Skip to main content
sharethis

12 พ.ย.49 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดงานเสวนาสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.) โดยมีนายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนา ซึ่งได้กล่าวตอนหนึ่งว่า บทบาทของพันธมิตรภาคประชาชนมีพันธกิจคือเพิ่มอำนาจภาคประชาชน ลดอำนาจภาครัฐ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตของตัวเองหลายมิติ ไม่ใช่เฉพาะการเมืองเท่านั้น จะต้องเพิ่มความคิดและความเข้มแข็งในทางปัญญาให้กับประชาชน เพราะที่ผ่านมาประชาชนระดับรากหญ้าถูกกล่าวหาว่านโยบายของพรรคการเมืองชักจูงประชาชนให้ลุ่มหลง โดยที่นโยบายเหล่านั้นไม่มีประโยชน์ใดต่อวิถีชีวิตตัวเองเลย


 


ด้านเนื้อหาจากการเสวนา นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ร่วมเสวนา กล่าวตอนหนึ่งว่า อีกไม่กี่วันจะครบ 2 เดือนที่ คมช.เข้ามาทำงานตามพันธกิจ 4 ข้อ แต่ยังไม่เห็นคณะกรรมการ คมช.จะทำอะไรที่จะแก้ไขปัญหา เพราะยังเห็นว่าบริวารของระบอบทักษิณอยู่เย็นเป็นสุข มีการดำเนินการต่อท่อตามน้ำของระบอบทักษิณ และมีมหกรรมวางยาขนานใหญ่ โดยเฉพาะงานพืชสวนโลก ภาษาเหนือเรียกว่า "หมูบุ่น หมาล่นลัก" หมายถึงหมูจะเป็นใครก็ตามที่ทำโครงการไว้แล้วก็มีหมาวิ่งไปกินเลย เพราะฉะนั้นอาจจะกลายเป็นความเสื่อมของ คมช.และอาจจะแปลได้ว่าคมช. คือ "คนไม่เชียร์ ไม่ชอบแล้ว"


 


ขณะที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  กล่าวว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ใช่ตัวแทนภาคประชาชนอย่างแท้จริง การปฏิรูปการเมืองโดยเฉพาะในการร่างรัฐธรรมนูญควรทำให้ภาคประชาชนและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้ นอกจากนี้ขอเรียกร้องให้ยกเลิกการกำหนดวุฒิการศึกษาในการสมัคร ส.ส. และส.ว. เพราะเท่ากับจำกัดสิทธิของคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนยากจน มีประสบการณ์แต่ไม่มีปริญญาตรี และขอให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิ์ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในพื้นที่ที่ตัวเองทำงาน รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนสิทธิเสรีภาพทางด้านแรงงานควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐ


 


ส่วนนายศิริชัย ไม้งาม เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐสาหกิจ กล่าวว่า รัฐบาลใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหวย การเคหะ กองทุนหมู่บ้าน การพักหนี้เกษตรกร เมื่อต้องใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือจึงต้องส่งคนของตัวเองไปในนั่งเป็นบอร์ด อย่างยุค พ.ต.ท.ทักษิณก็ส่งตำรวจไปนั่งเป็นบอร์ด มาวันนี้ทหารมีอำนาจก็ส่งทหารเข้าไปนั่งเป็นบอร์ด ถ้าเข้าไปนั่งในตำแหน่งในจำนวนที่เหมาะสม ก็พอรับได้ แต่บางแห่งส่งทหารเข้าไปบอร์ดถึง 4 คนถือว่ามากเกินความเป็นจำเป็น ขอเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนการพิจารณาบอร์ดในรัฐวิสาหกิจ โดยควรนำนักวิชาการด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมเป็นกรรมการ


 


วันเดียวกัน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนต่อรัฐธรรมนูญและการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและ 17 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,224 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการสำรวจในระหว่างวันที่ 3-11 พฤศจิกายน 2549


 


ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้คือ สิ่งที่ประชาชนนึกถึงอันดับแรกเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 30.7 นึกถึงกฎหมาย ร้อยละ 19.5 นึกถึงความเป็นประชาธิปไตย ร้อยละ 10.3


 


ขณะที่ผลสำรวจระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.7 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เพราะไม่มีเวลา งานยุ่ง ฯลฯ โดยประชาชนมากกว่าร้อยละ 46.5 ขึ้นไป เห็นด้วยกับการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอยู่ ตลอดจนส.ส.รวมทั้งนักการเมืองท้องถิ่นอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี


 


ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.3 เห็นด้วยถ้ามีกฎหมายยึดทรัพย์ขบวนการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 91.9 เห็นด้วยถ้ามีกฎหมายคุ้มครองพยานให้มีชีวิตที่ดีกว่าหลังจากร่วมมือคลี่คลายคดีเพื่อความถูกต้องในกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 87.2 เห็นด้วยถ้ามีกฎหมายเอาผิดการล็อบบี้เอื้อประโยชน์พวกพ้องและนายทุน ร้อยละ 84.2 เห็นด้วย ถ้ามีกฎหมายเอาผิดการเลี้ยงดูปูเสื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ตามลำดับ


       


เมื่อสอบถามถึงปัญหาเดือดร้อนของประชาชนที่คิดว่ารัฐบาลควรแก้ไขเร่งด่วน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.9 ระบุเป็นการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เช่น ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค อาชีพการทำงาน และเงินชดเชย เป็นต้น รองลงมาคือร้อยละ 82.9 ระบุปัญหาความยากจนและหนี้สิน ร้อยละ 81.6 ระบุปัญหาก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 80.1 ระบุปัญหาอาชญากรรมต่างๆ การคุกคามทางเพศ ข่มขืน จี้ปล้น ฆาตรกรรม เป็นต้น ร้อยละ 76.7 ระบุปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 75.6 ระบุปัญหายาเสพติด ร้อยละ 72.8 ระบุปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชนไม่ได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างแท้จริง ร้อยละ 70.3 ระบุปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย การปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 62.8 ระบุปัญหาการเมือง เช่น การไม่มีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิเสรีภาพประชาชนและการตรวจสอบรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 61.4 ระบุความไม่เป็นธรรมทางสังคม ไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติ


 


ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.2 ระบุสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งปรับปรุงให้มากยิ่งขึ้นคือความรวดเร็วในการแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 87.4 ระบุการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ร้อยละ 66.9 ระบุมีหลักฐานเอาผิดขบวนการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 65.1 ระบุการจัดระเบียบสังคม และร้อยละ 63.8 ระบุประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ เป็นต้น


 


ทั้งนี้แบบสำรวจที่สอบถามถึงแรงสนับสนุนของประชาชนพบว่า แรงสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันลดลงจากการสำรวจในเดือนตุลาคมจากร้อยละ 60.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.2 ในการสำรวจครั้งล่าสุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net