Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนนี้หากเอ่ยถึง "สีเขียว" หลายคนก็คงนึกถึงสนามหญ้าในเยอรมนี ที่เหล่านักเตะชาติต่างๆ ใช้เป็นเวทีโชว์ฝีไม้ลายเท้ากันอย่างสนุกสนาน อย่างไรก็ตาม คงจะต้องไม่ลืมนึกถึง "สิ่งแวดล้อม" ที่มักจะใช้สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ด้วย และในฟุตบอลโลก 2006 นี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 76 ปีตั้งแต่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกและยังเป็นครั้งแรกของการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่มีเป้าหมายว่า จะจัดการแข่งขันที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะอากาศของโลกให้น้อยที่สุด โดยเรียกโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมนี้ว่า "Green Goal"


 




 


แม้ว่า ในการจัดการแข่งขันครั้งนี้จะรณรงค์ให้ทุกคนประหยัดพลังงาน และนำพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานน้ำในประเทศสวิสเซอร์แลนด์มาใช้แล้วก็ตาม แต่คาดกันว่า ตลอด 1 เดือนที่มีการฟาดแข้งกันนั้นจะมีการใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะในสนามฟุตบอล ศูนย์ข่าว หรือสถานที่จัดงานต่างๆ ถึง 13,000,000 กิโลวัตต์ ซึ่งเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของบ้านจำนวน 4,000 หลังใน 1 ปีเลยทีเดียว


 


นอกจากนี้ ประมาณการณ์ว่า ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 100,000 ตัน ซึ่ง กว่า 70,000-80,000 ตันนั้นจะมาจากการเดินทางไปมาของผู้ชมทั้งชาวเยอรมันและต่างประเทศเพื่อเข้าชมการดวลแข้งทั้ง 64 แมทช์


 


ปฏิบัติการณ์ Green Goal ชูธง "ลดการเดินทาง ลดการบริโภคพลังงานและน้ำ และลดขยะ" ถ้าทำได้จะเป็นชัยชนะของเยอรมนี ในฐานะเจ้าภาพที่จัดงานได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


 


จากเป้าหมายดังกล่าว ผู้ชมที่มีตั๋วเข้าชมบอลโลกก็พลอยได้อานิสงส์ไปด้วย โดยสามารถเดินทางฟรีด้วยรถสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถประจำทางหรือรถไฟตลอดวันตามที่ระบุไว้ในตั๋ว ด้านกองทัพสื่อมวลชน 6,000 คนที่ไปเกาะติดขอบสนามรายงานข่าวการแข่งขันก็สามารถใช้บริการรถไฟในเยอรมันได้ฟรี ตลอด 6 สัปดาห์ของการแข่งขัน ทั้งยังมีการรณรงค์ให้คนเยอรมันปั่นจักรยานมาชมการแข่งขัน โดยเตรียมที่จอดจักรยานให้ฟรีด้วย


 



 


 


นอกจากนี้ ด้วยเงิน 1,400,000 ยูโร ของรัฐบาลเยอรมัน ได้เนรมิตให้สนามฟุตบอล 12 แห่งสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า อาทิ สนามฟุตบอล 3 แห่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ โดยแผงโซล่าร์เซลล์ในเมืองดอร์ทมุนด์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 550,000 กิโลวัตต์ต่อปี ส่วนสนามในเมืองมิวนิกนั้น สามารถประหยัดค่าน้ำด้วยการใช้ระบบเก็บกักน้ำฝน ได้ 300,000 ยูโรต่อปี โดยน้ำฝนที่เก็บได้นี้จะนำไปรดสนามหญ้า ทำความสะอาดทางเท้านอกสเตเดียม และชำระล้างโถสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ   


 


แน่นอนว่า ร้านรวงต่างๆ ในบริเวณสนามแข่งขันก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน โดยถูกขอให้ลดการใช้กระดาษโดยไม่จำเป็น เช่น จะไม่มีกระดาษห่อฮอทดอก เป็นต้น ด้านผู้ชมเองก็ต้องจ่ายค่ามัดจำเพื่อเป็นหลักประกันว่า จะนำกระบอกน้ำที่ซื้อไปแล้วมาคืน เพื่อนำกระบอกน้ำกลับมาใช้ใหม่ และลดการสร้างขยะนั่นเอง


 


นอกจากยุทธวิธียิบย่อยต่างๆ แล้ว ยังมีโปรเจคใหญ่ที่ทางผู้จัดการแข่งขันต้องทำให้สำเร็จด้วย นั่นคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้โลกให้ได้ 100,000 ตัน เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นจากการจัดการแข่งขันบอลโลกในครั้งนี้ตามระบบ "คาร์บอนเดรดิต" โดยภารกิจแรก ผู้จัดฯ เล็งว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 1 ใน 3 จากทั้งหมดในเขตทามิลนาดู ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ซึ่งเคยได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อเดือนธันวาคม 2547


 


เดิมทีนั้นชาวบ้านในแถบนี้ใช้ฟืนและน้ำมันก๊าดในการประกอบอาหารด้วยเตาเปิด ภายในบ้านที่ไม่ระบายอากาศ อันก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งจากสถิติพบว่า หญิงชาวอินเดียนั้นเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจมากกว่าโรคมาลาเรียหลายเท่าตัวทีเดียว ทั้งยังส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อนและภาวะขาดแคลนทรัพยากรด้วย แต่ต่อไปผู้จัดฯ จะสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพโดยใช้มูลวัวเป็นวัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิงดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะสามารถจัดหาพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านไปในตัวด้วย


 


อย่างไรก็ตาม การจัดการวิธีนี้ดูจะใกล้เคียงกับกลไกอันยืดหยุ่น (จนคล้ายเป็นช่องโหว่) ของพิธีสารเกียวโต ที่นานาประเทศ (ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ถอนตัว โดยให้เหตุผลว่า พิธีสารฯ นี้เอื้อประโยชน์กับจีนและอินเดียมากเกินไป) ได้ลงนามในสัตยาบันเพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นั่นคือ กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) หรือ CDM ซึ่งอนุญาตให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถเข้ามาดำเนินโครงการลดหรือเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ (อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหิน "สะอาด") และให้นำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้เป็น "คาร์บอนเครดิต" ซึ่งสามารถนำไปหักลบออกจากจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่มีพันธกรณีจะต้องลดลงในประเทศของตัวเอง

จึงกลายเป็นว่า ประเทศพัฒนาแล้วอาจเลี่ยงการลดการผลิตก๊าซในบ้านของตัวเอง ด้วยการใช้เงินซื้อคาร์บอนเครดิต ส่วนคาร์บอนเครดิตเองก็จะกลายเป็นของซื้อของขายที่สามารถทำเงินได้มหาศาล แต่จะได้ส่งผลดีกับประเทศกำลังพัฒนาแค่ไหน ยังเร็วเกินไปที่จะบอก แต่ถ้าไม่ สุดท้ายประเทศกำลังพัฒนาเองอาจจะโชคร้ายสองต่อ เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยตรงแล้ว ยังอาจได้รับผลกระทบจากเงื่อนไขของพิธีสารฯ นี้ด้วย 
 


ที่สุดแล้ว ไม่แน่ใจว่า "สีเขียว" จะได้เป็น (พระเอก) ตัวจริง หรือเป็นได้แค่ตัวสำรองกันแน่


 


…………………………………………….


 


ข้อมูลจาก


http://fifaworldcup.yahoo.com/06/en/050906/1/4k2o.html


http://fifaworldcup.yahoo.com/06/en/060526/1/6xi9.html


http://www.treehugger.com/files/2006/06/world_cup_2006.php

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net