Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 20 ก.พ.50 เวทีประชาธิปไตยประชาชน จัดเวทีระดมข้อเสนอในรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิผู้บริโภค นโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม นโยบายเศรษฐกิจ ประเทศไทยกับโลกาภิวัตน์ ระบบยุติธรรม ทหาร ตำรวจ ณ อาคารใหม่ สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน (สนค.)


 


สารี อ๋องสมหวัง ในนามของเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวในเวทีประชาธิปไตยประชาชน เรื่องนโยบายเศรษฐกิจว่า ในมาตรา 87 ที่ระบุว่า รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกการตลาดนั้น เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเดียว แต่ควรจะสนับสนุนระบบเศรษฐกิจทางเลือก และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จึงเสนอให้แก้ไขความในมาตรา 87 ว่า


 


"รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจที่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม กำกับดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยภาคเอกชน เพื่อประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาที่ยั่งยืนและรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของรัฐ"


 


ด้านนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เสนอให้ใช้คำว่า "ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน" แทนคำว่าระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด นอกจากนี้ ยังควรระบุในวรรคสองและวรรคสามว่า รัฐต้องสนับสนุน คุ้มครองเศรษฐกิจท้องถิ่นของผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับความเป็นธรรม ยกตัวอย่างกรณีผลกระทบการการค้าเสรี และรัฐต้องจัดการทรัพยากรและสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นแก่การครองชีพ เช่น ที่ดินทำกิน ที่เป็นการอุปโภคบริโภค ไฟฟ้า และระบบคมนาคม ให้เพียงพอ เป็นบริการสาธารณะโดยไม่แสวงกำไร ทั้งนี้ ต้องระบุให้ชัดว่า อะไรคือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานบ้าง


 


 


เสนอให้มีองค์การอิสระผู้บริโภคจริง และแก้มาตรา 52, 57และ 87


เวทีประชาธิปไตยประชาชน ว่าด้วยเรื่องสิทธิผู้บริโภค โดยสารี อ๋องสมหวัง ในนามของเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่พูดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยระบุเอาไว้ในมาตรา 57 ที่ว่า ผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และในวรรคสองได้ระบุไว้ว่า ให้มีองค์การอิสระในการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค


 


แต่ที่ผ่านมามีปัญหามากในการตีความที่แตกต่างระหว่างหน่วยงานรัฐและองค์กรผู้บริโภค และยังมีความล่าช้าในการดำเนินการให้เกิดองค์การอิสระของผู้บริโภค เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการ จนเวลาผ่านมา 10 ปี ยังไม่มีการผลักดันให้เกิด


 


เครือข่ายผู้บริโภคจึงเสนอให้แก้ไขมาตรา 57 โดยระบุให้ชัดว่า จะต้องมีการออกกฎหมายเฉพาะ ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค โดยการปรับปรุงกฎหมายหรือนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้บริโภค ต้องให้องค์กรอิสระนี้มีบทบาท


 


"มาตรา 57 ให้ออกกฎหมายเป็นการเฉพาะว่าด้วยการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค ในการดำเนินการให้ความเห็นแก่หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอื่น ในการออกนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค รวมทั้งนโยบาย กฎหมาย และมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค


 


กฎหมายตามวรรคหนึ่งบัญญัติให้มีองค์การอิสระผู้บริโภค ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ การเมือง และภาคธุรกิจ ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็ง ให้ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค ในการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ ดำเนินการฟ้องร้องแทนผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณที่ชัดเจนเพียงพอในการดำเนินการ" สารีกล่าวถึงสาระในต้องการให้แก้ไขในมาตรา 57


 


สารีกล่าวว่า "องค์กรอิสระ" ที่กล่าวถึงนั้น ต้องมีความอิสระใน 3 ด้าน คือ อิสระจากผู้ให้บริการ ซึ่งก็คือหน่วยงานรัฐ อิสระจากผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจ และอิสระจากด้านการเมือง


 


เลิกบัญญัติ "ผู้ยากไร้" เพราะทุกคนมีสิทธิเสมอกัน


 


ในมาตรา 52 ที่ให้ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สารีกล่าวว่า หากเรามองว่าสาธารณสุขพื้นฐานเป็นสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ควรบัญญัติว่า "ผู้ยากไร้" เพราะการระบุเฉพาะเจาะจงถึงผู้ยากไร้ ทำให้เรามีกฎหมายสาธารณสุขแห่งชาติที่บัญญัติให้คนไม่เท่าเทียมกัน การต้องตรวจสอบว่าใครจนใครรวย ทำให้เสียศักดิ์ศรีมาก


 


ข้อเสนอคือให้แก้ไขมาตรา 52 เป็น "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกัน ในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และได้รับการคุ้มครองเมื่อได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข"


 


ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคเสนอต่อว่า ควรยกเลิกการเก็บเงินสมทบลูกจ้างนายจ้าง ในกองทุนประกันสังคมในส่วนของสุขภาพ เพราะที่ผ่านมา แรงงานต้องเสียเงินสองต่อ คือ จ่ายเงินสมทบและจ่ายเสียภาษี จึงเสนอยกเลิกเงินสมทบ แล้วใช้ระบบสวัสดิการระบบเดียวกันทั้งหมด นอกจากนี้ ระบบหลักประกันต้องครอบคลุมโรคสำคัญทุกโรค ซึ่งที่ผ่านมา โรคบางโรคในบางระบบสวัสดิการ ไมได้รับความคุ้มครอง อาทิ โรคไตวาย ซึ่งไร้เหตุผล และไม่เท่าเทียม


 


นอกจากนี้ งบประมาณที่ได้ตามพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถนั้น มีงานวิจัยที่สะท้อนว่า คนจำนวนกว่าครึ่งไม่ใช้บริการตามพ.ร.บ.นี้ เพราะมีความยุ่งยาก และพ.ร.บ.นี้อาจมีความล้าหลัง เพราะมีระบบหลักประกันอื่นที่ให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อลดภาระของผู้ใช้บริการ ภาวะเสี่ยงล้มละลายของผู้ประสบอุบัติเหตุ และลดภาระต่อระบบหลักประกันประเภทต่างๆ จึงเสนอว่า แทนที่จะนำงบประมาณที่เกิดขึ้นตามพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถไปให้แก่เอกชน ก็ควรรวมเข้ากับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ


 


นอกจากนี้ เนื่องจากขณะนี้มีระบบหลักประกัน ทำให้มีผู้ใช้บริการสาธารณะสุขมากขึ้น ก่อให้เกิดภาระงานที่มากขึ้น อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์ ซึ่งเดิม ผู้เสียหายต้องดำเนินการฟ้องร้องเอง โดยได้รับเพียงความช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเพื่อยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยของคนไข้ จึงเสนอให้ตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากสาธารณะสุข เพื่อลดภาระความทุกข์ การพิสูจน์ความจริง และลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้


 


นอกจากนี้ สารีเสนอประเด็นเรื่องบริการสาธารณะของรัฐว่า รัฐบาลในอดีตจนถึงปัจจุบันมีแนวนโยบายที่จะสนับสนุนให้เอกชนผูกขาดในบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของรัฐโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ เพื่อเพิ่มการแข่งขันและให้ผลประโยชน์กับรัฐหรือประเทศโดยรวม จึงเสนอให้ต้องมีการระบุว่า "รัฐจะต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับหรือบริหารนโยบายของกิจการสาธารณูปโภค"


 


ทรัพยากรเป็นของประชาชน และชุมชนต้องบริหารจัดการ


เวทีประชาธิปไตยประชาชน ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานนั้น สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มีข้อเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ทั้งหมดสามประเด็นคือ


 


ประเด็นแรก ทรัพยากรธรรมชาติทั้งปวง เช่น ด้านพลังงาน ปิโตรเลียม ก๊าซ น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง น้ำ แร่ธาตุ ในอาณาเขตของชาติ ทั้งที่อยู่ใต้ดิน ใต้ทะเล พื้นที่ชายฝั่งทะเล และในอากาศ เป็นทรัพย์สินของสาธารณะชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง


 


ทั้งนี้ เพราะต้องการให้ทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานเป็นของสาธารณะชน ไม่ใช่ของเอกชนหรือของรัฐ เพราะที่ผ่านมา ทั้งรัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ก็คุกคามประชาชน สาธารณะ


 


ประเด็นที่สอง บริการสาธารณะ บริการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำ ประปา ต้องดำเนินการโดยนิติบุคคลของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ หากปัจเจกบุคคล ประชาชนทั่วไป ชุมชน การรวมตัวของบุคคล เป็นสหกรณ์นิติบุคคลแบบชุมชนท้องถิ่น ต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว ทั้งการบริหารจัดการ การวางแผน การผลิต การส่ง การจำหน่ายขายปลีก รัฐต้องกระจายอำนาจให้ปัจเจกบุคคลหรือการรวมกลุ่มของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นดังกล่าว สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นจริง ปราศจากมาตรการกีดกัน


 


สายรุ้งกล่าวว่า ต้องมีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสาธารณูปโภค เช่น การจัดการไฟฟ้า การจัดการน้ำ หากประชาชนชุมชนมีความพร้อมและมีความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ


 


ประเด็นที่สาม กิจการด้านพลังงานทีเกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ ที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติหรือผูกขาดโดยโครงสร้างธุรกิจ เกี่ยวพันกับความมั่นคง และการใช้อำนาจรัฐ อำนาจมหาชน เช่น การโอนสิทธิ์ การเวนคืนที่ดิน เข้าไปละเมิดสิทธิประชาชน ชุมชน เช่น สายส่งไฟฟ้าและกิจการสายส่งไฟฟ้า ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ต้องดำเนินการโดยรัฐและรัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งประชาชนและกลุ่มต่างๆ ในสังคม สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ไม่ใช่เป็นขององค์กรใดองคกรหนึ่ง


 


ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าวว่า สายส่งไฟฟ้าและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นกิจการผูกขาดโดยธรรมชาติ ควรให้รัฐเป็นเจ้าของและดำเนินการ แต่เปิดให้ประชาชน ชุมชน สามารถมีสิทธิใช้ได้ด้วย ไม่ใช่ให้รัฐวิสาหกิจเช่น กฟผ. ปตท. เท่านั้น


 


เสนอใช้ระบบลูกขุนในกระบวนการยุติธรรม


เวทีประชาธิปไตยประชาชน ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตำรวจ ทหาร นุ่มนวล ยุพราช ผู้แทนพรรคแนวร่วมภาคประชาชน กล่าวถึงข้อเสนอในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมว่า ควรจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามหลักการประชาธิปไตย จึงเสนอให้มีระบบคณะลูกขุนที่มาจากทะเบียนรายชื่อประชากรในเขตนั้นๆ หมุนเวียนมาพิพากษาคดี โดยผู้พิพากษาเป็นผู้ชี้แจงประเด็นกฎหมายแก้คณะลูกขุน


 


ผู้แทนจากพรรคแนวร่วมยังเสนอว่า ควรให้พลเมืองมีสิทธิวิจารณ์ศาลได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบของประชาชน


 


นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น ปัญหาการลักขโมย มักมาจากความยากจนหรือติดยา การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน นั่นคือสร้างระบบรัฐสวัสดิการ และเสนอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยของนักโทษ และต้องนำเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เคยทำความรุนแรงกับประชาชนในอดีตมารับโทษ และอดีตอาชญากรของรัฐควรถูกกีดกันไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งสาธารณะ


 


วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญแสดงความเห็นว่า การเสนอให้ใช้ระบบลูกขุนในกระบวนการยุติธรรมนั้น อาจจะเจออุปสรรคว่า ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาถือว่ากระทำการแทนพระเจ้าแผ่นดิน หากเปลี่ยนมาให้คณะลูกขุนกระทำการแทนนั้น จะต้องยอมรับร่วมกันก่อนว่า การพิจารณาพิพากษานั้น ไม่ได้ทำโดยพระปรมาภิไธย ซึ่งนี่จะเป็นประเด็น


 


นายวิฑูรย์จึงเสนอว่า ควรมีช่องทางที่หลากหลายขึ้น หากไม่สามารถใช้ระบบลูกขุนได้ ควรใช้ระบบไต่สวนที่มีกระบวนการของฝ่ายศาลที่เข้มแข็ง ต้องทำงานค้นหาข้อมูลเอง ไม่ใช่มีกระบวนการที่ตำรวจสอบสวนแล้วไปยังอัยการ


 


"อีกเรื่องที่ผมอยากเสริมคืออยากให้มีกระบวนการของภาคประชาชนเข้าไปอยู่ในกระบวนการศาล เพราะที่ผ่านมา สถาบันตุลาการไม่มีตรวจสอบถ่วงดุลโดยภาคประชาชนเลย และจะพูดว่าเป็นสถาบันก็บริสุทธิ์ผุดผ่องนั้นก็พูดยาก" นายวิฑูรย์กล่าว และเสนอว่า คณะกรรมการตุลาการควรมีตัวแทนภาคประชาสังคมหรือควรมีคณะกรรมการระดับจังหวัดด้วย ซึ่งจะเป็นตัวช่วยกรณีที่เป็นระบบลูกขุน เพราะต้องเชื่อมโยงกับตัวแทนของท้องถิ่นนั้นๆ


 


นายวิฑูรย์เสนอเรื่องหลักการอุทธรณ์ว่า การตัดสินขอองค์กรอิสระทั้งหลาย ถ้าต้องการอุทธรณ์ ก็ต้องอุทธรณ์กับคณะกรรมการเดิม หรือบางทีคำพิพากษานั้นก็ถูกระบุว่า ถือเป็นที่สิ้นสุด นั่นคือไม่สามารถอุทธรณ์ได้


 


เขากล่าวว่ากรณีเช่นนี้น่ากลัว เพราะถือเป็นกระบวนการตัดสินที่ไม่ให้โอกาสใดๆ เลย นอกจากเสนอให้มีหลักเรื่องการอุทธรณ์ในทุกกรณีแล้ว ในกรณีที่ ต้องอุทธรณ์ไปที่หน่วยงานเดิมนั้น ถ้าศาลอุทธรณ์จะยืนตามคำพิพากษาเดิม ต้องมีเสียงอย่างน้อยนสามในสี่ ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ หรือต้องมีคำอธิบาย หรือคำวินิจฉัยรายบุคคล และต้องเปิดเผย ซึ่งสามารถใช้เรื่องนี้ในทุกกรณีได้


 


นายใจ อึ๊งภากรณ์ พรรคแนวร่วมภาคประชาชนย้ำว่า ระบบลูกขุนนั้น มีวัตถุประสงค์ที่จะลดอำนาจของศาลที่จะตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด เพียงประสานในแง่กฎหมาย คือแม้สุดท้ายจะมีระบบไต่สวนก็ตาม แต่ต้องใช้ระบบลูกขุนด้วย เพราะมันคือการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ประสานงานเวทีประชาธิปไตยประชาชนกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยมักจะถูกเชิดชู แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยากที่จะได้รับความเป็นธรรม เช่น คดีคนยากจน คนยากจนไม่มีโอกาสแม้แต่จะต่อสู้คดี กรณีเหล่านี้ ระบบลูกขุนอาจจะช่วยได้ แต่ขณะเดียวกัน ในสังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมของระบบอุปถัมภ์ก็เป็นไปได้ว่าผู้พิพากษาจะโน้มน้าวระบบลูกขุน ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่เป็นแนวโน้มที่น่าสนใจ


 


เสนอเพิ่มหมวด "ตำรวจ ทหาร" ในรัฐธรรมนูญ


นุ่มนวล ยุพราช กล่าวว่า พรรคแนวร่วมมีข้อเสนอเกี่ยวกับตำรวจและทหารหลายประการ ซึ่งเห็นว่า ในรัฐธรรมนูญควรมีหมวดที่ว่าด้วยตำรวจและทหาร


 


ข้อเสนอของพรรคแนวร่วมที่มีต่อการปฏิรูประบบตำรวจและทหารนั้น ได้แก่ การยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นเครื่องมือของส่วนกลาง ทหารไม่ควรมีสิทธิ์เป็นนายกฯ ไม่ควรมีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ ประชาชนต้องตรวจสอบการทำงานของทหารได้ เสนอว่าตำรวจไม่ควรถืออาวุธ ตำรวจและทหารไม่ควรค้นบ้าน รถ ตรวจบัตรโดยไม่มีเหตุชัดเจน


 


ความเห็นในเวทีวปช. ว่าจะให้มีหมวดตำรวจและทหารนั้น มีหลากหลาย เช่น นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญเห็นว่า การยกเป็นอีกหมวดหนึ่ง จะเป็นการให้ความสำคัญสถาบันเหล่านี้มากเกินไป จากเดิมที่มีอำนาจทั้งสามทางเท่านั้น


 


ด้านนุ่มนวล ยุพราช พรรคแนวร่วม เสนอว่า ถ้ากฎหมายระบุบทบาทชัดเจน ก็มีเครื่องมือในการเอาผิดได้ ขณะที่ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากออกซแฟม (Oxfam) กล่าวว่า การเสนอเรื่องนี้ คือการเสนอเรื่ององค์กรที่ใช้อาวุธ ว่าจะใช้อำนาจได้มากน้อยแค่ไหน จะบรรจุในรธน.หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจัดการ ไม่ว่าจะบอกว่า ให้อำนาจหรือไม่ ให้ความสำคัญหรือไม่ แต่มันคือการจัดการกับกระบวนการที่ใช้อาวุธ ซึ่งต้องคุยกันยาว


 


ทำสัญญา เจรจาระหว่างประเทศ ต้องผ่านรัฐสภา


หลังจากนั้น เวทีประชาธิปไตยประชาชน เข้าสู่ประเด็นเรื่องประเทศไทยกับโลกาภิวัตน์ โดยจักรชัย โฉมทองดี ในฐานะตัวแทนของกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ (FTA Watch) และเครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ประเทศไทย กล่าวถึงเป็นเรื่องการทำความตกลงหรือหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ ว่า กระบวนการทำสัญญาระหว่างประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแต่กรณีเอฟทีเอเท่านั้น แต่ในทุกๆ กรณี ควรระบุชัดเจนในรัฐธรรมนูญ


 


จักรชัย เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 224 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ โดยเสนอในสามประเด็นคือ


 


หนึ่ง การจัดทำความตกลงหรือหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ต้องแจ้งให้รัฐสภารับทราบ


 


สอง ความตกลงหรือหนังสือสัญญาระหว่างประเทศใด มีบทเปลี่ยนแปลงณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องแก้ไขหรือออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา หรือมีผลผูกพันอันอาจจะนำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจของภาคี ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนการเจรจา และก่อนการลงนามหรือให้สัตยาบัน


 


สาม รัฐบาลต้องดำเนินกระบวนการจัดทำความตกลงหรือหนังสือสัญญาตามข้อสอง บนหลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของประชาชน


 


เขาเสริมว่า กระบวนการจัดทำความตกลงที่ผ่านมา ขาดการมีส่วนร่วมจากรัฐสภาและประชาชน รวมทั้งยังมีปัญหาขาดความโปร่งใส จึงจำเป็นต้องระบุข้อความเหล่านี้ลงในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชน มีส่วนร่วม ถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจ และยังเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองของรัฐบาลในการเจรจาและลดความระแวงสงสัยในกรณ๊ผลประโยชน์ทับซ้อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net