Skip to main content
sharethis

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล


 


ถ้าใช้อริยสัจ 4 ในการวิเคราะห์ สังคมไทยขณะนี้กำลังมีความทุกข์ โดยที่คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นสมุทัย คือเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ยุคหลังทักษิณคือสิ่งที่เป็นนิโรธ คือสภาวะที่คุณทักษิณไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปแล้ว ซึ่งจะเป็นสภาวะที่สังคมไทยจะคลายทุกข์ คลายความตึงเครียด คลายความขัดแย้ง และเดินหน้ากันต่อไปได้ ส่วน มรรค ก็คือหาทางในการไปสู่นิโรธ คือจะไปสูภาวะพ้นยุคทักษิณไปได้อย่างไร ณ วันนี้ ถึงแม้ความผันผวนไม่แน่นอนของสังคมไทยจะคลายตัวไปในระดับหนึ่งจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในกระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่ลำพังเพียงมีการเลือกตั้งอย่างเดียว สังคมไทยยังไม่พ้นทุกข์ไปได้ เพราะต้นเหตุแห่งทุกข์ยังอยู่ หนทางที่ดีที่สุดคือคุณทักษิณ ประกาศเว้นวรรคว่าจะไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ จนกว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจตนเอง ไม่ได้เลี่ยงภาษี ไม่ได้โกงอย่างที่คนกล่าวหากัน แต่ในเมือคุณทักษิณไม่ทำ ผู้เขียนจึงอยากจะเสนอ "มรรค" หรือหนทางไปสู่การผ่านพ้นยุคทักษิณ ว่าจะมีหานทางใดบ้าง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าในขณะนี้มี 4 หนทางดังต่อไปนี้


 


หนทางที่หนึ่ง ให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรมตามกระแสรับสั่ง กรรมการการเลือกตั้งทั้งสามคนขณะนี้ไม่สมควรที่จะเป็น กกต. อีกต่อไป เพราะขาดความเชื่อถือ ขาดความศรัทธา มีแต่เพียงพรรคไทยรักไทยเท่านั้นที่ยังเชื่อถืออยู่ ถ้าหากว่าศาลอาญาชั้นต้นตัดสินในวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 นี้ ว่ากรรมการการเลือกตั้งทั้งสามคนได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบจริง และพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาและไม่ให้ประกัน กกต. ทั้งสามคนก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (3) นั่นคือ ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้เป็น กกต. ตามมาตรา 137 (4) และทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 141 (3)


 


โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าโอกาสที่ กกต. จะพ้นผิดนั้นมีไม่มากนัก เพราะการให้ผู้สมัครเวียนเทียนมาสมัครได้ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้สมัครคนเดียวของพรรคไทยรักไทยทำให้ไม่ต้องได้คะแนนถึงร้อยละ 20 ทั้ง ๆที่ศาลฎีกาได้ตัดสินแล้วว่าทำไม่ได้เพราะขัดต่อกฎหมาย เป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายได้ว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยชอบได้อย่างไร


 


ปัญหาคือว่า ถ้าศาลอาญาชั้นต้นท่านตัดสินว่า กกต. ผิดจริง ท่านจะพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญาและไม่ให้ประกันหรือไม่ ซึ่งเป็นดุลพินิจขององค์คณะผู้พิพากษาเรื่องการให้ประกันหรือไม่นั้น ผู้พิพากษาท่านก็อาจจะพิจารณาว่า สมควรให้ผู้กระทำผิดได้รับการประกันตัวหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าให้ประกันตัวออกไปก็จะไปกระทำความผิดอีก เช่น ไปจัดการเลือกตั้งโดยไม่ยุติธรรมอีก ผู้พิพากษาท่านย่อมมีอำนาจไม่ให้ประกัน หรือให้ประกันล่าช้าออกไป จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีโอกาสที่จะกระทำผิดอีก


 


ปัญหาคือเกิดความกังวลว่า ถ้าศาลอาญาท่านตัดสินจำคุก กกต. จริงแล้ว กระบวนการในการสรรหา กกต. ใหม่จะทันจัดเลือกตั้ง 15 ตุลาคม 2549 หรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะพระราชกฤษฎีกานี้จะมีผลบังคับใช้ในทางกฎหมายในวันที่ 24 สิงหาคม 2549 นั่นคือมีเวลาถึงหนึ่งเดือนเต็มพอดี ซึ่งมากเพียงพอในการที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเสนอชื่อบุคคลผู้ที่มีความเหมาะสม มาให้วุฒิสภาชุดรักษาการเลือกไปให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้ง ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าทำไมวันที่ให้พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้จึงเป็นวันที่ 24 สิงหาคม ในเมื่อเงื่อนไข 60 วันก่อนวันเลือกตั้งนั้น สามารถให้มีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม การที่ทรงให้มีผลบังคับใช้ช้าออกไปถึงวันที่ 24 สิงหาคม ซึ่งเมื่อนับจากวันที่ 25 กรกฎาคม เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มพอดีนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่น่าจะเป็นเพราะทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการสรรหา กกต. ใหม่ได้ทัน ถ้าหากว่าศาลอาญาพิพากษาจำคุก กกต. ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้


 


หนทางที่สอง พรรคไทยรักไทยไม่ใช่ต้นเหตุแห่งปัญหา เพราะเป็นเพียงเครื่องมือของคุณทักษิณเท่านั้น ต้นเหตุแห่งปัญหาคือหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และการที่พรรคไทยรักไทยไม่มีประชาธิปไตยภายในพรรค คุณทักษิณขณะนี้มีหนทางสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจของตนเหลือเพียงทางเดียวคือ ต้องชนะการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม


 


บรรดารัฐมนตรีของพรรคไทยรักไทยที่สังคมคาดหวังให้ลาออกเช่น คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง คุณสุรเกียรติ์ เสถียรไทย คุณสุรนันนท์ เวชชาชีวะ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องลาออก เพราะพรรคไทยรักไทยไม่ใช่ปัญหา แต่จะต้องมีการแก้ปัญหาที่หัวหน้าพรรค นั่นคือ ให้คุณทักษิณเว้นวรรค ถ้าคุณทักษิณไม่ยอมก็ต้อง เปลี่ยนหัวหน้าพรรค พรรคไทยรักไทยต้องแสดงให้เห็นว่า พรรคไทยรักไทยเป็นของสมาชิก ไม่ใช่ของคุณทักษิณ ถ้าให้คุณทักษิณเว้นวรรคไม่ได้ หรือเปลี่ยนหัวหน้าพรรคไม่ได้ ก็ถึงเวลาที่ท่านควรจะถอนตัวออกจากพรรคไทยรักไทย นั่นคือถ้าคุณทักษิณ ไม้เว้นวรรค หรือไม่เปลี่ยนหัวหน้าพรรค พรรคไทยรักไทยไม่ควรที่จะได้ส.ส.ถึง 250 คน จากการเลือกตั้งครั้งนี้


 


หนทางที่สาม ถึงแม้ว่าผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่าการกระทำที่เกิดขึ้นไม่ใช่การกระทำของพรรค แต่การชี้ขาดในเรื่องนี้ต้องดูจากข้อเท็จจริงในชั้นศาล และเป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะตัดสิน กระบวนการพิจารณาในเรื่องยุบพรรคนี้ต้องใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าจะไม่เสร็จก่อนหน้าวันเลือกตั้ง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่จะขาดคุณสมบัติเรื่องการเป็นสมาชิกพรรคก่อนหน้าวันรับสมัครเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 90 วันตามมาตรา 107 (4) และจะทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา โดยที่ประโยชน์จะไปตกอยู่แก่พรรคชาติไทยและพรรคมหาชนเท่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์จริง ก็น่าจะดำเนินการหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว เพราะจะทำให้ ส.ส. ของพรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ทีได้รับการเลือกตั้งสามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ภายใน 60 วันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 118 (9)


 


ผู้เขียนเห็นว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรคจริงๆ ก็ควรที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยให้เสร็จก่อนที่จะตั้งรัฐบาล เพราไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหายุ่งยากตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณทักษิณไม่เว้นวรรค และได้เสียง ส.ส. เกิน 250 คน ดังนั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรค ก็ควรที่จะตัดสินหลังเลือกตั้ง แต่ก่อนตั้งรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งไปอยู่พรรคอื่น หรือพรรคใหม่ได้ ซึ่งจะเป็นการสลายขั้วทางการเมืองในระดับหนึ่ง และโอกาสที่สังคมไทยจะไปถึงยุคหลังทักษิณก็จะมีมากขึ้น ถ้าคุณทักษิณยังอยู่ถึงตอนนั้น


 


หนทางที่สี่ ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุทีได้ชื่อว่าเป็นคนดื้อ เป็นคนว่ายาก ไม่รับโอวาท หรือคำเตือนใดๆ ของใคร คือพระฉันนะ ซึ่งถือตัวว่าเป็นข้าเก่าเนื่องจากเป็นคนจูงม้าของพระพุทธเจ้าเมื่อคราวเป็นเจ้าชายสิทธัตถะสละราชสมบัติออกหาหนทางหลุดพ้นจากความทุกข์ พระอานนท์เกรงว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปริพิพพานแล้ว พระฉันนะจะเป็นผู้ว่ายากยิ่งขึ้น จึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่าควรจะพึงปฏิบัติแก่พระฉันนะอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงตอบแก่พระอานนท์ว่า เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ให้สงฆ์ ลงพรหมทัณฑ์ แก้พระฉันนะ โดยทรงขยายความว่า การลงพรหมทัณฑ์คือ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าวไม่พึงโอวาท ไม่พึงสั่งสอนเลย ไม่พึงเจรจาคำใดๆ ด้วยทั้งสิ้น เว้นแต่คำอันเป็นกิจุระโดยเฉพาะ "อานนท์ เมื่อฉันนะถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แล้ว จักสำนึกในความผิด และสำเหนียกในธรรมวินัย เป็นผู้ว่าง่ายยอมรับโอวาท ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล" เมื่อพระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานแล้ว สงฆ์ก็ได้ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ และผลก็เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทำนายไว้ก็คือ พระฉันนะได้สำนึกในความผิด สำเหนียกในธรรมวินัย และได้ปฏิบัติธรรมจนต่อมาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์


 


การลงพรหมทัณฑ์ เป็นวิธีการที่สังคมพุทธใช้จัดการกับคนดื้อด้าน คนว่ายาก คนไม่สำนึกในความผิด ให้กลับตัวกลับใจ เป็นวิธีการมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดูคล้ายกับบอยคอต (boycott) ของฝรั่ง แต่จริง ๆ แล้วแตกต่างกัน เพราะการลงพรหมทัณฑ์นั้นเป็นการทำด้วยเมตตาจิต ทำด้วยความรักไม่ใช่ด้วยความเกลียด ไม่ได้มุ่งหวังประท้วงหรือลงโทษ แต่มุ่งที่จะให้คนดื้อด้านที่สร้างปัญหาให้สังคมได้กลับตัวกลับใจ ซึ่งประโยชน์ก็จะตกอยู่กับคนๆ นั้นเองด้วย ที่สำคัญคือเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลมาแล้ว


 


คุณทักษิณ ชินวัตร นั้นจัดว่าเป็นคนดื้อ เป็นคนว่ายาก ไม่รับคำตักเตือนของใคร ทั้งยังไม่เคยรู้สึกสำนึกในความผิดของตนเองเลยนายกรับมนตรีที่มีความมัวหมองเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ของชาติ สอบตกทางจริยธรรม ผู้คนไม่ยอมรับกันแทบทุกวงการ ชวนทะเลาะแม้กระทั่งองคมนตรี จะบริหารชาติบ้านเมืองต่อไปได้อย่างไร


 


นายกรัฐมนตรีต้องเป็นนายกรัฐมนตรีของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่นายกรัฐมนตรีของคนชนบทภาคเหนือและภาคอิสาน แต่คุณทักษิณยังคงดื้อ ยึดถือแต่ข้ออ้างว่าจะอยู่เพื่อรักษาประชาธิปไตย


 


ถ้าคุณทักษิณจะรักษาระบอบประชาธิปไตยก็ควรต้องเว้นวรรคทางการเมือง เมื่พิสูจน์ตัวเองให้ประชาชนหายคับข้องใจแล้วค่อยกลับมาใหม่ แต่เมื่อยังดื้อขนาดนี้ ผู้เขียนจึงเสนอให้สังคมลงพรหมทัณฑ์แก่คุณทักษิณ คือไม่พึงให้โอวาท ไม่พึงเจรจา ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงคบค้า ไม่สมาคม ไม่ข่นไม่บริการ ไม่ยุ่ง ไม่เกี่ยวข้องด้วยประการใด พ่อค้าไม่ข่ายของให้ ร้านเพชรไม่ขายเพชรให้ ร้านเสื้อผ้าไม่ขายเสื้อผ้าให้ ร้านก๋วยเตี๋ยวไม่ขายก๋วยเตี๋ยวให้ ร้านตัดผมไม่ตัดผมให้ อาจทำเป็นป้ายหรือสติกเกอร์ข้อความ "ร้านนี้ไม่ขาย-ไม่ให้บริการแก่ทักษิณ" จนกว่าคุณทักษิณจะสำนึกผิด เป็นการกระทำด้วยความรัก ความเมตตา ไม่ใช่ด้วยความเกลียด เปนการกระทำที่ปราชนทุกหมู่เหล่า ทุกสาขาอาชีพสามารถร่วมดำเนินการได้ เช่นเดียวกับโนโหวต


 


การเลือกตั้งเป็นหนทางที่จะทำให้ประเทศชาติจะกลับสู่ความปกติ แต่การเลือกตั้งจะไม่เรียบร้อยและไม่ยุติธรรม และจะไม่ทำให้ประเทศชาติกลับสู่ความสงบได้ ถ้า กกต. ทั้งสามคนยังปฏิบัติหน้าที่ และถ้าคุณทักษิณไม่ยอมเว้นวรรค เมื่อเป็นเช่นนั้น สังคมก็ต้องลงพรหมทัณฑ์แก่คุณทักษิณ และควรที่จะต้องขยายไปถึงคนที่อยู่รอบๆ และช่วยคุณทักษิณอยู่ด้วย สังคมไทยจึงจะพ้นทุกข์ในขณะนี้ไปได้


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net