Skip to main content
sharethis

เวลา 09.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550 โรงแรมแกรนด์ปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติเรื่อง สรรพเสียงแห่งอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับนักวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่นใหม่ขึ้น เพื่อให้มีการนำเสนอเอกสารทางวิชาการและอภิปรายเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาเรื่องอิสลามและสังคมมุสลิม มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน


 


นางสาวอัมพร หมาดเด็น อาจารย์ประจำหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อภิปรายระหว่างการนำเสนอรายงานการศึกษาเรื่อง "พื้นที่ทางสังคมระหว่างคนมุสลิมและคนต่างศาสนาในภาคใต้ : การวิเคราะห์ความสัมพันธ์และการแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนา" ว่า จากการเก็บข้อมูลโดยการสอบถามผู้นำศาสนาอิสลามในชุมชน คือโต๊ะอิหม่าม ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นสักขีพยานในการปฏิญาณตนเข้ารับนักถือศาสนาอิสลามและการแต่งงาน ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดภูเก็ต พบว่ามีถึงหมู่บ้านละ 20 - 30 คน ในระยะเวลา 5 - 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนนี้น่าจะใกล้เคียงกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ตอนบนรวมถึงกรุงเทพมหานคร


 


นางสาวอัมพร กล่าวด้วยว่า ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลาและนราธิวาส มีตัวเลขผู้เข้ารับนักถือศาสนาอิสลามโดยผ่านการแต่งงานอยู่ที่ 2 - 3 คน ในเขตชุมชนเมือง ส่วนในพื้นที่ชนบทมีจำนวนน้อยกว่านั้น


 


นางสาวอัมพร อภิปรายอีกว่า สำหรับปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้มีผู้เข้ารับศาสนาอิสลามโดยผ่านการแต่งงานมากขึ้น เนื่องจากสังคมมุสลิมมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ทำให้ชาวมุสลิมมีโอกาสในพบปะกับคนศาสนาอื่นได้มากขึ้นด้วย ทั้งจากการทำงาน รวมทั้งการศึกษา เป็นต้น


 


นางสาวอัมพร อภิปรายต่อว่า การเข้ารับนักถือศาสนาอิสลามของคนศาสนาอื่นมากขึ้นทำให้ผู้นำศาสนาอิสลามในชุมชน มีความกังวลมากขึ้น โดยเฉพาะการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามและการเรียนรู้หลักคำสอนของศาสนาอิสลาม เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามโดยวิการนี้ มักไม่ได้เรียนรู้ศาสนาอิสลามาก่อน


 


นางสาวอัมพร ด้วยเหตุดังกล่าวผู้นำศาสนาในชุมชน จึงคิดหาทางให้มุสลิมใหม่เหล่านี้ ได้เรียนรู้ศาสนาอิสลามมากขึ้น เช่นในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการตั้งเป็นชมรมผู้เข้ารับอิสลามใหม่ เพื่อให้ความรู้ทางศาสนา โดยบางแห่งได้เปิดเรียนศาสนาอิสลามที่มัสยิด แต่ก็มีข้อจำกัด ตรงที่มุสลิมใหม่เหล่านั้น ไม่ค่อยจะเข้าร่วม เพราะมีความใจว่า มัสยิดเป็นสถานที่สำหรับผู้ที่เคร่งศาสนาเท่านั้น


 


นายอุทัย ดุลยเกษม คณะบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวรายงานว่า เมื่อพูดอิสลาม คนจะนึกถึงศาสนาอิสลาม ทั้งที่ศาสนาอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของอิสลามเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจมุสลิมก็ต้องเข้าใจในบริบทอื่นของมุสลิมด้วย ไม่ว่าสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ในขณะเดียวกันมุสลิมเองก็ต้องมีความใจในบริบทอื่นๆ ที่กว้างขวางมากขึ้น ไม่เฉพาะศาสนาอิสลามเท่านั้น


 


นายอุทัย กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนเป็นเรื่องธรรมดาที่มีอยู่ทุกสังคม แม้แต่ในคนกลุ่มเดียวกันก็มีความแตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะมุสลิม ซึ่งมีความหลากหลาย มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แม้แต่ในกลุ่มชาวพุทธด้วยกันก็มีความหลากหลาย ซึ่งเรามองมุสลิมอย่างไม่เข้าใจ โดยคิดแบบรวบรัดว่ามุสลิมมีความเป็นเอกภาพมาก เพราะฉะนั้นแทนที่จะทำให้เขาคิดเหมือนกับเรา ก็น่าจะยอมรับในความคิดเห็นแตกต่างนั้นดีกว่า แล้วเราเคารพในความแตกต่างนั้น ซึ่งจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้


 


นายอุทัยกล่าวอีกว่า ดังนั้น ในการที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ เราน่าจะมีการสานเสวนาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบคิดใหม่ได้ ซึ่งในอดีตมุสลิมเป็นผู้ที่ทำความเข้าใจกับคนต่างศาสนาได้ดี แต่ในปัจจุบัน กระบวนการดังกล่าวได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยมุสลิมโดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้น ซึ่งสังคมในรูปแบบดังกล่าวไม่ใช่สังคมสันติภาพ เพราะไม่แสดงบทบาทเช่นเดิมอีกแล้ว โดยเฉพาะในสังคมมุสลิมชั้นสูง แต่ในระดับชาวบ้านยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะฉะนั้นต้องให้มีการสานเสวนามากขึ้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net