Skip to main content
sharethis

ตามที่ประชาชนในพื้นที่ชุมชนซอยวัดอุโมงค์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้รับความเดือดร้อนหลายประการจากการก่อสร้างอาคารสูงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ชาวบ้านชุมชนซอยวัดอุโมงค์ ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งในเรื่องปัญหาการจราจร ปัญหาความหนาแน่น ปัญหามลภาวะ การบดบังทัศนียภาพ เป็นต้น


 


กระทั่ง ต่อมา รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ได้ออกมายื่นหนังสือขอให้มีการระงับและตรวจสอบการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่บริเวณซอยวัดอุโมงค์ พร้อมทั้งแก้ไขข้อกำหนดการใช้ที่ดิน ต่อนายการุณย์ คล้ายคลึง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นอกจากนั้น ยังได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่


 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ อบต.สุเทพ ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากอาคารสูง จากหมู่ที่ 8, 10 และ 14 ซ.วัดอุโมงค์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้ประกอบการ และ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้เปิดเวทีเจรจาหารือแนวทางการร่างข้อบังคับ ต.สุเทพ เพื่อควบคุมอาคารสูงของตัวอาคาร


 


นายการุณย์ คล้ายคลึง นายก อบต.สุเทพ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ เราจะมาพูดคุย เจรจา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาตึกสูงต่อไปในอนาคต การที่พี่น้องประชาชนเข้ามาร่วมเวทีในวันนี้ จะเป็นแนวทางให้เรามาร่วมกันทำงาน และช่วยกันแก้ไขปัญหาสังคมต่อไป


 



นายการุณย์ คล้ายคลึง นายก อบต.สุเทพ(ขวา)


นายธัญศักดิ์ แสงศรีจันทร์ ปลัด อบต.สุเทพ(ซ้าย)


 


นายธัญศักดิ์ แสงศรีจันทร์ ปลัด อบต.สุเทพ กล่าวว่า ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ นักธุรกิจขนาดย่อม และขนาดกลาง เข้ามาลงทุนสร้างหอพัก ซึ่งในเรื่องนี้การขอใบอนุมัติหรือใบอนุญาตก่อสร้าง แต่ละหลังจะถูกต้องหรือไม่นั้น ก่อสร้างแล้วจะเกิดความเดือดร้อนไหม หลายแห่งทาง อบต. ได้ระงับไป แต่กลับยังมีการฝืนก่อสร้างอยู่


 


"ในขณะที่ธนาคารก็ถามว่า ถ้าอนุมัติเงินกู้ไปแล้วจะเป็นตึกร้างหรือไม่ ก็ได้มาถามทางอบต. ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นความเดือดร้อน แต่บางสิ่งบางอย่างกฎหมายไม่ได้กำหนดให้เราจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เราต้องอยู่ภายใต้นิติรัฐ หากเราไม่อนุมัติการก่อสร้างภายใน 45 วัน ก็ต้องชี้แจง นอกจากนี้ เราเคยคิดจะออกกฎเพื่อไม่ให้สร้างอาคารสูง ซึ่งผมได้ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่ากฎกระทรวงต่างๆ ให้อำนาจหน่วยงานท้องถิ่นออกกฎข้อบังคับได้มากน้อยขนาดไหน ผลปรากฏว่าเทศบาลนครเชียงใหม่มีการออกกฎเกณฑ์มาโดยกฎกระทรวงคือ 1.การห้ามปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำแม่น้ำปิงหรือใกล้แม่น้ำปิงเกิน 12 เมตร และ 2.สิ่งปลูกสร้างห้ามสร้างใกล้วัดในรัศมี 100 เมตร มีเฉพาะภาคเหนือของเรา และต้องควบคุมความสูง เป็นต้น แต่ว่ามีเรื่องฝ่ายผู้ประกอบการ ฝ่ายผู้อยู่อาศัย ฝ่ายขายที่ดิน โดยการร่างข้อบังคับต้องมีข้อตกลง โดยมีผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกัน"ปลัด อบต.สุเทพ กล่าว


 



รศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง


อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


ด้าน รศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ถือว่าวันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ ที่มีการนำเสนอแบบร่างข้อบังคับตำบลขึ้นมาโดยชุมชน เพราะไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมานั้น อบต.ทั่วประเทศไทยเคยมีการร่างข้อบังคับตำบลออกมาหรือไม่ แต่ว่าใน พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 71 ให้ท้องถิ่นสามารถออกข้อบังคับท้องถิ่นได้ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมาย ดังนั้นจึงอยากจะขอเสนอร่างข้อบังคับ สำหรับ หมู่ 8, 10 และ 14 ของ ต.สุเทพ ออกมาใช้เป็นแบบร่างข้อบังคับก่อน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุดเรื่องอาคารสูง


 


"การขยายตัวของเมืองในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เป็นบทเรียนสำคัญที่เราจะเรียนรู้ร่วมกัน เราไม่เคยเจอสภาวะแบบนี้ เวลาเข้าซอยขนาดเล็กกลับได้พบเจออาคารสูงใหญ่เปรียบเทียบเท่าขนาดภูเขาทอง อาคารสูงขนาดนี้ มันเป็นไปได้อย่างไร ทำไมปล่อยให้เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ฝ่ายบริหารและฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปตรวจสอบดูว่าถูกต้องตามกฏหมายจะทำอย่างไร ส่วนสิ่งที่ยังไม่เกิด หรือกำลังจะเกิดขึ้น ก็ถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายบริหาร พี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ และฝ่ายอื่นๆ ที่มานั่งร่วมเวที ที่เกี่ยวข้อง มาช่วยกันคิดหาแนวทางให้กับลูกหลาน และชุมชนของเรา"


 


เมื่อมีการนำเสนอเรื่องข้อบังคับแล้ว ทาง อบต. ถูกถามว่าร่างข้อบังคับตำบลจะได้รับการคุ้มครองเมื่อไร นายการุณย์ คล้ายคลึง นายก อบต.สุเทพ กล่าวว่า ถ้าทุกฝ่ายเห็นชอบ ก็จะปรับให้เข้าด้วยกฎหมาย และเสนอไปยังจังหวัดและส่วนกลาง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะรู้ผลเมื่อไร ขอไปดูข้อกฎหมายของกฎกระทรวงก่อน


 


ในขณะที่ปลัด อบต.สุเทพ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า อำนาจบางอย่างที่ อบต.ทำได้คือในส่วนของงบประมาณของ อบต. แต่เรื่องการควบคุมอาคาร อบต.ไม่สามารถทำได้ เพราะ พ.ร.บ. ควบคุม อาคาร มันกระทบสิทธิคนส่วนใหญ่ โดยมันไม่สิ้นสุดแค่นายอำเภอ มันถึงอำนาจรัฐมนตรี กฏกระทรวงครอบคลุมหมด แต่ถ้าเห็นว่าชุมชนเรามีลักษณะพิเศษก็ต้องรัฐมนตรีอนุมัติ เช่น พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เรื่องสิ่งแวดล้อมมีมลพิษ อบต.ออกข้อบังคับไม่ได้


 


"เราต้องพึ่งอำนาจของกฎกระทรวง และรัฐมนตรี กฎหมายเป็นเรื่องของรายละเอียดพอสมควร อบต.ทำตามอำเภอใจไม่ได้ แต่ก็คำนึงถึงด้านสังคมด้วย ในการพิจารณาร่างข้อบังคับที่ประชาชนเสนอมา อบต.จะนำไปตรวจสอบรายละเอียดว่ามีการขัดต่อกฎหมายใดหรือไม่ เท่าที่ประเมินดูร่างข้อบังคับตำบลทุกข้อ ขัดกับกฎหมายทั้งหมด ซึ่งเราก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน ให้ผู้มีอำนาจลงนามเซ็นรับรอง มีคณะกรรมการระดับชาติพิจารณาว่าจะสามารถผ่านออกมาเป็นข้อบังคับสำหรับพื้นที่ ต.สุเทพ ได้หรือไม่"


 


ทั้งนี้ ร่างข้อบังคับดังกล่าวเป็นร่างข้อบังคับที่ชุมชนร่วมกันนำเสนอต่อ อบต. สุเทพ ซึ่งมีการถกเถียงกันว่าทางชุมชนได้ตรวจสอบเรื่องกฎกระทรวงแล้ว แต่ว่า อบต.สุเทพอ้างว่าจะต้องนำไปตรวจสอบในรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อปรับแก้ไขบางจุดเพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบการขอยกร่างกฎหมาย โดยจะทำการตรวจสอบเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 25 มี.ค. 2550


 


นอกจากนี้ทางฝ่ายอบต.จะทำการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมกับผู้ประกอบการอื่นๆ พร้อมเปิดเวทีให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง เพื่อนำเสนอข้อบังคับตำบลสุเทพ เรื่องอาคารสูง สู่การพิจารณาของสภาตำบล หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นส่งให้หน่วยงานส่วนกลางที่รับผิดชอบ และรอการพิจารณาการขอยกร่างข้อบังคับใช้ต่อไปในอนาคต


 







 


 


(ร่าง) ข้อบังคับตำบลสุเทพ ฉบับที่    (พ.ศ. 2550)


ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522


ครอบคลุมหมู่ 8, 10, 14


 


            อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 (รวมทั้งที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ถึง พ.ศ. 2542) โดยการเรียกร้องของประชาชนที่อยู่อาศัยใน อบต.สุเทพ หมู่ 8, หมู่ 10, หมู่ 14 ไว้ดังต่อไปนี้


            ข้อ 1     ในข้อบังคับ อบต.


            "บริเวณที่ 1" หมายความว่า พื้นที่ในบริเวณด้านใต้ของถนนสุเทพตั้งแต่เชิงดอยสุเทพไปทางทิศตะวันออกจนถึงด้านตะวันตกของคลองชลประทาน เป็นแนวเส้นขนานระยะ 100 เมตร และจากถนนเลียบคลองชลประทานไปทางทิศใต้จนถึงระยะ 100 เมตร จากซอยร้านอาหารสิบสองปันนาเป็นแนวเส้นขนานระยะ 100 เมตร


            "บริเวณที่ 2" หมายความว่า พื้นที่ในรัศมี 100 เมตร จากเขตวัดป่าแดง และวัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม โรงเรียนวัดป่าแดง


            "บริเวณที่ 3" หมายความว่า พื้นที่นอกเหนือจากบริเวณที่ 1 และ บริเวณที่ 2 ในพื้นที่หมู่ 8, หมู่ 10, หมู่ 14


 


            ข้อ 2     ให้แบ่งการก่อสร้างอาคาร ดังนี้


1)      บริเวณที่ 1 สามารถสร้างอาคารสาธารณะและอาคารพักอาศัยรวมขนาดใหญ่มากกว่า 20 ห้องขึ้นไป และสูงไม่เกิน 15 เมตร ต้องมีพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีหลังคาคลุมอย่างน้อยร้อยละ 30 ของที่ดิน และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ดินของโครงการ  ในส่วนที่ก่อสร้างไปแล้วควรส่งเสริมให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น บริเวณดาดฟ้า หลังคา


2)      บริเวณที่ 2 สามารถสร้างบ้านพักอาศัยและประกอบธุรกิจขนาดย่อย ความสูงไม่เกิน 12 เมตร และห้ามสร้างโรงแรม หอพัก สปา โรงงาน โรงมหรสพ ร้านอาหารที่มีดนตรี และกิจกรรมที่ก่อเหตุรำคาญ


3)      บริเวณที่ 3 สามารถสร้างบ้านเดี่ยว อาคารพาณิชย์ อาคารสาธารณะ หรืออาคารพักอาศัยรวมไม่เกิน 20 ห้อง พื้นที่ไม่เกิน 500 ตารางเมตร ความสูงไม่เกิน 12 เมตร โดยให้แยกเป็นบล็อกเล็กในกรณีที่เป็นการจัดสรรเพื่อการอยู่อาศัย  ที่เป็นบ้านเดี่ยวอยู่แล้วให้สามารถสร้างบ้านเดี่ยวได้อย่างเดียว  และห้ามโรงงาน  โรงมหรสพ  ร้านอาหารที่มีดนตรี และกิจกรรมที่ก่อเหตุรำคาญ


 


ข้อ 3 ความสูงของอาคารไม่ว่าจากจุดใดจุดหนึ่ง ต้องไม่เกินสองเท่าของระยะราบ วัดจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวเขตด้านตรงข้ามของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้อาคารนั้นที่สุด แต่ไม่เกิน 12 เมตร


ความสูงของอาคารให้วัดแนวดิ่งจากระดับถนนหรือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างขึ้นไปถึงส่วนของอาคารที่สูงที่สุดสำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด


 


- กำหนดความสูงของอาคารตามความกว้างของถนน (ถ้าถนนสาธารณะกว้างไม่เกิน 2 เมตร สร้างอาคารได้สูงไม่เกิน.......... เมตร  ถ้าถนนสาธารณะกว้างไม่เกิน 3 เมตร สามารถสร้างอาคารได้สูงไม่เกิน ............เมตร ถ้าถนนสาธารณะกว้างไม่เกิน 4 เมตร สร้างอาคารได้สูงไม่เกิน ............... เมตร เป็นต้น)


 


            ข้อ 4     อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้ถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากขอบถนนสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตร


ถ้าถนนสาธารณะกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากขอบถนนสาธารณะอย่างน้อย 5 เมตร


 


ข้อ 5     ผนังของอาคารที่มีหน้าต่าง ประตู ช่องระบายอากาศหรือช่องแสงหรือระเบียงของอาคารต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดิน ดังนี้


5.1               อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร


5.2               อาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่เกิน 12 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 3 เมตร


ผนังของอาคารที่อยู่ห่างเขตที่ดินน้อยกว่าตามที่กำหนดไว้ใน (5.1) หรือ (5.2) ต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เว้นแต่จะก่อสร้างชิดเขตที่ดินและอาคารดังกล่าวจะก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 15 เมตร ผนังของอาคารที่อยู่ชิดเขตที่ดินหรือห่างจากเขตที่ดินน้อยกว่าที่ระบุไว้ใน (5.1) หรือ (5.2) ต้องก่อสร้างเป็นผนังทึบและดาดฟ้าของอาคารนั้นให้ทำผนังทึบสูงจากดาดฟ้าไม่น้อยกว่า 1.80 เมตร ในกรณีก่อสร้างชิดเขตที่ดินต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้านนั้นด้วย


 


            ข้อ 6     อาคารสาธารณะและอาคารพักอาศัยรวมที่มีห้องพักไม่เกิน 20 ห้อง ให้มีที่จอดรถยนต์ อย่างน้อยร้อยละ 30 ต่อจำนวนห้อง ขนาดที่จอดรถ 2.5 x 6.0 เมตรต่อ 1 คัน


อาคารสาธารณะและอาคารพักอาศัยรวมที่มีห้องพักมากกว่า 20 ห้อง ให้มีที่จอดรถยนต์ อย่างน้อย    ร้อยละ 50 ต่อจำนวนห้อง ขนาดที่จอดรถ 2.5 x 6.0 เมตรต่อ 1 คัน


           


            ข้อ 7      อาคารสาธารณะและ อาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ใช้สอยเกินกว่า 1,000 ตารางเมตร  ต้องมีถนนตลอดแนวโดยรอบกว้างไม่ต่ำกว่า 6 เมตร ให้รถดับเพลิงสามารถวิ่งได้โดยรอบ


 


            ข้อ 8     ให้มีบ่อบำบัดน้ำเสียในอาคารทุกประเภท ในกรณีที่มีอาคารเกิน 50 ห้อง ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียและมีการเปิดใช้ระบบนั้น


 


            ข้อ 9     ห้ามรถทัวร์/รถบัสขนาดใหญ่ รถโดยสารขนาดใหญ่ 20 ที่นั่งขึ้นไป รถสิบล้อ และรถน้ำหนักเกิน 12 ตันเข้าพื้นที่


 


            ข้อ 10    ห้ามจอดรถทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ปากซอยวัดอุโมงค์ (ถ.สุเทพ) ถึงปากซอยอุโมงค์ 5 หากฝ่าฝืนจะมีการล็อคล้อและปรับตามกฎหมาย  ส่วนในซอยเล็กบริเวณปากซอยระยะทาง 100 เมตร ให้มีการจัดระเบียบการจอดรถแบบวันคู่วันคี่


 


            ข้อ 11    ห้ามส่งเสียงดังรบกวน หลัง 23.00 น.


 


            ข้อ 12    ห้ามเผาขยะทุกชนิด รวมถึงใบไม้กิ่งไม้และหญ้าอย่างเด็ดขาด  หากมีการเผาจะเตือน 1 ครั้ง หากยังมีการฝ่าฝืนให้ อบต. ปรับครั้งละ 500 บาท


 


            ข้อ 13    ห้ามใช้สีโทนร้อนทาอาคารสาธารณะ หอพัก เช่น สีแดง สีส้มจัด สีเหลือง 


 


- มีการควบคุมการถมดิน การขุดดิน  พิจารณาเรื่องความลาดเอียงของพื้นที่ การระบายน้ำ


 


ข้อเสนอ



  1. ให้มีทางเท้าจากปากซอยวัดอุโมงค์ถึงหน้าวัดอุโมงค์
  2. ให้มีท่อระบายน้ำตลอดซอยวัดอุโมงค์

 


 


 


 


 


 


ข่าวประกอบ


ชุมชนซอยวัดอุโมงค์เชียงใหม่ร้องตึกสูงก่อมลภาวะ-รถติด จี้ผู้ว่า ระงับด่วน


 


 


เปิดหนังสือร้องเรียน-ขอให้ระงับและตรวจสอบการก่อสร้างขนาดใหญ่บริเวณซอยวัดอุโมงค์


 


 


ฝ่ายปกครอง- นักวิชาการ- ประชาชน ร่วมสำรวจตึกสูงของซอยวัดอุโมงค์


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net