Skip to main content
sharethis

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


15 ตุลาคม 2549


 


ร่วม 1 ปี ที่คนกลุ่มหนึ่งประกอบด้วยแกนนำขบวนการก่อความไม่สงบ เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย ได้ร่วมหารือกันเพื่อหาแนวทางยุติสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยผ่านการประสานงานของดาโต๊ะมหาธีร์ โมฮัมมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้มีการวางกรอบแนวทางเพื่อสร้างความสงบ ซึ่งมีกระแสข่าวว่าดาโต๊ะมหาธีร์ ได้ส่งเอกสารสรุปข้อเสนอเหล่านี้ให้กับผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ในรัฐบาลชุดที่แล้วไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา


 


เอกสารสรุปแนวทางเพื่อการสร้างสันติภาพ และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ซึ่งบันทึกไว้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษามลายู มีทั้งหมด 14 หน้า สาระสำคัญมีดังนี้


 


แผนสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้


 


รัฐบาลไทยและแกนนำกลุ่มไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ ได้หารือเพื่อหาวิธีการในการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้ง 2 ฝ่ายตอบรับกับแนวคิดและหลักการแห่งเหตุผล โดยเฉพาะความเชื่อมั่นว่า ความรุนแรงและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้อย่างสันติ ผ่านการพูดคุยระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และแสดงให้เห็นว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและไม่สามารถแบ่งแยกได้ของแห่งราชอาณาจักรไทย จะได้รับการเคารพอย่างเต็มที่


 


รัฐบาลไทยให้คำมั่นในการส่งเสริมความสามัคคีกลมเกลียวทั้งด้านสังคมและศาสนา และการเคารพระหว่างกันของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ยอมรับความแตกต่างทั้งด้านวัฒนธรรมและศาสนาในพื้นที่ รัฐบาลจะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในชุมชนเพื่อให้บรรลุคำมั่นข้างต้น โดยเฉพาะการฟื้นฟูกฎหมายและความสงบเรียบร้อย เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วนในสังคมและเร่งยกระดับการพัฒนาในพื้นที่


 


สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มไทยมุสลิมประกอบด้วย


 


1. ด้านกิจการมุสลิม


1.1 รัฐบาล ต้องให้ความสำคัญกับทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม สำหรับการพัฒนาของมุสลิม กระทรวงวัฒนธรรมจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นสำนักงานเพื่อกิจการมุสลิม


 


1.2 จัดตั้งคณะกรรมาธิการกลางอิสลาม ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับชาติ คู่กับจุฬาราชมนตรีที่เป็นผู้นำอิสลาม


 


1.3 จัดตั้งคณะกรรมาธิการอิสลามประจำจังหวัด ในพื้นที่ 36 จังหวัดที่มีจำนวนประชากรนับถือศาสนาอิสลามในระดับหนึ่ง และให้ประธานคณะกรรมาธิการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้นำ


 


1.4 ยอมรับและช่วยเหลือคณะกรรมาธิการด้านบริหารจัดการมัสยิด ในระดับท้องถิ่น และให้อิหม่ามเป็นผู้นำ


 


1.5 จัดสรรงบประมาณประจำปีที่เพียงพอต่อการสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับมุสลิม การทำนุบำรุงมัสยิด การสนับสนุนด้านการเงินแก่ปอเนาะ หน่วยงานที่เกี่ยวกับศาสนา และส่งเสริมการไปแสวงบุญในพิธีฮัจจ์ การใช้งบประมาณจะได้รับควบคุมดูแลโดยหน่วยงานข้างต้น


 


2. เครือข่ายและการสื่อสารภาครัฐ


2.1 คณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ควรดำเนินการจัดตั้ง คณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วยผู้นำศาสนา นักวิชาการ และผู้ปกครองในพื้นที่ เพื่อการสื่อสารระหว่างชุมนุมในท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่รัฐ เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพนี้เป็นช่องทางเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความรุนแรงปะทุขึ้นมาอีก


 


2.2 รัฐบาลไทยควรแต่งตั้งผู้แทนไทยมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมในคณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.)


 


3. มาตรการรัฐในการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างชุมชนชาวไทยมุสลิมในพื้นที่


3.1 กระจายโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม ปราศจากการแบ่งแยกในการเข้าถึงบริการภาครัฐ สำหรับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดโควต้าพิเศษร้อยละ 50 เพื่อให้มั่นใจว่าจะเข้าถึงบริการภาครัฐอย่างแน่นอน และเพื่อให้เป็นไปตามนี้ มาตรการดังกล่าวจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดย กอ.สสส.จชต.


 


3.2 เจ้าหน้าที่ซึ่งมิใช่มุสลิมที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับกฎระเบียบของอิสลาม วิถีชีวิตและความละเอียดอ่อนของวัฒนธรรมประชาชนในพื้นที่ กอ.สสส.จชต.จะต้องเฝ้าติดตามการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามข้อเสนอดังกล่าว


 


3.3 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ปปง.) และสำนักงานป้องป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จะเข้าไปดูแลกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด และสร้างความโปร่งใสในการกระจายงบประมาณลงสู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


3.4 ยกเลิกกฎอัยการศึกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจเต็มในการดูแลรับผิดชอบกฎหมายและความสงบเรียบร้อย


 


3.5 รัฐบาลจะเพิ่มมาตรฐานการสอบสวนสืบสวนในคดีอาชญากรรม เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด และเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและความไม่ยุติธรรม


 


4. การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ


4.1 นอกเหนือจากงบประมาณประจำปีที่รัฐบาลจะจัดสรรให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว รัฐบาลยังจะจัดสรรงบประมาณพิเศษเพื่อเร่งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ โครงการพิเศษดังกล่าวจะดำเนินการไปจนกว่าเศรษฐกิจและมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในพื้นที่จะเท่ากับประชาชนในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย


 


4.2 รัฐบาลจะเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีที่ดำเนินโครงการ โดยเฉพาะเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ แผนการดังกล่าวจะได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะชน และเฝ้าติดตามโดยกอ.สสส.จชต.


 


4.3 รัฐบาลจะเริ่มใช้โครงการพิเศษด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรในรูปของเงินอุดหนุนและสินเชื่อกู้ยืม เพื่อเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้กับชาวไทยมุสลิมในพื้นที่


 


5. การศึกษา


5.1 พัฒนา "แผนการศึกษาเพื่อจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของชุมชนชาวไทยมุสลิม โดยแผนการดังกล่าวจะเน้นความสำคัญของการสอนภาษาทั้งมาเลย์ อังกฤษ จีน และอาหรับ


 


5.2 ให้การรับรองหน่วยกิตการศึกษาจากปอเนาะ มาดราซา(สถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในต่างประเทศ เพื่อให้นักเรียนจากโรงเรียนศาสนา มีคุณวุฒิด้านการศึกษาซึ่งเป็นที่ยอมรับในการสมัครเข้าทำงาน


 


5.3 ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่โรงเรียนอิสลามเอกชนและปอเนาะในจังหวัดชายแดนใต้


 


5.4 ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมเพื่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เช่น โควต้าทุนการศึกษา การรับเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาชั้นสูง รวมถึงรูปแบบการช่วยเหลืออื่นๆ ที่จะถูกจัดสรรให้แก่นักเรียนไทยมุสลิม


 


5.5 การดำเนินการแผนการดังกล่าวข้างต้นจะได้รับการเฝ้าติดตามโดย กอ.สสส.จชต.


 


6. การนิรโทษกรรม


6.1 ควรมีการนิรโทษกรรมให้กับสมาชิกไทยมุสลิมทุกคนในองค์กรที่ลงนามในสัญญา


 


6.2 สมาชิกทุกคนขององค์กรที่ลงนามในสัญญา และแสดงเจตจำนงค์ที่จะกลับไปอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรได้รับบัตรประชาชนอเนกประสงค์ (บัตรสมาร์ทการ์ด) และผู้ที่ถือบัตรดังกล่าวจะมีสิทธิพลเรือนเต็มขั้นตามกฎหมาย


 


7. การจัดตั้งศาลยุติธรรม


7.1 จัดตั้งคณะกรรมการอิสระที่ใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการอิสระเพื่อความยุติธรรมและเสรีภาพพลเรือนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อสร้างความยุติธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


7.2 รัฐบาลเห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิพลเรือนแห่งชาติ เพื่อช่วยหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเรือนภายใต้รัฐธรรมนูญ


 


8. การจัดตั้งคณะกรรมการเฝ้าติดตาม


เพื่อให้การปฏิบัติตามมาตรการทั้งหมดข้างต้นประสบความสำเร็จ ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการเฝ้าติดตามขึ้นมาเพื่อตรวจสอบมาตรการทั้งหมดให้ได้รับการดำเนินการ ทั้งจากรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ คณะกรรมการเฝ้าติดตามจะประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐบาลไทย ผู้นำขององค์กรไทยมุสลิม จากจังหวัดชายแดนใต้ที่ได้รับการยอมรับจากชุมชน และผู้แทนที่แต่งตั้งจากมาเลเซีย


 


คณะกรรมการเฝ้าติดตามมีหน้าที่รับผิดชอบดังนี้


 


-รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


-เฝ้าติดตามการดำเนินนโยบายต่างๆ และข้อผูกพันที่ทั้ง 2 ฝ่ายทำไว้


-รับเรื่องร้องเรียนจากทั้ง 2 ฝ่าย


-ส่งรายงานตามการปฏิบัตินโยบาย


-ให้ข้อเสนอแนะ หากจำเป็น


 


องค์กรไทยมุสลิมยอมรับที่จะปฏิบัติตามนี้


 


1. ด้านกิจการมุสลิม


สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนาม จะยอมรับและปฏิบัติตาม "ฟัตวา"(คำตัดสินชี้ขาดในประเด็นทางศาสนา) ของจุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำอิสลามที่ดูแลรับผิดชอบกิจการมุสลิมในประเทศไทย


 


2. ข้อผูกพันด้านสันติภาพต่อองค์กรไทยมุสลิม


2.1 สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนามตกลงที่จะหยุดยิงและส่งมอบอาวุธตามกำหนดการที่ตกลงร่วมกัน


 


2.2 สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนามตกลงที่จะประกาศต่อสาธารณะชน แสดงการยอมรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย เช่นเดียวกับชาวไทยมุสลิมทุกคนในประเทศไทย


 


2.3 สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนามตกลงที่จะประณามเหตุรุนแรงทุกชนิดที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชน


 


2.4 สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนาม ยอมรับที่จะแก้ปัญหาพิพาทอื่นๆ กับรัฐบาลไทยผ่านการเจรจาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


 


2.5 สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนามจะหยุดกิจกรรมเผยแพร่ความเชื่อทั้งในและต่างประเทศ และจะพยายามโน้มน้าวให้ชาวไทยมุสลิมให้การสนับสนุนแผนร่วมสร้างสันติภาพและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้


 


2.6 สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนามจะผูกมัดกับข้อกำหนดในแผนร่วมสร้างสันติภาพและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้


 


3. ข้อผูกพันด้านการพัฒนาต่อองค์กรไทยมุสลิม


3.1 สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนามจะสนับสนุนโครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจตามที่ระบุในแผนพัฒนาฉบับนี้


 


3.2 สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนาม ยอมรับที่ให้การสนับสนุนชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ได้เข้ามาใช้โอกาสจากการพัฒนาเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลได้จัดให้


 


4. การศึกษา


สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนาม ยอมรับที่จะให้การสนับสนุนนโยบายการศึกษาของไทยที่ให้มีการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา และอื่นๆ ในโรงเรียนอิสลามเอกชนและปอเนาะ


 


5. สังคม


5.1 สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนามยอมรับที่จะทำงานร่วมกันกับชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่เพื่อเพิ่มความร่วมมือและความกลมเกลียวสามัคคีต่อกันให้มากขึ้น


 


5.2 สมาชิกขององค์กรไทยมุสลิมที่ร่วมลงนามจะเคารพสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้


  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net