนได้เสีย และจัดทำกองทุนชดเชย และนำไปสู่การจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อีกด้วย 


ส่วนเวทีที่โรงเรียนโนนสูงพิทยาคาร ระหว่างการแสดงความคิดเห็น ด.ต.สมาน  ดวงจันทร์โคตร  อ้างตนว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มอุดรสันติธรรม ลุกขึ้นอภิปรายและในขณะนั้นกำลังจะอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มตนแต่ถูกประธานในเวทีห้ามไม่ให้อ่านแล้วจึงหยุดและนั่งลง    


 


ด้าน นายธีระวัฒน์  พืชผักหวาน  ตัวแทนหนึ่งเดียวของฝ่ายชาวบ้าน  แต่ไม่เข้าร่วมเวที  เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า  ที่ไม่เข้าร่วมในเวที เพราะตนเห็นว่าคณะทำงานฯ ชุดนี้กำลังเล่นละครตบตาชาวบ้าน จัดเวทีเพื่อผลักดันไปสู่กระบวนการรังวัดเขตเหมืองแร่ที่เคยมีปัญหากันจนชาวบ้านออกมาขับไล่เจ้าหน้าที่ และเป็นโมฆะไปในที่สุด


 


"คณะทำงานชุดนี้เอาตัวแทนชาวบ้านไปร่วมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการทำงานหลายๆ อย่าง โดยสังเกตได้ว่ากลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ไปยื่นหนังสือถึง 2 ครั้ง เพื่อให้ทบทวนการลงพื้นที่ เนื่องจากเห็นว่าบริษัทฯ ยังไม่หยุดจริงตามที่รับปากเอาไว้กับคณะทำงาน อีกทั้งมีการจ้างหัวละ 150 ให้ไปร่วมเวที แต่ประธานก็ไม่ฟังและยังเดินหน้าจัดเวทีต่อ ผลก็จริงตามที่คาดการณ์เอาไว้ คือแห่กันมาเพียบ โดยลักษณะการถามและแสดงความคิดเห็นก็ชี้นำเพื่อไปสู่การรังวัด  เช่น บ้านฉันจะอยู่ในพื้นที่เหมืองหรือไม่?, จะมีการรังวัดเมื่อไหร่?, ผู้มีส่วนได้เสียจะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้าง เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นเวทีที่จัดกันอยู่ตอนนี้ บริษัทฯ ผู้ว่าฯ กพร. คณะทำงานที่นำโดยอธิการบดี มรภ.อุดร และกลุ่มสนับสนุน กำลังรวมหัวกันเพื่อผลักดันให้เกิดการรังวัดนั่นเอง"  นายธีระวัฒน์กล่าว


 


หลังจากเสร็จเวทีบรรยากาศค่อนข้างชุลมุน ผู้สื่อข่าวได้เดินไปรอบบริเวณเวที และพบกับกลุ่มชาวบ้านกลุ่มเดียวกันจากเวทีเมื่อวาน (วัดบ้านหนองลุมพุก) จึงเข้าไปสอบถามและได้ความว่า  เป็นชาวบ้านโนนสา ต.นาม่วง กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม ถูกจ้างมาจริงตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ โดยจ่ายหัวละ 150 บาท รถที่พามาร่วมเวที ได้คันละ 300-400 บาท แล้วแต่จำนวนคนโดยสาร


 


"มีหัวหน้าพามา โดยไปเขียนเอารายชื่อถึงที่บ้าน และบอกว่าจะพาไปเอาเงิน แต่ต้องนั่งร่วมฟังในเวทีสัก 2 ชั่วโมง เมื่อเวทีเสร็จก็จะตามเอาเงินไปให้ถึงที่บ้านอีกทีหนึ่งตามรายชื่อที่ลงกันเอาไว้"  แหล่งข่าวกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net