Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (15 พ.ย.2549) สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ 13 จังหวัด แถลงข่าวที่สมาคมนักข่าวฯ ก่อนเดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา ถึงข้อเรียกร้องของสมาพันธ์ต่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยก่อนหน้าที่ได้ยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล และที่บ้านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แล้ว


                 


แถลงการณ์ระบุว่า ข้อเรียกร้องสำคัญของสมาพันธ์ฯ คือ ประการแรก ขอให้ยกเลิกเครื่องมือทำลายล้างที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายฐานทรัพยากรของสังคม โดยเฉพาะอวนรุน อวนลาก และเรือปั่นไฟจับปลากะตัก


 


"ตอนนี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ชายไปทำงานในมาเลย์กันหมดแล้ว เพราะจับปลาไม่ได้ ทรัพยากรถูกอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ทำลายหมด ปัญหาปากท้องกลายเป็นปัญหาที่หนักหน่วงที่สุดของชาวบ้าน" ตัวแทนชาวบ้านจากจังหวัดนราธิวาสกล่าว


 


ประการที่สอง ขอให้ยกเลิกโครงการพัฒนาฐานการผลิตทางอาหารทะเล Sea Food Bank ที่เป็นนโยบายส่งเสริมความร่ำรวยที่ไม่มีหลักประกันสำหรับคนส่วนใหญ่ และจะเป็นส่วนก่อความแตกแยกขึ้นในชุมชน


 


ชาวบ้านจากจังหวัดสตูลกล่าวถึงโครงการนี้ว่า ในจังหวัดสตูลมีดารอแจกโฉลดทะเลไปแล้ว 29 รายเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.47 ก่อนเหตุการณ์สินามิ แต่ยังไม่สามารถนำไปยื่นกู้กับสถาบันการเงินได้ อย่างไรก็ตาม การจัดสรรแบบนี้ได้ทำลายสายสัมพันธ์ในชุมชนที่เคยพึ่งพาอาศัยกันให้มาทะเลาะแย่งชิงกัน


 


ส่วนชาวบ้านจากจังหวัดตรังให้ข้อมูลว่า  แม้จะยังไม่มีการออกโฉนด แต่มีการออกหนังสือประกอบการเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ชาวบ้านในพื้นที่กิ่งอ.หาดสำราญ 22 รายซึ่งคัดเลือกจากที่ไปลงทะเบียนคนจนแล้ว ซึ่งจะได้พื้นที่ราวคนละครึ่งไร่ มีการจัดประชุม อบรมการเลี้ยงปลากะพงขาว-หอยแมลงภู่ โดยมีทุนภายนอกมาสนับสนุนพันธุ์ปลา อาหาร


 


"ถามว่าทะเลเป็นของใคร มันเป็นของพระเจ้าสร้างให้พวกเราช่วยกันหากินและดูแล ไม่ใช่กอบโกย"  ไมตรี วิเศษศาสตร์ ชาวบ้านจังหวัดตรังกล่าวพร้อมระบุว่า นโยบายนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้พื้นที่ป่าชายเลนซึ่งครั้งหนึ่งหมดไปกับสัมปทานหลุมถ่าน ต้องไปตกอยู่ในมือนายทุนในที่สุด ซึ่งชาวบ้านจะไม่มีโอกาสได้ยังชีพตามธรรมชาติที่เคยเป็นมา


 


ประการที่สาม ชะลอโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งที่มีผลกระทบต่อชุมชน และทรัพยากรชายฝั่งโดยเร่งด่วน เช่น โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึก, การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมชายฝั่ง, โครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษทางการท่องเที่ยง หรือ อพท.


 


ตัวแทนชาวบ้านจากจังหวัดภูเก็ต ระบุกรณีตัวอย่างว่า ที่ภูเก็ตมีปัญหาของท่าเรือเมอรีน่า ซึ่งจอดเรือได้ 160 ลำ ในพื้นที่ที่ประมงพื้นบ้านวางอวนกุ้ง อวนปลา ทำให้ได้รับผลกระทบหนัก อีกทั้งรัฐยังมีแผนการจะก่อสร้างขึ้นใหม่อีก 2-3 จุด


 


 


 


 


 


- - - - - - - - - - - - - -


 


 


แถลงการณ์ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้


"รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาชาวประมง...โดยเร่งด่วน"


 


ชาวประมงพื้นบ้านหาอยู่หากินพึ่งพาอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้เรือและอุปกรณ์จับสัตว์น้ำขนาดเล็กหากินตามแนวชายฝั่งทะเล เพราะเราเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใหญ่โตก็จับสัตว์น้ำได้ เราใช้เครื่องมือประมงที่มีลักษณะเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เลือกจับสัตว์น้ำได้เฉพาะชนิดได้ขนาด เช่น อวนลอยปลา อวนลอยกุ้ง อวนจมปู ลอบ ไซ ฯลฯ เพราะเราเชื่อว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเหลือพอแบ่งปันชาวประมงทุกคน ไม่จำเป็นต้องแย่งชิง และถ้าเราจับอย่างพอเพียง เรามั่นใจว่าเหลือพอเป็นอาหารเลี้ยงเพื่อนร่วมชาติ และถึงประเทศใกล้เคียงได้ เราคิดว่าการประมงไทยต้องเป็นการประมงที่มีเป้าหมายจับสัตว์น้ำให้พอสำหรับเป็นอาหาร ให้เพียงพอกับการเป็นรายได้ใช้จ่ายในครอบครัว เป็นการประมงที่ผู้บริโภคได้รับอาหารทะเลราคาเหมาะสมและปลอดภัยจากสารพิษกันเน่าเสีย เราไม่มีเหตุผลจำเป็นใดเลยที่ต้องแก่งแย่งกันจับสัตว์น้ำให้มากๆ เพื่อขายเอากำไรสูงสุด ในเมื่อวิถีการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำเป็นวิถีแห่งการแบ่งปันให้เราทุกคนเท่าเทียมกันอยู่แล้ว


 


การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงของเรา กลับต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องมีชีวิตยากไร้ ขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ด้วยนโยบายเร่งความร่ำรวย ส่งเสริมเรือประมงแบบทำลายล้าง คอยกวาดจับปลาไปจำนวนมากเกินไป และการทำลายฐานทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งทำให้สัตว์น้ำมีปริมาณลดน้อยลงเรื่อยๆ เรารายได้น้อยลง มีหนี้สินเพิ่มขึ้น และบางช่วงเวลาพวกเราบางชุมชนไม่สามารถจับปลาได้ แม้เพียงนำมาเป็นอาหารกินในครอบครัว


 


ฝ่ายกำหนดนโยบายที่ผ่านมา ต่างเน้นการพัฒนาการประมงเพื่อความร่ำรวยจากากรส่งออกซึ่งซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น เพราะความร่ำรวยกระจุกตัว ในขณะที่ความยากจนกลับคืบคลานกระจายสู่ชุมชนคนเล็กคนน้อยอย่างพวกเรา เราถูกมองเป็นเพียงกลุ่มอาชีพหนึ่งที่รอวันล่มสลายไป มากกว่าจะเชื่อว่าชุมชนของเรา ความคิดของเราเป็นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างพอเพียงยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต


 


ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ออกนโยบายกาบริหารทรัพยากรประมงที่มุ่งเน้นการส่งออกให้มากยิ่งขึ้น ภายใต้นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยมีโครงการแปลงสิทธิการใช้ประโยชน์ทะเล ในชื่อโครงการ "ซีฟูดแบงก์" ที่ผู้ได้รับสิทธิสามารถนำสิทธิไปกู้เงินจากสถาบันการเงินนำมาลงทุนเพาะเลี้ยงได้ เร่งความร่ำรวยจาการส่งออก คิดแบ่งทะเลเป็นแปลงๆ จนเกิดความขัดแย้งขึ้นใจชุมชนมากมาย เหมือนกับบทเรียนอดีตกรณีการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่ในที่สุดได้สร้างความร่ำรวยกระจุกเพียงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง และสร้างความยากจนกระจายทั่วไปในหมู่ประชาชนชายฝั่งส่วนใหญ่


 


นอกจากนี้ยังมีนโยบายเพิ่มเติมที่ส่งผลกระทบในวงกว้างจำนวนมาก เช่น การจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน), โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก นโยบายต่างๆ ดังกล่าวได้ซ้ำเติมชาวประมงให้ยากจนลงไปอีก


 


เราจึงเดินทางไกลมาอีกครั้ง เพื่อขอพบกับผู้นำประเทศในเวลานี้ ด้วยเห็นว่ารัฐบาลของท่านประกาศแนวทางนโยบายเพื่อสร้าง "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของพวกเราว่า จะนำพาชุมชนเล็กชุมชนน้อยและสังคมไทยให้อยู่รอดอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีความสุขได้ เรามาด้วยเห็นว่ารัฐบาลของท่านเกิดขึ้น ท่ามกลางความเห็นด้วยในแนวทางการนำพาประเทศของรัฐบาลชุดก่อนที่ถูกโค่นล้มไป เรามาเพื่อเรียกร้องท่าน และฝากความปรารถนาดีมาสู่พี่น้องประชาชนทุกท่านได้เป็นแรงใจหนุนเนื่องให้ท่านแก้ปัญหาในประเด็นเร่งด่วนนี้


 


๑.ยกเลิกเครื่องมือทำลายล้างที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายฐานทรัพยากรของสังคม โดยเฉพาะอวนรุน อวนลาก และเรือปั่นไฟจับปลากะตัก


 


๒.ยกเลิกโครงการพัฒนาฐานการผลิตทางอาหารทะเล Sea Food Bank ที่เป็นนโยบายส่งเสริมความร่ำรวยที่ไม่มีหลักประกันสำหรับคนส่วนใหญ่ และจะเป็นส่วนก่อความแตกแยกขึ้นในชุมชน


 


๓.ชะลอโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งที่มีผลกระทบต่อชุมชน และทรัพยากรชายฝั่งโดยเร่งด่วน เช่น โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึก, การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมชายฝั่ง, โครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษทางการท่องเที่ยง หรือ อพท.


 


รวมทั้งข้อกังวลอื่นๆ ที่เราจะได้นำเสนอต่อท่านในโอกาสต่อไป เราหวังว่าจะได้รับสัญญาณที่ดีจากรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นำไปสู่การกระจายให้สิทธิ อำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ชุมชนอย่างแท้จริง ด้วยการตอบรับข้อเสนอเร่งด่วนนี้


 


 


ขอสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน


สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้


๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net