Skip to main content
sharethis

วานนี้ (14 พ.ย.49) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. เปิดเผยผลการประชุม คมช. ว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือในหลายประเด็น โดยเฉพาะการพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตัดสินใจในการประกาศยกเลิก โดย คมช.เป็นเพียงฝ่ายรวบรวมข้อมูลส่งให้กับรัฐบาลเท่านั้น


 



ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมยังได้หยิบยกข้อเสนอแนะของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำเมื่อวันที่ 13 พ.ย. โดยเฉพาะการเร่งรัดงานด้านการประชาสัมพันธ์ของ คมช. ให้เป็นระบบในการทำความเข้าใจและชี้แจงความคืบหน้าของผลงานให้เข้าถึงประชาชน


 



ด้านพลเอกบุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า สาเหตุที่ยังไม่ได้หยิบยกการยกเลิกกฎอัยการศึกเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้(14 พ.ย.) เนื่องจากทาง คมช.ยังไม่ได้ส่งข้อมูลความเคลื่อนไหวของคลื่นใต้น้ำมาให้รัฐบาล ทำให้การพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกตัดเรื่องออกไปก่อน เพราะนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ประธาน คมช.เป็นผู้ตัดสินใจ


 


อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การปฏิวัติซ้อนและกระแสข่าวการเดินทางกลับประเทศของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ไม่มีการยกเลิกกฎอัยการศึกเพราะปัญหาดังกล่าวได้มีการทำความเข้มใจกันชัดเจนแล้ว


 



นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แสดงความเห็นว่า ตนคิดว่าการเลื่อนเวลายกเลิกกฎอัยการศึกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนนั้น สะท้อนประสิทธิภาพในการจัดการคลื่นใต้น้ำของ คมช. และรัฐบาล ว่ายังมีข้อบกพร่อง ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะคลื่นใต้น้ำขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนสับสนต่อสถานการณ์การเมือง จนกระทบต่อกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม เพราะประชาชนอาจจะหวาดผวา เกรงกลัว หรืออาจไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ จนไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เช่น กระบวนการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่คึกคักอย่างที่คิด


 



" นายกรัฐมนตรีจะบอกว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนคงไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นทั้งเรื่องเร่งด่วนและจำเป็น ที่ภาครัฐจะต้องยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเร็ว เพื่อสร้างบรรยากาศให้ประชาชนมั่นใจ และกล้าออกมามีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือทำกิจกรรมทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตย เพื่อเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างมีความหวัง ที่ผ่านมานอกจาก คมช.แล้ว ไม่มีใครรู้ว่าขอบเขตข้อเท็จจริง หรือข้อมูลเรื่องใต้น้ำเป็นอย่างไร พื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงอยู่ตรงไหน ประชาชนไม่เคยรับรู้ จึงอยากให้ คมช.ชี้แจง หรือแถลงให้ประชาชนได้รู้ หรือแบ่งเป็นระดับสี เช่น สีแดง หมายถึงมีการเคลื่อนไหวเข้มข้น สีเหลืองเบาบาง สีเขียวปลอดคลื่นใต้น้ำ "เลขาธิกาครป.เสนอ


 



นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า การชี้แจงให้ข้อมูลต่อประชาชนเช่นนี้ จะทำให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เป็นหูเป็นตาแจ้งข่าวสาร หรือชี้เบาะแสให้รัฐบาล และ คมช.ได้อีกทางหนึ่งด้วย ไม่ใช่ใช้แต่กำลังทหารเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเดียว นอกจากนี้พรรคไทยรักไทยอย่าทำเป็นปากว่าตาขยิบ ต้องช่วยปรามสมาชิกพรรคบางคน หรือช่วยเป็นหูเป็นตาให้ข้อมูลกับ คมช.อีกทางหนึ่งก็น่าจะดี ถ้าเพียงแต่บอกว่าพรรคไม่ทำ และไม่เกี่ยวคงไม่มีใครเชื่อ เพราะการเคลื่อนไหวในหลายแห่งเกี่ยวโยงกับคนในพรรคไทยรักไทยบางคนด้วย--จบ--



         


 


 


เรียบเรียงจาก    กรมประชาสัมพันธ์และเว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net