Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คงไม่มีสถานการณ์ช่วงไหนที่จะท้าทายคนในวิชาชีพสื่อสารมวลชนเท่ากับที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงเวลานี้


 


ตัวแทน 3 สมาคมวิชาชีพสื่อ ที่เข้าไปนั่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะเข้าใจหรือไม่ว่า การเรียกร้องของเพื่อนร่วมวิชาชีพ นักวิชาการ ตลอดจนประชาชนให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาฯ นั้นเป็นไปเพื่ออะไร


 


ไม่ใช่เพราะคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.ซึ่งกระทำการรัฐประหาร เพราะไม่ยอมให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นนั้น คิดดีหรือชั่ว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เรื่องนี้คงต้องนั่งถกเถียงกัน และผมแนะนำให้อ่านบทสัมภาษณ์ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ นักวิชาการด้านปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน "คุยกับนักปรัชญา : เมื่อ "ความดี" และ "คนดี" ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง"


 


แต่คำถามที่มาพร้อมกับข้อเรียกร้องนั้น เป็นเรื่องที่ท่านสมาชิกสภาฯ จากองค์กรวิชาชีพสื่อไม่เคยตอบ โดยเฉพาะคำถามง่ายๆ ก่อนที่จะไปอธิบายอะไรให้มากความ นั่นคือ การรับตำแหน่งนี้เป็นการยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหารและ คปค. ใช่หรือไม่


 


มีแค่สองคำตอบเท่านั้นแหละครับ คือ "ใช่" หรือไม่ก็ "ไม่ใช่" ถ้าเห็นว่าไม่ชอบธรรมแล้วไปรับตำแหน่งนั้นทำไม


 


ใครเป็นคนเสนอตั้งแต่ให้สื่อเข้าพบ คปค. ใครผลักดันให้หาที่นั่งในสภาฯ มีผู้ใหญ่ท่านไหนว่าอย่างไร ท่านต้องออกมาพูดมาเปิดโปง ใครหว่านล้อม หวังเชิดท่านหรือไม่ ท่านต้องออกมาบอกกล่าว


 


เมื่อมีข้อเรียกร้องให้ลาออก มีผู้ใหญ่ในวิชาชีพท่านไหนฝากคนมาหว่านล้อมไม่ยอมให้ท่านลาออกหรือไม่


 


มีผู้ใหญ่ในวิชาชีพท่านไหนที่ส่งคนมาตีกันเด็กๆ นักข่าวรุ่นหลัง ไม่ให้เรียกร้อง ไม่ให้ออกจดหมายอีก รวมทั้งมาเลี้ยงโต๊ะจีน


 


ผมแนะนำให้อ่านบล็อกของนักข่าวคนหนึ่งที่อยู่วงในการถกเถียงเรื่องนี้ที่ http://www.pressjargon.org หัวข้อเรื่อง "หลักการย่อมมาก่อน" หลังจากนั้นมาอ่านจดหมายเปิดผนึกของ "นักข่าวอาวุโสระดมรายชื่อเรียกร้องให้สื่อลาออกจากสมาชิกสภานิติฯ" เพื่อจะได้เห็นหลักการบางข้อว่า ทำไม และทำไม วิชาชีพนี้จึงต้องเรียกร้องให้สื่อไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาของคณะรัฐประหาร


 


ผมเองมีโอกาสได้คุยกับหนึ่งในสามท่านที่เป็นตัวแทนขององค์กรวิชาชีพเข้าไปนั่งสภาฯ รู้สึกเห็นใจ และโดยส่วนตัวก็เคารพท่านอยู่เสมอ ท่านบอกด้วยซ้ำว่า หากดูจากอดีตนั้น คนที่เข้าไปรับใช้สภาเผด็จการนั้น มีวันนี้ที่ไม่ดีเลยสักคน และท่านเองก็รู้ แต่ทำอย่างไรได้ นี่เป็นเรื่องที่ต้องเลยตามเลยตามมติที่ตกลงกันว่าจะส่งตัวแทนเข้าไป


 


เห็นไหมว่า นี่ไม่ใช่วิกฤติที่เกิดจากตัวบุคคลแล้ว เพราะเมื่อมันมาจากการตกลงพร้อมใจของคนที่มีส่วนในการตัดสินใจในองค์กรวิชาชีพ นี่เป็นปัญหาขององค์กรวิชาชีพที่หลุดเข้าไปในกระแส หมดความสามารถที่จะประเมินวิเคราะห์ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร โดนกระแสฉุดกระชากลากถูก โดนผลประโยชน์ หรือความหวังที่จะได้อะไรอย่างง่ายๆ มาบังตา หรือไม่ก็ถูกความกลัวมาครอบงำ


 


กรณี "สื่อแท้" กับ "สื่อเทียม" ก็ครั้งหนึ่ง เห็นพวกอื่นที่ไม่ใช่พวกตน เป็นพ่อมดหมอผี ลืมกระทั่ง "เสรีภาพ" และ "สิทธิ" ของผู้อื่นที่มีไม่น้อยไปกว่าตน ลืมแม้กระทั่งความเคารพในผู้เสพสื่อ ดั่งคำที่ใช้อ้างกันทุกครั้งว่า "ผู้อ่านเป็นผู้ตัดสิน"


 


นี่ไม่ใช่ปัญหาของนายกสมาคมท่านไหนๆ แต่เป็นปัญหาขององค์กรวิชาชีพสื่อ กรรมการทุกท่านต้องลาออก ไม่ใช่เพียงแค่ให้กรรมการที่ถูกผลักให้ไปนั่งในสภาฯ ต้องลาออกเท่านั้น


 


และการลาออกของท่านทั้งหลาย จะยังความภาคภูมิใจในวิชาชีพให้กับนักข่าวรุ่นหนุ่มรุ่นสาว ไม่อย่างนั้นเขาจะเอาอะไรเป็นตัวแบบ เอาอะไรเป็นแสงส่องทางให้เดิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net