Skip to main content
sharethis

โดย...ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา


 


 


โลกาภิวัตน์กับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป


กระแสโลกาภิวัตน์ได้มีอิทธิพลส่งผลให้รัฐบาลต่าง ๆ ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนจากบรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ แรงจูงใจอย่างหนึ่งที่รัฐบาลต่าง ๆ นิยมทำกันก็คือการทำให้ดินแดนของตนเป็นสวรรค์ของนักลงทุนที่มีต้นทุนต่ำ ค่าจ้างถูก สร้างระบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นเอาใจผู้ประกอบการ พยายามควบคุมแรงงานไม่ให้มีปากมีเสียงเรียกร้องใด ๆ หลายประเทศได้สร้างเขตการค้าเสรีเพื่อการส่งออก (Export Processing Zone หรือ EPZ) ที่ให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ กับนักลงทุน จำกัดสิทธิการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองของคนงาน มีการแก้ไขกฎหมาย ลดสวัสดิการและตัดทอนระบบประกันสังคม ในบ้านเราเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเสนอแนวความคิดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งน่าจะเชื่อได้ว่ามีฐานความคิดแบบเดียวกัน รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนากำลังแข่งขันกันเองเพื่อแย่งชิงนักลงทุน มีผลทำให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศเหล่านั้นได้ตกเป็นเหยื่อแห่งการแข่งขันอันรุนแรงนี้


 


แนวโน้มของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ระบบผลิตและการค้ามีลักษณะไร้พรมแดน การปฏิวัติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศน์ การคมนาคมขนส่งที่เป็นไปอย่างรวดเร็วได้ทำให้การเคลื่อนย้ายของทุนเป็นไปอย่างง่ายดายและรวดเร็วชนิดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน การที่ทุนมีลักษณะที่ไร้พรมแดนและพร้อมเคลื่อนย้ายได้ตลอดเวลาส่งผลให้อำนาจการต่อรองของฝ่ายแรงงานสูญเสียไป นายจ้างมักข่มขู่ลูกจ้างว่าหากเรียกร้องมาก ๆ จะย้ายไปลงทุนที่อื่น ๆ(หมายถึงที่ขูดรีดได้ง่ายกว่า) ซึ่งประเด็นนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่นายจ้างหิ้วกระเป๋าใบเดียวเข้ามาลงทุนขูดรีดจนอิ่มท้องพอได้แหล่งลงทุนใหม่ที่ดีกว่าถูกกว่าได้เปรียบได้กำไรกว่า นายจ้างก็หิ้วกระเป๋าและกำไรมหาศาลออกจากประเทศไป ปล่อยให้คนงานกลายเป็นคนตกงานหลายรายไม่จ่ายค่าจ้างและเงินชดเชยตามกฎหมาย


 


แบบแผนการผลิตแบบโลกาภิวัตน์ที่เป็นแบบกระจายการผลิตออกไป (out sourcing) มีการผลิตที่เป็นแบบเครือข่ายและรับเหมาช่วงการผลิตเป็นทอด ๆ ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้เกิดแรงงานนอกระบบและแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้านจำนวนมาก คนงานเหล่านี้คือผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างรุนแรง คือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิโดยไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายและระบบคุ้มครองที่มีอยู่


 


อาเซียนกับการเติบโตของการค้าเสรี


ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นบ้านของประชากร 500 ล้านคน ในทางเศรษฐกิจ ภูมิภาคนี้พยายามรวมตัวกันภายใต้อาเซียน (ASEAN) หรือสมาคมประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเร็วที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก อาเซียนประกอบด้วย 10 ชาติได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลย์เซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และเวียตนาม ซึ่งแต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาแตกต่างกัน


ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 4 ในปี 2535 อาเซียนตกลงที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) โดยมีเป้าหมายที่จะลดภาษีศุลกากรระหว่างกันลงเหลือร้อยละ 0-5 และยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้การค้าในภูมิภาคอาเซียนขยายตัวมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา แม้เป็นประเทศใกล้ชิดกันแต่การค้าระหว่างกันยังน้อยมาก ส่วนใหญ่จะไปค้าขายกับประเทศใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรปและจีน เป็นต้น จึงคิดกันว่าควรขยายการค้าภายในให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าถ้ารวมกันเป็นเขตการค้าเสรี การที่ภาษีลดต่ำลงจะเอื้ออำนวยให้การลงทุนจากประเทศที่สามเข้ามาในอาเซียนมากขึ้น เพราะถ้ามาลงทุนในประเทศหนึ่งก็สามารถผลิตสินค้าไปขายในประเทศอาเซียนอื่นได้ โดยไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีต่ำมาก


ความคืบหน้าในการดำเนินการของ AFTA


การดำเนินการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนได้มีความก้าวหน้าไปกล่าวคือ (1) รายการสินค้าในบัญชีลดภาษี(Inclusion list หรือ IL) ซึ่งประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ได้นำมาลดภาษีในปี 2547 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 86,359 รายการ (2) 98.98% ของสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลลิปปินส์ บูรไนและอินโดนีเซีย และ 81.35% ของประเทศอาเซียน 4 ได้แก่ เวียตนาม กัมพูชา พม่าและลาวมีอัตราภาษีระหว่าง 0-5 % (3) อัตราภาษีเฉลี่ยสำหรับสินค้าใน CEPTสำหรับสมาชิกเดิม 6 ประเทศ เท่ากับ 2.0% (จาก 12.76% ในปี ค.. 1993 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มลดภาษี) และ (4) 64.12% ของสินค้าใน IL ของสมาชิกเดิม 6 ประเทศ มีอัตราภาษี 0% ในปี 2547 และ 92.99% ของสินค้าในบัญชี IL ของสมาชิกทั้ง 10 ประเทศมีอัตราภาษีระหว่าง 0-5%  ข้อมูลเหล่านี้บ่งบอกว่าประตูการค้าเสรีของอาเซียนกำลังเปิดกว้าง


 


เศรษฐกิจโตแต่คนงานอาเซียนกำลังมีปัญหา


ความเจริญเติบโตของอาเซียน ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีคนงานอาเซียน ผู้ตรากตรำทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์  ปรับแก้ตัวเลข ติดตามความเคลื่อนไหวของกระแสการค้า ขนส่งสินค้า  ดูแลงานในโรงสี ควบคุมเครื่องจักร ดัดลวดและโลหะ สร้างหอคอย ไถพรวนดิน และขับเคลื่อนกระแสเศรษฐกิจให้หมุนเวียนอยู่สัปดาห์ละเจ็ดวัน วันละ 24 ชั่วโมง กระนั้น ก็ไม่มีใครเอ่ยถึงคนงานในบริบทของ AFTA ไม่มีประเด็นแรงงานในประชาคมอาเซียน


 


เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540  มีคนตกงานรวมกันเป็นล้าน ๆ ในอินโดนีเซีย มาเลย์เซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย และอีกหลายสิบล้านคนสูญเสียรายได้ที่แท้จริงในภูมิภาคนี้ คนงานที่ถูกปลดออกไม่สามารถหันหน้าไปพึ่งใคร  รายได้ที่สูญหายไม่หวนคืนมา แรงงานต่างชาติต้องบากหน้ากลับบ้านโดยไม่มีเงินติดกระเป๋า ไม่มีความคุ้มครองหรือความช่วยเหลือใด ๆ ทางสังคม   ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจอาเซียนเฟื่องฟูสุดขีด คนงานอาเซียนก็มีรายได้เพียงแค่พอประทังชีพ ในยามเศรษฐกิจทรุด คนงานอาเซียนส่วนใหญ่แทบไม่มีอะไรเหลือติดตัวเลย  ในสถานการณ์ที่มีการควบรวมกิจการและการปรับโครงสร้างบรรษัทอย่างขนานใหญ่ซึ่งดูเหมือนเป็นกระบวนการที่ไม่มีวันจบสิ้น ทั่วทั้งภูมิภาคนี้ งานถูกลดทอนลงอย่างมากมาย


 


ผลกระทบอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ และข้อตกลงทางการค้าในระดับภูมิภาค ตลอดจนเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือAFTA ที่มีต่อคนงาน ได้ทำให้คนงานในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจอันเนื่องจากสภาวะการที่เรียกกันว่า "การแข่งขันกันลงไปสู่ก้นเหว" ( race to the bottom) ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อค่าจ้าง ความมั่นคงในการทำงาน การทำงานที่มีคุณค่า และ การคุ้มครองทางสังคม นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยมีค่าจ้างต่ำเป็นแรงจูงใจนั้น ได้สร้างกระแสผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานได้ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การตกงานอย่างถาวรในที่สุดในภูมิภาคอาเซียน การขยายตัวและการเร่งรัดเจรจาการค้าภายใต้ข้อตกลงแบบทวิภาคีหรือ FTA ได้ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีอำนาจต่อรองกับประเทศพัฒนาแล้วน้อยลง


 


ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ขบวนการแรงงานและภาคประชาชนในภูมิภาคนี้ได้ริเริ่มดำเนินการเรียกร้องให้มีสิ่งที่พวกเขาเรียกมันว่า "กฎบัตรทางสังคมอาเซียน" หรือ ASEAN Social Charter


 


กฎบัตรทางสังคมอาเซียนคืออะไร


รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ จากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองประธานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการประสานงานระดับภูมิภาคเพื่อการรณรงค์เรียกร้องให้มีกฎบัตรทางสังคมอาเซียนได้อธิบายถึงความหมายของกฎบัตรทางสังคมอาเซียนว่าคือบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิของคนงานอาเซียนประกอบด้วยพันธกิจที่อาเซียนพึงถือปฏิบัติดังนี้     



  • ให้การรับรองสิทธิสำคัญของแรงงาน คือเสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรอง ไม่มีการเลือกปฏิบัติในการทำงาน  ห้ามมิให้ใช้แรงงานบังคับ และขจัดการใช้แรงงานเด็กด้วยความรุนแรง

  • ขยายความคุ้มครองและระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมถึงแรงงานพลัดถิ่น และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ในสังคม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการปรับโครงสร้างบรรษัทและการบูรณาการระหว่างระดับภูมิภาคกับระดับโลก และ

  • ให้สหภาพแรงงานได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นว่า กระบวนการบูรณาการเพื่อเชื่อมโยงระดับภูมิภาคกับระดับโลก ควรเป็นเช่นไรด้วย

 


แนวความคิดเรื่องกฎบัตรสังคมอาเซียน มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน ที่ทั้งรัฐและผู้ประกอบการซึ่งเชื่อในระบบการค้าเสรีได้ให้การยอมรับว่า สิทธิของแรงงานคือองค์ประกอบส่วนหนึ่งของข้อตกลงว่าด้วยการบูรณาการทางเศรษฐกิจ  ดังจะเห็นได้จากในทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement (NAFTA) ก็ได้มีการทำข้อตกลงคู่ขนานในนามข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานแห่งอเมริกาเหนือ (NAALC)) เพื่อให้สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ร่วมกันบังคับใช้มาตรฐานแรงงานขั้นพื้นฐาน


 


เช่นเดียวกันที่ยุโรปก็ได้มีการตกลงทำ "กฎบัตรทางสังคมแห่งสหภาพยุโรป" ขึ้น กฎบัตรดังกล่าวได้ให้การรับรองในด้านสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่สำคัญตามอนุสัญญา 8 ฉบับขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ  นอกจากนี้ยังได้รับรองสิทธิอื่นๆ  ของคนงานด้วย อาทิ เสรีภาพในการเคลื่อนไหวเรียกร้อง  สิทธิในการเข้ารับการฝึกอบรมงานอาชีพ ความคุ้มครองสำหรับผู้สูงวัย  ความคุ้มครองสำหรับผู้พิการ สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองทางสังคม สิทธิในการจ้างงานและได้รับค่าตอบแทน และสิทธิด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ  ยิ่งกว่านั้นสหภาพยุโรปยังยอมรับในสิทธิของคนงานที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร การปรึกษาหารือและการเข้ามีส่วนร่วม สหภาพยุโรปมีแนวปฏิบัติทางสังคม (European Social Directive) ซึ่งเปิดโอกาสให้สหภาพแรงงานในสหภาพยุโรป สามารถเจรจาต่อรองทำข้อตกลงร่วมแบบข้ามชาติ (International Framework Agreements (IFAs)) กับบรรษัทข้ามชาติซึ่งเข้าไปประกอบการในประเทศสมาชิก อียู ตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป และสามารถจัดตั้งคณะกรรมการลูกจ้างแห่งยุโรป (European Works Councils (EWCs)) ขึ้นเพื่อให้สหภาพแรงงานได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางเศรษฐกิจในส่วนที่จะมีผลกระทบกับผู้ใช้แรงงาน


 


ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้จึงทำให้ขบวนการแรงงานและองค์กรประชาชนในภูมิภาคอาเซียนได้ร่วมกันเรียกร้องให้อาเซียนยอมรับบทบาทและความคิดเห็นขององค์กรของผู้ใช้แรงงาน ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติที่ทำงานอยู่ในภูมิภาค ในการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมและความเป็นไปของอาเซียน เพื่อมิให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคดำเนินไปท่ามกลางการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบแรงงานและการสร้างปัญหาทางสังคม


 


ขบวนการแรงงานอาเซียนและภาคประชาสังคมแห่งอาเซียนได้เรียกร้องให้ประชาชนที่เชื่อมั่นในความยุติธรรม ความเสมอภาคและประชาธิปไตย เข้าร่วมสนับสนุนแนวคิดของกฎบัตรทางสังคมอาเซียน โดย


 


·         ต่อสู้เพื่อความมั่นคงในงานและสิทธิของลูกจ้างในสถาบันที่มีการควบกิจการ การซื้อกิจการ และการยุบรวมกิจการ ในการปรับแนวคิดและโครงสร้างบรรษัท ในการส่งงานและบริการออกไปทำนอกสถานประกอบการและในการดำเนินงานตามแผนการเปลี่ยนองค์กรให้เป็นบรรษัท การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การลดหย่อนกฎระเบียบ และการกระทำอื่นใดที่มีผลกระทบต่องาน


·         ขอให้บรรษัทข้ามชาติและกิจการภายในประเทศ ยึดถือแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการเคารพสิทธิของแรงงานและกฎหมายแรงงาน  ด้วยการปรึกษาหารือกับสหภาพในเรื่องการปลดบุคลากร การแข่งขันทางธุรกิจ และการเพิ่มผลผลิต  ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันบนความหายนะในแต่ละประเทศ และในภูมิภาคนี้


·         เรียกร้องให้รัฐบาลและบรรษัทเคารพสิทธิทางการเมือง และทางด้านแรงงานของคนงานและพลเมืองทั่วไป  และให้สัตยาบันต่อนุสัญญาฉบับพื้นฐานทั้งหมดของไอแอลโอ รวมทั้งข้อแนะในเรื่องสิทธิสำคัญของแรงงาน (เสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรอง การไม่เลือกปฏิบัติ การห้ามใช้แรงงานบังคับและการขจัดการใช้แรงงานด้วยวิธีรุนแรง)  รวมทั้งให้มีการออกกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้มีการปฏิบัติดังที่กล่าวข้างต้น


 


·         เจรจากับอาเซียนเพื่อหาแนวทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งในเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางสังคม การคุ้มครองทางสังคม และการประกันสังคมในภูมิภาคนี้ (และพัฒนาให้มีระบบต่าง ๆ หากยังไม่มี) ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนงาน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม  โดยเฉพาะผู้เสียการจ้างงาน อาทิ คนงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผู้ได้รับผลกระทบจากการยุติระบบโควต้าภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการใช้เส้นใยนานาชนิด (Multi Fibre Agreement (MFA))


·         เข้าร่วมขบวนการแห่งความสมานฉันท์เพื่อความยุติธรรม ความเสมอภาค และระบอบประชาธิปไตย


 


หากท่านเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว จงเข้าร่วมขบวนการแรงงานและองค์กรประชาชนอาเซียนในการรณรงค์ เพื่อให้กฎบัตรทางสังคมอาเซียนปรากฎเป็นจริง และมาร่วมกันเรียกร้องเพื่อให้อาเซียนยอมพื้นที่ให้องค์กรแรงงานและภาคประชาชนได้มีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของอาเซียน


 


หากท่านเห็นด้วยกับแนวความคิดที่จะให้มีกฎบัตรทางสังคมแห่งอาเซียนสามารถสนับสนุนแนวความคิดนี้ได้โดยการส่งหนังสือสนับสนุนไปที่


 


Asean Trade Union Council(ATUC)


c/o Transport Workers Union


21 Jalan Barat, 46200 Petaling Jaya,


Selangor, Malasia


E-mail: aseansocialcharter@hotmail.com


 


หรือ ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


503/20 ถ.นิคมมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400


โทร./แฟกซ์ 02-251-3173


 


หรือ ที่มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน


51/109 ซอยงามฉวี ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง


อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120


โทร./แฟกซ์ 02-516-1071


 


ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่เวบไซต์  www.Asean-SocialCharter.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net