Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 5 .. 2550 เวทีประชาธิปไตยประชาชนจัดเวทีรับฟังข้อเสนอภาคประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญเรื่อง รัฐธรรมนูกับรัฐสวัสดิการ: สุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ การเลี้ยงดูบุตร ประกันสังคม ฯลฯ ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน (สนค.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ โดยมีตัวแทนจากองค์กรต่างๆ เข้าร่วม ได้แก่ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ อาทิ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย เครือข่ายผู้พิการ อาทิ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการ สมาคมคนหูหนวก สมาคมเพื่อความก้าวหน้าอาชีพคนตาบอดแห่งประเทศไทย และศูนย์การดำรงชีวิตอิสระ เครือข่ายพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ สหภาพแรงงานย่านรังสิต นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พรรคแนวร่วมภาคประชาชน และประชาชนทั่วไป


 


เสนอแก้สี่ประเด็นในรธน.


ประเด็นใหญ่ที่มีการเสนอในที่ประชุมครั้งนี้ ได้หลักการใหญ่ร่วมกันในรัฐธรรมนูญจะที่ถือเป็นหัวใจของรัฐสวัสดิการคือ


 


เนื้อหาในรัฐธรรมนูญต้องครอบคลุมคนทุกคนในประเทศไทย เนื่องจากนี่คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิใช่รัฐธรรมนูญแห่งปวงชนชาวไทย รัฐธรรมนูญควรเป็นกฎหมายที่บังคับในตัวเอง ให้เปิดให้ประชาชนกล่าวอ้างต่อรัฐได้โดยไม่ต้องรอกฎหมายลูก เพราะที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญมักระบุข้างท้ายไว้ว่า "ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ทำให้สิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ยังไม่เกิดขึ้นได้จริงทันทีเพราะต้องรอกฎหมายลูก และรัฐธรรมนูญต้องบัญญัติให้เรื่องเหล่านี้อยู่ในหมวดว่าด้วย "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีหมวดนี้ แต่ไม่ใช้ชื่อนี้ ทั้งนี้ เพื่อบอกว่ารัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อประชาชนและต่อรัฐเองอย่างไรบ้าง


 


หลักการทั้งสามข้อจากเวทีสาธารณะเรื่องรัฐธรรมนูญกับรัฐสวัสดิการนั้น นำไปสู่ความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญสี่ประการ โดยใช้พื้นฐานจากรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลักในการแก้ไข คือ


 


ประการที่หนึ่ง มาตรา 4 ที่ระบุว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง" ต้องเพิ่มคำว่า "คุณภาพชีวิต" เข้าไปในหลักการพื้นฐานของมนุษย์ด้วย ดังนั้น ความเดิมจะถูกแก้เป็น "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และคุณภาพชีวิตของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง"


 


ประการที่สอง หมวดที่ 3 ของรัฐธรรมนูญ ที่เดิมใช้ชื่อหมวดว่า "สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย"  ต้องแก้เป็น "สิทธิและเสรีภาพของประชาชน"


 


ประการที่สาม หมวดที่ 4 ของรัฐธรรมนูญ ที่เดิมใช้ชื่อหมวดว่า "หน้าที่ของชนชาวไทย"  ต้องแก้เป็น "หน้าที่ของประชาชน"


 


และประการสุดท้าย หมวดที่ 5 ของรัฐธรรมนูญ ที่เดิมใช้ชื่อหมวดว่า "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ"  ต้องแก้เป็น "หน้าที่ของรัฐ"


 


'รัฐ' มีหน้าที่ของรัฐ


ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวมาจากการเสนอเนื้อหาจากเวทีสาธารณะนั้น ว่าด้วยเรื่องคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข การศึกษา ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การจัดบริการสาธารณปโภค การประกันการทำงาน และการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม


 


ซึ่งข้อเสนอจากเวที่ที่เกิดขึ้น ยังมีการเสนอถึงแนวทางที่เรียกว่าเป็น 'หน้าที่ของรัฐ' ที่จะเป็นทางที่ทำให้ข้อเสนอเกิดขึ้นได้จริงว่า รัฐจะต้องเก็บภาษีรายได้ ที่ดิน มรดกในอัตราก้าวหน้า ภาษีการประกอบกิจการที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ภาษีการค้าจากตลาดหลักทรัพย์ และภาษีอบายมุข ภาษีสินค้าที่ส่งผลต่อสุขภาพ


 


นอกจากนี้ รัฐต้องสนับสนุนให้ภาคเอกชน องค์กรเอกชน บุคคล เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการ โดยรัฐมีบทบาทในการกำกับ ดูแล และรัฐต้องจัดงบประมาณสบทบเข้ากองทุนของภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินการรัฐสวัสดิการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเป็นเรื่องที่รัฐจัดให้แต่ฝ่ายเดียว 


 


ไม่เอาคนจนคนพิการ ไม่เอาชนชาวไทย


นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ควรมีฐานความมั่นคงในเรื่องรัฐสวัสดิการ บทบาทหน้าที่ของรัฐในรัฐธรรมนูญ ต้องคุ้มครองและส่งเสริมสวัสดิภาพของประชาชนให้มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน  ด้วยการจัดสวัสดิการด้านการศึกษา การสาธารณสุข การมีงานทำ การยังชีพอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งการจัดสวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวเดี่ยว และการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่ขาดแคลนด้วย ทั้งนี้ในการดำเนินการสร้างสวัสดิการให้ประชาชน รัฐต้องให้ท้องถิ่นและชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการในรูปแบบกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยรัฐต้องสมทบเข้ากองทุนเป็นสองเท่าของทุนที่ท้องถิ่น หรือชุมชนระดมได้ในแต่ละปี


 


นางสาวสุรีรัตน์ ยังเสนออีกว่า ในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ควรเปลี่ยนใหม่เป็นสิทธิของประชาชน ที่รัฐธรรมนูญต้องมีผลบังคับใช้โดยตัวเอง เพื่อให้สังคมไม่แตกต่างทางชนชั้น และให้คนได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างสมศักดิ์ศรี


 


นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญมาตรา 55 ที่ระบุว่า "บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวย ความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"  หรือในมาตรา 80 ที่ระบุว่า "รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความ เสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของ ครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน รัฐต้องสงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้ด้อย โอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้" ซึ่งนางสาวสุรีรัตน์เสนอว่า ควรตัดคำว่า พิการ ทุพพลภาพ ด้อยโอกาส ฯลฯ ออกไป เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องจัดให้ทุกคนโดยเท่าเทียม ไม่ใช่เขียนให้เกิดการเลือกปฏิบัติ


 


ด้าน พ..ต่อพงษ์ กุลครรชิต ตัวแทนองค์กรคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องให้ตัดคำว่าคนพิการ คนด้อยโอกาส คนทุพพลภาพ ฯลฯ ออก แต่พ..ต่อพงษ์ได้เตรียมการนำเสนอมาอีกประเด็นหนึ่งซึ่งมาจากรากฐานวิธีคิดที่ไม่ต่างกันคือ ที่ผ่านมาคนอาจจะไม่กล้าพูดนิยามความพิการให้ชัดเจนด้วยกลัวว่าคนพิการจะรู้สึกไม่ดี แต่แท้ที่จริงแล้ว การคุ้มครองสิทธิความเสมอภาคของคนพิการที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่เป็นธรรมนั้น ควรระบุนิยามคำว่า 'ความพิการ' ลงไปให้ชัดเจนในกฎหมาย เพราะความพิการเป็นเรื่องปกติที่เป็นเหมือนอัตลักษณ์ของคน ไม่จำเป็นต้องเลี่ยง ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ใส่ไว้  เมื่อการเลี่ยงทำให้คนพิการมีความน่าละอาย คนที่ยังไม่พิการก็อาจเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งเรื่องพิการเป็นเรื่องที่ไม่ต้องละอาย ไม่ต้องเกรงใจ


 


..ต่อพงษ์ ยังกล่าวว่า ในมาตรา 36 และ 37 ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ที่กล่าวถึงเสรีภาพในการเดินทางนั้น คนพิการก็ควรจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรานี้ คือ รัฐต้องอำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้กับคนพิการ ไม่เช่นนั้นก็ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามมาตรานี้ ทั้งนี้รัฐต้องทบทวนนโยบายการจัดการสงเคราะห์เด็ก คนชรา หรือคนพิการ ที่ควรส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทมากขึ้น และรัฐค่อยมาสนับสนุนชุมชนแทน เพราะในขณะนี้เกิดความแตกต่างระหว่างสถานสงเคราะห์ของรัฐกับเอกชนอย่างมาก


 


นายกำพล สุวรรณรัต ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวก ประเทศไทย กล่าวว่า คนหูหนวกเข้าถึงรัฐธรรมนูญได้ยาก และไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายเลย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหา ข้อมูลของกฎหมาย จึงต้องการผลักดันให้มีสื่อของรัฐที่คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงได้


 


นายประสงค์ สุขสำราญ  ตัวแทนจากศูนย์พัฒนาคนหูหนวกเพื่อชีวิตและสังคม เสนอให้รัฐต้องสนับสนุนการเข้าถึงข่าวสารของคนทุกกลุ่ม อย่างกรณีคนหูหนวกก็มีทั้งที่เข้าถึงและเข้าไม่ถึงข้อมูล ซึ่งกลุ่มที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารนั้นจะมีมากกว่า รัฐจึงควรจัดสรรสื่อของรัฐให้เข้าถึงเฉพาะกลุ่มมากกว่านี้ อย่างสิทธิของเด็กหูหนวก เมื่อเข้าไปเรียนในโรงเรียนก็ถูกบังคับให้พูด ทั้งๆที่เด็กควรมีสิทธิที่จะเลือกสื่อสาร


 


นางสาวพัชนีย์ คำหนัก ตัวแทนจากพรรคแนวร่วมภาคประชาชนเสนอในเรื่องรัฐสวัสดิการว่า รัฐมีหน้าที่จัดสวัสดิการให้กับประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายอย่างครบวงจร และใช้มาตรฐานเดียวกัน เช่น การรักษาพยาบาล ที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือคนชรา ต้องได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือเรื่องคุณภาพชีวิตทั่วไป เช่นระบบขนส่งมวลชนที่ควรส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุ และส่งเสริมให้การบริการนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น


 


ตัวแทนจากพรรคแนวร่วมฯ ยังเสนอให้รัฐจัดสวัสดิการด้านการศึกษา โดยที่รัฐปฏิบัติกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ในฐานะพลเมืองของรัฐที่มีศักดิ์ศรี โดยการให้การศึกษาที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอดชีพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่แบ่งตามรายได้ คือ จะรวยหรือจนก็ต้องได้รับการศึกษาเสมอกัน ทั้งรัฐต้องควบคุมหลักและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย


          


ด้านนายวิรัตน์ ภู่ระหงษ์  ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องยึดหลักความเสมอภาคให้ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ซึ่งรวมถึงคนที่เข้าถึงได้ยากด้วย และต้องส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อเอชไอวีมีศักยภาพเท่าเทียม และต้องไม่ใช้การมีสถานะของการมีเชื้อเอชไอวีมาเป็นอุปสรรค ทั้งรัฐต้องส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาแก่เด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึงด้วย


 


นายอธิพันธ์ ว่องไว ตัวแทนจากศูนย์การดำรงชีวิตอิสระ นครปฐม กล่าวถึงเบี้ยยังชีพของคนพิการว่า ขณะนี้คนพิการได้รับเบี้ยยังชีพจำนวน 500 บาทต่อเดือน และมีการเลือกปฏิบัติว่าเบี้ยสำหรับคนพิการน้อย หรือพิการมาก จึงต้องการให้กำหนดไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนเลยว่าคนพิการควรได้รับเบี้ยเลี้ยงยังชีพเท่าใด ทั้งนี้ไม่ควรต่ำกว่า ๑,๕๐๐ บาท ต่อคน ต่อเดือน


 


ประเด็นท้าทายของระบบรัฐสวัสดิการ


..เชิดชู อริยศรีวัฒนา อดีตกรรมการแพทยสภา กล่าวว่า รัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบอาจทำให้ประชาชนไม่กระตือรือร้นในการช่วยเหลือตัวเองในการดำรงชีวิต รัฐจึงต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการดูแลตัวเอง ให้คนมีงานทำ และต้องให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ ส่วนในเรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับระบบประกันสังคมนั้น ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม คือ ประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมเสียเปรียบเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ในขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพฯ นั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย


 


..เชิดชู เสนอว่ารัฐจะต้องให้บริการด้านสุขภาพอย่างเป็นธรรม โดยที่บุคลากรทางการแพทย์รับมือไหว และคนไข้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายบางส่วนด้วย


 


ด้านอ.สุชาย ตรีรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์กล่าวว่า มีแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการว่า ถ้าใช้ระบบรัฐสวัสดิการแล้วจะทำให้คนขี้เกียจ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่มีมานานแล้ว ว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้คนขี้เกียจ ทำให้คนไม่ทำงาน


 


แต่ความจริงแล้ว ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการ แล้วมีคนตกงานมาก เพราะเขามีตัวเลือกที่ดีกว่า มีตัวเลือกว่าจะทำงานนี้หรือไม่ทำ แต่คนไทยไม่ค่อยว่างงาน เพราะคนไทยไม่มีตัวเลือก ต้องทำทุกอย่าง อะไรก็ได้ จำเป็นต้องทำ ฉะนั้น สังคมไทยเป็นสังคมที่กดขี่อย่างมาก ตัวเลือกไม่ค่อยมี ดังนั้น ปัญหาการว่างงานไม่ได้บอกว่า ประเทศเราดีกว่าประเทศอื่น


 


นายมณเฑียร บุญตัน อุปนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ผมคิดว่า การไปคาดหวังให้ประชาชนมีความรับผิดชอบต่อสุขภาพตนเอง ในเชิงการรณรงค์นั้นเห็นด้วย แต่หลายครั้ง ความเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุมันไม่ได้เป็นเพราะบุคคลผู้นั้นเป็นผู้กระทำ แต่เกิดจากการกระทำของผู้อื่น โดยสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ


 


"ดังนั้น ในระบบภาษี มันจะเป็นมาตรการในการจัดการภาพรวม คือประชาชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมภาพรวมผ่านภาษี และได้รับบริการพื้นฐานเสมอกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะประชาชนได้จ่ายผ่านระบบภาษีแล้ว


 


"ส่วนจะไปบอกว่า ใครรับผิดชอบหรือไม่ ผมเข้าใจนะครับ ว่าสังคมเรายังมีความรับผิดชอบต่อตัวเองน้อย เพราะเราถูกสอนให้ใช้ระบบพึ่งพาตลอด มีบารมีหลายชั้นหลายตอน แต่เรื่องเหล่านี้เอาไปตัดสินชะตากรรมของสังคมทั้งระบบไม่ได้ เราไม่สามารถชี้วัดได้ว่าความเจ็บป่วยของนายกฯ เกิดขึ้นจากนายกฯ แต่เพียงผู้เดียว หรือความเจ็บป่วยของนายกฯ เกิดจากความไม่รับผิดชอบของบริษัทที่ปล่อยแก๊สพิษออกมา ปล่อยน้ำเสียออกมา หรืออะไรต่างๆ นานา ฉะนั้น มันจึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นความผิดของบุคคล หรือเป็นความบกพร่องทั้งระบบทั้งสังคม ฉะนั้น การพบกันครึ่งทางคือ การจัดสวัสดิการควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ประชาชนรับผิดชอบต่อตัวเอง" นายมณเฑียรกล่าว


 


พรรณอุมา  สีหะจันทร์ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net