Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 16 มี.ค.50 ที่รัฐสภา เวลา 09.30 น.การประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วม และการประชามติ  มีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธานเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการรับฟังความเห็นของประชาชน คือประชาชนจำนวนมากเข้าใจว่ากมธ.ยกร่างฯมีพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว การรับฟังความเห็นเป็นเพียงพิธีเท่านั้น ซึ่งตนได้ตอบไปว่าระหว่างที่ฟังความเห็นประชาชน จะให้กมธ.ยกร่างฯ นั่งเฉยๆได้อย่างไร เขาก็ต้องสร้างกรอบกติกาและวางแผนรอเอาไว้ แต่ตนก็ไปการันตีไม่ได้ว่าในใจของกมธ.ยกร่างฯได้ตกลงใจในสมองเอาไว้แล้วหรือไม่ แต่โดยรวมตนเชื่อว่ากมธ.อยากฟังประชาชนไม่ใช่ตกลงใจไว้ก่อนว่าจะเอาอย่างไร


 


"โดยเฉพาะที่จ.ฉะเชิงเทรา ผมโดนหนักมากประชาชนถามวนเวียนแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว อยากขอร้องว่าเวลาที่ท่านออกไปแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์กรุณาระมัดระวังถ้อยคำโดยการพูดให้ครบว่าเป็นความเห็นจากการได้ยินมาจากภาคต่างๆเพราะถ้าพูดไม่ครบประชาชนคิดว่ากมธ.ได้ข้อสรุปแล้ว 5-6 ปีที่ผ่านมาประชาชนถูกหลอกเยอะ เพราะมีคำตอบอยู่แล้วกระทำเหมือนฟังประชาชน เราต้องชี้แจงและระมัดระวังถ้อยคำ ท่านควรระมัดระวัง"  


           


นอกจากนี้ ไม่สบายใจอีกเรื่องเพราะว่ามีกมธ.บางท่านมาบอกกับเขาว่าวันนี้ให้กมธ.ของเขามาชี้แจงเท่านั้นควรใช้เวลาสั้นๆ ไม่ควรวิเคราะห์ให้มาก ทั้งที่เป็นการประชุมร่วมกันไม่ใช่กมธ.ของเขามาชี้แจง เพราะถ้าเป็นการประชุมร่วมกันประชาชนก็จะรู้สึกดี น้ำหนักของประชาชนกับกมธ.ยกร่างฯสูสีกัน แต่ถ้าเป็นแค่มาชี้แจงจะทำให้ประชาชนยิ่งมองภาพว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีพิมพ์เขียว


 


ซึ่งภายหลังจากที่นายเจิมศักดิ์แสดงความเห็นเสร็จน.ต.ประสงค์ได้กล่าวชี้แจงว่า เขาและกรรมาธิการยกร่างทุกคนขอยืนยันว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีพิมพ์เขียว มีแต่เรื่องที่จะมาแยกแยะเนื้อหาในประเด็นสำคัญต่างๆ อย่างรอบคอบกว้างขวางการซึ่งเป็นปรกติในการทำงานที่ต้องมีความเห็นขัดแย้งกันในบางเรื่องเป็นเหตุการณ์ปรกติธรรมดา


 


"มีเรื่องอื่นอีกเยอะแยะที่จะทำให้เกิดความหงุดหงิด เรื่องเล็กน้อยแค่นี้ก็น่าจะสมานฉันท์กัน และถ้ากรรมาธิการของอ.เจิมศักดิ์ต้องการความร่วมมืออะไรก็บอกเรามาได้เรายินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ขอให้บอกเรามา ส่วนการที่เราบอกว่าให้มาชี้แจงแล้วเกิดแสลงใจต่อไปเราก็จะไม่ใช้คำนี้ก็จะบอกว่าประชุมร่วมกัน ถ้าประชาชนอยากรู้อะไรในประเด็นไหนเราก็ต้องอาศัยคุณเจิมศักดิ์เหมือนกัน มีอะไรก็พูดจากันได้เดี๋ยวก็จะเข้าใจกันไปว่าเกาเหลากันอีก"น.ต.ประสงค์กล่าว


 


จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่การพูดคุยในเรื่องเนื้อหาของรับฟังความคิดเห็นของเวทีระดับจังหวัด ของคณะกรรมาธิการประสานการมีส่วนร่วมและการประชามติ โดยมีนายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯได้รายงานต่อที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4 ภาคโดยแบ่งเป็นภาคเหนือ 25 เวที ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23 เวที ภาคใต้ 14 เวที ภาคกลาง 25 เวทีรวมเป็น 87 เวที


 


โดยแบ่งการรับฟังออกเป็น 3 กรอบ ซึ่งกรอบที่1 เรื่องสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจ ประชาชน 76 เวที 4 ภาคเห็นด้วยที่จะให้ตรากฎหมายให้ประชาชนมีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น โดยได้เสนอแนะเพิ่มเติมคือการให้เพิ่มการศึกษาภาคบังคับจาก 12 ปีเป็น 16 ปี โดยรัฐออกค่าใช้จ่ายให้และกำหนดให้ผู้พิการและผู้สูงอายุที่ฐานะยากจนควรได้รับเงินช่วยเหลือด้วย


 


นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระดับจังหวัด รวมทั้งเห็นด้วยที่จะให้มีการกำหนดหน้าที่ของสื่อในการเผยแพร่พฤติกรรมทางการเมือง และป้องกันไม่ให้สื่อละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่น ส่วนประเด็นการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ และควรมีกระบวนการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย ส่วนการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนลงมติว่าไว้วางใจและไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ


 


นายวรพล กล่าวต่อว่า ส่วนกรอบที่ 2 เรื่องสถาบันการเมือง ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรลดจำนวนส.ส.ลงเหลือ 400 คน และควรคงส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อไว้ ทั้งนี้ควรมีการบัญญัติให้ชัดเจนว่าส.ส.ต้องจบปริญญาตรี ห้ามย้ายพรรคเกิน 2 ครั้ง และสังกัดพรรคก่อนลงสมัครไม่น้อยกว่า 90 วัน ส่วนการกำหนดเขตเลือกตั้งให้เป็นเขตละคนเช่นเดิม หรือเขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น และมีจำนวนส.ส.ในเขตเลือกตั้งมากขึ้นประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ควรกำหนดให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และควรนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งเพื่อป้องกันการทุจริต


 


ส่วนที่มาของส.ว.ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรมาจากการเลือกตั้ง และเห็นควรบัญญัติให้ชัดเจนว่าห้ามครอบครัวของส.ส.เข้าดำรงตำแหน่งส.ว. รวมทั้งให้ผู้สมัครส.ว.สามารถหาเสียงได้


 


อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่านายกฯควรเป็นส.ส.ไม่ควรมาจากคนนอก และควรดำรงตำแหน่งไม่เกิน 1 วาระ ส่วนส.ส.ให้ดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย ส่วนข้อห้ามนายกฯและรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ทับซ้อนในระหว่างการดำรงตำแหน่ง เมื่อพ้นตำแหน่งแล้วในระยะหนึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยถึง 60 เวที


 


นายวรพล กล่าวอีกว่า ส่วนข้อกำหนดที่ว่านายกฯควรถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และควรกำหนดให้ชัดเจนว่ากรณีที่นายกฯหรือรัฐมนตรีต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แม้ว่าเป็นเพียงรอลงอาญาก็ให้พ้นจากตำแหน่ง รวมถึงการกำหนดให้นายกฯต้องมาตอบกระทู้ถามในสภา ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 60 เวทีเห็นด้วยตามข้อกำหนดของอนุกรรมาธิการฯ ทั้งนี้ในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมในการปฎิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อนุกรรมาธิการฯกำหนดให้มีบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนประชาชน 64 เวทีเห็นด้วยและมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ ให้มีการออกเป็นกฎหมายกำหนดเรื่องคุณธรรม จริยธรรมนักการเมือง และเพิ่มบทลงโทษนักการเมืองที่ฝ่าฝืนในกฎหมายฉบับนี้


 


นายวรพล กล่าวว่า ในส่วนของกรอบที่ 3 เรื่ององค์กรตรวจสอบอิสระและศาล ประชาชนเห็นว่าควรจัดตั้งศาลพิเศษในการตรวจสอบเพื่อให้ดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น  รวมทั้งให้คงอำนาจกกต. ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ส่วนวินิจฉัยใบเหลือง ใบแดงควรเป็นอำนาจของศาล


 


ทั้งนี้ข้อกำหนดที่ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับประเทศ กับระดับท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ใดกระทำความผิด ทุจริต หรือมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติไม่ควรมีอายุความฟ้องคดี ประชาชนเห็นด้วยถึง 51 เวที ส่วนการกำหนดกลไกหรือมาตรการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองที่กระทำต่อข้าราชการประจำ และการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย และมีข้อเสนอแนะให้เพิ่มการตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายการเมืองที่ใช้ต่อข้าราชการประจำด้วย


 


ส่วนการเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการตรากฎหมาย ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ประชาชนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือให้ลดคะแนนเสียงที่ใช้ถอดถอนเป็น 1 ใน 2 และประชาชนควรมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำความเสียหายต่อสาธารณะ ส่วนการกำหนดให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญควรปลอดจากการครอบงำทางการเมืองอย่างแท้จริง และให้มีการวางระบบคานและดุลอำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย


 


นายวรพล กล่าวว่า ส่วนการกำหนดให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เช่นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กกต. สตง.ควรคงไว้ทั้งหมด ประชาชนเห็นด้วย และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้ปรับปรุงขั้นตอนการสรรหา ให้ปราศจากการครอบงำจากฝ่ายการเมือง และให้องค์กรเหล่านี้มีที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีอำนาจถอดถอนนักการเมืองโดยความยุติธรรม และเห็นด้วยที่จะเพิ่มให้มีการตรวจสอบองค์กรอิสระในระดับจังหวัดและการใช้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่น และเห็นด้วยที่จะมีการกำหนดงบประมาณให้แก่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ตามสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี  ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรมีกรอบระยะเวลาในการตรากฎหมายเพื่อดำเนินการเป็นไปตามหลักการที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอของอนุกรรมาธิการนี้ ฝ่ายเลขาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปศึกษาประกอบการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net