Skip to main content
sharethis

เวทีร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนคนใต้แหวกแนว เสนอให้ประชาชนเข้าถึงอาวุธปืน ชี้เหตุผิดหวังรัฐคุ้มครองชีวิตไม่ได้ ขณะที่ชาวสงขลา เสนอความเห็นหลากหลาย เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่


 


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 มีนาคม 2550 ที่หอประชุมโรงเรียนวัดกลางใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคใต้ มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญภคประชาชน มีตัวแทนองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางและตอนบนเข้าร่วม 60 คน


 


นายเอกชัย อิสระทะ แกนนำสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคใต้ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอที่เป็นเนื้อหาหลักๆ คือเน้นเรื่องการกระจายสิทธิของประชาชน โดยการเพิ่มอำนาจของประชาชนและลดอำนาจรัฐลง ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ประชาการส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ดังนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเน้นเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ภาคเกษตร โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการผลิตและการจัดการผลผลิต ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นต้องเป็นอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก


 


นายเอกชัย เปิดเผยต่อว่า ในขณะเดียวกันการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้น จำเป็นต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งรวมทั้งการแสดงความเห็นและการตัดสินใจ เช่น การลงประชามติ ในขณะที่ภาครัฐต้องปกป้องการค้าแบบผูกขาดและเอารัดเอาเปรียบ นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้จัดตั้งองค์กรมหาชนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนภาคเกษตรกรรม


 


ส่วนด้านการศึกษาต้องให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้มีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าและภาษีมรดก เพื่อนำมาพัฒนาทางด้านการศึกษา รวมทั้งต้องส่วนเสริมการศึกษาในหลายรูปแบบ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรม สังคม ศาสนาและภาษาที่หลากหลาย โดยเฉพาะของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน


 


นายเอกชัย เปิดเผยด้วยว่า ส่วนข้อเสนออื่นๆ เช่น ที่ประชุมมีการเสนอให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการครอบครองอาวุธปืนได้ง่าย ทั้งนี้เนื่องจากรัฐไม่สามารถปกป้องและคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้มีการเสนอให้ชุมชนมีส่วนในการปกป้องดูแลทรัพยากรในชุมชน ปกป้องและคุ้มครองสิทธิของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ปกป้องวิถีชีวิตชุมชน


 


สำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวต่อไปนั้น ในวันที่ 1 เมษายน 2550 จะมีการประชุมเพื่อนำเสนอประเด็นทั้งหมดร่วมกับสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองทั้ง 4 ภาค ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นก็จะเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในรูปของรัฐธรรมนูญภาคประชาชนต่อไป เพื่อนำไปประกอบในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย


 


ขณะที่เวลา 09.30 น. วันเดียวกัน ที่โรงแรมบี.พี.สมิหลาบีช รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา คณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและประชามติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในจังหวัดสงขลาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีนายเดโช สวนานนท์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (คนที่สอง) เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน ส่วนใหญ่ประกอบด้วย ตัวแทนภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดสงขลา


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้มีการกำหนดกรอบในการรับฟังความเห็นประกอบด้วย สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจ สถาบันการเมือง องค์กรตรวจสอบอิสระ ศาล และอื่นๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นและเสนอแนะ


 


โดยในกรอบสถาบันการเมืองนั้น ที่ประชุมส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ควรลดจำนวนส.ส.และ ส.ว.ลง และควรมาจากการเลือกตั้ง ส่วนส.ส.นั้นไม่ควรมีระบบบัญชีรายชื่อ ควรสังกัดพรรคการเมือง ควรมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ควรมาจากเขตใหญ่เรียงเบอร์ ให้ผู้ที่ได้คะแนนลำดับถัดไป เป็นส.ส.แทนผู้ที่ได้รับใบเหลืองหรือใบแดง


 


ส่วนนายกรัฐมนตรีมีการเสนอว่า ควรดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระ ห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ทับซ้อน นายกรัฐมนตรีควรถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและควรตรวจสอบได้ง่าย ควรลดจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี


 


ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้มีกฎหมายรองรับในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ในกรณีที่สามีหรือภรรยา คนใดคนหนึ่งเป็น ส.ส. ห้ามมิให้อีกฝ่ายหนึ่งลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ว. ควรให้มีการจัดตั้งศาลนักการเมืองเฉพาะ ส่วนการกำหนดวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีของ สส.และสว. การกำหนดให้มีการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวและส.ส.ไม่ควรสังกัดพรรคการเมืองมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


 


ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับกรอบองค์กรตรวจสอบอิสระและศาลนั้น มีการเสนอให้ตั้งองค์กรตรวจสอบอิสระประจำจังหวัด กำหนดบทลงโทษข้าราชการ นักการเมืองที่ประพฤติมิชอบโดยถอดจากตำแหน่ง ถอดยศและเรียกคือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองหลังจากออกจากตำแหน่ง  ถ้าศาลพิพากษาลงโทษนายกรัฐมนตรีโดยรอลงอาญาให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง องค์กรอิสระควรมี 2 องค์กรเท่านั้น ได้แก่ ศาลปกครอง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง


 


ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ส่วนข้อเสนออื่นๆ ได้แก่ ควรกำหนดให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ควรให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง ลดจำนวนรายชื่อประชาชนในการยื่นถอดถอนนักการเมืองให้เหลือ 20,000 รายชื่อ ควรบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยละเอียดและชัดเจน ควรจัดให้มีกองทุนสนับสนุนเวทีทางการเมือง กระจายสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างทั่วถึง กำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองป้องกันการละเมิดเสรีภาพหรือการครอบงำสื่อมวลชนไว้โดยเฉพาะ


 


นอกจากนี้ ควรให้มีการกระจายงบประมาณลงสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างทั่วถึง สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยการผลิตปุ๋ยชีวภาพ เพิ่มบทลงโทษโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลอง เพิ่มความเข้มแข็งเกี่ยวกับนโยบายสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net