Skip to main content
sharethis

รายงานโดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ และวิทยากร บุญเรือง


 


ลำพูน - 3 ก.ย.2549  "ประชาไท" สำรวจความเสียหายจากอุทกภัยที่ลำพูนถึงป่าซาง ชาวบ้านป่าซางสุดทนโวยเทศบาลป่าซางแจ้งภัยช้าขนของไม่ทัน ด้านนายอำเภอเมืองลำพูนแจงราษฎรอำเภอเมืองได้รับแจ้งล่วงหน้าหลายวัน ย้ำจะดูแลเรื่องความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง


 


 


ป่าซางหลังน้ำท่วม โคลนพอกหนาเกือบทั้งเมือง


 


 


 


บรรยายภาพ - โคลนหนาหน้า สภ.อ.ป่าซาง หลังผ่านกระแสน้ำจากน้ำแม่ทาเข้าท่วมอำเภอป่าซาง เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา


 


ก่อนที่ผู้สื่อข่าวประชาไทจะเดินทางมาถึงบริเวณตัวอำเภอ เราต้องข้ามสะพานสบทา เพื่อข้ามแม่น้ำกวงที่เพิ่งบรรจบกับแม่น้ำทา ซึ่ง 2-3 วันก่อนหน้านี้ ว่ากันว่าสายน้ำที่ไหลรุนแรงและระดับน้ำที่ขึ้นสูงทำให้คอสะพานทรุดจนต้องห้ามยานพาหนะสัญจรผ่าน จนแม้แต่วันที่เราข้ามผ่าน ซึ่งเป็นวันที่น้ำลดจากระดับถนนไปแล้ว สายน้ำที่สบทาก็ยังเผยร่องรอยของความรุนแรงผ่านกระแสธารอันเชี่ยวกรากของมัน


 


เวลาบ่ายคล้อยที่ผู้สื่อข่าวไปถึงตัวอำเภอป่าซาง พบว่าส่วนราชการ ห้างร้าน บ้านเรือนราษฎรเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือน ตัวอาคาร แต่ที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอป่าซาง, ที่ว่าการอำเภอป่าซาง โคลนยังพอกหนาหลายนิ้ว คาดว่าวันจันทร์ที่สถานที่ราชการ ธนาคาร ห้างร้านเอกชนจะเปิดทำการ คงจะลำบากทุลักทุเลกันไม่น้อย


 


ชาวป่าซางสุดทน เตือนชาวบ้านน้ำท่วม 2 ชั่วโมง เก็บไม่ทัน


 


 


บรรยายภาพ - สะพานข้ามแม่น้ำแม่ทา หลังตลาดป่าซาง


 


ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสอบถามชายวันกลางคนผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นราษฎรหมู่ 1 ต.ป่าซาง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (ขอสงวนนาม) เขาเปิดเผยว่าชาวบ้านเตรียมเก็บของไม่ทันเพราะมีการเตือนล่วงหน้าเพียง 2 ชั่วโมง ทำให้น้ำแม่ทาไหลเข้ามาตามถนนสูงกว่าครึ่งขา และเชี่ยวมาก ทั้งยังหอบเศษกิ่งไม้มาหมด


 


"เหมือนแม่น้ำเลย มาตั้งแต่วันพฤหัสบดียันอีกวันหนึ่ง น้ำเริ่มแห้งประมาณวันศุกร์ 2 ทุ่ม มาแห้งจริงๆ วันเสาร์ตอนเช้า ตอนน้ำมาถนนนี่เป็นแม่น้ำหมด เดินไม่ไหวหรอก" เขากล่าว


 


"บางบ้านของหายหมด น้ำพาไปหมด" เสียงจากคุณป้าอีกคนหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ที่บ้านอยู่ละแวกนั้นได้เข้ามาแบ่งปันร่วมประสบการณ์พร้อมเผยต่อว่า "เขาประกาศ ... อีก 2 ชั่วโมงน้ำแม่ทาจะมา ให้ทุกท่านเตรียมพร้อม ..." คุณป้าคนเดิมพูดเลียนเสียงประกาศตามสายของเทศบาล


 


"แต่ยังไม่ถึง 2 ชั่วโมง น้ำก็มาแล้ว" คุณลุงคนเดิมกล่าว นอกจากนี้ยังเปิดเผยถึงที่มาของการกั้นกระสอบทรายหน้าบ้านของตนด้วยว่า "กระสอบมา แต่ทรายไม่มา ทรายมาทีหลังน้ำ มันกั้นไม่ทันแล้ว" คุณลุงกล่าวในที่สุด


 


หลังจากนั้นผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ตระเวนรอบตัวอำเภอป่าซาง พบว่าสะพานหลายแห่งยานพาหนะยังใช้สัญจรไม่ได้ อย่างเช่นสะพานข้ามน้ำแม่ทาหลังตลาดป่าซาง ซึ่งเต็มไปด้วยโคลนพอกหนา ทางเทศบาลตำบลป่าซางต้องนำเครื่องจักรและอุปกรณ์มาขุดลอกโคลนที่พอกหนาออก เพื่อให้สามารถใช้สัญจรได้ นอกจากนี้หลายหมู่บ้านในป่าซางยังคงจมน้ำ เนื่องจากอยู่ในที่ลุ่มต่ำ


 


คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่ป่าซางจะได้รับการเยี่ยวยาและฟื้นฟู ทั้งเรื่องกายภาพและจิตใจกว่าจะเข้าสู่สภาพปกติ นี่คงเป็นข้อสรุปเบื้องต้นสำหรับการสำรวจความเสียหายของอุทกภัยที่ป่าซาง


 


 


ขากลับ : เสียงประกาศ และคำมั่นของนายอำเภอ


 


 


บรรยายภาพ - ราษฎรบ้านศรีย้อย หมู่ 4 ต.สันต้นธง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รอรับมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์จากคณะนายอำเภอเมือง จ.ลำพูน นายภุชงค์ โพธิกุฏสัย และคณะของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา


 


เย็นมากแล้ว ผู้สื่อข่าวประชาไทเดินทางกลับเชียงใหม่ตามเส้นทางเดิม โดยระหว่างทางช่วงบ้านศรีย้อย หมู่ 4 ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน ไม่ไกลจากจุดที่เราเคยสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ ต.ต้นธง เราได้ยินเสียงประกาศผ่านไมโครโฟน จึงได้หยุดสังเกต พบว่าเป็นคณะนายอำเภอเมือง จ.ลำพูน นายภุชงค์ โพธิกุฏสัย และคณะของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เดินทางมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับราษฎร


 


"...นายอำเภอ และก็คุณนายนายอำเภอ ตัวแทนจากเหล่ากาชาดของจังหวัด สจ.ขวัญ ซึ่งเป็น สจ.ในเขตเรา นายกฯ อบต. พ่อกำนันตำบลต้นธงด้วย ได้รวบรวมสิ่งของเป็นสิ่งของบรรเทาทุกข์ จะกินจะใช้ชั่วคราวขณะที่มีปัญหานี้ อยากจะเรียนพี่น้องว่าจังหวัดลำพูนน้ำท่วมเกือบจะทั่วถึงกันหมด แต่ว่าอำเภอเมืองโชคดีอยู่ หมายความว่ามีลักษณะเป็นการท่วมขังท่วมเอ่อ ก็เกิดความเดือดร้อนรำคาญไม่สะดวกไม่สบายไปบ้าง ข้าวของเสียหายไปบ้าน แต่ยังโชคดีอยู่ว่าบ้าน เรือกสวน ไร่นาไม่ได้หายไปกับน้ำ..."


 


อย่างทางแม่ทาบ้านหาย ที่ดินหาย ไร่นาหายไปกับแม่น้ำเลยและไม่รู้จะเรียกร้องฟื้นฟูจากใคร…" เสียงนายอำเภอกล่าว


 


นายอำเภอยังกล่าวปลอบราษฎรให้ทุกข์หนักเป็นเบาว่า ถือว่าพวกเรายังโชคดีอยู่ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรค เพื่อร่วมจังหวัดร่วมภาคเหนือของเรานี่โดนหักกว่าพวกเรา อย่างไรก็ตามทางราชการ ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทาง สจ. ก็พยายามที่จะรวบรวมไม่ว่าจะเป็นสิ่งของจากการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จากกาชาด จาก อบต.ต้นธงเอง วันนี้ได้นำมาช่วยเหลือ อาจใช้ได้ 3 วัน 4 วัน ไม่นาน เป็นการแสดงความห่วงใย เป็นกำลังให้พี่น้องเอาชนะฝ่าพ้นปัญหา น้ำท่วมวันนี้คราวนี้ 3-4 วันคงจะลงสู่ปกติ..."


 


สำหรับถนนหนทาง หลังจากน้ำลดลงแล้ว ทางอำเภอ ทาง อบต. แล้วก็ สจ. ด้วยจะได้ประสานให้บูรณะฟื้นฟูให้สามารถสัญจรไปได้โดยเร็วที่สุดโดยเฉพาะสะพาน สำหรับใครที่มีพืชผลทางการเกษตรเสียหาย สัตว์เลี้ยงล้มตายจากน้ำท่วม น้ำลดแล้วจะได้ให้ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านลงไปสำรวจ เพื่อศึกษาและให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ ขอเป็นกำลังใจ ให้ท่านมีกำลังใจต่อสู้กับภัยน้ำท่วมในคราวนี้ให้ผ่านพ้นไป…" นายอำเภอพูดจบ


 


… "ประชาไท" จะไม่ลืมขีดเส้นใต้ว่านายอำเภอเมืองลำพูนรับปากว่าจะช่วยเหลือเรื่องอะไร เพราะเราจำคำพูดของนายจรวย สุขปราศรัย ราษฎรหมู่ 5 ต.ต้นธง อ.เมือง ได้ว่า "น้ำท่วมที่ผ่านมาไม่เคยได้ค่าชดเชย แห้งแล้วก็ผ่านไปเลย ครัวเสียก็เสียไปเลย มีแต่แจกอาหารครั้งสองครั้ง"


 


นายอำเภอให้คำมั่น หลังน้ำลด มีการช่วยเหลือชาวบ้านแน่


 


 


บรรยายภาพ - นายภุชงค์ โพธิกุฏสัย นายอำเภอเมือง จ.ลำพูน


 


หลังจากที่นายภุชงค์ โพธิกุฏสัย นายอำเภอเมือง จ.ลำพูน กล่าวกับราษฎรเสร็จสิ้น ผู้สื่อข่าวประชาไทจึงขออนุญาตสัมภาษณ์นายอำเภอเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับลำพูน


 


เมื่อผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถามว่ามีการเตือนภัยล่วงหน้าหรือไม่ นายอำเภอยืนยันว่ามีการเตือนล่วงหน้า 3 วัน "แต่เป็นการเตือนภาพรวม เป็นการเฉพาะๆ อยู่"


 


เขากล่าวต่อว่า "ก่อนที่จะเหตุน้ำท่วมนี่ เรารู้ว่าร่องฝนจะมาแน่นอน เราดูปริมาณฝนที่เชียงใหม่และตอนใต้ของลำพูน เราให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านใช้เสียงตามสายประชาสัมพันธ์ให้มีการเตือน แต่ว่าเนื่องจากว่าในเขต อ.เมืองลำพูน ลักษณะของน้ำรุนแรงจริงๆ มีอยู่ 2 ตำบล ต.เหมืองจี้ กับ ต.บ้านแป้นซึ่งเป็นปัญหาจากลำน้ำทา มาเร็วและเชี่ยวกราก ส่วนนอกนั้นพื้นที่ทางตอนเหนือ ต.อุโมงค์ ต.เหมืองง่า ต.ริมปิง ต.บ้านกลาง ต.มะเขือแจ้ เป็นลักษณะของแม่น้ำกวงซึ่งค่อยๆ ขึ้น ค่อยๆ เอ่อ ชาวบ้านก็เก็บข้าวของได้ทัน"


 


เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามเกี่ยวกับความช่วยเหลือราษฎรนั้น นายอำเภอกล่าวว่าความช่วยเหลือมี 2 ลักษณะคือ หนึ่งคือเรื่องการบรรเทาทุกข์ มีการจัดข้าวปลา อาหาร น้ำดื่ม ในขณะที่บ้านเรือนยังไม่สามารถหุงต้มได้ ก็ต้องจัดอาหารให้พร้อมกิน ส่วนครอบครัวไหนที่หุงหาอาหารได้หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายไปแล้วก็จะจัดถุงยังชีพให้


 


สองคือเรื่องความช่วยเหลือ คือครอบครัวไหนเครื่องครัวถูกพัดพา ส่วนราชการจะจัดซื้อจัดหาทดแทนให้ โดยนายอำเภอเมืองลำพูน ยังกล่าวถึงหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือต่อว่า "ถ้าบ้านเสียหายทั้งหลังก็มีเกณฑ์ 30,000 บาท ถ้าต่ำกว่านั้นก็เป็นไปตามข้อเท็จจริง เรื่องต่อมาการช่วยเหลือเรือกสวนไร่นาทางการเกษตรเงินช่วยเหลือคิดตามจำนวนไร่, สวน คิด 400 กว่าบาทต่อไร่ ซึ่งก็ไม่มาก ถ้าเป็นนาก็ 300 กว่าบาทต่อไร่ ส่วนสัตว์เลี้ยงก็มีอัตราในการช่วยเหลืออีกอย่างหนึ่ง ขอเรียนว่าไม่ใช่เงินชดเชยเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ มันไม่ได้คุ้มค่าความเสียหาย เพียงแต่บรรเทาความเดือดร้อนให้ผ่อนคลายลงบ้าง"


 


เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงที่มาของเงินช่วยเหลือ นายอำเภอกล่าวว่ามาจากเงินให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรและที่อยู่อาศัยเป็นงบกลางของประเทศ อำนาจในการใช้จ่ายอยู่ที่นายอำเภอและผู้ว่า


 


บทเรียนจากเชียงใหม่ ถึง ลำพูน


หลังจากสัมภาษณ์นายอำเภอเมืองลำพูนเสร็จ ผู้สื่อข่าว "ประชาไท" จึงเดินทางกลับ สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดลำพูน ทำให้เรานึกถึงประสบการณ์ของเชียงใหม่เมื่อครั้งที่น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีก่อน ที่ระดับน้ำปิงสูงพ้นกระสอบทราย และได้เข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำของเมืองเชียงใหม่จากฝั่งปิงแผ่กว้างไปถึงถนนมหิดล ซึ่งพาดผ่านด้านใต้ของเมือง แบ่ง อ.เมือง กับ อ.สารภี ออกจากกัน


 


รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการผู้ศึกษาปัญหาเมืองเชียงใหม่มาอย่างยาวนานเคยกล่าวถึงถนนมหิดลว่า "...เป็นถนนที่เขาบอกว่า ได้กลายเป็นเขื่อนอันทรงประสิทธิภาพทางด้านใต้ของตัวเมือง ที่กลายเป็นอุปสรรคต่อทางเดินของน้ำ ทำให้น้ำไหลออกไปไม่ได้ จึงเกิดน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้างและทำให้ระดับน้ำลดลงช้ากว่าปกติ..."


 


นี่จึงไม่ต่างจากถนนลำพูน-ลี้ เส้นทางระหว่างอำเภอเมืองลำพูน กับ อำเภอป่าซาง ที่มีคันถนนสูงกว่าบ้านเรือนของประชาชนมาก และเมื่อระดับน้ำแม่กวงสูงขึ้นและน้ำไม่สามารถระบายไปยังพื้นที่ลุ่มฝั่งตรงข้ามถนนได้ พื้นที่ด้านที่ติดกับแม่น้ำกวงจึงต้องรับผลจากอุทกภัยหนนี้ไปเต็มๆ


 


ตัวอย่างของเชียงใหม่ ตัวอย่างของลำพูน นับเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเมืองใหญ่ในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนนของเมือง และเป็นเรื่องที่เมืองใหญ่ๆ ที่มีพนังกั้นน้ำ และที่เตรียมสร้างพนังกั้นน้ำต้องทบทวนอย่างจริงจัง


 


ว่านั่นเป็นการแก้น้ำท่วมถาวร หรือแค่ย้ายน้ำท่วมจากที่นี่ไปที่โน่น??


 


คำตอบอยู่ที่พลเมืองทุกผู้ทุกนาม ที่จะต้องกำหนดอนาคต ชี้ชะตาเมืองด้วยตัวเอง!!!


 


 


 -------------


 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง


ป่าซางอ่วม น้ำท่วมหนักในรอบ 48 ปี (1/9/2549)


ป่าซางน้ำลดแล้ว แต่น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่บ้านนายกฯ ยังระทึกต่อ (3/9/2549)


รายงาน : น้ำท่วมลำพูน "บอกช้าไปผมเก็บของไม่ทัน" (ตอนที่ 1) (4/9/2549)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net