Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 15 ก.พ.50  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเรื่องด่วนเรื่อง ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan -Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสนช. เพื่อประกอบการตัดสินใจลงนาม โดยเป็นไปตามมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เปิดให้มีการอภิปรายทั่วไปแต่ไม่ให้มีการลงมติ หลังจากเอฟทีเอทุกฉบับที่ผ่านมาไม่เคยมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแต่อย่างใด


 


ทั้งนี้ การอภิปรายได้ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง โดยมีสมาชิก สนช.เสนอความคิดเห็นได้เพียง 10 กว่าคน จากที่แสดงความต้องการอภิปรายกว่า 50 คน สมาชิกที่ได้มีโอกาสแสดงความคิดส่วนใหญ่ชื่นชมกระบวนการนำเข้าสู่การอภิปรายของ สนช.และเห็นด้วยกันการเดินหน้าเรื่องนี้แม้จะมีข้อท้วงติงในหลายประเด็น ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ของเสียอันตราย การลงทุน แต่ประเด็นที่เห็นร่วมกันคือ ต้องการให้มีการวางกรอบกติกาการมีส่วนร่วม และการเปิดเผยข้อมูลการเจรจาการค้าระหว่าประเทศให้ชัดเจนมากขึ้นในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่นี้


 


นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สนช. กล่าวว่า การอภิปรายครั้งนี้แม้เป็นก้าวประวัติศาตร์ แต่ก็เป็นการมัดมือชก สนช. เพราะในเนื้อหายังมีประเด็นน่าห่วงใยทั้งเรื่องสิทธิบัตรจุลชีพและขยะอันตรายที่ควรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาเพิ่มเติมอีก 1-2 เดือน แต่ก็ไม่อาจทำได้ เนื่องจากในวันที่ 20 ก.พ.นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดการเยือนญี่ปุ่นเนื่องในโอกาส 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นโดยจะปาฐกถาต่อหน้านักธุรกิจ สื่อมวลชนญี่ปุ่นซึ่งรอรับฟังท่าทีของไทยอย่างใจจดใจจ่อ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีก็วางแผนการเยือนญี่ปุ่นวันที่ 2-3 เม.ย.นี้ หากครม.ไม่เห็นชอบหรือเรื่องนี้ชะลอออกไปก็จะเดินทางกันไปมือเปล่า ส่งผลเสียต่อประเทศชาติ เพราะต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นเริ่มไม่มั่นใจกับนโยบายของประเทศไทย ทั้งการรัฐประหาร, นโยบายกันสำรอง 30%ของธปท., ว่าที่พ.ร.บ.ธุรกิจของคนต่างด้าว,ระเบิดป่วนกุรง,ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการปิดประเทศ


 


"พวกเราไม่อาจพิจารณา JTEPA อย่างลอยๆ โดดๆ ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่น แต่ต้องพิจารณาร่วมกับมิติที่กำลังมีปัญหา คือ การเมืองระหว่างประเทศที่ภาพพจน์ไทยไม่ดีนักและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ไม่สดใสแน่นอน  JTEPA คือจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่เขากำลังเฝ้าดูอยู่" นายคำนูณกล่าวพร้อมระบุว่า วัน 20 ก.พ. นี้น่าจะมีการบรรจุความคิดเห็นครั้งนี้เข้าสู่ ครม. เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบการลงนาม


 


"เหมือนรัฐบาลบังคับทางอ้อมให้สนช.ผ่านอภิปรายใน 1 วันในลักษณะให้ฉันทานุมัติ เป็นการมัดมือชกโดยแท้ โดยจับเอาจิตสำนึกในประโยชน์เฉพาะหน้าของบ้านเมืองไปเป็นตัวประกันอีกด้วย ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติก็จะไม่ยอม แต่นี่เป็นช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติอย่างยิ่ง"นายคำนูณกล่าว


 


บดินทร์ อัศวานิชย์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือทรัพย์สินทางปัญญา แม้จะบอกว่าไม่ได้มีอะไรมากกว่าไป WTO แต่ปรากฏว่าในข้อตกลงนั้นมีมาตราเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาอยู่หลายข้อซึ่งอ่านทำความเข้าใจได้ไม่ง่าย ข้อสังเกตก็คือหากคณะเจรจายืนยันว่าเหมือนกับ WTO ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเขียนหลายข้อ และควรจะเปิดเผยข้อตกลงให้ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ได้ช่วยกันพิจารณา


 


เขากล่าวด้วยว่า การเจรจาการค้าที่เป็นอยู่มักจะมุ่งไปที่ตัวสินค้าซึ่งการลดภาษีสามารถทำให้จับต้องได้ทันที แต่สิ่งเหล่านี้เป็นผลประโยชน์ระยะสั้น อัตราภาษีศุลการในประเทศพัฒนาแล้วนั้นแทบจะเลิกใช้กันหมดแล้วเพราะเขาหันไปใช้มาตรการกีดกันทางการค้าแทน (NTB) ขณะที่ประเทศมหาอำนาจเวลาเจรจากับไทยต้องการสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ระยะยาวอย่างเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุนและการบริการ


 


นายสำราญ รอดเพ็ชร นำเสนอให้ตัดมาตรา 130 (3) ซึ่งเกี่ยวพันกับสิทธิบัตรจุลชีพซึ่งไทยนับว่ามีความหลายหลายสูงมาก มาตรานี้จะเปิดช่องการอนุญาตให้ญี่ปุ่นสามารถจดสิทธิบัตรจุลชีพที่มีอยู่ในธรรมชาติได้  นอกจากนี้ยังเสนอให้ยืดการตัดสินใจของ ครม.ออกไปก่อน และตั้งกรรมการร่วมทุกภาคส่วนขัดเกลาแก้ไขข้อตกลงที่ยังมีจุดบกพร่องแล้วไปเจรจานอกรอบกับญี่ปุ่นอีกครั้ง เพราะลงนามแล้วผลกระทบจะเกิดระยะยาว


 


นายโคทม อารียา สมาชิก สนช. กล่าวแสดงความกังวลในเรื่องทรัพย์สินทางปัญหา และบทว่าด้วยการลงทุนที่ขอบเขตนั้นรวมไปถึงทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือเขตแดนทางทะเล ซึ่งเดิมทีมันเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐโดยตรง ซึ่งเป็นสิทธิขาดของประเทศ แต่เมื่อมันเป็นพื้นที่ของการลงทุนด้วย ญี่ปุ่นก็สามารถไปลงทุนทำประโยชน์ได้ทั้งหมด 


 


หลังจากโดนเพื่อนสมาชิกประท้วงให้รวบรัดการอธิบาย นายโคทมจึงได้สรุปข้อเสนอว่าการเจรจานี้ยังมีข้อน่าวิตกควรจะเจรจาต่อรองกันต่อไปอย่ารีบร้อน  หรือมเช่นนั้นก็ต้องทำเอ็มโอยูเพิ่มเติมในข้อบทที่มีปัญหา เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันและไม่เกิดปัญหาการตีความ  


 


นายณรงค์  โชควัฒนา สมาชิก สนช. กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือกระบวนการเจรจา ซึ่งแม้จัดทำมาหลายปี แต่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน มาเปิดให้ร่วมมากขึ้นก็ต่อเมื่อเจรจาเสร็จสิ้นไปแล้ว ระหว่างเจรจาต่อรองนั้นข้อมูลต่างๆ กลับถูกทำให้เป็นชั้นความลับ


 


เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเจรจานั้นประเทศเล็กมักเสียเปรียบประเทศใหญ่เพราะมีอำนาจต่อรองไม่เท่ากัน ขณะที่สำหรับประเทศพัฒนาแล้วการเจาะเจรจาทีละประเทศเป็นยุทธศาสตร์หลักโดยอ้างเสมอว่าหากไม่ทำจะทำให้เราเสียเปรียบประเทศอื่น นอกจากนี้เขายังเห็นว่าการทำเอฟทีเอคือการไปช่วยให้คนแข็งแรงอยู่แล้วยิ่งแข็งแรงมากขึ้น แต่ทำให้คนอ่อนแอนั้นอ่อนแอลงในอัตราที่เท่ากัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรม รัฐมีหน้าที่ดูแลคนอ่อนแอไม่ให้ได้รับผลกระทบ


 


นายประพันธ์ คูณมี สมาชิก สนช. เสนอว่า รัฐบาลนี้ควรถือโอกาสทบทวนยุทธศาสตร์ การเจรจาเอฟทีเอทั้งหมดของรัฐบาลให้มันมีทิศทางแนวทางเดียวกัน และควรให้สภานิติบัญญัติได้ตัดสินใจซึ่งควรบรรจุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน นอกจานี้การทำประชาพิจารณ์ควรเปิดกว้างที่สุด แม้ JTEPA จะเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมมากกว่าเอฟทีเอฉบับอื่น แต่ก็ยังต้องกว้างกว้างกว่านี้และที่สำคัญต้องมีการเปิดเผยร่างข้อตกลง


 


นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวว่า การเดินหน้ JTEPA จะเป็นการส่งสัญญาณสร้างความเชื่อมั่นแก่ต่างประเทศได้ดีกว่าการกล่าวปาถกฐาใดๆ ว่าเราพร้อมจะค้าขายและร่วมมือกับต่างประเทศ อย่างไรก็ตามในเรื่องสิทธิบัตรจุลชีพนั้นถือว่าไทยให้มากกว่าที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซียให้ญี่ปุ่น ดังนั้นควรจะเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ส่วนอื่นเพิ่มขึ้นมา ส่วนที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่นั้น ควรมีการกำหนดการนำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาให้ชัดเจนกว่ามาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540


 


อรรคพล สรสุชาติ  สมาชิก สนช. กล่าวว่า การคัดค้าน JTEPA นั้นส่วนหนึ่งมากจากภาพหลอนในรัฐบาลชุดที่แล้วที่ทำเอฟทีเอแล้วเกิดผลกระทบต่อเกษตรกร และยังไม่มีการแก้ไข ทำให้รัฐบาลนี้ค่อนข้างลำบาก การเจรจาการค้าต้องให้ตัวแทนของประชาชนมีส่วนรับรู้ ผมเรียกร้องมาตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา ความระแวงมีจริง เพราะอดีตเป็นเครื่องชี้อนาคต เอฟทีเอที่ผ่านมา เห็นแต่ผลกระทบกับเกษตรกร แต่ยังไม่เห็นผลดีเลย รัฐบาลนี้จึงค่อนข้างลำบาก


 


"มีคนปรามาสล่วงหน้าว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเขาไม่สนใจ คนไทยไปพูดกับต่างชาติแบบนี้ที่ญี่ปุ่น พูดในขณะที่มีความเปราะบาง จำเป็นที่รัฐบาลต้องดูให้ละเอียด แต่ต้องให้การสนับสนุนข้อกตกลงนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ไม่ตั้งแง่ว่าถ้าเป็นเรื่องที่ดำเนินการในรัฐบาลที่ผ่านมาต้องเอาทิ้งทั้งหมด และการเจรจาคราวนี้ก็มีผลเสียน้อยที่สุดเท่าที่ผ่านมา มันจะเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นดัชนีเชิงบวกของเศรษฐกิจไทย รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ" นายอรรคพลกล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net