Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 19 ต.ค. 2549 นักข่าวอาวุโสเขียนจดหมายเปิดผนึกออนไลน์ และเชิญชวนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถอนตัวออกจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกนอกจากจะพูดถึงจริยธรรม ประกาศของสภาการหนังสือพิมพ์ที่มีข้อห้าม ยังพูดถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของสื่อ โดยมีรายละเอียดดังนี้


 


...................................


ถึง คณะสื่อมวลชนที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ



บุคคลที่อ้างตนว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนไม่ว่าจะเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งในนามผู้แทนสมาคมวิชาชีพหรือด้วยโควต้าที่ได้รับจัดสรรจากบริษัทกิจการสื่อมวลชนที่ตนสังกัดอยู่ก็ตาม สมควรถอนตัวออกการดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ใช่สภาซึ่งสมาคมวิชาชีพวิชาชีพใดๆจะส่งผู้แทนของคนเข้าไปทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตน หากเป็นสภาที่ทำหน้าที่ในการออกกฏหมายเพื่อใช้ในการบริหารประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน สภานิติบัญญัติชุดปัจจุบันไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงไม่อาจจะเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชากรในประเทศแต่อย่างใดข้อเท็จจริงก็ปรากฎอย่างชัดแจ้งแล้วว่า หลายวิชาชีพเช่น ผู้ใช้แรงงาน คนขับรถรับจ้าง และหญิงบริการไม่ได้มีผู้แทนของตนอยู่ในนั้นเลย สมาชิกซึ่งได้รับการแต่งตั้งเข้าไปจึงไม่อยู่ในฐานะอันเหมาะสมที่จะแสดงการปกป้องผลประโยชน์กลุ่มของตนมากไปกว่าผลประโยชน์ของสาธารณะโดยรวม จึงเป็นการไม่สมควรเช่นกันที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจะฉกฉวยโอกาสเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนในขณะที่อีกหลายกลุ่มไม่มีโอกาส

2. เป็นความเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นของบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ว่าคณะของตนจะได้เข้าไปมีโอกาสในการเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน เพราะในบทบัญญัติมาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญปี 2549 กำหนดว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติจะทำได้โดยสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 25 คนหรือคณะรัฐมนตรี แต่ในข้อเท็จจริงอาชีพสื่อมวลชนและศิลปินได้รับการจัดสรรโควต้าเพียง 20 ที่นั่ง (รวมทั้งพระเอกตลอดกาล สมบัติ เมทะนี ซึ่งไม่แน่นักว่าจะมีผลประโยชน์ต้องกันกับคณะสื่อมวลชนผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่) ย่อมไม่เพียงพอต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติแม้สักเพียงฉบับเดียว



ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่เข้าใจว่าจะสามารถเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ ยิ่งเป็นพวกที่มีความคิดเพ้อฝัน เนื่องเพราะรัฐธรรมนูญมิได้อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ การอภิปรายและตั้งกระทู้ต่อฝ่ายบริหารสามารถกระทำได้ แต่ไม่สามารถมติได้ สภาที่มีสภาพเช่นนี้ในสากลโลกมักถูกเรียกว่า สภาตรายาง และสมาชิกมักถูกเรียกว่าหุ่นยนต์ที่คอยผลิตกฎหมายให้รัฐแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ

3. คณะสื่อมวลชนที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีผลประโยชน์ทับซ้อนอันมิอาจจะก้าวล่วงได้ เมื่อได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่าต้องการรับตำแหน่งเพื่อเข้าไปผลิตกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับกิจการสื่อสารมวลชนของตน โดยหลักทั่วไปแล้ว บุคคลซึ่งมีส่วนได้เสียกับกฎหมายเช่นว่านั้น ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะไปออกกฏหมายด้วยตัวเอง เพราะจะเป็นการไม่เป็นธรรมต่อบุคคลอื่น



ในระยะเวลาของการต่อสู้เพื่อล้มล้างระบอบทักษิณ คณะสื่อมวลชนได้โจม ทักษิณ ชินวัตร อย่างหนักหน่วงว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารงานอย่างมาก ออกกฏหมาย ระเบียบ ต่างๆเพื่อเอื้อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง กระทั่งเรียกกันว่า เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย แต่มาบัดนี้ เมื่อคณะทหาร โดยการสนับสนุนของสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งทำการยึดอำนาจ คณะสื่อมวลชนดังกล่าวนั้นก็ต้องการกระทำการเยี่ยงเดียวกับทักษิณบ้างโดยการขอที่นั่งเข้าไปร่างกฎหมายเกี่ยวกับสื่อมวลชนเสียเองเพื่อประโยชน์แห่งตนเองและพวกพ้องในธุรกิจเดียวกัน



หากเจตนาในการเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นเช่นนั้น หลักการที่เชิดชูเพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ ก็คงเป็นได้แค่วาจาอันสามหาวของสมภารที่ริขึ้นธรรมาสเทศนาสั่งสอนชาวบ้านโดยมิได้ล้างเท้าให้สะอาดเสียก่อน หากย่ำสิ่งปฏิกูลขึ้นไปกล่าวธรรมที่ชวนคลื่นเหียนต่อผู้ที่ได้สดับตรับฟังเป็นยิ่งนัก เข้าภาษิต "ความผิดท่านเราเห็นเป็นภูเขา ความผิดเราเราเห็นเป็นเส้นขน ตดคนอื่นเหม็นเบื่อเราเหลือทน ตดของตนถึงเหม็นไม่เป็นไร"

4. คณะสื่อมวลชน เฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ ได้ทรยศต่อหลักการที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติของตนเองได้ประกาศเอาไว้ต่อสาธารณะชนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ไม่ควรเป็นที่ปรึกษานักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ โดยมีค่าตอบแทนเป็นตัวเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม



หลักการที่ได้ประกาศเอาไว้ดังกล่าวยืนยันจริยธรรมอันสูงส่งถึงขนาดว่าแค่จะเป็นที่ปรึกษายังไม่ได้ อย่าว่าแต่จะรับตำแหน่งทางการเมืองเสียเองอย่างเช่นที่กำลังกระทำกันอยู่ทุกวันนี้เลย หากการเข้าไปรับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสามารถตีความได้ว่าไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของประกาศของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติแล้วไซร้ ประเทศไทยคงจะเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยนักหนังสือพิมพ์แบบศรีธนญชัย ข่าวสารที่เสนอขายกันทุกวันนี้คงไม่ต่างจากนิทานหลอกเด็กเท่านั้น



หากหลักการดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่นักสื่อสารมวลชนทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ได้โฆษณาชวนเชื่อมาเป็นเวลานานเพื่อขายความน่าเชื่อถือให้กับสังคมแล้วไซร้ ก็สมควรที่คณะสื่อมวลชนที่ได้รักการเสนอชื่อจะปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 เพื่อให้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสีย หรือ ไม่เช่นนั้น ก็เปลี่ยนกฎเกณฑ์ หลักการ และคำสอนสำหรับคนในวงการนี้เสียใหม่ให้สอดคล้องกับสิ่งที่พวกท่านทั้งหลายกำลังกระทำอยู่ เพื่อรองรับความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง

จึงเรียนมาเพื่อย้ำเตือนให้นึกตรึกตรองถึงคุณธรรมที่ตนเองได้ประกาศออกไป เพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงการและคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้เคารพกราบไหว้


 


..............


 


ร่วมลงชื่อ


http://www.petitiononline.com/ethics1/petition.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net