Skip to main content
sharethis

 

ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลและเรียบเรียง
 
เร็วๆ นี้ กลายเป็นเรื่องครึกโครมไม่น้อย เมื่อรัฐบาลโบลิเวียพยายามดึงทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของโบลิเวียเดินตามรอยรัฐบาลเวเนซุเอลา ในแง่ของการรื้อสัญญาสัมปทานขึ้นมาเจรจาใหม่กับบรรษัทน้ำมันต่างชาติ ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มพูนขึ้นอย่างมาก เพื่อให้รัฐบาลนำมาใช้จ่ายในโครงการที่เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชน
 
เอกวาดอร์ตอกย้ำกระแสแนวโน้มเดียวกันในภูมิภาคนี้อีกครั้ง ด้วยการยกเลิกข้อตกลงกับออกซิเดนทัล ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นบรรษัทน้ำมันข้ามชาติอเมริกัน เพื่อตอบโต้ต่อการที่บรรษัทนี้ละเมิดสัญญาถึง 43 ข้อ ความเคลื่อนไหวทั้งหมดบ่งชี้ถึงการคิดใหม่ของรัฐบาลละตินอเมริกา ที่กำลังแสวงหาหนทางที่ดีที่สุดในการจัดการทรัพยากรพลังงานของตน
 
พลังงานเป็นประเด็นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณา หากต้องการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อการเมืองในภูมิภาคนี้ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ภูมิภาคต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์กัน ความสัมพันธ์ด้านพลังงานไม่อาจแยกขาดจากความสัมพันธ์ทางการค้า แต่มันมักถูกทำให้คลุมเครือท่ามกลางการวิวาทะกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ "การค้าเสรี", "โลกาภิวัตน์" และความสั่นคลอนของอำนาจอธิปไตย การหันมาสนใจปัญหาความยั่งยืนของการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจความสัมพันธ์เหล่านี้ในเชิงลึก เมื่อคิดถึงความยั่งยืนด้านพลังงาน เรามักนึกถึงน้ำมันเป็นหลัก แต่ความจริงแล้ว ก๊าซธรรมชาติก็มีบทบาทสำคัญหลายประการ นับตั้งแต่การผลิตกระแสไฟฟ้าไปจนถึงการบริโภคพลังงานของภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน
 
ตารางข้างล่างนี้เป็นการสรุปข้อมูลจากสำนักข้อมูลพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (http://www.eia.doe.gov)ข้อมูลทั้งหมดปรับให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย มีทั้งข้อมูลจริงผสมผสานกับตัวเลขที่ได้จากการประเมินในปีก่อนๆ ข้อมูลด้านน้ำมันไม่ได้แยกระหว่างผลผลิตปิโตรเลียมชนิดต่างๆ และไม่ได้รวมเอาแหล่งน้ำมันดิบชนิดextra-heavy crude oil ที่เดิมไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันมีการประเมินใหม่เอาไว้ (หมายเหตุจากผู้แปล--แหล่งน้ำมันชนิดนี้ต้องใช้เงินทุนสูงในการสกัดน้ำมันออกมา ในสมัยก่อนที่น้ำมันมีราคาถูก แหล่งน้ำมันประเภทนี้จึงไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากเท่าไร แต่สำหรับราคาน้ำมันในปัจจุบัน ทำให้มีการประเมินใหม่ว่า แหล่งน้ำมันพวกนี้มีความคุ้มทุนและจะมีมูลค่ามหาศาลต่อไปในอนาคต ประเทศที่มีแหล่งน้ำมันประเภทนี้มากที่สุดคือ—จะเป็นประเทศไหนอีกถ้าไม่ใช่—เวเนซุเอลา)
 
วัตถุประสงค์ของตารางข้างล่างนี้คือ เพื่อให้ผู้อ่านมีแนวคิดกว้างๆ เกี่ยวกับความยั่งยืนด้านพลังงานโดยดูจากตัวเลขอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ ตารางนี้ระบุเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอเมริกาใต้เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงประเทศผู้ผลิตในหมู่เกาะแคริบเบียน
 
 
 
อาร์เจนตินา
โบลิเวีย
บราซิล
ชิลี
โคลอมเบีย
เอกวาดอร์
เปรู
เวเนซุเอลา
แหล่งน้ำมัน(หน่วย:พันล้านบาร์เรล
2.30
0.40
10.60
0.15
1.54
4.60
0.90
77.20
การผลิตน้ำมัน
(บาร์เรลต่อวัน)
775800
35500
1839700
18400
530000
538700
111800
2855700
จำนวนปีของการผลิตในอัตรานี้
8.13
31.31
15.79
22.33
7.96
23.39
22.06
74.06
แหล่งก๊าซ(หน่วย:ล้านล้านคิวบิกฟุต
18.90
24.00
8.80
3.50
4.00
0.30
8.70
151.00
การผลิตก๊าซ (พันล้านคิวบิกฟุต)
1400.00
200.00
310.00
35.30
215.00
1.80
19.80
1049.00
จำนวนปีของการผลิตในอัตรานี้
13.50
120.00
28.39
99.15
19.05
166.67
439.39
143.95
 
เพียงแค่ดูจากตัวเลขหยาบๆ พวกนี้ก็เห็นแล้วว่า เวเนซุเอลา--โดยที่ยังไม่รวมเอาแหล่งน้ำมันประเภทใหม่ที่เพิ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมาด้วยซ้ำ จัดเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค ด้วยแหล่งพลังงานที่ยังมีเพียงพอต่อไปอีกกว่า 75 ปี และ 140 ปีตามลำดับในอัตราการผลิตปัจจุบัน แหล่งพลังงานในอาร์เจนตินากำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้เอง เราสามารถมองเห็นเหตุผลได้ว่าทำไมบราซิลกับอาร์เจนตินา (รวมทั้งประเทศที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันและก๊าซอย่างปารากวัยและอุรุกวัย) ตลอดจนชิลี (แม้จะในระดับที่น้อยกว่าสองประเทศแรก) จึงตั้งหน้าตั้งตาสร้างพันธมิตรในเชิงยุทธศาสตร์กับเวเนซุเอลา ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างหลักประกันว่า ประเทศของตนจะมีแหล่งพลังงานที่มั่นคง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันช่วงชิงพลังงานจากจักรวรรดิตะกละตะกลามอย่างสหรัฐอเมริกาและบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย
 
ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ช่วยให้มองเห็นว่า เหตุใดรัฐบาลสหรัฐฯ จึงยอมทุ่มเงินภาษีชาวอเมริกันหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนประธานาธิบดีอูริเบของโคลอมเบีย เหตุผลนั้นน่าจะอยู่ที่ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองหรือสงครามต้านยาเสพย์ติด สหรัฐฯ และบรรษัทข้ามชาติอื่นๆ กำลังสูบเอาน้ำมันกับก๊าซไปจากโคลอมเบีย และมีแนวโน้มว่าแหล่งน้ำมันในโคลอมเบียน่าจะถูกสูบจนสิ้นซากภายในหนึ่งทศวรรษและก๊าซภายในสองทศวรรษ ขณะที่ชาวโคลอมเบียส่วนใหญ่ยังจมปลักอยู่ในความยากจนและหิวโหย ข้อเท็จจริงนี้ยังช่วยอธิบายอาการตีสองหน้าที่ประธานาธิบดีอูริเบพยายามรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลเวเนซุเอลาด้วย
 
เดิมพันสำหรับบรรษัทข้ามชาติในศึกชิงประธานาธิบดีเปรูระหว่างโอญันตา อูมาลา กับอลัน การ์เซีย ยิ่งเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดขึ้น การผลิตก๊าซธรรมชาติของเปรูจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อมีการพัฒนาแหล่งก๊าซแห่งใหม่ โอญันตา อูมาลาที่ประกาศตัวเป็นนักชาตินิยม ย่อมหาทางต่อรองเงื่อนไขที่ดีกว่าให้แก่เปรูในการขายก๊าซ ในขณะที่อลัน การ์เซียเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับบรรษัทข้ามชาติ ต่อให้เปรูเพิ่มปริมาณการผลิตจนใกล้เคียงกับโบลิเวียในปัจจุบัน แหล่งก๊าซของเปรูก็ยังมีเหลือเฟือไปอีกกว่า 50 ปี ตรงข้ามกับชิลี ถ้าหากชิลีเพิ่มปริมาณการผลิตเท่ากับโบลิเวีย แหล่งก๊าซของชิลีจะหมดไปในเวลาแค่ 15 ปี
 
ตารางข้างล่างนี้ให้ภาพเปรียบเทียบที่จะช่วยให้เห็นความสำคัญระดับโลกของแหล่งก๊าซในอเมริกาใต้ ข้อมูลในตารางบอกถึงประเทศต่างๆ ที่มีแหล่งก๊าซใหญ่ที่สุดในโลก อเมริกาใต้เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญเป็นอันดับห้า เพราะฉะนั้น เมื่อโฆษกของรัฐบาลบุชแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยในโบลิเวีย, เวเนซุเอลา, รัสเซียหรืออิหร่าน เราสามารถมองทะลุเห็นความปากว่าตาขยิบของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทันที เมื่อเปรียบเทียบกับการที่บุชทำเป็นหูหนวกตาบอดต่อปัญหาประชาธิปไตยในประเทศอย่างกาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่จงรักภักดีต่อจักรวรรดิอเมริกันและบรรษัทข้ามชาติ (อย่าลืมว่าหากรวมแหล่งน้ำมันประเภท extra-heavy เข้าไปแล้ว เวเนซุเอลาจะกลายเป็นแหล่งน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกแทนที่ซาอุดีอาระเบีย)
 
ประเทศ
หน่วย: ล้านล้านคิวบิกฟุต
% ของปริมาณสำรองในโลก
รัสเซีย
1680
27.8
อิหร่าน
940
15.6
กาตาร์
910
15.1
ซาอุดีอาระเบีย
235
3.9
อเมริกาใต้
219
3.63
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
212
3.5
 
รัฐบาลอเมริกันวิตกกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงและการควบคุมแหล่งพลังงาน ความวิตกกังวลนี้เองเป็นพลังขับดันและส่งผลกระทบต่อนโยบายการค้า, การเกษตรและความช่วยเหลือ รวมไปจนถึงยุทธศาสตร์ทางการทูต การทหารและการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อกระแสหลักด้วย รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงครอบงำสถาบันการเงินระหว่างประเทศ โดยร่วมมืออย่างแนบแน่นกับยุโรปเพื่อควบคุมสถาบันเหล่านี้ไว้ กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนหลายประเทศในละตินอเมริกาจะไม่ยอมค้อมหัวให้อีกต่อไป
 
เอกวาดอร์—กำลังตามเวเนซุเอลาและโบลิเวียมาอีกราย
นับตั้งแต่ไล่ประธานาธิบดีลูเซียว กูตีเยร์เรซ ออกไปตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ประชาชนในเอกวาดอร์เริ่มตระหนักชัดขึ้นถึงผลประโยชน์ของแหล่งพลังงานในประเทศ ความขัดแย้งระหว่างความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่กะปลกกะเปลี้ย ทั้งๆ ที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เอกวาดอร์กลับต้องนำเข้าน้ำมันที่กลั่นแล้วถึงปีละ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
 
สื่ออเมริกันพยายามโหมประโคมตลอดเวลาว่า รัฐบาลเวเนซุเอลาเป็นตัวการสั่นคลอนเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็เพียงแค่รัฐบาลเวเนซุเอลาเข้าไปช่วยเอกวาดอร์ด้วยการป้อนน้ำมันที่กลั่นแล้วให้ ข้อตกลงความร่วมมือนี้เพิ่งลงนามกันในเมืองหลวงกีโต รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเอกวาดอร์ ดีเอโก บอร์ฮา ประกาศว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยให้เอกวาดอร์ประหยัดเงินได้ถึงปีละ 300 ล้านดอลลาร์ โดยส่งน้ำมันดิบของเอกวาดอร์ไปกลั่นที่เวเนซุเอลา แล้วส่งกลับมาใช้ในประเทศ ในข้อตกลงยังระบุถึงการร่วมมือในอนาคต เช่น เวเนซุเอลาจะเข้าไปช่วยขยายความสามารถในการกลั่นน้ำมันของเอกวาดอร์ เป็นต้น
 
ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเอกวาดอร์ยกเลิกสัญญากับบรรษัทออกซิเดนทัล ปิโตรเลียม การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้บริษัทปิโตรเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐ เข้าไปควบคุมบ่อน้ำมันที่มีกำลังการผลิตมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญ รัฐบาลสหรัฐฯ ตอบโต้ทันทีด้วยการระงับการเจรจา "การค้าเสรี" ไว้ชั่วคราว ในขณะที่สถานะของประเทศที่ได้รับการอนุเคราะห์ทางการค้าของเอกวาดอร์จะหมดลงในปีหน้า บรรษัทออกซิเดนทัล ปิโตรเลียมเองก็พยายามกดดันรัฐบาลเอกวาดอร์ โดยฟ้องฝ่ายหลังเป็นเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์
 
สิ่งที่สื่อกระแสหลักมองข้ามหรือแกล้งมองไม่เห็น
สื่อกระแสหลักมักกระพือความหวาดกลัวเกี่ยวกับ "แนวโน้มเอียงซ้าย" ในละตินอเมริกา โดยเฉพาะประธานาธิบดีชาเวซของเวเนซุเอลานั้น ทุกครั้งที่เขาเป็นข่าว สื่อกระแสหลักในอเมริกา (และในประเทศที่ยึดข่าวของซีเอ็นเอ็นเป็นหลัก) ไม่เคยเรียกเขาว่า "ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ" เฉยๆ แต่ต้องห้อยคำบรรยายต่อท้ายเสมอว่า "หัวรุนแรง" "เผด็จการ" "ละเมิดสิทธิมนุษยชน" "ปากกล้า" "ก้าวร้าว" "ซ้ายจัด" ฯลฯ ตอนนี้ประธานาธิบดีโมราเลสของโบลิเวียก็กำลังประสบชะตากรรมคล้ายๆ กัน
 
แต่สื่อมักไม่สนใจที่จะรายงานว่า ในประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรเหล่านี้ ประชาชนต้องตกอยู่ในวังวนของความยากจนอย่างไม่น่าเชื่อ อาทิ ในประเทศเอกวาดอร์ ผู้หญิง 54% ในเขตชนบทไม่มีแม้แต่แพทย์หรือพยาบาลดูแลในเวลาคลอดบุตร เป็นต้น
 
การยึดอุตสาหกรรมบางอย่างมาเป็นของรัฐ หรือเพียงแค่รื้อสัญญาที่ทำกับบรรษัทข้ามชาติใหม่เพื่อเรียกร้องผลตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น ถูกสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสื่อด้านเศรษฐกิจ วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการดำเนินนโยบายผิดพลาด ต่อต้าน "การค้าเสรี" และจะทำให้ประชาชนที่ยากจนอยู่แล้วต้องยากจนลงไปกว่าเดิม ฯลฯ แนวคิดนี้มักมีนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน
 
แต่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนที่คิดแบบนั้น ดังเช่นในกรณีของโบลิเวีย นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลอย่าง โจเซฟ สติกลิทซ์ ออกหน้ามาสนับสนุนการรื้อสัญญาสัมปทานของประธานาธิบดีโมราเลส หลังจากเข้าพบโมราเลสในวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา สติกลิทซ์ ซึ่งเคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก แต่ภายหลังหันมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันแห่งนี้และไอเอ็มเอฟ เขาให้เหตุผลสนับสนุนนโยบายของโบลิเวียว่า โบลิเวีย "ต้องประสบกับความเจ็บปวดสารพัดอย่าง [จากการปรับโครงสร้างตามแนวทางเสรีนิยมใหม่] แต่ไม่ได้รับผลดีอะไรขึ้นมาเลย—ในเมื่อเป็นเช่นนี้ โบลิเวียก็ต้องหาทางเปลี่ยนแปลงโมเดลทางเศรษฐกิจของตนเสียใหม่" เขายังกล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลโบลิเวียในอดีตขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้ทุนเอกชน ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่เคยผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรของประเทศ"สมมติมีภาพวาดของใครสักคนถูกขโมยไป แล้วเจ้าของภาพวาดไปเอาคืนกลับมา" สติกลิทซ์ให้เหตุผลไว้ดังนี้ "เราไม่เรียกว่ามันเป็นการริบทรัพย์กลับมาเป็นของชาติหรอก แต่เป็นการคืนสมบัติให้เจ้าของเดิมต่างหาก"
 
เราคงต้องจับตามองกระแสการเมืองในละตินอเมริกาต่อไป ช่างบังเอิญที่ปีนี้จะมีการเลือกตั้งขึ้นในหลายประเทศ เม็กซิโกในเดือนกรกฎาคม เอกวาดอร์และบราซิลในเดือนตุลาคม นิคารากัวในเดือนพฤศจิกายน และเวเนซุเอลาในเดือนธันวาคม คำถามหนึ่งที่จะผุดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าขณะที่ประชาชนเดินเข้าคูหาเลือกตั้งก็คือ ทรัพยากรในภูมิภาคนี้ควรเป็นผลประโยชน์ของประชาชนหรือของบรรษัทต่างชาติกันแน่?
 
………………………………………………
ภัควดี วีระภาสพงษ์
แปลและเรียบเรียงจาก
Mark Engler, "Globalization's Watchdogs," http://www.fpif.org/fpiftxt/3284
MEDIA LENS, RIDICULING CHAVEZ - THE MEDIA HIT THEIR STRIDE, http://www.medialens.org/alerts/index.php
Toni Solo, "Rough Reckoning: Energy in Latin America,"http://www.scoop.co.nz/stories/HL0606/S00006.htm , 1 June 2006.

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net