Skip to main content
sharethis

 


                                                                                                                                               



 


โดย  สุมาตร ภูลายยาว


หากเอ่ยถึงคำว่า แม่น้ำสาละวิน ผู้คนจำนวนมากอาจบอกว่ารู้จัก แต่ในความรู้จักนั้น บางคนก็อาจนึกถึงสงคราม-การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ กับรัฐบาลทหารพม่า น้อยคนนักที่จะได้เห็นความจริงของแม่น้ำสายนี้



รู้จักแม่น้ำสาละวิน


แม่น้ำสาละวินมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของหิมะในบริเวณที่ราบสูงธิเบตเหนือเทือกเขาหิมาลัย แม่น้ำสาละวินหรือนู่เจียงสายนี้ไหลผ่านขุนเขาที่ลาดชันในเขตมลฑลยูนนาน ประเทศจีน และไหลเข้าสู่ประเทศพม่าที่รัฐฉาน ก่อนที่จะไหลเข้ามากั้นพรมแดนไทย-พม่า รวมระยะทางการไหลของแม้น้ำสายนี้ ๑๑๘ กิโลเมตร โดยไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายในประเทศไทยหลังจากนั้นแม่น้ำสาละวินก็จะไหลเข้าเขตประเทศพม่า จนกระทั่งไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะในรัฐมอญ รวมระยะการเดินทางของแม่น้ำสายนี้กว่า ๒,๘๐๐ กิโลเมตร


 


แม่น้ำสาละวินมีความยาวเป็นอันดับ ๒๖ ของโลก และถือเป็นอีกหนึ่งแม่น้ำนานาชาติที่ใหญ่และมีความสำคัญที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์รองลงมาจากแม่น้ำโขง และตรงจุดที่แม่น้ำสาละวินไหลลงทะเลที่รัฐมอญเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศพม่า


 


สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชนเล่าให้ฟังว่า "ตรงจุดที่แม่น้ำสาละวินไหลลงทะเลนั้นเป็นจุดที่มีการทำนามากที่สุดจุดหนึ่งในรัฐมอญ ถ้ามีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินในตอนบนแล้ว น้ำทะเลก็จะหนุนขึ้นมามาก อาจทำให้พื้นที่ในการทำการเกษตรในรัฐมอญเสียหาย"


 


ตลอดระยะทางที่แม่น้ำสาละวินไหลผ่านมาจากที่ราบสูงของธิเบต แม่น้ำสายนี้ได้ไหลผ่านชุมชนที่เป็นที่อยู่-ที่ทำกินของคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กว่า ๒๐ กลุ่ม กลุ่มคนชาติพันธุ์เหล่านี้อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มกลางหุบเขา และพื้นที่ราบจำนวนเล็กน้อยริมฝั่งแม่น้ำสาละวินและลำห้วยสาขา


 


ในเขตพม่าแม่น้ำสาละวินไหลผ่านในกลางรัฐฉาน เข้ารัฐคะยา,รัฐกะเหรี่ยง และรัฐมอญ หลายเขตซึ่งยังคงมีการสู้รบกันระหว่างชนกลุ่มน้อยผู้เป็นเจ้าของพื้นที่กับทหารพม่า โดยเฉพาะในรัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง เป็นเขตที่มีการรายงานถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารพม่าในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ข่มขืนผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ บังคับใช้แรงงานทาส บังคับให้อพยพ และการวางกับระเบิด ในที่มีการสู้รบชาวบ้านมากมายจะอาศัยหลบซ่อนในป่าสาละวินเพื่อเอาชีวิตรอดไปวันๆ และในที่สุดเขาเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของตนเอง (Internally Displaced Persons-IDPs)           


 



 


 


แผ่นดิน-ผู้คนแห่งผืนป่าสาละวิน


ในส่วนของประเทศไทยช่วงที่แม่น้ำสาละวินไหลผ่านชายแดนไทย-พม่า บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน หากเราได้ล่องเรือตามแม่น้ำและเดินขึ้นตามลำห้วยใหญ่-น้อย ที่อยู่บริเวณพรมแดนจะพบว่า ทั้งริมน้ำสาละวินและริมห้วยในผืนป่ากว้างขวางแห่งนี้มีชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่กระจัดกระจายกันไปตามป่าเขาจำนวนมากมาย


 


ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนของชาวบ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่ตั้งรกรากในแถบนี้มานานหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่ภายหลังป่าส่วนหนึ่งถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน การอยู่อาศัยในป่าของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ซึ่งอยู่ที่ชายขอบของประเทศจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมายไปโดยปริยาย


 


ชาวบ้านริมแม่น้ำสาละวินเหล่านี้อาศัยการยังชีพจากการทำการเกษตรเป็นหลัก ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนบนดอย มิได้ทำไร่เลื่อนลอยเหมือนที่เราได้รู้กันมาในแบบเรียน ไร่หมุนเวียนเป็นการทำเกษตรบนพื้นที่สูงเวียนพื้นที่ไปทุกปี โดยแต่ละครอบครัวจะมีไร่ประมาณ ๕-๗ ผืน และเวียนทำไปเรื่อยๆ ทุกปี ในส่วนไร่ที่รกร้าง ซึ่งไม่ได้ทำก็จะฟื้นตัวขึ้นเป็นป่าได้ใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะชาวบ้านไม่ได้เข้าไปแผ้วถาง ป่าทั้งหมดที่เป็นไร่เก่าจึงเหลือต้นไม้ใหญ่ไว้ให้เติบโตต่อไป


 


จากการรวบรวมข้อมูลของชาวบ้านสาละวินที่ทำการศึกษาโดยรูปแบบของงานวิจัยชาวบ้านภูมิปัญญา-สาละวินพบว่า ชาวบ้านสาละวินปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองทั้งหมดกว่า ๓๕ ชนิด นับเป็นความหลายหลายทางชีวภาพที่นับวันจะเลือนหายไปทุกที


 


สำหรับหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำอย่างเช่นที่บ้านท่าตาฝั่งก็ได้อาศัยหาดทรายที่โผล่พ้นน้ำในช่วงที่น้ำลดเป็นพื้นที่ทำการเพาะปลูกพืช การทำเกษตรริมน้ำนั้นเป็นการทำเกษตรเพื่อการบริโภคในครัวเรือน-แบ่งปันกันในชุมชน และที่เหลืออาจนำมาขายเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว พืชผักที่ปลูกริมฝั่งน้ำสาละวินมีทั้งถั่วนานาชนิด, แตง, ยาสูบ และผักอื่นๆ อีกมากมายกว่า ๒๐ ชนิด


 


 



 


 


ชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำสาละวินและลำห้วยสาขาล้วนหาปลาเพื่อยังชีพ จากการศึกษาพันธุ์ปลาท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่นที่เป็นชาวปกาเกอญอพบว่า ในแม่น้ำสาละวินและห้วยสาขาบริเวณพรมแดนไทย-พม่า มีปลาชนิดต่างๆ กว่า ๗๐ ชนิด และในจำนวนนี้ก็มีปลาหายาก เช่น หยะที้ หรือปลาสะแงะ-ปลาตูหนา ซึ่งอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ปลาชนิดนี้เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ มันจะว่ายตามน้ำทะเลขึ้นมายังน้ำจืด เมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลผสมพันธุ์แล้ว ปลาตูหนาก็จะว่ายกลับไปยังทะเลลึกเพื่อวางไข่ ปลาตูหนานอกจากจะอพยพขึ้นมาในแม่น้ำสาละวินแล้ว มันยังขึ้นไปผสมพันธุ์ตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน เช่น แม่น้ำเงา แม่น้ำเมย


 


นอกจากความหลากหลายของพันธุ์ปลาแล้ว ระบบนิเวศน์ของแม่น้ำสาละวินยังได้รับการยอมรับจากนักนิเวศวิทยาว่า เป็นรองเพียงแค่แม่น้ำโขง


 


ผืนป่าของลุ่มน้ำสาละวินเป็นผืนป่าสักใหญ่ต่อเนื่องกันไปถึงพม่าและอินเดีย พื้นที่นี้จัดเป็นแหล่งกำเนิดไม้สักแหล่งใหญ่ของโลกและในอดีตมีการให้สัมปทานทำไม้กันเป็นจำนวนมาก จนในปัจจุบันความเสื่อมโทรมได้เกิดขึ้นกับผืนป่าแห่งลุ่มน้ำสาละวินบ้างแล้ว  เมื่อป่าใกล้หมด ทางการจึงมาคิดอนุรักษ์เอาเองภายหลัง และโยนความผิดให้กับคนที่อยู่ในป่าไป


 


เขื่อน เขื่อน เขื่อน เขื่อน ฯลฯ บนสาละวิน


ในอดีตอันยาวไกลของแม่น้ำสายนี้เคยไหลอย่างอิสระมาตลอด แต่มันอาจไม่สามารถไหลอย่างอิสระต่อไปได้อีกแล้ว เพราะกำลังจะถูกปิดกั้นด้วยโครงการเขื่อนมากมายทั้งที่อยู่ในประเทศไทย-พม่า-จีน


 


ในประเทศจีนบริษัทเอกชนซึ่งได้รับสิทธิในการพัฒนาแม่น้ำแห่งนี้ หลังการแปรรูปกิจการพลังงานแก่เอกชนได้เสนออภิมหาโครงการเขื่อน ๑๓ แห่งนับตั้งแต่ธิเบตลงมาในเขตยุนหนาน โดยไฟฟ้าส่วนใหญ่จะใช้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมถลุงแร่ที่จะเกิดขึ้นในบริเวณมณฑลใกล้เคียง


 


หากเขื่อนสาละวินในจีนถูกก่อสร้างขึ้นมา ชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามหุบเขาใกล้กับแม่น้ำสาละวินที่มีจำนวนกว่า ๕ แสนคน ต้องสูญเสียบ้านและที่ทำกิน และผลกระทบท้ายน้ำที่จีนจะสามารถควบคุมระดับน้ำท้ายเขื่อนได้ ก็สามารถลามลงมาถึงไทยและพม่าเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขง


 


ตามลำน้ำสาละวินลงมาก็มีโครงการเขื่อนท่าซาง ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ที่บริษัทเอกชนของไทยเป็นเจ้าของ โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับรัฐบาลทหารพม่าไปเมื่อปลายปี ๒๕๔๕ และจะผลิตไฟฟ้าส่งขายให้กับประเทศไทย


 


ยังมีอภิมหาโครงการเขื่อนบนลำน้ำสาละวินบริเวณพรมแดนไทย-พม่า ที่มีงบประมาณที่ตั้งไว้กว่า ๒ แสนล้านบาท เพื่อผลิตไฟฟ้าราว ๕,๐๐๐ เมกกะวัตต์ โดยเจ้าของโครงการหมายมั่นว่าโครงการนี้จะผลิตไฟขายในราคาถูก โดยมิเคยพูดถึงชาวบ้านมากมายที่จะถูกน้ำท่วม ป่าไม้สักที่จะจมหายไป และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในพม่า


 


หากมีการสร้างเขื่อนท่าซางในรัฐฉานหรือเขื่อนสาละวินชายแดน น้ำจะท่วมเข้าไปในฝั่งพม่า หรือมีทหารพม่าเข้ามา "คุ้มกัน" พื้นที่มากขึ้น ในเมื่อบ้านอยู่ไม่ได้แล้วจะให้พี่น้องเหล่านี้จะหนีไปไหน? นอกจากหนีมาพึ่งแผ่นดินไทย แผ่นดินไทยคงเต็มไปด้วยระลอกคลื่นผู้ลี้ภัยมหาศาลจากพม่า มิพักต้องกล่าวถึงผู้ลี้ภัยร่วมแสนคนที่อาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ แถบชายแดน ที่รอคอยวันที่พม่าจะเกิดสันติสุข และได้หวนคืนสู่มาตุภูมิ แต่หากแผ่นดินเกิดต้องจมอยู่ใต้น้ำหากสร้างเขื่อน ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ก็คงต้องเป็นผู้ลี้ภัยถาวรไม่มีบ้านให้กลับอีกต่อไป


 


ในส่วนของหมู่บ้านที่จะถูกอพยพเพราะการก่อสร้างเขื่อนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าจะได้อพยพไปอยู่ที่ใด  แล้ววิถีชีวิตของคนอยู่ป่าที่เคยชินกับการทำไร่และไม่ต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจในระบบของทุนนิยมเช่นปัจจุบัน  พวกเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไรเมื่อวิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไป แม้กลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมจะบอกว่า บางทีคนส่วนน้อยต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่บ้าง  แต่บทเรียนที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ผู้เสียสละต้องประสพความลำบากมามากต่อมากโดยไม่ได้รับการเหลียวแล


 


ธวัชชัย  อมรใฝ่ชนแดน กล่าว่า "แม้จะย้ายพวกเราไปอยู่ที่อื่นมันก็ไม่คุ้มหรอก พวกเราอยู่ที่นี้ทำไร่ได้ แม้ไม่มีเงินก็มีข้าวกิน แต่ถ้าไปอยู่ที่อื่นก็ไม่รู้ว่าจะได้ทำไร่อีกหรือเปล่า แล้วหากมีการสร้างเขื่อนก็ไม่รู้ว่าจะย้ายพวกเราไปอยู่ที่ไหน เราไม่ใช่คนอพยพเราเป็นคนไทย ทำไมโครงการพัฒนาต้องมาทำให้เราเป็นผู้อพยพ"


 


สะท้าน  ชีววิชัยพงษ์ นักสิ่งแวดล้อมจากอำเภอสบเมย กล่าวเพิ่มเติมว่า  "ป่าสาละวินเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มากที่หนึ่งในประเทศไทย ถ้าหากมีเขื่อนเกิดขึ้นป่าไม้เป็นจำนวนมากก็จะถูกน้ำท่วม ผืนป่าสาละวินบางส่วนก็จะกลายเป็นป่าที่จมอยู่ใต้เหมือนที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี และเมื่อสร้างเขื่อนขึ้นมาบนลำน้ำสาละวินก็ไม่มีใครรับรองได้ว่า คนพื้นถิ่นที่อยู่ตามชายแดนจะไม่ถูกละเมิดสิทธิและจะไม่ถูกคุกคาม เรามีทางเลือกในการจัดการพลังงานมากมายทำไมไม่หยิบยกทางเลือกเหล่านั้นขึ้นมาพิจารณาบ้าง"


 


นุ ชำนาญไพรคีรี ชาวบ้านแม่ก๋อน ริมห้วยสาขาของแม่น้ำสาละวินกล่าวว่า "ถ้าเขามาสร้างเขื่อนน้ำก็จะท่วม ชาวบ้านไม่อยากให้มาสร้าง เพราะป่าสาละวินก็สมบูรณ์อยู่ แล้วถ้าสร้างเขื่อนก็ต้องอพยพ จะให้คนที่อยู่ในป่าไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้"


 


 



 


 


พวกเราในสังคมส่วนใหญ่ถูกทำให้เชื่อตลอดมาว่า เขื่อนคือคำตอบสุดท้ายของทุกคำถามในการจัดการน้ำและการกำเนิดพลังงานไฟฟ้า หรือแม้แต่เวลาน้ำท่วมหน่วยงานรัฐก็ทำให้ประชาชนคิดเพียงแค่ว่าเราต้องสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำในการป้องกันน้ำท่วม  ซึ่งไม่รู้ว่าการกักเก็บน้ำจากเขื่อนจะทำได้ดีแค่ไหน เพราะเมื่อน้ำมามากเขื่อนก็จำเป็นต้องปล่อยน้ำออกมาอยู่ดีอย่างเช่น ในกรณีของเขื่อนอุบลรัตน์ที่จังหวัดขอนแก่นก็เคยแตก  เพราะปริมาณน้ำที่มากเกินความจุของเขื่อน  แน่นอนว่าแม้ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการก่อสร้างเขื่อนจะพัฒนาไปไกลมาก  แต่ก็ไม่มีใครรู้ข้อมูลที่แท้จริงว่า เขื่อนหนึ่งเขื่อนมีอายุการใช้งานมากน้อยเพียงใด  และหากพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้วอภิมหาโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากมาย ดั้งนั้น การผลิตไฟฟ้านั้นคำตอบสุดท้ายอาจมิใช่การสร้างเขื่อน


 


ปัจจุบันทางเลือกของการนำพลังงานต่างๆ มาใช้มิได้ถูกหยิบยกมาพิจารณาเพื่อเปรียบเทียบกับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และระบบพลังงานรวมศูนย์  ทั้งที่การผลิตพลังงานทางเลือกแบบไม่รวมศูนย์ซึ่งมีทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือน้ำตกขนาดเล็ก ทางเลือกเหล่านี้มีต้นทุนถูกกว่า ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า คุ้มทุนกว่าในระยะยาวและที่สำคัญที่สุดคือสามารถจัดการได้โดยชุมชน    


 


หากแผงโซล่าร์เซลล์ ๑ ชุดสำหรับ ๑ หมู่บ้าน มีราคา ๑ ล้านบาท งบประมาณของเขื่อนบนลำน้ำสาละวินที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า ก็จะสามารถนำมาซื้อโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าให้กับหมู่บ้านต่างๆ ได้ถึง ๒ แสนหมู่บ้าน โดยไม่ต้องมีใครถูกอพยพหนีน้ำท่วมและไม่มีใครได้รับความเดือนร้อน ทางเลือกเหล่านี้ก็น่าจะนำมาพิจารณามิใช่หรือ?


 


ถึงเวลาหรือยังที่จะยอมรับว่า แม่น้ำสาละวินคือบ้านของคนนับแสน และถึงเวลาหรือยังที่จะยอมรับว่า เขื่อนขนาดใหญ่ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของเรื่องการจัดการน้ำ


 


ไม่มีเขื่อนบนลำน้ำสาละวิน-ไม่มียายไฮคนต่อไป-ไม่มีใครเดือดร้อน!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net