Skip to main content
sharethis

ว่าด้วย The Black Dahlia หนัง Film Noir ที่ยังไม่ค่อย "นัว" สักเท่าไหร่ ของผู้กำกับ ไบรอัน เดอ พัลมา

ซาเสียวเอี้ย

 

ท่วงทำนองของหนังเผ่าพันธุ์ Film Noir มักดำเนินควบคู่ไปกับกิเลสตัณหาและความตาย ซึ่ง The Black Dahlia อันเป็นผลงานเรื่องใหม่ล่าสุดของผู้กำกับไบรอัน เดอ พัลมา (The Untouchable, Carlito"s Way) ก็เข้าข่ายนี้อย่างเห็นได้ชัด

 

เรื่องรักสามเส้า การหลอกลวง ความทะเยอทะยาน ความโลภ จิตใจอันบิดเบี้ยว และเซ็กส์ต้องห้าม จึงถูกจับมายำรวมกันในหนังเรื่องนี้อย่างครบถ้วน…

 

 

ใบหน้าสวยแบบหลอนๆ ของ Mia Kirshner บนโปสเตอร์หนัง The Black Dahlia (2006)

 

เมื่อชาวอเมริกันผิวสีในลอสแอนเจลิสลุกขึ้นมาก่อจลาจลช่วงต้นยุค 1940"s เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างไม่ยั้งมือ แต่ดูเหมือนว่ามาตรการ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" จะไม่ค่อยได้ผลนัก

 

ภาพลักษณ์ของกรมตำรวจแอลเอจึงติดลบในสายตาของประชาชน คนตัวใหญ่ในกรมฯ จึงพากันหาทางกอบกู้ความนิยมกันยกใหญ่

 

สุดท้ายหวยก็มาออกที่ตำรวจหนุ่มอย่าง "บัคกี้" - ดไวท์ ไบลเคิร์ท (Josh Haetnett) และ "ลี" - ลีแลนด์ บลันชาร์ด (Aaron Eckhart) ซึ่งเป็นอดีตนักมวยฝีมือดีด้วยกันทั้งคู่

 

เมื่อมีคำสั่งแกมร้องขอจากผู้บังคับบัญชา บัคกี้และลีจึงต้องโคจรมาเจอกันบนสังเวียนผ้าใบ หลังจากที่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาบ้างแบบผ่านๆ ตามเวทีที่ทั้งสองคนเคยขึ้นชก

 

การปะทะกันระหว่าง "ไฟ" กับ "น้ำแข็ง" ซึ่งเป็นนักมวยเก๋าเกมด้วยกันทั้งคู่ กลายเป็นจุดขายชั้นดีให้กรมตำรวจใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ และเงินที่ได้ก็จะนำไปสมทบทุนการกุศล เพื่อสร้างภาพที่ดูดีเอาใจใส่สังคม ซึ่งทางกรมฯ หวังว่ามันจะช่วยกอบกู้คะแนนความนิยมจากประชาชนกลับคืนมาได้

 

หากสิ่งที่ทำให้ทุกฝ่าย win-win ด้วยกันทั้งหมด ก็คือการ "ล้มมวย" เพื่อกินเงินพนันก้อนโต

 

แน่นอนว่าตัวละครในหนังฟิล์มนัวร์ย่อมไม่มีใครบริสุทธิ์แสนดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พวกเขามักจะเป็นตัวละครที่คนดูก็เกลียดไม่ลงเช่นกัน

 

ในความเยือกเย็นของบัคกี้ ผู้ถูกขนานนามว่า "น้ำแข็ง" เขารู้ดีว่าการยอมเป็นฝ่ายล้มมวย แม้จะขมขื่นและต้องเจ็บตัว แต่มันก็คุ้มกันดีกับการที่เขาจะได้มีเงินส่งพ่อไปอยู่ในความดูแลของสถานพยาบาลผู้สูงอายุที่แสนจะหรูหราและสะดวกสบาย

 

เช่นเดียวกับ "ไฟ" อย่างลี ที่ได้รับทั้งชื่อเสียงและตำแหน่ง "นักสืบไฟแรง" ซึ่งเป็นความหวังใหม่ของกรมตำรวจพ่วงมาด้วย แต่ที่สำคัญคือเขาจะได้เงินมากพอที่จะซื้อบ้านหลังใหญ่โตโอ่โถงไว้อยู่ร่วมกับ "เคย์" (Scarlet Johanson) สาวสวยเย้ายวนใจที่กลายมาเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างบัคกี้และลีในเวลาต่อมา...

 

ก็ถ้า "ความรัก" เป็นแรงขับเคลื่อนชั้นดี - ความหวังที่บัคกี้อยากให้พ่อได้อยู่สบายๆ ในสถานพยาบาล และการที่ลีอยากมีบ้านหลังงามไว้อยู่ร่วมกับเคย์ คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราประณามการกระทำของทั้งสองคนได้ไม่เต็มปากนัก

 

แต่มันก็ต้องดูด้วยว่าข้ออ้างที่ใช้ความรักนำหน้า เป็นสิ่งที่ออกมาจากเจตนาชนิดไหน...

 

ลี (Aaron Eckhart) เคย์ (Scarlet Johanson) และ บัคกี้ (Josh Hartnett)

 

หลังจากที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ความสัมพันธ์แบบผิวเผินระหว่างบัคกี้และลีก็พัฒนาไปสู่ความเป็น "คู่หู" ที่ลุยงานนักสืบด้วยกันทุกที่ และเคย์ก็ก้าวเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างทั้งสองคนได้อย่างเนียนๆ

 

แม้ลีและเคย์จะอยู่ร่วมบ้านกัน แต่ก็ไม่ได้แต่งงานหรือแสดงความผูกมัดอะไรให้ใครเห็น ไม่มีพิธีในโบสถ์ ไม่มีแหวนแต่งงาน ซึ่งค่อนข้างจะผิดกับขนบธรรมเนียมของสังคมอเมริกันเวลานั้นอยู่พอสมควร แต่บัคกี้ก็พยายามไม่ใส่ใจความคลุมเครือนั้น เพราะคิดว่าลีและเคย์อาจเห็นว่าการแต่งงานเป็นเพียงเรื่องพิธีกรรมที่ไม่จำเป็นสักเท่าไหร่

 

แต่เรื่องรักสามเส้าก็เกิดขึ้นจนได้ และเคย์ก็พยายามทำให้บัคกี้เข้าใจว่าเรื่องของ "เธอและเขา" ไม่เกี่ยวอะไรกับลีซึ่งกลายเป็น "บุคคลที่สาม" ไปแล้ว

 

ความทรมานที่ต้องมีความลับกับเพื่อนคู่หูและความเย้ายวนของรักต้องห้าม ทำให้บัคกี้พยายามตีตัวออกห่างจากเคย์ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะคดีฆาตกรรมหญิงสาวที่ชื่อ "อลิซาเบธ ชอร์ต" ดึงให้คนทั้งสามกลับมาอยู่ในห่วงโซ่ความสัมพันธ์ที่แน่นหนายิ่งกว่าเดิม แถมยังเพิ่มตัวละครที่สาม สี่ ห้า หก ตามมาอีกเป็นชุด

 

"อลิซาเบธ ชอร์ต" หรือ เบ็ตตี้ (รับบทโดย Mia Kirshner) คือหญิงสาวที่ใฝ่ฝันจะเป็นดาราฮอลลีวู้ด แต่ถูกฆาตกรรมอย่างสยดสยองก่อนที่ความฝันใดๆ ของเธอจะเป็นจริง

 

ร่างของเบ็ตตี้ถูกหั่นเป็นสองท่อน ตรงกลางลำตัวซึ่งควรจะเป็นที่อยู่ของตับไดไส้พุง ถูกคว้านหายไปจนหมด แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือศพของเธอถูกนำมาทิ้งริมทุ่งหญ้ารกร้างในสภาพเปลือยเปล่าทั้งตัว

 

ผู้กำกับเดอ พัลมา สร้างหนังเรื่องนี้จากนิยาย The Black Dahlia ของ James Ellroy ซึ่งใช้เหตุการณ์ฆาตกรรมที่เคยเกิดขึ้นจริงๆ ในลอสแอนเจลิสมาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่อง

 

คดีนี้เกิดขึ้นในปี 1947 และถูกเรียกว่าคดี "แบล็กดาห์เลีย" หรือ "รักเร่สีดำ" ตามชื่อที่สื่ออเมริกันตั้งขึ้น เพื่อเรียกหญิงสาวนิรนามที่ถูกฆาตกรรมสะเทือนขวัญ และประชาชนจำนวนมากสนใจใคร่รู้ความคืบหน้า

 

เมื่อมีการสืบสวนสอบสวนต่อไปเรื่อยๆ พบว่าหญิงสาวคนนั้นคือ "เบ็ตตี้" หรือ อลิซาเบธ ชอร์ต สาวน้อยจากเมืองเมดฟอร์ด ที่เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 22 ปี

 

คดีของเบ็ตตี้ยังปิดไม่ลงจนถึงทุกวันนี้ และยังคงเป็นคดีที่คนอเมริกันกังขากับเงื่อนงำที่ไม่บ่งชี้อะไรเลยสักอย่าง แม้จะมีการตั้งข้อสันนิษฐานและคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่าใครคือฆาตกรเลือดเย็นที่ฆ่าเบ็ตตี้ แต่ก็ไม่มีการยืนยันฟันธงว่าคนร้ายเป็นใคร

 

ในชีวิตของเบ็ตตี้ มีหลักฐานและคำอ้างอิงจากคนที่รู้จักเธอ ยืนยันว่าการเป็นดาราของฮอลลีวู้ดคือสิ่งที่เธอปรารถนาอย่างยิ่ง

 

ข้อสันนิษฐานที่เกิดขึ้นหลังความตายของเบ็ตตี้ จึงพัวพันกับความไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ตามแต่จินตนาการของใครจะไปถึง บ้างก็ว่าเธอยอมขายตัวเพื่อจะได้มีชีวิตหรูหราและสามารถเข้าไปสูดกลิ่นอายของคนดังในแวดวงฮอลลีวู้ดได้สะดวกๆ บ้างก็ว่าเธอเป็นผู้หญิงใจง่ายที่ยอมไปกับใครก็ได้ที่มีเงินมากพอ เพื่อต่อชีวิตและลมหายใจของเธอไปวันๆ

 

 

ภาพของ อลิซาเบธ ชอร์ต (ตัวจริง) ก่อนเสียชีวิต

 

ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร สิ่งหนึ่งที่พูดได้ว่าเป็นความจริง ก็คือสถานะคน "ชนชั้นล่าง" ที่ต้องการถีบตัวให้สูงขึ้น มีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ

 

ความเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของเบ็ตตี้อาจจะถูกพูดถึงอยู่บ้าง แต่เมื่อถูกนำมาผสมผสานกับพฤติกรรมของเธอในช่วงหนึ่งของชีวิต สังคมส่วนหนึ่งก็อดไม่ได้ที่จะตัดสินว่า "คุณค่า" ของเธออยู่ในระดับไหน ทั้งที่มันเป็นคนละเรื่องกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมและการเคารพสิทธิของคนที่ตายไปแล้ว

 

ความตายของเบ็ตตี้จึงถูกขุดคุ้ยขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่มีใครเกรงใจ บ้างก็หวังดีอยากให้คดีนี้คลี่คลาย จึงมีการอ้างถึงทฤษฎีมากมายเพื่อมัดตัวคนร้าย ในขณะที่อีกหลายคนฉกฉวยโอกาสด้วยการรับสมอ้างว่าเป็นฆาตกร เพื่อที่ตัวเองจะได้มีโอกาสโด่งดัง แม้จะเป็นความดังเพียงไม่กี่นาทีก็ตาม และสื่อโดยมากก็หวังจะขายข่าวของเธอมากกว่าคิดจะรายงานความคืบหน้าของคดี ในขณะที่ สายตาใครอีกหลายคน มองเห็นเรื่องของเบ็ตตี้เป็นแค่คดีฆาตกรรมที่จบไม่ลงเท่านั้นเอง

 

ชีวิตของเบ็ตตี้โด่งดังและเต็มไปด้วยผู้คนสนใจ เพียงแต่มันเป็นความดังที่เกิดขึ้นหลังจากชีวิตจริงของเธอจบสิ้นไปอย่างไม่มีวันหวนคืนมาแล้ว

 

000

 

หลังจากที่ลีและบัคกี้เข้าไปมีส่วนในการสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีฆาตกรรมอันอุกอาจนี้ พวกเขาก็ยิ่งถูกดึงดูดเข้าไปในเงื่อนงำอันดำมืดมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ลีมีปากเสียงกับเคย์อย่างรุนแรง ในขณะที่บุคคลที่สี่อย่าง "แมเดอลีน ลินสก็อต" (Hilary Swank) ลูกสาวมหาเศรษฐีผู้มีอิทธิพลในฮอลลีวู้ดก็ก้าวเข้ามาทำให้ทุกอย่างยิ่งยุ่งเหยิงไปกันใหญ่

 

เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเกิดการเผลอใจไปกับเคย์อีก บัคกี้จึงหันไปมีความสัมพันธ์กับแมเดอลีน พร้อมกับพยายามหาผลประโยชน์ด้วยการสืบรูปคดีจากหญิงสาวคนใหม่ไปพร้อมๆ กัน ในขณะที่แมเดอลีนก็บอกเล่าเบาะแสของเบ็ตตี้ให้ตำรวจหนุ่มฟัง และอีกด้านหนึ่งก็เก็บงำความลับบางอย่างเอาไว้

 

บรรยากาศแห่งการหลอกใช้และลับลมคมในจึงตลบอบอวลเต็มไปหมดในหนังช่วงนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีใครตกเป็น "เหยื่อ" ให้อีกฝ่ายตักตวงผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว

 

เพราะบางที...คนที่ดูเหมือนอ่อนแอ อาจไม่ได้เป็นเพราะไม่มีทางสู้หรือถูกทำให้จำยอม แต่อาจเป็นเพราะเขาหรือเธอสามารถปิดบังความร้ายกาจของจิตใจตัวเองเอาไว้ได้อย่างแนบเนียนทีสุด…

 

ความดำมืดในจิตใจมนุษย์บางประเภท เป็นหมือนบ่อที่ถมไม่เต็มและหยั่งไม่ถึง และนี่คือประเด็นหลักๆ ที่หนังตีแผ่ด้านมืดแบบฟิล์มนัวร์หยิบเอามาใช้เป็นหลักในการดำเนินเรื่อง

 

แต่สำหรับ The Black Dahlia ของผู้กำกับเดอ พัลมา ความสับสนในการตัดต่อภาพ และการดึงอารมณ์ของคนดูให้อยู่กับเนื้อเรื่อง กลับทำออกมาได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่เคยทำไว้

 

ตัวละครอย่างบัคกี้และลีถูกทำให้มีความหมกมุ่นกับคดีของเบ็ตตี้แบบจงใจเกินไป และค่อนไปในทางไม่สมเหตุสมผล เพราะหลังจากดำเนินเรื่องมายืดยาว เรื่องของเบ็ตตี้ก็กลายเป็นเป้าให้ทั้งสองคนหันมายึดถือเป็นสรณะ ทั้งที่ก่อนหน้าไม่มีทีท่าว่าจะรักความยุติธรรมอะไรกันมากนัก

 

จึงไม่น่าแปลกใจ หากความเข้มข้นของ "พิศวาสฆาตกรรมฉาวโลก" จะไม่สามารถสะกดคนดูได้อยู่หมัด

 

หนังฟิล์มนัวร์เรื่องนี้จึงไม่ "นัว" สักเท่าไหร่ เพราะส่วนผสมที่ยัดใส่เข้ามาทั้งหมดยังผสานกันได้ไม่ลงตัว..

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net