Skip to main content
sharethis

โดย วัชรี ศรีคำ


คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


 



 


ข่าวเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวที่ชื่อว่า หมู่บ้านชาวเขาเกษตรเชิงนิเวศน์ บ้านโต่งหลวง หมู่บ้านแม่แมะ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้นำกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ได้แก่ ชาวปกาเกอะญอ ลาหู่ซีบาลา ปะหล่อง และปาดองหรือกะเหรี่ยงคอยาว เผ่าละราว 10-15 คน รวม 50 คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งบางส่วนมีสถานะเป็นผู้อพยพจากพม่าแต่ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวออกใบอนุญาตทำงานประเภทเกษตรเพาะปลูก มีนายวิบูลย์ ชีพธรรม เป็นเจ้าของกิจการแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวโดยให้ค่าจ้างวันละ 135 บาท ให้ชาวเผ่าต่างๆมาโชว์ทำไร่นาสวนผสม และทำหัตถกรรมสิ่งทอโชว์ในหมู่บ้านเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว มีการเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวหัวละ 300-500 บาท แม้จะถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเอาผิดได้เพราะมีใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวประเภทเกษตรถูกต้อง ซึ่งกรณีนี้ มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทำให้ภาพของวัฒนธรรมที่ถูกเปลี่ยนเป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวมีความชัดเจนยิ่งขึ้น


 


การแข่งขันกันตอบสนองความต้องการในการบริโภคความหมายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากกลุ่มตนในนามของการท่องเที่ยว มีลักษณะพลิกแพลงสูงและสลับซับซ้อนมากขึ้น มีการเลยเถิดถึงขนาดจะเอาคนเผ่าอื่นมาปลอมตัวมาใส่ห่วงคอเลียนแบบปาดอง เป็นต้น



 


การเปิดช่องให้คนนอกฉกฉวยเอาสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์อย่างชนิดที่กฎหมายทำอะไรไม่ได้นี้ เกิดจากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจสูง ทำให้เศรษฐกิจชุมชนถูกดึงเข้าสู่เศรษฐกิจในระดับโลกาภิวัตน์ เป็นการเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่ให้ผู้ที่เห็นช่องทางเปลี่ยนสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ให้กลายเป็นสินค้า กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั้งในเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งหนังสือพิมพ์ "พลเมืองเหนือ" ตรวจสอบแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือที่มีการเสนอให้นักท่องเที่ยวชมกะเหรี่ยงคอยาวว่ามีทั้งสิ้น 8 แห่ง คือ


 


1. "หมู่บ้านชาวเขาเกษตรเชิงนิเวศน์" ที่บ้านโต่งหลวง ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีกะเหรี่ยงคอยาวจำนวน 16 คน และมีเผ่าอื่น เช่น มูเซอ ปะหล่อง กลุ่มนี้ย้ายมาจากบ้านยะผ่า อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่


 


2. เขตแม่ตะมาน จ.เชียงใหม่10 คน ย้ายมาจากอำเภอเชียงดาว มีรวมกันลีซอ และม้ง


 


3. บ้านใหม่ แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีมูเซอหูหลวง ปะหล่อง มาแสดงด้วย


 


4. บ้านยะผ่า อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ราว 10 คน


 


5. บ้านท่าข้าวเปลือก อ.เมือง จ.เชียงราย มีทั้งกะเหรี่ยงคอยาว ลาหู่ อาข่า ติดตั้งคัทเอาท์เชิญไปชมขนาดใหญ่


 


6. หมู่บ้านในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 48 ครอบครัว 233 คน


 


7. บ้านห้วยเสือเฒ่า ต.ผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 26 ครอบครัว 177 คน


 


8. บ้านห้วยปูแกง ต.ผาบ่อง จ. แม่ฮ่องสอนจำนวน 50 ครอบครัว 199 คน


 


การนำเอากะเหรี่ยงคอยาวมาเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวนี้ เป็นการตอบสนองต่อวัฒนธรรมบริโภคนิยมในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ ที่มีลักษณะของการบริโภคความหมายนามธรรมหรือความหมายเชิงสัญลักษณ์ กลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นสินค้าที่นักท่องเที่ยวเข้าไปแสวงหาความ "เป็นอื่น" (otherness) ของคนต่างวัฒนธรรม ไปดูความแปลก ความแตกต่างที่หาดูไม่ได้ในชุมชนของตน การนำเอากลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่เดิมไม่ได้อยู่ร่วมกัน มาอยู่ในที่แห่งเดียวกันเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยการผสมผสานอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์จากหลายกลุ่ม นำเสนอความแตกต่างของความหมายเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เคยแยกกันอยู่ตามเส้นแบ่งพรมแดนทางชาติพันธุ์ให้มาอยู่ในที่แห่งเดียวกัน โดยการสร้างความหมายร่วมคือ ความเป็นชาวเขา เพื่อตอบสนองความต้องการในการบริโภคความหมายเชิงสัญลักษณ์ของนักท่องเที่ยว ที่นอกจากจะเป็นการแย่งชิงเพื่อสร้าง "จุดขาย" ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่แล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกะเหรี่ยงคอยาว กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กำหนด เป็นผู้มีอำนาจ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ในภาวะจำยอม


 


กรณีเช่นนี้ จะเห็นได้ชัดในการจัดการของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ต้องการย้ายกะเหรี่ยงคอยาวสามหมู่บ้านไปรวมกันที่ห้วยปูแกง เพื่อความสะดวกในการจัดการการท่องเที่ยวของจังหวัด หากผู้ใดไม่ย้ายก็จะถูกส่งกลับพม่า หรือส่งเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพ ซึ่งก็มีการวิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงสิทธิมนุษยชน และความเป็น "มนุษย์" ที่ขาดหายไปในมุมมองของผู้มีอำนาจ นอกจากนี้การที่เจ้าหน้าที่รัฐมองว่า การมีกะเหรี่ยงคอยาวเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอแม่อาย แม่ฮ่องสอนและเชียงราย มีความชอบธรรมกว่าการที่จะมีการนำกะเหรี่ยงคอยาวไปอยู่ที่ภูเก็ต เนื่องจากภูเก็ตไม่ใช่แหล่งที่อยู่ดั้งเดิมของคนเหล่านี้ ทั้งที่ไม่ว่าจังหวัดใด ก็ไม่ใช่พื้นที่ดั้งเดิมที่กะเหรี่ยงคอยาวเคยอยู่เช่นกัน คนเหล่านี้เป็นผลพวงของสงครามระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชน กลุ่มน้อย ที่ยืดเยื้อมายาวนาน ชีวิตที่เคยดำรงอยู่ด้วยวิถีแห่งพุทธ ความเชื่อเรื่องผีกับสิ่งเหนือธรรมชาติ วิถีการเกษตร กับการพึ่งพาทรัพยากรป่า ในรัฐคะยา ประเทศพม่า แถบลุ่มน้ำสาละวิน ติดชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย กะเหรี่ยงคอยาวเลือกที่จะอพยพหนีมาอยู่ตามตะเข็บชายแดนบ้านน้ำเพียงดิน และส่วนหนึ่งถูกย้ายมาอยู่บ้านในสอย และห้วยเสือเฒ่า เขตอำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเวลากว่า 20 ปี


 


ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรมีการทบทวนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ให้หันมาพิจารณาถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด มากกว่าที่จะมองตัวเลขรายได้ของธุรกิจการท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ หันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าของวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมไม่ใช่สินค้า เพื่อความยั่งยืนของการท่องเที่ยว วัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อไป


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net