Skip to main content
sharethis

สงขลา—5 ก.ค.2549 ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียเร่งทำโร้ดแม็ป IMT - GT พกหลักการหรู พัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เตรียมเพิ่มความร่วมมือสาขาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เน้นพลังงาน สาธารณสุข และป้องกันสาธารณภัย อุตสาหกรรมปัตตานีเผยไฟใต้กระทบนิคมฯฮาลาลหนัก 18 กรกฎาฯ เปิดซองประมูลสร้างสะพานด่านบูเก๊ะตา เชื่อมนราฯ - มาเลย์


 


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 กรกฎาคม 2549 ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีการประชุมเตรียมจัดทำ IMT - GT Roadmap ระหว่างหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (Indonesia - Malaysia - Thai Growth Triangle : IMT - GT) กับธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 8 จังหวัดภาคใต้เข้าร่วม 30 คน


 


นายกิตติพล โชติพิมาย นักวิชาการ 8 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) แจ้งที่ประชุมว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำ IMT - GT เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2548 ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะทำ IMT - GT Roadmap 5 ปี มอบหมายให้ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียดำเนินการ โดยกำหนดให้ส่งรายงานวันที่ 16 สิงหาคม 2549 จากนั้น จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสทั้ง 3 ประเทศ ระหว่างวันที่ 13 - 15 กันยายน 2549 ที่รัฐสลังงอ ประเทศมาเลเซีย และที่ประชุมสุดยอดผู้นำ IMT - GT ในวันที่ 10 ธันวาคม 2549 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียจะร่วมประชุมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 นี้


 


นายกิตติพล แจ้งด้วยว่า ส่วนกรณีที่ประชุมสุดยอดผู้นำ IMT - GT ต้องการให้เพิ่มความร่วมมือด้านพลังงาน เช่น พลังงานทดแทน ด้านสาธารณสุข เช่น การป้องกันโรคระบาดร้ายแรง และการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น สึนามิ มีการพูดกันในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างข้อตกลง (ทีโออาร์) โดยคณะรัฐมนตรีของไทยมีความเห็นเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ว่า อาจจะรวมให้ไปอยู่ในสาขาความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ


 


นายกิตติพล แจ้งอีกว่า ในระหว่างการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส วันที่ 13 - 15 กันยายน 2549 ที่รัฐสลังงอ จะมีการประชุมระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้นำรัฐในพื้นที่ IMT - GT ของทั้ง 3 ประเทศ เป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้นำรัฐ เป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่ายในแต่ละพื้นที่ของตน


 


นายประยงค์ รัตนพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต่อที่ประชุมว่า หากต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำ รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการให้เพียงพอด้วย


 


นายประทีป ซีวัสตาว่า คณะที่ปรึกษาการจัดทำ IMT - GT Roadmap กล่าวต่อที่ประชุมว่า Roadmap จะระบุว่าในระยะ 5 ปี ต่อไปนี้ จะดำเนินการอะไรบ้าง และจะระบุว่าแต่ละจังหวัดจะมีบทบาทอย่างไร ที่สำคัญการดำเนินการตามแผน จะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมให้มากที่สุด


 


นางยุคนธร พงศ์ศุภผลกิจ พาณิชย์จังหวัดสตูล กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ไทยมีปัญหาการขนส่งทางน้ำ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน นอกจากขาดงบประมาณการพัฒนาแล้ว ยังขาดงบประมาณขุดลอกร่องน้ำด้วย พร้อมกับขอให้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ตกลงกันให้ชัดเจนว่า ใครจะเป็นผัดูแลท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล


 


นายกิตติพล กล่าวต่อที่ประชุมว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาล ขณะนี้รัฐบาลได้ชะลอไปก่อน ส่งผลให้แลนบริตจ์ สตูล - จะนะ จังหวัดสงขลาไม่ชัดเจนไปด้วย


 


นางยุคยธร กล่าวด้วยว่า แม้ว่าระบาลจะชะลอโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ขนาด 5,500 ล้านบาท อย่างท่าเรือปาบาราไว้ก่อน แต่ท่าเรือขนาดเล็กอย่างท่าเรือตำมะลัง จังหวัดสตูล ก็สามารถพัฒนาให้รองรับเรือเฟอร์รี่ไปพลางก่อนได้


 


นายอดุลย์ ทองมาก อุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ในส่วนของยุทธศาสตร์การพัฒนาอาหารฮาลาล ขณะนี้มีปัญหาความล่าช้า จากความไม่สงบในพื้นที่ การขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ การยอมรับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทย และทัศนคติของประเทศมุสลิมต่อไทย


 


นายอดุลย์ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ขณะนี้ก่อสร้างถนนเข้าไปยังที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแล้ว แต่ยังไม่มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งที่ตามแผนจะต้องมีโรงงานแล้ว ทำให้เอกชนที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ต้องเสียค่าปรับถึง 10 ล้านบาท ส่วนปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้เจรจาตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดเรียว บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ป้อนวัตถุดิบอาหารฮาลาลให้แล้ว


 


นายศุภชัย หนูเจริญ อุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า จังหวัดนราธิวาสถูกกำหนดให้เป็นเมืองค้าชายแดน ขณะนี้มีพื้นที่ว่าง 2,500 ไร่ ริมถนนสายตากใบ - สุไหงโก - ลก สามารถที่จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ได้ โดยพัฒนาให้เป็นเซฟตี้โซน ซึ่งทางจังหวัดเคยเสนอให้การนิคมอุตสาหกรรม จัดตั้งเป็นเมืองอุตสาหกรรมแล้ว เพราะมีนักลงทุนจากมาเลเซียสนใจจะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา แต่ไม่ได้รับความสนใจ จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติช่วยผลักดันด้วย


 


นายอนุสิษฐ์ กาญจนพล สารวัตรด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา แจ้งที่ประชุมทราบว่า วันที่ 18 กรกฎาคม 2549 จะมีการเปิดซองประมูลราคาก่อสร้างในการก่อสร้างสะพานที่ด่านชายแดนบูเก๊ะตา ที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ในระบบอีอ็อกชั่น ส่วนเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากฝ่ายมาเลเซียต้องการปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยบริเวณอาคารด่านศุลกากรของฝั่งมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในบริเวณสะพานด้วย


 


นายอนุสิษฐ์ ยังได้แสดงความคิดเห็นด้วยว่า การก่อสร้างท่าเรือปาบารา น่าจะให้เอกชนหรือการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการ เพราะมีความชำนาญการขนส่งทางทะเล มีความรู้เรื่องการสร้างท่าเรือ การสร้างท่าเรือปากบาราน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะพื้นที่ไหล่ทะเลของไทยตื้นมาก อาจมีปัญหาตื้นเขินต้องขุดลอกทุกปี กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีชำนาญการขุดลอกร่องน้ำเล็กๆ ขณะนี้ยังไม่มีแม้แต่เรือขุดลอก


 


นายอนุสิษฐ์ กล่าวต่อว่า ที่ท่าเรือกันตัง จังหวัดตรังพัฒนาไปมาก เพราะผู้บริหารเป็นเอกชน เคยบริหารท่าเรือตำมะลัง จังหวัดสตูลแล้ว แต่มีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานราชการกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ต่างฝ่ายต่างไม่มีความรู้เรื่องการเดินเรือโลก ทำให้ท่าเรือตำมะลังไม่พัฒนาเท่าที่ควร หากสร้างท่าเรือปากบาราขึ้นมาแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีกหรือไม่ ตนเสนอให้เอกชนที่มีความชำนาญเป็นผู้บริหารจัดการ


 


ต่อมา เวลา 14.00 น. วันเดียวกัน คณะที่ปรึกษาจัดทำ IMT - GT Roadmap ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อหารือกับตัวแทนสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ ตัวแทนหาการค้าจังหวัดสงขลา และนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net