Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 ก.พ. 2550 รายงานผลการไต่สวนคดีที่ทหารอเมริกา 5 นาย ซึ่งเคยประจำการที่มาห์มูดิยา กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ในปี 2549 ระบุว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 กระทำความผิดจริง และจะถูกลงโทษในฐานะที่เป็นผู้ฆ่า ข่มขืน และเผาทำลายบ้านเรือนของประชาชนชาวอิรัก


 


คดีฆ่าข่มขืน "อาเบียร์ คาซิม ฮัมซา อัล-จานาบี" เด็กหญิงชาวอิรักวัย 14 ปี และครอบครัว เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2549 โดยชาวบ้านที่เป็นผู้เห็นเหตุการณ์เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่าทหารอเมริกาที่ประจำการบริเวณจุดตรวจที่ใกล้เคียงเข้าควบคุมบริเวณบ้านของครอบครัวอัล-จานาบีซึ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ และเมื่อเข้าไปดูภายในบ้านก็พบศพของอาเบียร์ รวมถึงพ่อ แม่ และน้องสาวของเธอ แต่ทหารที่เข้าควบคุมที่เกิดเหตุบอกว่า การฆาตกรรมครอบครัวดังกล่าว เกิดขึ้นจากฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้ายซึ่งเป็นชาวมุสลิมต่างนิกาย


 



บัตรประชาชนของพ่อ แม่ และอาเบียร์ (ภาพจาก Reuters)


 


อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของผู้ตายไม่เคยมีข้อขัดแย้งกับกองกำลังใด จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่าทหารอเมริกาที่เข้าควบคุมบ้านอัล-จานาบี อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว


 


จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2549 มีข่าวว่ากองทัพสหรัฐอเมริกาสั่งสอบสวนทหาร 5 นาย ด้วยข้อหาว่าอาจมีส่วนเกี่ยวพันกับคดีฆ่าข่มขืนผู้หญิงอิรักและสมาชิกในครอบครัวอีก 3 ราย โดยทหารทั้ง 5 ประกอบด้วย สตีเฟน กรีน อดีตทหารยศสิบตรีที่ถูกปลดประจำการในเดือนพฤษภาคม 2549 ด้วยเหตุผลว่า "สภาพจิตบกพร่อง" รวมถึง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เจมส์ บาร์คเกอร์, สิบเอก พอล คอร์เตซ, สิบตรี เจสซี สปีลมัน และ สิบตรี ไบรอัน ฮาวเวิร์ด โดยทั้งหมดเป็นทหารที่สังกัดในหมวดที่ 1 กองร้อย B กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 502 กองพลส่งทางอากาศที่ 101 ซึ่งประจำการอยู่ทางตอนใต้ของกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก


 


หลังจากการพิจารณาไต่สวนกว่า 6 เดือน สิบตรี พอล คอร์เตซ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เจมส์ บาร์คเกอร์ ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ข่มขืนเด็กหญิงอาเบียร์ คาซิม ฮัมซา อัล-จาบานี แต่ทั้งสองคนให้การตรงกันว่าผู้ที่ลงมือสังหารเด็กหญิงอาเบียร์และสมาชิกครอบครัวของเธอคือนายสตีเฟน กรีน เพียงคนเดียว


 


พอล คอร์เตซ วัย 24 ปี ถูกถอดออกจากตำแหน่งทางทหาร และอาจจะถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิต โดยศาลจะพิจารณาโทษของนายคอร์เตซในวันที่ 23 ก.พ.นี้ แต่สำหรับ เจมส์ บาร์คเกอร์ ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 90 ปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งสองรายยอมรับสารภาพ จึงได้รับการลดหย่อนโทษ


 


ทว่า สตีเฟน กรีน รอดพ้นจากการพิจารณาคดีในศาลทหาร เนื่องจากมีใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าเป็นผู้ที่มีสภาพจิตบกพร่อง จึงถูกควบคุมตัวเพื่อนำไปพิจารณาคดีในศาลของพลเรือนอีกครั้งหนึ่ง


 


มูลเหตุจูงใจในการฆ่าข่มขืนครอบครัวเด็กหญิงชาวอิรักดังกล่าว เกิดจากการท้าทายกันในวงไพ่ ซึ่งผู้ที่เป็นคนต้นคิดก็คือ สตีเฟน กรีน


 


ทางด้าน สิบตรี เจสซี สปีลมัน และ สิบตรี ไบรอัน ฮาวเวิร์ด ไม่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฆ่าข่มขืน แต่จะถูกลงโทษในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิด เนื่องจากทหารทั้งสองนายเป็นผู้คอยดูต้นทางและมีส่วนร่วมในการเผาบ้านของครอบครัวอัล-จาบานีเพื่อทำลายหลักฐาน


 


รายงานพิเศษเรื่องคดี "มาห์มูดิยา" โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย


มาห์มูดิยา : เมื่อทหารอเมริกา "ข่มขืน-ฆ่า" เด็กอายุ 14 (ตอนที่ 1 )


มาห์มูดิยา : เมื่อทหารอเมริกา "ข่มขืน-ฆ่า" เด็กอายุ 14 (ตอนจบ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net