Skip to main content
sharethis


โดย


ธีระ สุธีวรางกูร


อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 

 


การทยอยลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคของแกนนำพรรคไทยรักไทย ถูกวิเคราะห์จากบรรดานักวิเคราะห์ว่าเป็นการหนีตายทางการเมืองจากประกาศ คปค. ฉบับ 27 ข้อ 3 


 


เป็นประกาศอันมีความว่า "ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดเพราะเหตุกระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พุทธศักราช 2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค"


 


ความมุ่งหมายของ คปค. ในการออกประกาศฉบับนี้เป็นอย่างไร วิญญูชนคนธรรมดาคงทราบได้ไม่ยาก แต่ทว่าหากพิเคราะห์ตามหลักกฎหมาย เรื่องนี้นับมีความนัยซับซ้อน ทั้งยังอาจมีความเกี่ยวพันกับการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 อย่างคาดคิดไม่ถึง


 


ควรทราบว่าตามประกาศของ คปค. ฉบับดังกล่าว โทษที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนด 5 ปี จากเหตุที่พรรคการเมืองถูกคำสั่งให้ยุบ ถือเป็นการกำหนดโทษขึ้นใหม่ จากโทษแต่เดิมซึ่งมีอยู่เพียงการห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคของพรรคที่ถูกคำสั่งให้ยุบไปดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่  หรือไปดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคในพรรคการเมืองใหม่ที่ตนได้เข้าไปเป็นสมาชิก เท่านั้น


 


วันนี้ นักกฎหมายหลายท่านเริ่มมีการตั้งคำถามถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คปค. ฉบับนี้ เป็นนักกฎหมายอันหมายรวมถึงผู้เขียน   


 


โดยเหตุที่เรื่องนี้มีความนัยทางกฎหมายซับซ้อน เมื่อประกาศของ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 มีเนื้อหาเป็นเรื่องของการเพิกถอน "สิทธิเลือกตั้ง"  ก่อนจะมีการพิเคราะห์ให้เห็นกันต่อไป  คงจำเป็นจะต้องเริ่มด้วยหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับคุณค่าในทางกฎหมายของ "สิทธิเลือกตั้ง" เสียก่อน


 


ในทางกฎหมาย สิทธิเรื่องหนึ่งเรื่องใดของบุคคลสามารถถูกก่อตั้งหรือรับรองขึ้นได้ทั้งโดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น คำถามมีว่าแล้วสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้นถูกก่อตั้งโดยกฎหมายประเภทใด


 


กล่าวโดยรวบรัด หากย้อนกลับไปพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเท่าที่ผ่านมาทุกฉบับ จะเห็นได้ว่าสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  จะถูกก่อตั้งขึ้นแต่โดยรัฐธรรมนูญเท่านั้น 


 


เมื่อสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้นถูกก่อตั้งโดยรัฐธรรมนูญ สถานะทางกฎหมายของสิทธิดังกล่าวนี้ก็ย่อมถือได้ว่ามี "คุณค่าในระดับรัฐธรรมนูญ"  ซึ่งหากจะมีการยกเลิกเพิกถอนเพราะเหตุหนึ่งเหตุใด ก็ย่อมกระทำได้เฉพาะเพียงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อทำการยกเลิกเพิกถอน หรือมีการกำหนดเอาไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้องค์กรของรัฐองค์กรหนึ่งองค์กรใดมีอำนาจยกเลิกเพิกถอนสิทธิข้างต้น โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรืออาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจอย่างชัดเจนให้สามารถกระทำการเช่นนั้นได้ เท่านั้น


 


แน่นอน  สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดย่อมเป็นเพียงเรื่องเพ้อเจ้อ หากว่าเราอยู่ในยุคที่รัฐธรรมนูญได้ถูกฉีกทิ้งไปแล้วจากการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยวันนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ก็ได้รับการประกาศใช้แล้ว ฉะนั้น บรรดานักกฎหมายก็ยังคงสามารถใช้สติปัญญามาพิเคราะห์โดยอาศัยฐานทางกฎหมายเท่าที่มีเพื่อพิจารณาถึงการคุ้มครองสิทธิเลือกตั้งกันต่อ


 


ก่อนจะกล่าวกันต่อไปว่า สิทธิในการเลือกตั้งของบุคคลได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว หรือไม่  ลองมาพิจารณาถึงศักดิ์ในทางกฎหมายของประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 กันเสียก่อน


 


การจะเทียบเคียงว่าประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 มีศักดิ์ในทางกฎหมายเสมือนหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญหรือเป็นเพียงพระราชบัญญัติ   ความข้อนี้  โดยอาศัยวิธีการทางนิติศาสตร์  คงต้องนำประกาศฉบับนี้ ข้อนี้ ไปเปรียบเทียบในทางเนื้อหาว่ามันได้ออกมาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประเภทใด   


 


ตามประกาศ คปค.ฉบับดังกล่าว แม้จะมีการกล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่   หากทว่าเมื่อประกาศ คปค. ฉบับนี้ โดยเฉพาะข้อ 3 มีการการกำหนดบทลงโทษเพิ่มขึ้น อันมีเนื้อหาเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ โดยลักษณะเช่นนี้ จึงย่อมถือว่าประกาศฉบับนี้ ในข้อนี้ ของ คปค. มีศักดิ์ในทางกฎหมายเสมือนหนึ่งเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ


 


เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ถูกประกาศใช้ และเมื่อมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย      หากบรรดาพรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประกาศ คปค. ฉบับนี้ มีความสงสัยในความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศฉบับดังกล่าว ด้วยสถานะของประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ที่ถือว่าเป็นเพียงกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมิใช่รัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองเหล่านี้ก็ย่อมสามารถที่จะตั้งประเด็นให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


 


คำถามอาจมีว่า แล้วมีมาตราใดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ที่สามารถจะใช้เป็นกรอบพื้นฐานในการตรวจสอบ


 


กล่าวกันมาแล้วว่าสิทธิเลือกตั้งถือเป็นสิทธิที่ได้รับก่อตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว มีผลใช้บังคับแล้ว จึงจำเป็นต้องดูว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับนี้ จะมีบทบัญญัติถึงเรื่องนี้ หรือไม่ อย่างไร 


 


พิจารณาโดยลายลักษณ์อักษร ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว กล่าวถึงสิทธิเลือกตั้งอย่างเฉพาะเจาะจง  อย่างไรก็ตาม  ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเขียนเอาไว้ว่า" ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้   ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค  บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีแห่งประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ "   


 


ฉะนั้น  ปัญหาที่ต้องนำมาพิจารณากันในชั้นนี้ก็คือ แล้วสิทธิเลือกตั้งซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเคยยืนยันให้มีมาตลอด จะถือเป็นสิทธิที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ดังที่มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตามมาตรา 3 หรือไม่


 


กล่าวอย่างรวบรัด เมื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีสาระสำคัญอย่างหนึ่งอยู่ที่ประชาชนต้องมีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนของตนไปทำหน้าที่ในฐานะเป็นองค์กรของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาผู้แทนราษฎร             และเมื่อโดยประวัติศาสตร์ของการยกร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย  จะมีบทบัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งมาโดยตลอดสม่ำเสมอ  อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ที่มีบทบัญญัติให้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคได้  อันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่าสิทธิเลือกตั้งยังคงมีอยู่ในระบบกฎหมายไทย  โดยเหตุผลที่กล่าวมา สิทธิเลือกตั้งของบุคคลจึงย่อมถือเป็นสิทธิที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข             อันส่งผลต่อไปให้ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ในมาตรา 3 ด้วย  แม้ ณ วันนี้จะยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น


 


แม้สิทธิเลือกตั้งของบุคคลจะได้รับความคุ้มครอง  แต่มีปัญหาว่าเราจะคุ้มครองสิทธิดังกล่าวด้วยเหตุผลใด


 


ในทางหนึ่ง เมื่อสิทธิเลือกตั้งถือเป็นสิทธิที่ถูกก่อตั้งโดยรัฐธรรมนูญ และเมื่อสิทธิดังกล่าวนี้ถือเป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในเวลานี้มิได้มีบทบัญญัติใดกำหนดให้องค์กรของรัฐองค์กรหนึ่งองค์กรใดมีอำนาจไปเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลได้โดยตรง  ประกาศของ คปค.ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ซึ่งมีค่าบังคับเป็นเพียงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  เมื่อได้มีบทกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจไปเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลได้ โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มิได้กำหนดให้องค์กรดังกล่าวมีอำนาจกระทำการดังนี้ไว้อย่างแจ้งชัด ประกาศของคปค.ในเรื่องนี้ก็อาจถือได้ว่ามีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว


 


อีกทางหนึ่ง  ดังได้กล่าวแล้วว่าการกำหนดบทลงโทษให้มีการตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคในกรณีที่พรรคการเมืองซึ่งกรรมการบริหารพรรคนั้นสังกัด ถูกศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 นั้นถือเป็นการกำหนดโทษใหม่ให้เพิ่มขึ้นจากเดิม           


 


ทั้งยังให้มีผลย้อนหลังไปถึงการกระทำของพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะใช้บังคับ กรณีดังนี้  หากจะมองว่าสิทธิเลือกตั้งถือเป็นสิทธิทางการเมืองอันสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  และเมื่อเทียบเคียงกับการรับโทษในคดีอาญาซึ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ได้วางหลักการสำคัญว่าห้ามมิให้มีการย้อนหลังในทางที่เป็นโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิด ก็เมื่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกายยังมีการคุ้มครองดังนี้  แล้วสิทธิเลือกตั้งของบุคคลซึ่งหากถูกเพิกถอนออกไป จะมีผลต่อเนื่องไปถึงสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันถือเสมือนหนึ่งเป็นการประหารชีวิตกันในทางการเมือง ก็น่าจะย่อมมีคุณค่าเพียงพอเสมอเหมือนกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย  ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามเอาไว้มิให้มีการใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ  ถ้ายอมรับต่อหลักการและเหตุผลดังกล่าวประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3  ก็อาจถือได้ว่ามีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป


 


ด้วยเหตุผลจากสองทางดังกล่าว หากไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น กรณีมีความเป็นไปได้หากจะคาดหวังให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ข้อ 3 นั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 


 


แต่หลายครั้งบางสิ่งก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด หากกฎหมายในสภาวะที่บ้านเมืองเป็นปกติ ยังต้องอ่านและวิเคราะห์กันให้รอบคอบเพียงใด กฎหมายในยุคกระบอกปืนเป็นใหญ่ ย่อมจำเป็นต้องอ่านและวิเคราะห์กันให้รอบคอบยิ่งกว่า


 


กลับไปพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ในมาตรา 3 อีกครั้ง แม้จะมีการรับรองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเอาไว้ในมาตราข้างต้น หากทว่าในประโยคแรกของมาตราดังกล่าวกลับมีการกำหนดเอาไว้ว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้..." อันมีความหมายว่าแม้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคจะได้รับความคุ้มครอง หากทว่าเป็นความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขที่บทบัญญัติในมาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้    มิได้กำหนดเอาไว้ให้เป็นอย่างอื่น ผลจากความข้อนี้  จึงมีความจำเป็นต้องกวาดสายตาให้รอบว่ามีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญได้กำหนดถึงเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น หรือไม่


 


มาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ถูกเขียนเอาไว้ว่า "บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ในระหว่างวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด  และไม่ว่าจะประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป และให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่งตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นจะกระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ "


 


ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว มาตรานี้ มีปัญหาใหญ่ซ่อนไว้อยู่มาก แต่ในชั้นนี้ หากกล่าวกันอย่างรวบรัด หรือนี่จะมีความหมายว่าประกาศของ คปค. ทุกฉบับที่ได้ออกมาก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับ  ต่างได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญมาตรานี้ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


 


หากกรณีเป็นเช่นนั้น แม้โดยหลักการทางนิติศาสตร์ ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 อาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หากทว่าเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว มาตรา 37 ได้ประกาศรับรองถึงความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของประกาศ คปค.ทุกฉบับอย่างสิ้นเชิง หลักการและเหตุผลทั้งหลายที่ได้พิเคราะห์กันมาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าวก็ย่อมเป็นอันเปล่าประโยชน์ เพราะมิว่าโดยเนื้อหาของประกาศ คปค. ฉบับนี้จะมิชอบด้วยหลักการในทางรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่ท้ายที่สุด ประกาศ คปค. ฉบับนี้ย่อมถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องใช้สติปัญญามาพิเคราะห์ แต่เพียงเพราะว่าผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 36 แล้วว่าให้มันชอบ 


 


หรือเราจะมักง่ายต่อการยกร่างกฎหมายได้ถึงขนาดนี้ หรือการยกร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้มีเหตุผลซ่อนเร้นอย่างอื่น รวมไปถึงเพื่อมิให้ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  


 


จากที่ได้วิเคราะห์มาทั้งหมดเกี่ยวกับประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ในฐานะของนักกฎหมายก็หวังอย่างยิ่งว่าจะมีพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด ยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นแห่งคดีเพื่อต่อสู้ในระหว่างการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และหากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นองค์กรคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันหมายรวมถึงสิทธิเลือกตั้ง  มีคำวินิจฉัยว่าประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลเพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว มาตรา 36 ยืนยันให้มันชอบ


 


สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย  คงสุ่มเสี่ยงต่อการตกอยู่ในอันตรายเสียแล้ว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net