Skip to main content
sharethis

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่ชาวมุสลิมว่า "เด่น โต๊ะมีนา" อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานีหลายสมัย คือผู้ผลักดัน "พระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ 2540"


 


เป็น "พระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540" ที่มีหลักการสำคัญอยู่ตรงที่กำหนดให้ "คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด" มาจากการเลือกตั้งโดยโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด


 


บัดนี้ "พระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540" ที่ใช้บังคับมานานร่วม 10 ปี กำลังจะมีการแก้ไขในสาระสำคัญ นั่นคือ ให้ "คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด" มาจากการสรรหา


 


กำลังสำคัญในการผลักดันให้มีการแก้ไข คือ "นิเดร์ วาบา" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า มีแนวคิดและแนวทางเป็นเหมือนเส้นขนานกับ "เด่น โต๊ะมีนา"


 


มาถึงขณะนี้ "เด่น โต๊ะมีนา" คิดอย่างไรกับการแก้ไข "พระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540" เป็นคำถามที่มีคนจำนวนไม่น้อยอยากรู้


 


นี่คือ คำตอบจากปาก "เด่น โต๊ะมีนา"


 


.............................................................................................


 



 


มีความเห็นอย่างไร ต่อร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม ที่นายนิเดร์ วาบา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) กำลังดำเนินการ จะแก้ไขไม่ให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของพระราชบัญญัติการบริหารกิจการอิสลาม พ.ศ. 2540


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โดยพื้นฐาน ผมเป็นผู้แทนราษฎรอยู่ในรัฐสภา 20 กว่าปี ทั้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในฐานะสมาชิกวุฒิสภา การมองปัญหาระหว่างผมกับดาโต๊ะนิเดร์ วาบา ย่อมไม่เหมือนกัน เพราะเขาไม่ได้ผ่านการเป็นผู้แทนประชาชนมาก่อน สำหรับผม การร่างกฎหมายจะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นหลัก เราต้องใช้กระบวนการภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ทุกอย่างต้องมาจากการเลือกตั้ง จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง


 


ย้อนหลังไปตอนร่างพระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ดาโต๊ะหลายดาโต๊ะ ร่วมเป็นกรรมาธิการฯ พิจารณาเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นดาโต๊ะอาซิซ เบ็ญหาวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา ดาโต๊ะอูมาร์ ตอยิบ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ยกเว้นดาโต๊ะนิเดร์ที่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการฯ ด้วย


 


เวลาประชุมระหว่างเราที่เป็นผู้แทนประชาชนกับบรรดาดาโต๊ะเหล่านั้น จะมีความเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจน สาเหตุพื้นฐานก็คือ เพราะเขาไม่ได้มาจากประชาชน


 


จึงไม่แปลกที่ดาโต๊ะอาซิซจะไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เหตุผลของดาโต๊ะอาซิซ ก็คือ ถ้าให้โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดลงคะแนนเลือกตั้ง แค่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแจกผ้าหรือให้เงิน เขาก็ลงคะแนนให้แล้ว


 


ผมว่าพูดอย่างนั้นก็ดูถูกโต๊ะอิหม่ามนี่ ดาโต๊ะอาซิซเสนอตั้งกรรมการสรรหา ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ผมถามแล้วกรรมการสรรหาเป็นใคร ดาโต๊ะอาซิซเสนอว่า เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ผู้กำกับการตำรวจภูธร


 


ผมถามว่าดาโต๊ะ เป็นดาโต๊ะยุติธรรมรู้กฎหมายอิสลามดีกว่าผมอีก การให้คนศาสนาอื่นตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทำได้หรือเปล่า ดาโต๊ะอาซิซบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องเอาคนต่างศาสนา เอาหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นมุสลิมก็ได้ ผมถามว่าแล้วจะมีซักกี่คน เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะสรรหาแบบนั้น ในที่สุดก็ไม่พ้นเล่นพรรคเล่นพวก ไม่เป็นประชาธิปไตย ผมไม่เห็นด้วยเลย


 


เถียงไปเถียงมาแกแพ้ ดาโต๊ะอาซิซก็เลยขอแปรญัตติ จะขอไปพูดในสภา พอถึงเวลาแกลุกขึ้นพูด วุฒิสมาชิกสมัยนั้นมาจากการแต่งตั้ง เป็นข้าราชการทั้งนั้นเลย แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับดาโต๊ะอาซิซ มีคนยกมือเห็นด้วยที่จะใช้วิธีการสรรหาเพียง 5 คนเท่านั้น


 


ทีนี้ ผมอยากจะรู้ว่า เขามีเหตุผลอะไรที่ไม่ให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการมุสลิมประจำจังหวัด ถ้าเหตุผลอย่างที่เคยพูด คือ ปล่อยให้อิหม่ามลงคะแนนเลือกตั้งไม่ได้ เพราะแจกผ้าผืนเดียวก็ลงคะแนนให้แล้ว นั่นมันไม่ได้อยู่ในตัวบทกฎหมาย มันอยู่ที่คน


 


ผมอยากถามว่าใครละ เลือกตั้งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดครั้งที่แล้ว ขนโต๊ะอิหม่ามมาไว้ที่โรงแรมเจบีหาดใหญ่ ให้เงินให้ทอง ผมไม่อยากเอ่ยชื่อ


 


นั่นเป็นระบบอิสลามหรือเปล่า ปฏิบัติตามกฎหมายหรือเปล่า ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าตัวไม่ดีเองที่ไปทำแบบนั้น แล้วจะมาโทษระบบได้อย่างไร กฎหมายมันดีอยู่แล้ว อย่าไปทำอย่างนั้นซิ อย่าไปซื้อเสียงซิ เสียหายหมด อิหม่ามใน 3 จังหวัดเสียหายหมดเลย นราธิวาสก็ทำ ปัตตานีก็ทำ นราธิวาสล้มองค์กรหมดเลย ปัตตานีทำไม่สำเร็จ ได้มาเพียง 11 คนจาก 30 คนที่เป็นคนเดิม แสดงว่าอิหม่ามปัตตานี มีความคิดดี เอาเงินแต่ไม่ลงคะแนน


 


ผมอยากรู้เจตนารมณ์ที่เขาเสนอให้มีการสรรหา ถ้าจะป้องกันไม่ให้ซื้อเสียง น่าจะไม่ใช่ ถามว่าที่ผ่านมาใครเป็นคนซื้อ ความผิดไม่ได้อยู่ที่ระบบ ไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย กฎหมายมันดีอยู่แล้ว ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการสรรหา ต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเหมือนเดิม จะได้เป็นประชาธิปไตย


 


ส่วนการแก้ไขประเด็นอื่น ผมเห็นด้วย เพราะพระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ใช้มาร่วม 10 ปีแล้ว น่าจะมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ไม่ควรแก้ไขประเด็นให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง เพราะมันขัดกับหลักการประชาธิปไตย


 


แก้ประเด็นอื่นไม่เป็นไร จะมีศูนย์บริหารอะไรไม่มีปัญหา แต่อย่าแก้อะไรให้มันขัดกับหลักการประชาธิปไตยก็แล้วกัน


 


เวลานี้รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจ จะทำอะไรก็ได้ ถ้าดาโต๊ะนิเดร์เสนอ นายกรัฐมนตรีรับลูก ก็แก้ได้


 


10 ปี ที่ใช้พระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มีผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด


ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี มาตั้งแต่ปี 2519 เริ่มเคลื่อนไหวให้การแก้ไขกฎหมายกิจการอิสลามที่ใช้มากว่า 50 ปี ตั้งแต่ปี 2519 มาสำเร็จเอาเมื่อปี 2540 เท่ากับใช้เวลาต่อสู้นานถึง 20 ปี กว่าจะสำเร็จ แน่นอน มันต้องดีกว่ากฎหมายฉบับเดิม


 


อย่างไรก็ตาม กฎหมายของมนุษย์ เมื่อเทียบกับคำภีร์อัล - กุรอ่านของอัลเลาะห์ (พระเจ้าของชาวมุสลิม) มันย่อมมีข้อบกพร่องเป็นธรรมดา ถ้าใช้มานานถึง 10 ปี เห็นว่าจำเป็นต้องแก้ก็แก้ได้ สำหรับผมขอให้ยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยแค่นั้นเอง


 


ในประเด็นสภาอูลามาอฺ (สภานักปราชญ์ทางศาสนา) เห็นด้วยหรือไม่


เห็นด้วย เพราะไม่เคยมีในประเทศไทย มีก็ที่นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา แกนนำกลุ่มวาดะห์เคยตั้งขึ้นมา เรียกว่ามัจลิสซูรอ นำเอาอูลามาอฺ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มารวมกันเป็นสภานี้ เป็นการตั้งกันขึ้นมาเอง ไม่มีกฎหมายรองรับ ถ้าจะออกกฎหมายขึ้นมาตั้งสภาอูลามาอฺ ผมเห็นด้วย มีอะไรก็ให้ผ่านตรงนั้น ปัญหาอะไรที่เกี่ยวกับฮูก่ม (กฏของศาสนาอิสลาม) ก็ให้ผ่านการพิจารณาจากตรงนั้น


 


ในส่วนของผมเป็นห่วงว่า ถ้าไม่แก้กฎหมายเดิม ก็จะขัดกับพระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 เพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้เขียนไว้ชัดเจนว่า หนึ่งในหน้าที่ของจุฬาราชมนตรี คือ ตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อฟัตวาในทางศาสนาอิสลาม ถ้าจะตั้งสภาอุลามะอฺ ก็ต้องแก้กฎหมายตรงนี้ แล้วก็ขยายวงสภาอุลามะอฺให้กว้าง เพราะที่จุฬาราชมนตรีทำมันแคบ ไม่ค่อยได้ผล


 


ทำไมไม่ได้ผล


เวลาเราเสนอให้ฟัตวาเรื่องต่างๆ จุฬาราชมนตรีไม่ค่อยจะฟัตวา ไม่ค่อยทำอะไร ไม่เวิร์ก เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดสภาอูลามาอฺที่มีกฎหมายรองรับ น่าจะดีกว่า ไม่ต้องมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของจุฬาราชมนตรีอีกต่อไปแล้ว เพราะสภาอูลามาอฺมันใหญ่กว่า ครอบคลุมทั่วประเทศ


 


สมาชิกสภอูลามาอฺ ตามข้อเสนอของดาโต๊ะนิเดร์ ให้ใช้วิธีสรรหาเหมือนกัน อันนี้เห็นด้วยหรือไม่


เห็นด้วย ไม่มีปัญหา เพราะแต่ละสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีอูลามะอฺอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นคนสรรหา ส่วนใหญ่ก็เอาคนอาลิม (มีความรู้ทางศาสนา) มาเป็นอยู่แล้ว


 


การตั้งศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามสูงสุดเห็นด้วยหรือไม่


เห็นด้วย กรรมาธิการศาสนา วุฒิสภา สมัยที่แล้ว ที่มีนายอูมาร์ ตอยิบ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนราธิวาส เป็นประธาน ได้ศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้ว จะรับช่วงเรื่องนี้ไปดำเนินการต่อก็ดี ประเด็นนี้จะได้จบซักที


 


มีความเห็นอย่างไร ที่โครงสร้างใหม่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีกองการฟัตวา


มีสภาอูลามาอฺอยู่แล้วนี่ เอาสภาอูลามาอฺเลยก็ได้ ตั้งสำนักงานตรงนั้นเลย ถ้ามีการทำประชาพิจารณ์ด้วยก็ดี ทุกอย่างผมเห็นด้วยหมดเลย ที่ผ่านมามีคนคิดจะปฏิรูปแต่ยังไม่เคยทำอะไรกันเลย แต่ถ้าคิดจะไปแก้ของที่ดีอยู่แล้ว อันนี้ผมไม่เห็นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net