Skip to main content
sharethis

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


สธ.ปัตตานี แนะพี่น้องมุสลิมเลี่ยงอาหารหวานจัด- เค็มจัด ช่วงละศีลอด ระบุควรรับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ให้มากๆ เพราะให้มีวิตามินและแร่ธาตุที่เหมาะสมกับร่างกายให้ทำงานได้อย่างปรกติ


 


นายแพทย์ศิริชัย ลีวรรณนภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ขณะนี้พี่น้องชาวไทยมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลามกำลังปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนแห่งความศรัทธา เดือนแห่งความดีงามที่ต้องมุ่งทำความดีโดยการถือศีลอด ซึ่งการถือศีลอดในภาษามลายูจะเรียกว่า "ปูวาซา" แต่คนพื้นเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะกล่าวเพี้ยนว่า "ปอซอ" ซึ่งมีความหมายว่า การละเว้น การระงับหรือการอดกลั้น


 


โดยพี่น้องมุสลิมจะละเว้นจากการรับประทานอาหาร ตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จากการที่ต้องงดรับประทานอาหารกว่า14 ชั่วโมง จึงทำให้เมื่อถึงเวลาละศีลอดมักรับ ประทานอาหารตามใจปากเพราะความหิวและกระหาย


 


สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี มีความห่วงใยในสุขภาพของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในช่วงดังกล่าว จึงขอเสนอแนะวิธีการเลือกรับประทานอาหารในช่วงเดือนรอมฎอน ดังนี้


 


1.ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่หวานจัดมากเกินไป โดยปกติไม่ควรรับประทานเกิน 4 ช้อนโต๊ะต่อวัน เพราะหากรับประทานน้ำตาลเข้าเป็นจำนวนมากน้ำตาลจะสะสมอยู่ในร่างกายจนกลายเป็นโรคอ้วน จากรายงานการศึกษา พบว่าคนที่อ้วนมากมีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวานสูงถึง 80 % โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่หากเจ็บป่วยแล้ว จะเกิดโรคแทรกซ้อนตามมามากมาย ซึ่งรักษาให้หายยากต้องควบคุมน้ำหนักและระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ตลอดเวลา


 


2.ควรรับประทานอาหารที่มีรสชาติพอดี ไม่เค็มจัดเกินไป ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม เช่น น้ำบูดู , แกง ไตปลา ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมพื้นบ้านของภาคใต้บ่อย ๆ เพราะมีรสเค็มมาก จะทำให้กระหายน้ำบ่อยในระหว่างการถือศีลอด อาหารรสเค็มจะส่งผลให้ไตทำงานหนักและส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ ๆ เช่น สมอง หัวใจลำบาก ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา


 


3.ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท เนื้อสัตว์ติดมัน ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันหรือไขมัน เช่นแกงกะทิ หรือขนมหวานที่ใส่กะทิ เพราะการกินอาหารจำพวกไขมันมากเกินไปจะทำให้ไขมันสะสมในร่างกาย ส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น นำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นควรใช้วิธีการอบ ปิ้ง ย่าง หรือต้มในการปรุงอาหารแทน


 


4.ในช่วงถือศีลอด ควรเลือกรับประทานผักผลไม้ให้มาก ๆ เพราะกากใยในผักและผลไม้จะช่วยดูดซึมสารอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งออกจากร่างกายและช่วยลดการบูดเน่าของกากอาหารที่ลำไส้ใหญ่อีกด้วย ผักและผลไม้เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานต่ำมีวิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยในการเจริญเติบโตและเสริมสร้างให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ จึงควรรับประทานอย่างน้อยวันละประมาณ 4-5 ทัพพี


 


นายแพทย์ศิริชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพี่น้องชาวไทยมุสลิมเลือกรับประทานอาหารได้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้สุขภาพดีปลอดภัยจากโรคร้ายตลอดเดือนรอมฎอนนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net