Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศไปแล้ว เมื่อรายการเรียลลิตี้โชว์ชื่อดังอย่าง Big Brother ของอังกฤษกลายเป็นเป้านิ่งให้ผู้ชมจากทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ ด้วยสาเหตุว่ามีการปล่อยให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันเหยียดเชื้อชาติออกอากาศหลายครั้งหลายหน


 


จำเลยของกรณีนี้ ได้แก่ Jade Goody, Jack Tweed, Joe O"Meara และ Danielle Lloyd ซึ่งมีดีกรีเป็นคนดังในเมือง "ผู้ดี" ด้วยกันทั้งนั้น โดย เจด กู้ดดี้ เป็นผู้ชนะจากรายการบิ๊กบราเธอร์ เมื่อหลายซีซันส์ก่อน และได้รับความนิยมจากผู้ชมล้นหลามจนสามารถเข้าสู่วงการบันเทิงได้อย่างเต็มตัว ส่วนโจ โอ"เมียรา เคยเป็นนักร้องเพลงพ็อพจากวง S Club 7 ส่วน Danielle Lloyd เป็นถึงนางงามอังกฤษ แต่ถูกยึดตำแหน่งคืนเพราะเธอเคยถ่ายแบบให้กับหนังสือวาบหวิวอย่าง Playboy แต่ แจ๊ค ทวีด เป็นแฟนหนุ่มของเจด กู้ดดี้


 


ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดนี้มาเจอกันในรายการ Celebrity Big Brother ตอนล่าสุด ซึ่งรวบรวมคนดัง (และเคยดัง) ในวงการบันเทิงเอาไว้ในบ้านเดียวกัน และกติกาที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องยอมรับคือการอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมด้วยกันแล้วแต่คำสั่งที่ได้จากผู้จัด และใครที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมเกมได้ก็ต้องถูกโหวตออก ส่วนคนที่อยู่จนถึงรอบสุดท้ายก็เป็นฝ่ายชนะ ซึ่งก็เป็นกติกาเดียวกับรายการบิ๊กบราเธอร์ในประเทศอื่นๆ


 



หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวกรณีความขัดแย้งในบิ๊กบราเธอร์


 


แต่เรื่องมันเริ่มต้นตรงที่ดาราสาวชาวอินเดีย Shilpa Shetty ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาร่วมรายการนี้ด้วย ถูกผู้เข้าแข่งขันสาวๆ 3 ราย (และผู้ชายอีกหนึ่ง) ที่พูดถึงข้างต้น คอยจิกกัดและล้อเลียนตลอดเวลา เพราะว่าเธอแปลกแยกจากคนอื่นๆ ในบ้านอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสำเนียงการพูดภาษาอังกฤษที่แปร่งหู รวมถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตในบ้านบิ๊กบราเธอร์ แต่สิ่งที่ร้ายที่สุดก็คือเธอถูกด่าออกอากาศด้วยถ้อยคำหยาบคายถึงขนาดต้องดูดเสียงออกไป และคำด่านั้นมีนัยยะทั้งการเหยียดเพศและเหยียดเชื้อชาติด้วย


 



ชิลปา เช็ตตี้ ผู้ตกเป็นเป้าแห่งการกลั่นแกล้งในบ้านบิ๊กบราเธอร์ (ภาพจาก AFP)



 


ข่าวบางสำนักรายงานว่าคำที่เธอถูกผู้เข้าร่วมแข่งขันด้วยกันด่าคือ Fucking Cunt ในขณะที่บางแห่งบอกว่าคำที่ถูกดูดเสียงออกไปนั้นคือ Fucking Paki ซึ่งไม่ว่าคำด่านั้นจะเป็นอะไร ก็ฟังดูเลวร้ายในความรู้สึกของคนจำนวนมากอยู่ดี เพราะในขณะที่คำด่าคำแรกเป็นการเหยียดเพศ คำที่สองก็เป็นการเหยียดเชื้อชาติ (เพราะเหมารวมคนอินเดียกับคนปากีสถานเข้าด้วยกันอย่างไม่ใส่ใจ ทั้งที่ในความเป็นจริงทั้งสองประเทศนี้ตีกันแทบตาย)


 


ผู้ชมกว่า 27,000 ราย ส่งจดหมายและอีเมล์ต่อว่าไปยังบริษัท OfCom ที่รับผิดชอบรายการ (Celebrity) Big Brother ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของประเทศอังกฤษ และชาวอินเดียนับพันคนก็รวมตัวกันประท้วงผู้จัดรายการด้วยการเผาป้ายบริษัทและประณามการเหยียดเชื้อชาติอย่างรุนแรง ถึงขั้นที่รัฐบาลอินเดียต้องขอเจรจากับตัวแทนรัฐบาลอังกฤษเรื่องนี้โดยตรง



 


 



 


เจด กู้ดดี้ คู่กรณีคนสำคัญของดาราสาวชาวอินเดียในรายการ Celebrity Big Brother (ภาพจาก PA)


 


หลังจากทีกระแสต่อต้านคนดังในบ้านบิ๊กบราเธอร์ทั้งสี่คนลุกลามเป็นประเด็นระดับชาติ บรรดาสปอนเซอร์ก็พากันถอนตัวออกจากรายการ และงานพรีเซนเตอร์น้ำหอมยี่ห้อหนึ่งของเจด กู้ดดี และสัญญาว่าจ้างการเป็นนางแบบในสังกัดโมเดลลิ่งของดาเนียล ลอยด์ก็หลุดลอยไปด้วย เพราะเจ้าของสินค้าและโมเดลลิ่งเห็นว่าทั้งสองคนคะแนนนิยมตกลงฮวบฮาบจนไม่น่าทำสังฆกรรมด้วย

 


หากจะมองกันอีกแง่หนึ่ง ก่อนที่เรื่องนี้จะลุกลามไปถึงระดับประเทศ ด้วยความอ่อนไหวในประเด็นเหยียดเชื้อชาติและเหยียดเพศ ก็คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า รายการประเภทเรียลลิตี้โชว์ ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏให้เห็นเป็นเรื่องจริงทั้งหมด


 


ด้วยว่าผู้จัดคงคิดวางแผนกันล่วงหน้าไว้แล้วว่าคนที่มีบุคลิกลักษณะหนึ่ง เช่น ขาวีน สาวมั่น หรือคนขี้รำคาญ ย่อมมีการแสดงออกและมีปฏิกิริยาต่อคนรอบข้างในแบบหนึ่ง ในขณะที่คนอีกแบบหนึ่ง เช่น พวกรอมชอม ประนีประนอม หรือแม้แต่คนต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรมอย่างชิลปา เช็ตตี้ ก็มีลักษณะบางอย่างที่เหมาะกับการตกเป็นเป้านิ่งให้ถูกโจมตี


 


ความแตกต่างเหล่านี้ หากจับมาอยู่ร่วมกัน ก็ย่อมมีปฏิกิริยาสะท้อนซึ่งกันและกันเป็นธรรมดา เราอาจเรียกกระบวนการคัดเลือกบุคคลมาร่วมรายการประเภทนี้ว่าการจัดฉากแบบหลวมๆ ก็ยังได้


 


คนที่ดูรายการประเภทนี้คงเข้าใจการผสมสูตรดังกล่าวดี แต่ก็ยังติดตามดูเรียลลิตี้โชว์ประเภทนี้ด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยเหตุผลว่าการดำเนินเรื่องของรายการประเภทนี้อาจจะไม่จบลงอย่างที่คิดก็ได้ เหมือนอย่างที่ตอนนี้เบี้ยล่างอย่างเช็ตตี้กลับกลายมาเป็นผู้ได้รับคะแนนความสงสารอย่างท่วมทัน


 


และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เมื่อคำเหยียดเหล่านั้นออกจากปากผู้เข้าแข่งขัน "ชาวอังกฤษ" ที่มีภาพโยงใยอยู่กับความเป็นเจ้าอาณานิคม กรณีของเช็ตตี้จึงไม่ต่างอะไรจากราดน้ำมันลงในกองไฟแห่งความคับแค้นของประชาชนในชาติที่ถูกปกครองในฐานะพลเมืองชั้นสองอยู่เนิ่นนาน


 


สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้จงหนักก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าคนในบ้านบิ๊กบราเธอร์ซึ่งเหยียดเชื้อชาติและเหยียดเพศ - ไม่ใช่ตัวแทนคนอังกฤษทั้งหมด หากความโกรธแค้นจะพุ่งเป้าเหมารวมไปยังคนอังกฤษทั้งประเทศ ก็คงไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่นัก


 


ขณะเดียวกัน พฤติกรรมบางอย่างของ "คนดัง" ในอังกฤษที่เข้าร่วมบ้านบิ๊กบราเธอร์ครั้งนี้ก็อาจสะท้อนภาพบางอย่างของสังคมอังกฤษได้เช่นกันว่าขาดความเอาใจใส่ในบริบททางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ!



 


ส่วนผู้จัดรายการจะโดนโจมตีด้วยข้อหา "ไร้จิตสำนึก" และ "ไม่มีความรับผิดชอบ" ก็ไม่ใช่เรื่องเกินความจริงเลย เพราะการปล่อยให้เช็ตตี้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนออกอากาศก็ดูจะเป็นการเรียกเรตติ้งที่ไม่ลงทุนเ อามากๆ และนอกจากจะเป็นการเอาเปรียบนักแสดงอย่างเช็ตตี้ให้ต้องรับบทหนักแล้ว ความรับรู้ของสังคมเรื่องการปฏิบัติตนต่อคนที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่และประเด็นเรื่องเชื้อชาติก็ยังคงอ่อนไหวและไม่น่าหยิบมาใช้เป็นจุดขายอย่างยิ่ง


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net