Skip to main content
sharethis

ภายหลังการรัฐประหารและผ่านพ้นประกาศคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)มากกว่า 30 ฉบับ วันที่ 1 ต.ค. 2549 กลุ่มนิติรัฐเสวนา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ กรรมการเสวนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัดการอภิปรายทางวิชาการภายใต้หัวข้อ "นิติรัฐกับรัฐประหาร" เป็นการโยนคำถามร้อนๆ กลับไปสู่นักกฎหมายทั้งหลายอีกครั้งว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และคำสั่งที่ออกมาจากคณะรัฐประหาร ทั้งนี้ ต้องใส่หมายเหตุตัวโตๆ ว่าที่ผ่านมานั้น ฝ่ายตุลาการได้แสดงท่าทีสยบยอมให้กับอำนาจที่มาจากการรัฐประหารโดยตลอด


 


 


000


 


รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล


"เราไม่สามารถใช้ประชาธิปไตยแบบฉับพลันได้ ประชาธิปไตยแบบแดกด่วน เรากินเข้าไปแต่ทำลายหลักการทั้งหมด"


 


หลักนิติรัฐสำคัญอย่างไร


"สิ่งที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเอาหรือไม่เอาทักษิณเราพูดถึงตัวระบบประชาธิปไตย เพราะมันมีความสำคัญ เราสามารถกำหนดชะตากรรมของเราด้วยตัวเราเอง โปรดฟังอีกรอบ".....รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวและตั้งคำถามว่าการรัฐประหารนั้นทำให้ความขัดแย้งหมดไปหรือไม่ พร้อมทั้งกล่าวต่อไปว่า ระบอบประชาธิปไตยก็คือความขัดแย้ง เราไม่สามารถทำให้คนทุกคนในสังคมเห็นพ้องกันได้ และการระบุว่านโยบายของรัฐบาลทักษิณทำให้คนบางคนได้ประโยชน์และบางคนเสียประโยชน์นั้น แน่นอนว่าทุกนโยบายต้องมีคนได้ประโยชน์ และต้องมีคนเสียประโยชน์ แต่สิ่งที่ดีของประชาธิปไตยก็คือ เราสามารถเอาทุกปัญหาความขัดแย้งมากองรวมกันและถกเถียงกันได้


 


"เราไม่สามารถใช้ประชาธิปไตยแบบฉับพลันได้ ประชาธิปไตยแบบแดกด่วน เรากินเข้าไปแต่ทำลายหลักการทั้งหมด


 


"เรามักจะบอกว่าเป็นทางออกสุดท้าย เป็นทางออกเดียวที่เหลืออยู่ แต่ไม่ว่าเราจะรักหรือเกลียดทักษิณ ลองคิดถึงคุณทักษิณเมื่อสองปีที่แล้วกับสองปีนี้สิว่าต่างกันอย่างไร มันต่างกันเพราะว่าสังคมประชาธิปไตยมันเปิดโอกาส ทำไมเราจึงไม่รอ"


 


ท่าทีฝ่ายตุลาการไทย-อำนาจคือธรรม


รศ.สมชาย กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจาการด่าคณะปฏิรูปการปกครองฯ แล้วเรื่องที่น่าจะให้ความสนใจก็คือการตั้งคำถามว่าระบบกฎหมายของไทยมีท่าทีอย่างไรกับการยึดอำนาจหรือการรัฐประหาร ซึ่งหมายความว่าคำตอบที่จะต้องตอบนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับการรัฐประหารครั้งล่าสุดเท่านั้น แต่นี่คือคือปัญหาเรื่องอำนาจที่เกิดจากการยึดอำนาจ ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ยุค รสช. จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน


 


รศ. สมชายระบุว่า ตามที่กฎหมายอาญาบัญญัติไว้นั้นการรัฐประหารเป็นความผิดฐานกบฏอย่างแน่นอน โดยประมวลกฎหมายอาญาระบุว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ (1) ล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เป็นความผิดฐานกบฏ โทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต


 


แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าในประเทศไทยมีการยึดอำนาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก หมายความว่ามีการกระทำความผิดฐานกบฏบ่อยครั้งมาก แต่คำถามคือว่ามีใครเคยถูกลงโทษบ้าง


 


"มีครับ แต่สำหรับคนที่แพ้ พูดง่ายๆ คือความผิดมาตรานี้ ชนะเป็นเจ้า แพ้เป็นโจร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ความผิดตามมาตรานี้ไม่มีกำหนดไว้ว่าถ้าทำสำเร็จไม่ผิด ผิดทั้งนั้น"


 


 


แล้วระบบกฎหมายไทยตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไร


รศ.สมชายระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าชนะป็นเจ้าแพ้เป็นโจรนั้น องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องคือสถาบันตุลาการ พร้อมทั้งหยับยกกรณีตัวอย่างว่าในอดีต มีการรัฐประหารเกิดขึ้นและหลายครั้งมีคนฟ้องร้องว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย คำถามคือเมื่อมีคนฟ้อง แต่ท่าทีของศาลนั้นออกมาใน 2ลักษณะคือ


 


ท่าทีประการแรก คือการบอกว่าการกระทำรัฐประหารนั้นเป็นความผิด เริ่มต้นจากคำพิพากษาฎีกาที่ 1874 /2492 มีการยึดอำนาจเกิดขึ้น แล้วมีนายทหารกลุ่มหนึ่ง สนับสนุนการยึดอำนาจ ศาลก็วินิจฉัยว่าการกระทำที่เป็นการสนับสนุนการยึดอำนาจนั้นเป็นความผิด แต่ศาลไม่ลงโทษเพราะว่ามีกฎหมายนิรโทษกรรม


 


ท่าทีประการที่ 2 มีคำพิพากษาวินิจฉัยสถานะของรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจ มีข้อพิพาทว่าใครเป็นรัฐบาลโดยชอบ ศาลระบุว่าบุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารประเทศชาติ สามารถรักษาความสงบสุขของบ้านเมืองไว้โดยปราศจาการขัดแย้งแย่งอำนาจ ก็คือรัฐบาลที่ชอบ


 


"คือรัฐบาลที่ตีหัวคนอื่นเรียบร้อยแล้ว นั่นแหละคือรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย"


 


คำสั่งของคณะปฏิวัติเป็นกฎหมายหรือไม่


รศ. สมชายระบุว่า แนวทางของศาลที่ผ่านมามีคำพิพากษาฎีกาที่เป็นบรรทัดฐานในปี 2500 ระบุว่า เมื่อคณะปฏิวัติ กระทำการได้สำเร็จ ย่อมเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่ออกมาก็ถือว่าเป็นกฎหมาย แม้จะไม่ได้ลงพระปรมาภิไธย


 


รศ. สมชายกล่าวว่า การที่ศาลมีท่าทีเช่นนี้เป็นรากฐานที่สำคัญของปรากฏการณ์แพ้เป็นโจร ชนะเป็นเจ้า และสิ่งที่ตามมาก็คือ รูปแบบที่คณะปฏิวัติทำเหมือนๆ กัน ก็คือเมื่อยึดอำนาจเสร็จแล้ว ก็จะฉีกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา จากนั้นก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับความผิดฐานกบฏของตัวเอง


 


รศ. สมชายระบุว่า นอกเหนือจากฝ่ายตุลาการที่ยอมรับในอำนาจของคณะปฏิวัติที่ผ่านๆ มาโดยตลอดแล้ว ท่าทีของฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นไปในทางเดียวกัน โดยฝ่ายนิติบัญญัติได้แสดงอาการยอมรับเอาคำสั่งของคณะปฏิวัติเป็นกฎหมายและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย โดยได้ยกตัวอย่างปี 2514 ซึ่งจอมพลถนอมยึดอำนาจตัวเอง จากนั้น นายอุทัย พิมพ์ใจชน และนักการเมืองรวม 3 คน ฟ้องว่าจอมพลถนอมเป็นกบฏ แต่ศาลตัดสินว่าทั้งสามคนนี้ไม่ใช่ผู้เสียหาย สิ่งที่น่าสนใจก็คือจอมพลถนอม ออกคำสั่ง จำคุกอุทัย พิมพ์ใจชนและนักการเมืองที่ฟ้องร้องเขารวม 3คน ให้ติดคุก 10 ปี โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม


 


แต่เมื่อจอมพลถนอมสิ้นอำนาจลง กว่าที่ดำเนินการถอนคำสั่งของจอมพลถนอมได้นั้น องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติฯ ต้องดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติจนครบทุกขั้นตอน เป็นการแสดงการยอมรับสถานะทางกฎหมายของคำสั่งที่อาศัยอำนาจของคณะรัฐประหาร


 


"คำสั่งของคณะรัฐประหารได้ผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายไทย ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ แต่ทั้งหมดจะโทษฝ่ายตุลาการหรือนิติบัญญัติเท่านั้นไม่พอ อะไรคือรากฐาน ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เป็นแนวคิดแบบปฏิฐานนิยม ตั้งแต่สมัยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ คือกฎหมายเป็นคำสั่งของผู้ปกครองคือสิ่งที่เรียกว่าอำนาจคือธรรม


 


"ผมคิดว่าอิทธิพลทางความคิดของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตราบเท่าที่ยังไม่มีคนวิจารณ์ ผมคิดว่าเราจะเปลี่ยนท่าทีต่อรัฐประหารได้ยากมาก และอิทธิพลนี้ก็ได้สืบทอดมายังนักกฎหมายรุ่นหลังๆ ด้วย เช่น หยุด แสงอุทัย ซึ่งให้คำอธิบายว่า การปฏิวัติการยึดอำนาจแม้จะเป็นเหตุที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่เป็นเหตุให้รัฐบาลไม่สมบูรณ์ สอง ถ้าล้มล้างรัฐบาลเก่าได้ ก็สามารถใช้อำนาจออกกฎหมายบังคับกับประชาชนได้... นี่คือตัวอย่างคำอธิบายของนักกฎหมายไทย


 


"ตัวอย่างอื่น เช่นวิษณุ เครืองาม ให้คำอธิบายว่า เวลาจะอธิบายว่าคำสั่งของคณะรัฐประหาร ให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ถือให้คำสั่งนั้นเท่ากับรัฐธรรมนูญ เรียบง่ายชัดเจนแต่หยาบคายต่อระบอบประชาธิปไตย...คือรัฐธรรมนูญในทัศนะของผมควรจะเป็นความคาดหวังร่วมกันของคนในสังคมน่ะ "


 


 


รศ. สมชาย ย้ำว่า รากฐานที่สำคัญคือการที่ระบบกฎหมายไทยไม่ตั้งคำถามต่อรัฐประหาร เป็นการยอมรับแบบเซื่องๆ และกฎหมายนิรโทษกรรมไม่เคยถูกปฏิเสธ โดยกรณีตัวอย่างที่เจ็บปวดที่สุดก็คือการนิรโทษกรรมให้ตัวเองของคระรัฐประหารปี พ.ศ. 2534 ซึ่งศาลให้การยอมรับกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนั้น และส่งผลให้ญาติวีรชนเดือนพฤษภาคม 2535 แพ้คดีไปในที่สุด โดยศาลยกเอากฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นเป็นเหตุในการยกฟ้อง


 


"ถ้าเรารังเกียจทักษิณว่ามัน conflict of interest ทำไมกฎหมายไทยรับ conflict of interest โดยดุษณี ไม่เกิดการพัฒนาหลักการบางอย่าง.....ทั้งหมดนี้ระบบกฎหมายไทย สถาบันตุลาการองค์กรนิติบัญญัติ นักกฎหมาย เป็นเพราะปัญหาของระบบกฎหมายไทย ส่งเสริมให้วัฒนธรรมอำนาจเติบโตงอกงามอยู่ในสังคมไทย....คุณต้องไม่ยอมรับว่าการนิรโทษกรรมตัวเองนั้นสามารถทำได้ อย่ายอมรับ"


 


 


000


 


ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช


 "รัฐประหารก็คือรัฐประหาร อย่าไปเอาเรื่องการนองเลือดหรือไม่นองเลือดมาตัดสินความชอบธรรม"


 


 


สถานะของรัฐบาลรัฐประหารในทางระหว่างประเทศ


รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช จากภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่าในปัจจุบันประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันถัดจากการรัฐประหารหุ้นตกทั่วโลกเหมือนกันหมด อย่าคิดว่ารัฐประหารประเทศหนึ่งจะมีผลอยู่เฉพาะในประเทศและคนไทยก็ถูกปิดหูปิดตาว่าไม่มีการต่อต้าน และไม่รู้ว่าจากต่างประเทศเขามองเราอย่างไร


 


 


"ผมลองยกตัวอย่างง่ายๆ องค์กรจัดอันดับความเสี่ยงต่อการรัฐประหารทั่วโลก พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับกลาง ผมไม่แน่ใจว่าการจัดอันดับนี้ทำก่อนหรือทำหลังวันที่ 19 แต่บางประเทศที่ดูด้อยพัฒนามากๆ เขามีความเสี่ยงน้อยมาก เรามัวแต่ชื่นชมว่าเราเป็นรัฐประหารที่ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ ซึ่งก็ไม่ได้มีเฉพาะประเทศเราประเทศเดียว การรัฐประหารที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ 1990 ที่สุรินัมก็เหมือนกัน ปี 2005 มัวลิตาเนียอยู่ทางตอนเหนือของอัฟริกาก็มี ปฏิวัติที่ปากีสถาน ก็ไม่มีการนองเลือด


 


"เพราะฉะนั้นรัฐประหารก็คือการรัฐประหาร อย่าไปเอาเรื่องการนองเลือดหรือไม่นองเลือดมาตัดสินความชอบธรรม"


 


รศ.ประสิทธิ์ กล่าวว่าในทางระหว่างประเทศนั้นไม่ได้มีกฎหมายระหว่างประเทศระบุห้ามทำรัฐประหาร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็เป็นกิจกรรมภายในของประเทศนั้นๆ แต่แน่นอนว่าจะมีประเด็นทางกฎหมายตามมามากมาย


 


ทั้งนี้ รศ.ประสิทธิ์ได้แยกประเด็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาในทางระหว่างประเทศ 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ก็คือ การรับรองรัฐบาล และการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น


 


ประเด็นการรับรองรัฐบาลนั้น โดยปกติเป็นดุลพินิจของแต่ละประเทศ ประเทศอื่นอาจจะรับรองหรือไม่รับรองรัฐบาลไทยก็ได้ และขณะนี้ก็มีข่าวระบุว่าสหรัฐจะตัดงบความช่วยเหลือทางทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐเคยทำเมื่อครั้งที่เกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)


 


อีกประเด็นคือ การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น รัฐบาลพลัดถิ่นคือบุคคลคนเดียวซึ่งโดยปกติเป็นผู้นำของรัฐหรืออาจจะเป็นคณะบุคคลก็ได้ แต่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศและประกาศว่าตัวเองเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นแต่จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และขึ้นกับแรงสนับสนุนจากต่างประเทศด้วย


 


ทันทีที่มีการตั้งรัฐบาลสำเร็จจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร


จะมีผลตามมามากมายมหาศาล คือรัฐบาลพลัดถิ่นจะเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมในทางระห่างประเทศ สามารถนั่งในยูเอ็นและมีความสามารถในการจัดการทรัพย์สินของรัฐที่ตั้งอยู่มนประเทศต่างๆ


 


"การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญแต่ในอดีตไม่มีใครพูดและคนที่แพ้รัฐประหารก็ไม่มีใครพูด ผมคิดว่าคราวต่อไป เราอาจจะใช้ตรงนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งในการต่อสู้กับรัฐประหาร เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้มองในมิติระหว่างประเทศ"


 


รศ.ประสิทธิ์ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจว่า เคยมีกรณีที่รัฐบาลต่างประเทศตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ประเทศอังกฤษและประสบความสำเร็จ


 


"ประธานาธิบดีของไซปรัสถูกรัฐประหาร คนนี้ได้รับความนิยมจากรากหญ้ามากเคยถูกลอบสังหารแต่ไม่สำเร็จ แล้วไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ต่างประเทศที่ประเทศอังกฤษ กรุงลอนดอน และได้กลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง"


 


รศ. ประสิทธิ์ ย้ำว่าการที่รัฐบาลประเทศอื่นๆ จะรับรองรัฐบาลของไทยที่มาจาการรัฐประหารหรือไม่นั้นขึ้นกับนโยบายหรือดุลพินิจของประเทศนั้นๆ แต่การที่ คปค. เชิญบรดาทูตมา และบอกว่า คปค. จะปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้น ไม่ได้หมายความว่าทูตที่มาฟังการชี้แจงได้แสดงการรับรองคณะรัฐประหาร แต่ แต่เขาต้องปกป้องผลประโยชน์และดูแลคนของประเทศเขา และต่างประเทศก็กำลังจับจ้องมองอยู่ว่ารัฐบาลของเราจะมีหน้าตาอย่างไร


 


 


000


 


รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์


 


"หากสังคมไทยยอมรับและรู้สึกว่าการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วแบบการรัฐประหารนั้นดี ก็ควรจะเลิกระบบประชาธิปไตยไปเลย"


 


ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร หลักนิติรัฐก็ถูกทำลายลงด้วย 


รศ. ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านประเด็นที่ต้องพูดไม่ใช่เรื่องทักษิณแล้ว แต่ว่าจะทำอย่างไรที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกไปอย่างง่ายดาย


 


พร้อมกันนี้ รศ.ดร. วรเจตน์ได้อธิบายว่า หลักนิติรัฐนั้นคือ รัฐที่กฎหมายเป็นใหญ่ ผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนกัน ยอมรับว่าคนจะเชื่อใจการใช้อำนาจของรัฐได้ ว่าจะไม่ออกมารังแกประชาชน


 


ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร หลักนิติรัฐก็ถูกทำลายลงด้วย  ไม่ว่าจะนองเลือดหรือไม่นองเลือดก็ตาม สิ่งซึ่งคุ้มครองเราทั้งหลายสิทธิเสรีภาพทั้งหลายถูกจำกัดลง แม้เราไม่รู้สึก จริง ๆแล้วมันไม่เหมือนเดิมแล้ว


 


ในแง่ของการรัฐประหารนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และระบบกฎหมายไทยก็แสดงท่าทีรับรองการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จ


 


"การกระทำใดๆ ก็ตามที่คณะรัฐประหารทำไปนั้นย่อมชอบธรรมเสมอ จริงๆ เรื่องพระราชกำหนดนิรโทษกรรม มีการพูดกันว่าพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนั้นมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือชอบด้วยกฎหมาย.....พระราชกำหนดนิรโทษกรรมนั้นมันทำได้หรือไม่


 


"การกระทำซึ่งผิดและไม่ต้องรับโทษ กับการกระทำที่ไม่ผิดเลยต่างกันมาก ระบบกฎหมายเราบอกว่าถ้ามีการฆ่าคนตายนั้นเมื่อมีการนิรโทษกรรมแล้ว การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด โชคดีว่ายังไม่มีสภาพการณ์แบบนั้นขึ้นในสังคมไทย"


 


สังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะไม่จัดการเอาคนที่ตัวเองไม่ชอบออกไปด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ


รศ.ดร. วรเจตน์กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารว่า  สังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะจัดการเอาคนที่ตัวเองไม่ชอบออกไปโดยรู้จักอดทนเพียงพอที่จะแก้ปัญหาไปตามลำดับไม่ใช้โดยการฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อจะเอาคนที่ตัวเองไม่ชอบออกไป และที่ผ่านมา การเมืองไทยก็ได้แสดงให้เห็นว่าทางออกของการแก้ปัญหานั้นได้ดำเนินมาเป็นลำดับหากสังคมไทยเดินไปสู่การเลือกตั้ง แล้วมีการปฏิรูปการเมือง อย่างน้อยก็มีฐานความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่การรัฐประหารไม่มีพื้นฐานของความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง


 


และหากสังคมไทยให้การยอมรับการรัฐประหารวันหนึ่งมันอาจจะกลายเป็นจารีตของสังคมไทยก็ได้ อำนาจของคนในสังคมจะไม่มี แต่มันถูกจำกัดกำหนดโดยคนกลุ่มหนึ่ง


 


"ท่านจะพบว่าเรามีคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ พรรคฝ่ายค้านก็ยอมรับว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ศาลก็เข้ามาแก้ปัญหาเรื่อง กกต. ไม่เป็นกลาง แน่นอนว่าเป็นได้ว่าหลังจากมีการเลือกตั้งแล้วจะไม่เป็นไปอย่างใจใคร จะมีการต่อสู้กันในทางความคิด ผมก็รับได้ ก็เพราะประชาธิปไตยมันคือการอยู่ร่วมกันให้ได้


 


"ผมก็มองในแง่ดีว่าเราจะเดินไปสู่การเลือกตั้ง คุณทักษิณก็อาจจะต้องเว้นวรรค และจะเกิดการปฏิรูปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ แต่แน่นอนว่ามีข้อเสียคือมันช้ามันต้องใช้ความอดทน คนชั้นกลางอาจจะทนไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นพี่น้องร่วมชาติที่ต้องการเดินทางไปสู่จุดนั้น


 


"ส่วนการรัฐประหารนั้นข้อดีคือมันเร็ว แต่ท่านสังเกตไหมครับว่า มันผันแปรไปตามอำเภอใจ หมายความว่ากฎเกณฑ์ที่ออกมาแล้วหลังจากนั้นสองวันไม่ดี ก็แก้ใหม่"


 


ทั้งนี้ รศ.ดร. วรเจตน์กล่าวว่า หากสังคมไทยยอมรับและรู้สึกว่าการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วแบบการรัฐประหารนั้นดี ก็ควรจะเลิกระบบประชาธิปไตยไปเลย


 


"ปัญหามีอยู่ต่อไปว่าทำไมการรัฐประหารเที่ยวนี้จึงถูกมองว่าชอบธรรม และผมถูกกล่าวหาว่าไร้เดียงสาทางการเมือง จริงๆ เราคิดนะครับ และในทางวิชาการ เราก็พูดไปตามหลักตามวิธี ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่คุณทักษิณแต่แรก มันเป็นประเด็นเรื่องฉีกรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าคุณทักษิณอาศัยกรอบรัฐธรรมนูญเราก็เห็นอยู่แล้วว่ามันกำลังพัฒนาไปสู่จุดนั้น แล้วทำไมคนจำนวนหนึ่งจึงต้องส่งเทียบเชิญให้มีการรัฐประหาร เพราะไม่อดทน ใจร้อน แต่ถามว่ามันจบหรือครับ เราจะต้องอยู่ในสภาวะอย่างนี้อีกอย่างน้อย 1 ปี จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร"


 


รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเคลื่อนไหวไม่ให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าประเทศไทยด้วยว่า ไม่มีใครมีสิทธิที่จะห้ามคนอื่นเข้าประเทศ หากคนๆ นั้นเป็นคนไทยเขาย่อมต้องมีสิทธิเดินทางเข้า-ออกประเทศของ "คุณมีสิทธิชุมนุม ผมก็สนับสนุนคุณ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับประเด็นการชุมนุม"


 


รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากพ้น 2 สัปดาห์ที่ คปค.ให้สัญญาไว้ว่า ไม่มีการรัฐประหารที่ไหนที่จะลงจากอำนาจ 2 สัปดาห์ เหตุผลหนึ่งก็คือการรัฐประหารซ้อน เพราะฉะนั้นต้องมีการสืบทอดดังที่เห็นอยู่ว่าคปค. จะเปลี่ยนสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคง


 


"ถ้าถามผม ผมไม่ได้เป็นคนใจร้อนหรอก ถ้าในเรื่องการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ผมใจเย็นพอที่จะรอได้ เอาละตัวระบบมันจะขับเคลื่อนไป สังคมไทยจะได้คุณค่าและอุดมการณ์อย่างหนึ่ง เราจะโตขึ้นอย่างยั่งยืน ทุกวันนี้เราถอยหลังกลับไป ต้องใช้เวลาบ่มเพาะและสร้างมันขึ้นมาใหม่ ให้ท่านร่างรัฐธรรมนูญดีแค่ไหน รัฐธรรมนูญก็เป็นแค่เศษกระดาษ"


 


 


เราใช้วาทกรรมเรื่องการนองเลือดเป็นฐานความชอบธรรม เราดูถูกคนของเรามากขนาดนั้นเลยหรือ


สำหรับอนาคตของสังคมไทยจากนี้ รศ.ดร. วรเจตน์ ระบุว่า สิ่งที่ คปค. ระบุไว้ว่าหลังจากประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวแล้ว ก็จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็จะมีการเลือกตั้งนั้น รศ. ดร.วรเจตน์ขอเสนอในทางกลับกันก็คือ รัฐบาลชุดใหม่ที่จะมีขึ้นนี้จะต้องจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แล้วจากนั้นรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะทำหน้าที่ปฏิรูปการเมือง เพราะการปฏิรูปการเมืองไม่สามารถทำได้ภายใต้บรรยากาศกฎอัยการศึก


 


รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวถึงการที่คนให้การยอมรับการรัฐประหารว่าเป็นทางออกทางเดียวว่า ก่อนหน้านี้ก็มีการพูดกันว่า นายกฯ พระราชทานเป็นทางออกเพียงทางเดียว "ผมไปออกรายการทีวีรายการหนึ่งก็มีการตั้งประเด็นและคำถามที่สะเทือนใจว่าต้องให้มีการนองเลือดก่อนหรืจึงจะสามารถมีนายกพระราชทานได้ สิ่งที่ต้องถามคือทำไมสังคมไทยซึ่งเจริญมาถึงขนาดนี้ คนในสังคมไม่มีสติปัญญาเพียงพอแล้วหรือ...เราใช้วาทกรรมเรื่องการนองเลือดเป็นฐานความชอบธรรม เราดูถูกคนของเรามากขนาดนั้นเลยเหรอครับ เหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ไม่เพียงพอหรือครับที่เราจะหลีกเลี่ยง


 


"ผมคิดว่าความเชื่อมันทำให้คนฆ่ากัน และความเชื่อในทางศาสนาก็ทำให้คนฆ่ากันเพราะมันทำให้มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าอีกฝ่ายหนึ่งมันผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่รู้จักแยกแยะ สังคมอย่างนี้มันน่าอยู่หรือครับ


 


"เราต้องยอมรับว่าคุณทักษิณมีปัญหาบุคลิกภาพ และมีประโยชน์ทับซ้อน แต่ยังไม่ได้ถูกพิสูจน์ แต่ปัญหาของทักษิณ เป็นปัญหาระดับนโยบายด้วยในแง่การนำหรือการพาประเทศซึ่งคนในสังคมต้องพูดกัน เช่นกรณีการนำเอาหวยใต้ดินขึ้นมาบนดิน มีคนบอกว่านโยบายแบบนี้ขัดกับศีลธรรมซึ่งผมรับได้ แต่ปัญหาคือพอได้เงินมาแล้วคุณใช้เงินอย่างไร ผมรับไม่ได้ที่นายกทักษิณ เดินไปต่างจังหวัด โดยมีผอ. กองสลาก เดินตามมันไม่เป็นระบบ


 


สังคมไม่ได้มีทางเลือกเดียว เว้นเสียแต่ว่ามันไม่ทันใจ


"แต่ถ้าเกิดคุณเอาทุกอย่างมารวมกันเป็นประเด็นแหลมคมเพียงประเด็นเดียว แล้วบอกต้องรัฐประหาร แล้วฉีกรัฐธรรมนูญ ผมไม่เชื่อว่าทางออกของสังคมมีทางเลือกเดียว เว้นเสียแต่ว่ามันไม่ทันใจ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ก็เชิญผมก็ไม่เอาด้วยคนหนึ่ง ผมก็ยังรักระบบยิ่งกว่าเรื่องตัวคนและผมเชื่อว่าคุณทักษิณ นั้น อำนาจที่เคยมีมาอย่างสูงสุดถูกกระบวนการประชาธิปไตยกัดเซาะลง ถ้าไม่เชื่อ สังคมไทยก็จะไม่มีการเรียนรู้ถึงคุณค่าความหมายที่แท้จริงของประชาธิปไตย ไม่มีสิทธิเรียนรู้เรื่องการกำหนดโชคชะตาหรือวิถีชีวิต เราจะไม่มีวันเรียนรู้


 


"ปัญหาก็คือว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าในระยะถัดไป ....ในฐานะนักวิชาการ ผมขออย่างเดียวขอให้เรามีโอกาสได้พูด ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเสรีภาพตรงนี้ไม่มี ผมคิดว่าผมเองก็มีความชอบธรรมที่จะลุกขึ้นยืนและจะด้วยอะไรก็ตามก็ต้องเอาเสรีภาพนี้กลับมา"


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net