Skip to main content
sharethis

ประชาไท 7 มิ.ย.49 สืบเนื่องจากกรณีที่ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) เปิดเผยว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะขึ้นค่าไฟฟ้างวดใหม่ เดือนมิถุนายน - กันยายน 2549 อีก 9.60 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนราคาเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่หน่วยละ 3.10 บาท นั้น


 


สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) ได้ออกแถลงการณ์ขอคัดค้านการขึ้นค่าไฟฟ้าในครั้งนี้ โดยแถลงการณ์ระบุว่า การที่ กฟผ.อ้างถึงผลกระทบจากค่าเชื่อเพลิงที่สูงขึ้น ไม่ได้เป็นเหตุผลที่เพียงพอในการขึ้นค่าไฟฟ้า เนื่องจากในขณะนี้ กฟผ.ยังใช้การกำหนดค่าไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ "อัตราผลตอบแทนการลงทุนเป็นหลักเกณฑ์ในทางการเงิน(ROIC)" ตามมติครม. 30 สิงหาคม 2548 เพื่อเตรียมการแปรรูปกฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ถูกเปลี่ยนให้ประกันผลกำไรให้นักลงทุนเพื่อจูงใจการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่เอาเปรียบผู้บริโภค


 


ขณะนี้การแปรรูปขายกฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ยุติไปแล้ว แต่การขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดใหม่นี้ ยังคงใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ ซึ่งถือเป็นความไม่ยุติธรรม เอาเปรียบผู้บริโภค เพราะเป็นการฉกฉวยหยิบยกข้ออ้างเพียงด้านเดียวในการขึ้นค่าไฟฟ้า คือ ค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่พิจารณาปัจจัยอื่นๆที่สามารถหลักกลบลบกันจนอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าไฟในขณะนี้ก็ได้


 


นอกจากนั้นการที่ คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ระบุว่าการพิจารณาปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าไฟฟ้าแบบROIC จะดำเนินการในครั้งหน้า ซึ่งอาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าฐานลดลง แต่ในครั้งนี้ทั้งๆที่ยังไม่มีการยกเลิกปรับเปลี่ยน ROIC แต่คณะอนุฯเอฟที และกฟผ. กลับจะประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าไปก่อนในวันที่ 8 มิถุนายนนี้นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคอย่างไม่สมควร และไม่โปร่งใส


 


สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค จึงขอเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า(เรกูเลเตอร์) คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และกระทรวงพลังงาน ดังนี้


 


1.ขอให้ระงับการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าในวันที่ 8 มิถุนายน นี้ไว้ก่อน จนกว่าจะมีการยกเลิกโครงสร้างค่าไฟฟ้าแบบROIC และพิจารณาใช้สูตรโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่โปร่งใส เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับผู้บริโภค


 


2.ขอให้รื้อโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นธรรม มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีค่าหัวคิว ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตไฟฟ้า เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคทั้งในส่วนของก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน


 


3.ยกเลิกมติครม.ที่เอื้อประโยชน์ให้ปตท. เช่น การที่กฟผ.ต้องรับซื้อก๊าซ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาจากปตท.เท่านั้น ซึ่งทำให้ปตท.ใช้กลไกการผูกขาดของปตท.มาผลักภาระที่ไม่เป็นธรรมผ่านค่าไฟฟ้าสู่ผู้บริโภค


 


4.ขอให้รีบเร่งดำเนินการปฎิรูปกิจการไฟฟ้าในทุกด้าน เช่น การประกาศใช้พรบ.ประกอบการกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และการมีองค์กรอิสระกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ตามพรบ.ดังกล่าว เพื่อเป็นวาระแห่งชาติส่วนหนึ่งในการปฎิรูปการเมืองด้วย


 


ทั้งนี้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค(สอบ.) จะยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า


(เรกูเลเตอร์) และคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ที่จะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 8 มิถุนายน 2549 เพื่อขอให้ระงับการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟทีไว้ก่อน และพิจารณายกเลิกโครงสร้างค่าไฟฟ้าROIC และต้นสัปดาห์หน้าสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคจะยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 4 ประการข้างต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net