Skip to main content
sharethis

รายงานโดย ศูนย์ข่าวประชาสังคมจังหวัดอุบลฯ


 


 


คณะวิจัยจาก ม. ธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ชุมชนคนปลูกข้าวลุ่มน้ำโขง อ. เขมราฐ ศึกษาทฤษฎีเกษตรอินทรีย์ ด้านเครือข่ายลุ่มน้ำชี้ อ. เขื่องใน ประสบผลสำเร็จจากอาชีพทำนา ชี้ทำเลเหมาะเพราะปลูกได้ 2 ครั้ง/ปี


 


นายทองสวน โสดาภักดิ์ เครือข่ายคนปลูกข้าวลุ่มน้ำโขง อ. เขมราฐ จ. อุบลราชธานี กล่าวว่า ในช่วงฤดูกาลทำนาเกษตรกรได้ลงพื้นที่ติดตามการเพาะปลูกข้าว ในเรื่องของการไถกลบ ปักดำ ตลอดจนการร่วมกิจกรรมลงแขกร่วมกับคนในชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลพัฒนาไปสู่มาตรฐานการผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ โดยมีคณะวิจัยลงพื้นที่เพื่อศึกษาการทำนารูปแบบเกษตรอินทรีย์ ที่มีคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นทีมวิจัยในครั้งนี้ โดยเลือกพื้นที่เป้าหมายจำนวน 25 ครัวเรือน ในอำเภอเขมราฐเพื่อทำวิจัยตลอดระยะเวลา 3 ปี เบื้องต้นได้ทำการสำรวจแปลงนาของสมาชิกในเครือข่ายคนปลูกข้าวลุ่มน้ำโขง และแจ้งผลการปฏิบัติงานในการสำรวจจากทุกครัวเรือนให้แก่คณะวิจัยเป็นระยะ ๆ โดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยในครั้งนี้จากเครือข่ายในประเทศเยอรมนี


 


หลังจากที่เครือข่ายคนปลูกข้าวลุ่มน้ำโขงได้ยึดทฤษฎีเกษตรอินทรีย์ 5 ไร่ จากการประเมินผลตามตัวชี้วัด ชาวนาส่วนใหญ่ได้เรียนรู้วิธีแลกเปลี่ยนความรู้ในระยะยาวจากคณะวิจัยมากขึ้น โดยมีการคำนวณจากผลผลิตที่ได้มาหักลบต้นทุนการผลิต ซึ่งมีการจำหน่ายผลผลิตที่ไม่ตั้งราคากลางให้แก่คนในชุมชน เพื่อเป็นการคืนสวัสดิการที่เหลือให้แก่คนในชุมชนในส่วนของ รำ แกลบ และส่วนอื่น ๆ ที่สามารถนำมาเลี้ยงหมู เลี้ยงปลาได้ และระหว่างวันที่ 23 - 24 กรกฎาคม 2549 ทางเครือข่ายคนปลูกข้าวลุ่มน้ำโขงจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านหลังการปักดำนาเสร็จ เพื่อเป็นการประเมินผลจากการลงมือปฏิบัติ


 


นอกจากนี้เครือข่ายคนปลูกข้าวลุ่มน้ำโขงยังได้ดำเนินการตามเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้หลักสูตรเกษตรกรรมพึ่งตนเอง เพื่อให้เป็นแนวทางพัฒนาตนเองไปสู่ ครอบครัวอบอุ่นที่ยั่งยืน โดยอยากให้ผู้ที่ไม่มีอาชีพทำนาช่วยสนับสนุนผลผลิตจากข้าวเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีมาตรฐานรองรับจากกลุ่มวิชาการ และคณะนักวิจัยด้วย


 


ด้านนายผไท ภูทา เครือข่ายลุ่มน้ำชี อ. เขื่องใน กล่าวถึงผลการดำเนินงานในรอบเดือนที่ผ่านมาของเครือข่าย ว่า ชุมชนบ้านหนองบ่อเป็นชุมชนที่มีการทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีการทำนานอกฤดูกาล (นาปรัง) มากที่สุดในตำบลถึง 1,200 ไร่ จาก 340 ครัวเรือน รายได้จากการขายผลผลิต (ข้าวจ้าว) อยู่ที่ 5 ล้านบาท ต่อหนึ่งฤดูการทำนา โดยจะจำหน่ายในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร


 


นอกจากอาชีพการทำนาปีละ 2 ครั้งแล้วชาวบ้านยังมีอาชีพหาปลาจากลำน้ำชี้ ในรอบปีที่ผ่านมาอาชีพหาปลาสร้างรายได้เฉลี่ยต่อปีให้กับคนในชุมชนมากถึง 3 ล้านบาท แต่ชาวชุมชนเองก็ประสบปัญหาในเรื่องการหาปลา เนื่องจากมีชาวบ้านบางกลุ่มได้นำโพงพางมาดักจับปลา ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ของสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก


 


ทั้งนี้นอกจากอาชีพหาปลาแล้วชาวบ้านยังยึดอาชีพการเก็บเห็ดทามควบคู่ไปด้วย ซึ่งเห็ดดังกล่าวเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ติดลำน้ำชี ใกล้กับชุมชนบ้านแสงใหญ่ ชุมชนบ้านแสงน้อย และชุมชนบ้านนาแวง โดยชาวบ้านประมาณ 30 - 40 % จาก 300 ครอบครัวมีรายได้จากการเก็บเห็ดขาย เฉพาะพื้นที่บ้านนาเวียงมีรายได้จากอาชีพดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาทเศษ ส่วนรายได้ต่อวันในบางครัวเรือนสามารถทำรายได้จากอาชีพเก็บเห็ดได้ถึง 1,200 บาท


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net