Skip to main content
sharethis

อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลา ในการถมคลองสาธารณะประโยชน์บ้านป่างามและการที่โรงไฟฟ้าสงขลา วางแผนดึงน้ำในคลองนาทับเข้าไปใช้หล่อเย็น

 

 

 

 

 

 

 

5 พฤศจิกายน 2549 เวลา 09.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มอบหมายให้อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลา ในการถมคลองสาธารณะประโยชน์บ้านป่างามและการที่โรงไฟฟ้าสงขลา วางแผนดึงน้ำในคลองนาทับเข้าไปใช้หล่อเย็น ตามที่นายวะกบ หลำโส๊ะ ตัวแทนชาวบ้านป่างาม หมู่ที่ 3 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาได้ร้องเรียนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ตามคำร้องเลขที่ 491/ 2549

 

คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ ประกอบด้วย นายวสันต์ พานิช อ.รัตยา จันเทียร นายศักศิน เฉลิมราษฎร และนางสาวส.รัตนมณี พลกล้า และคณะ เดินทางถึงบ้านป่างามโดยมีชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และชาวบ้านป่างามรอต้อนรับ

 

จากนั้นนายวะกบ หลำโส๊ะ ได้เล่าถึงสาเหตุที่ต้องร้องเรียนให้คณะกรรมการสิทธิฯลงมาตรวจสอบกรณีการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลา โดยระบุว่าสืบเนื่องจากวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ทำการถมลำคลองสาธารณะ โดยทำการก่อสร้างอาคารติดตั้งตะแกรงดักขยะ เพื่อดูดน้ำจากคลองสาธารณะเข้าสู่ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าสงขลา โดยได้ดำเนินการปักหมุดไม้ยาวกว่า 2 เมตรจำนวนมากลงไปในคลอง จากนั้นมีการวางกระสอบทรายกั้นและถมดินลูกรังจำนวนมากลงไปในคลองบ้านป่างาม มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เป็นผู้ดำเนินการและควบคุมโครงการก่อสร้าง และมีบริษัทกิจการร่วมค้า FIVE TIGERS J/V STAR MECH เป็นผู้รับจ้างโดยมีนายจีระเกียรติ วิโรจน์ เป็นผู้ควบคุมงาน ตามสัญญาเลขที่ 46/9-1910 ลว. ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 ระยะเวลา 180 วัน ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2549 ถึง วันที่ 29 ตุลาคม 2549 ราคา 17,980,000 บาท ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันคัดค้านและบอกให้ทางบริษัทหยุดดำเนินการทันที

 

ทั้งนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ใช้พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลามีเนื้อที่ประมาณ 751 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่ของหมู่ที่ 1 บ้านโคกม่วง และบ้านป่าชิง ตำบลป่าชิง และหมู่ที่ 6 บ้านควนหัวช้าง ตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

 

จากนั้นจึงยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิฯ เพราะคลองดังกล่าวมีความสำคัญกับชาวบ้าน และกล่าวว่านอกจากคลองบ้านป่างามแล้วการไฟฟ้ามีแผนจะดึงน้ำในคลองนาทับไปใช้หล่อเย็นโรงไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตร ทำสวน ทำนา ทำการประมง และอาชีพเพาะเลี้ยง คลองนาทับมีความสำคัญที่หล่อเลี้ยงประชากรในอำเภอจะนะและพื้นที่จังหวัดสงขลา คลองนาทับตลอดทั้งสายมีความยาว 26 กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่ในตำบลจะโหนง ตำบลตลิ่งชัน ตำบลป่าชิง และตำบลคลองปียะ ส่วนปลายน้ำอยู่ในตำบลนาทับ นอกจากนี้จะกระทบกับป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ที่อยู่ตลอดแนวคลองนาทับซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ

 

ด้านนางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี ชาวบ้านหมู่ที่ 6 ตำบลควนหัวช้าง กล่าวต่อคณะอนุกรรมการว่าการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าสงขลาเป็นการดำเนินโครงการโดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และดำเนินโครงการด้วยความไม่ชอบธรรม ไม่โปร่งใสมาตั้งแต่ต้น เห็นได้จากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ที่การไฟฟ้าว่าจ้างบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัดศึกษาโดยที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วม และหลายประเด็นหลักของโครงการก็ไม่ได้ศึกษา เช่น น้ำที่ผ่านการหล่อเย็นซึ่งมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะมีผลกระทบอย่างไรกับสัตว์น้ำและจะส่งผลกับการเกิดหรือเพิ่มปริมาณของเชื้อโรค ในแผนการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไม่มีการระบุมาตรการปรับในกรณีที่การไฟฟ้าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอีกหลายประเด็น

 

ส่วนการประชาพิจารณ์โครงการโรงไฟฟ้าสงขลาเป็นลักษณะการจัดประชุมสัมมนาเท่านั้น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางการไฟฟ้าพยายามอ้างว่าโครงการโรงไฟฟ้าสงขลา ได้ผ่านขั้นตอนของกระบวนการของการจัดทำประชาพิจารณ์แล้ว

 

ในขั้นตอนการดำเนินโครงการก็ส่งผลกระทบ เกิดปัญหามากมายต่อชุมชน คือ (1) ชุมชนไม่รู้ข้อมูล

ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่ได้มีการชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอย่างทั่วถึง ที่ผ่านมาเพียงเน้นงานมวลชนสัมพันธ์ เช่น การจิบน้ำชากับผู้นำชุมชน การไปร่วมงานศพ การมอบเงินเพื่อซื้อการยอมรับโครงการมากกว่าการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างจริง

 

(2) การก่อสร้างโครงการมีการปรับเปลี่ยนลักษณะภูมิประเทศอย่างมากและรุนแรง การปรับเปลี่ยนพื้นที่ลุ่มเป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการ โดยกำหนดระดับดินถมในพื้นที่ทั่วไปเท่ากับ 3 เมตร เพื่อให้อยู่ในระดับสูงกว่าระดับน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งระดับน้ำท่วมโดยทั่วไปที่ระดับ 2.66 เมตร และได้กำหนดระดับของพื้นโรงไฟฟ้าชั้นล่างเท่ากับ 3.70 เมตร เพื่อความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง และสำหรับมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นสูงสุดระดับ 4.30 เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่เคยท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2543 นั้น ทางโครงการมีแผนที่จะก่อสร้างคันดินโดยรอบขอบเขตพื้นที่สูงระดับ 4.50 เมตร และก่อสร้างรั้วรอบโครงการสูงต่อเนื่องจากคันดินอีก 2.00 เมตร

 

การที่การไฟฟ้าดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางน้ำอย่างและสิ่งแวดล้อมอย่างย่อยยับ เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแก้มลิง รองรับน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก การที่การไฟฟ้าถมดินปรับสภาพพื้นที่เท่ากับเป็นการทำลายแก้มลิงธรรมชาติ ปกติพื้นที่บ้านป่างาม ตำบลตลิ่งชัน บ้านควนหัวช้าง ตำบลคลองเปียะ และชุมชน ตำบลข้างเคียงประสบกับปัญหาน้ำท่วมทุกปีทั้งที่มีแก้มลิงรองรับน้ำธรรมชาติอยู่ แล้วการที่การไฟฟ้าทำลายแก้มลิงธรรมชาติปัญหาภาวะน้ำท่วมในชุมชนย่อยรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน อากาศเปลี่ยนแปลง เสียงอึกกระทึก จากการก่อสร้างและรถยนต์ที่มากขึ้น มีคนแปลกหน้าเข้ามาในชุมชนมากขึ้น

 

(3) มาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ปรากฏการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีมาตรการที่ชุมชนเสนอ

 

(4) เกิดการละเมิดการสิทธิประชาชนโดยการใช้กำลังเจ้าหน้าที่อส.ข่มขู่คุกคามชาวบ้านป่างาม โดยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549 เวลา 10.00 น. คณะสำรวจของบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด(ทีทีเอ็ม)จำนวนนับ 10 คน ได้ลงสำรวจพื้นที่ป่าชายเลนบ้านป่างาม ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อวางแนวท่อส่งท่อก๊าซจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ ไปเชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้าสงขลาที่ ต.ป่าชิง โดยมีปลัดอำเภอจะนะฝ่ายป้องกัน และเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร (อส.) ของอำเภอจะนะ จำนวน 4 คน พกพาอาวุธปืนยาวจำนวน 2 กระบอก ปืนสั้นจำนวน 2 กระบอก คุ้มกันเจ้าหน้าที่บริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด(ทีทีเอ็ม)

 

(5)ทำลายสิ่งแวดล้อม กรณีถมถนนทางเข้าโรงไฟฟ้าและถมดินพื้นที่ก่อสร้างโครงการ การถมพื้นที่ก่อสร้างและการก่อสร้างถนนเข้าสู่โรงไฟฟ้าได้ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เพราะเป็นการทำลายแก้มลิงธรรมชาติที่ทำหน้าที่รองรับน้ำ (6) กรณีถมคลองบ้านป่างาม (7) กรณีการดึงน้ำจากคลองนาทับและการปล่อยน้ำที่ผ่านการหล่อเย็นลงสู่คลองนาทับ

 

กรณีการดึงน้ำและปล่อยน้ำสู่คลองนาทับเป็นที่น่ากังวลว่าจะเป็นการทำลายคลองสาธารณะประโยชน์อย่างรุนแรง จนกระทั่งนำไปสู่การทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ และสัตว์น้ำในความที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเท่ากับทำลายวิถีชีวิตของชุมชนตลอดแนวคลองที่ยังชีพโดยการใช้ประโยชน์จากคลอง เราไม่ชุมชนไม่สามารถไว้วางใจมาตรการการดำเนินการของโรงไฟฟ้าว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหากับคลองนาทับ เพราะเพียงแค่เริ่มโครงการก็ได้ถมทำลายคลองเสียแล้ว

 

(8) ฝุ่น โคลน ระหว่างการก่อสร้างมีปัญหาเรื่องฝุ่นและโคลนเนื่องจากดินที่นำมาถม (9) ทำลายด้านสังคม การดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลาได้สร้างความแตกแยกให้กับชุมชนไม่ต่างกับกรณีที่เกิดกับโรงแยกก๊าซ ผู้นำขัดแย้งกับลูกบ้านเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทำลายความสามัคคีในชุมชน เกิดปัญหาคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยเกิดจำนวนมาก เกิดปัญหาความเป็นอยู่และวัฒนธรรมที่แตกต่าง เกิดปัญหาลักขโมย และได้ทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เนื่องจากทางการไฟฟ้าได้ให้ผลประโยชน์กับผู้นำทำให้ผู้นำชุมชน ผู้นำชุมชนขาดศักดิ์ศรี ซื้อการยอมรับโครงการและความถูกต้องด้วยเงิน

 

(10) ภาวะการแย่งน้ำในอนาคต การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ดำเนินการถมคลอง และมีการดูดน้ำจากคลองนาทับไปใช้หล่อเย็นในโรงไฟฟ้าย่อมเกิดผลกระทบเดือดร้อนแก่ชาวบ้านอย่างแน่นอน เพราะปริมาณน้ำที่จะดูดเข้าไปใช้ในการหล่อเย็นมีปริมาณสูงถึง ประมาณ 38,880 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน น้ำที่ถูกดูดเข้าไปใช้จะติดพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนเข้าไปด้วย เมื่อน้ำเหล่านั้นผ่านระบบการหล่อเย็นสัตว์น้ำวัยอ่อนเหล่านั้นย่อมถูกทำลาย และน้ำที่ผ่านการหล่อเย็น ซึ่งการไฟฟ้าจะปล่อยทิ้งกลับไปในคลองนาทับนั้นอุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยนไปย่อมเกิดผลต่อสายน้ำ และพันธุ์สัตว์น้ำอย่างแน่นอน ไม่รวมปริมาณน้ำจากคลองโพมา ที่จะนำมาใช้ในระบบอุปโภค บริโภคต่างๆ ของโรงไฟฟ้า ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำในส่วนนี้ประมาณ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำที่โรงไฟฟ้าต้องการใช้มีปริมาณที่สูงมาก อนาคตอาจเกิดปัญหาดังเช่นที่จังหวัดระยองที่เกิดภาวการณ์แย่งน้ำระหว่างโรงงานและชาวบ้าน เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งชาวบ้านต้องรับชะตากรรมเหมือนที่เกิดขึ้นที่ระยองที่รัฐเลือกจะแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆแต่ไม่สนใจปัญหาขาดแคลนน้ำของชาวบ้าน อย่าปล่อยให้ชาวบ้านจะนะต้องซ้ำรอยชะตากรรมของพี่น้องทีระยองอีกเลย

 

(11) คณะทำงานติดตามตรวจสอบการสูบน้ำในคลองโพมา และคุณภาพน้ำทิ้งในคลองนาทับ คณะทำงานติดตามตรวจสอบการสูบน้ำในคลองโพมาและคุณภาพน้ำทิ้งในคลองนาทับ ไม่มีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากสถาบันการศึกษาหรืออุดมศึกษาที่เป็นกลางเข้าร่วมตรวจสอบ แต่คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้า จะหาความจริงใจ เป็นธรรมและความน่าเชื่อถือจากที่ไหน เข้าข่ายทำเองตรวจสอบเอง

 

จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น.ชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านฯได้พาคณะอนุกรรมการฯไปดูบริเวณที่ก่อสร้าง

โรงไฟฟ้า จุดที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะก่อสร้างอาคารดึงน้ำเข้าไปใช้และจุดที่ทางโรงไฟฟ้าจะปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองนาทับ เมื่อคณะเข้าไปยังพื้นที่ก่อสร้างทำให้เห็นสภาพริมคลองที่ถูกขุดทำลายไปจำนวนมากและบางจุดมีการถมเส้นทางน้ำหลายจุด จากนั้นนางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี เป็นตัวแทนเครือข่ายคัดค้านฯเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าสงขลา โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

 

  1. เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบการดำเนินโครงการทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดทำประชาพิจารณ์โครงการ และกระบวนการดำเนินโครงการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม
  2. ตรวจสอบการใช้พื้นที่การก่อสร้างโครงการการ ตลอดจนตรวจสอบกรณีทีการไฟฟ้ามีแผนการใช้น้ำในคลองนาทับสำหรับการหล่อเย็น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
  3. ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการดำเนินโครงการ จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนในการคัดค้าน
  4. ขอเรียกร้องให้ตรวจสอบยุติโครงการโรงไฟฟ้าสงขลาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน สิ่งแวดล้อม ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชน

 

เพราะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลาดำเนินการโดยกระบวนการ และกลไกที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดทำประชาพิจารณ์ ดำเนินโครงการโดยไม่ชี้แจงข้อมูลที่ชัดเจนให้ชุมชนรู้และกระบวนการดำเนินงานต่างๆที่ไม่มีส่วนร่วมของชุมชน และผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ทางเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อ.จะนะ จ.สงขลา จึงต้องการให้ทางการไฟฟ้าหยุดการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลาที่ทำลายวิถีชีวิตชุมชน ทำลายธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประเพณี ตลอดจนวัฒนธรรมที่ดีงามและที่สำคัญทำลายหลักการศาสนาอิสลามของพี่น้องชุมชนมุสลิม เพราะธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่องค์อัลลอฮฺสร้างมาให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้น หากเกิดปัญหาใดๆขึ้นยากที่จะแก้ไขได้โดยเฉพาะคลองและสายน้ำที่มีความอ่อนไหวต่อการกระทบและเปลี่ยนแปลง

 

จากนั้นได้พาคณะไปดูบริเวณปากคลองนาทับ ซึ่งเป็นสายน้ำที่อุดมสมบูรณ์จนกระทั่งเวลา 12.00 น.ทางคณะอนุกรรมการจึงเดินทางกลับ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net