Skip to main content
sharethis

สถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองที่ลากยาวมาตั้งแต่ ปลาย พ.ศ. 2548 ทำให้พื้นที่ข่าวที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองเหมือนเงียบหายไปไม่เว้นแม้แต่ข่าวสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยครองพื้นที่ข่าวหน้าหนึ่งมาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีเต็มๆแต่ตอนนี้แม้แต่วันที่ 28 เมษายนจะเป็นวันครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์กรือเซะแต่ที่ผ่านหลายคนก็ลืมเลือนไปเสียแล้ว ลืมเลือนแม้กระทั่งว่าในวันนั้นยังมีอีกหลายชีวิตที่สูญเสียไปนอกเหนือจากที่มัสยิดกรือเซะซึ่งเป็นการถูกเจ้าหน้าที่สังหารไปอย่างมีเงื่อนงำ ....


 


ความตึงเครียดต่อสถานทางการเมืองก็ทำให้ความสนใจในความเป็นอยู่ของคนสามจังหวัดภาคใต้ภายใต้ "พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548" หายไปอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ใช้ช่องว่างที่สังคมไทยลืมเลือนนั้นต่ออายุเวลาการใช้พระราชกำหนดดังกล่าวอีกครั้งในขณะที่อ้างว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วมาโดยตลอด


 


ทว่าทำไม ในคำอธิบายของรัฐบาลที่ว่าสถานการณ์ที่ดีขึ้นจึงยังปรากฏว่ายังมีผู้ถูก "อุ้ม" หายอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลไม่เคยกล่าวถึง สื่อเองก็แทบจะเลิกให้พื้นที่กับข่าวคนหายและการอุ้มในภาคใต้รวมทั้งขาดการเกาะติดเหมือนที่เคยเป็นมา แม้แต่การจับตากระบวนการใช้อำนาจตามพระราชกำหนด ฯ ก็แทบไม่มีอีกแล้ว


 


หรืออาจไปได้ว่าสังคมไทยจะเริ่ม "ชิน" กับความอยุติธรรมที่ไกลตัวเองไปแล้วก็ได้ หากเป็นอย่างนั้นก็เท่ากับว่าเรากำลังไม่สนใจระเบิดเวลาที่รอวันระเบิดครั้งใหญ่เลยทีเดียว


 


เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 สุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ จะนำรายงานสถานการณ์คนหายในภาคใต้ในรอบ 2 ปีนี้ มาเปิดเผยต่อสาธารณะ "ประชาไท" จึงขอนำบทสัมภาษณ์ล่วงหน้าก่อนจะนำข้อมูลในรายงานของเขามานำเสนอในโอกาสต่อไป


 


0000000000000000


 


สถานการณ์ในภาคใต้ตอนนี้เป็นอย่างไร


2 ปีที่ผ่านมาตอบได้ว่า มันเลวลง แต่ไม่มีใครถามว่ามันเลวลงยังไง นักข่าวก็ดีหรืออย่างนักวิชาการก็ดี เคยไปคุยกับเขาไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เคยตามไปดูว่ายังอยู่หรือไม่ เพราะมีบางคนที่ตายไปแล้ว บางคนโดนยิงตาย บางคนก็ทุกข์ยากมากกว่าเดิม บางคนต้องออกจากพื้นที่ไปทางมาเลเซีย เหล่านี้สะท้อนภาพว่าสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าดีขึ้นหรือไม่ได้ดีขึ้นมากนัก


 


แต่เขากดมันอยู่ด้วยเครื่องมือที่เขาใช้ เช่น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548


 


ชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธการมีกฎหมายที่เข้มแข็ง เขาบอกว่าควรจะมีกฎหมายอะไรสักอย่างที่มาปราบพวกก่อการร้าย แต่ต้องเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ให้อำนาจแบบครอบจักรวาลหรือให้อำนาจอย่างพร่ำเพรื่อ ไปๆมาๆมันทำให้สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านไม่ต่างจากสมัยก่อนคือขวาก็เสือซ้ายก็จระเข้


 


หลังประกาศใช้พระราชกำหนดฯ ก็มีวิธีแปลกๆเช่น เชิญตัวไปให้ข้อมูลและเชิญแบบห้ามปฏิเสธ เอาไปไว้ที่ไหนก็ได้ ที่บอกว่าจะทำตาม   พ.ร.ก. คือต้องมีศาล แต่บางทีลำดับขั้นตอนเบี้ยวไป มีการร้องต่อศาลไหม....ก็ร้อง แต่เอาตัวไปที่ศาลไหม....บางทีก็ไม่ บางทีขอกักตัวไว้ก่อน บางทีก็เอาไปดูเฉพาะเอกสาร


 


แต่ต้องขอชมว่าศาลภาคใต้ในระยะหลังๆเป็นส่วนที่ถ่วงดุลการใช้อำนาจของตำรวจและทหารได้เช่น หากจะไปขอค้นคน ขอจับคน หรือขออะไรที่ไม่ชอบมาพากลศาลก็ไม่ฟัง ยกประโยชน์ให้ผู้ต้องสงสัย


 


แต่ช่วงที่ถูกควบคุมตัวมันหนักพอสมควร ที่ว่าให้พบญาติหรือทนายได้ก็ไม่ได้พบ เลี่ยงบาลีว่าคนพวกนี้ไม่ได้เป็นผู้ต้องสงสัยแค่ถูกเชิญตัวมาให้ข้อมูล ฉะนั้นเขาไม่มีความผิดในทางอาญาไม่จำเป็นต้องหาทนาย ระหว่างนี้อาจถูกเปิดไฟใส่หน้า 24 ชั่วโมง 3 วันติดกัน


 


สำหรับคนมุสลิมที่ถูกกระทำแบบนี้นอกจากไม่ได้นอนก็ยังไม่รู้เวลา เขาต้องรู้เวลาเพื่อที่จะละหมาดได้ คนมุสลิมที่ไม่ได้ละหมาดถือเป็นบาปหนัก เคยถามว่าเขารู้สึกเป็นทุกข์อะไรบ้างกับการที่โดนเอาตัวไป เขาบอกไม่โดนทุบตี แต่เขาไม่ชอบใจตรงที่ไม่ได้พบญาติ กลัวว่าญาติจะไม่รู้ว่าเขาไปไหน มันจะเพิ่มความเป็นทุกข์ แม่ก็ห่วงลูก ทหารเอาตัวไปไว้ไหน หลังๆพอรู้ว่าเอาตัวไปไว้ที่ไหน เดากันได้ว่าไปไว้ที่โรงเรียนตำรวจภูธร ภาค 9 จังหวัดยะลา แต่อยู่ดีมีสุขหรือไม่ ไม่รู้


 


อีกประการคือ เขารู้สิทธิเบื้องต้นว่าน่าจะมีคนมาให้คำปรึกษาเขาได้ ไม่ใช่เอาตัวมาแล้วบอกว่าเป็นคนร้ายแต่ไม่ให้พบทนาย


 


ส่วนเรื่องละหมาดไม่ได้เพราะไม่รู้เวลาก็เป็นความกังวลที่ติดหนึ่งในสามของความกังวลเลยเพราะมันขัดกับวัตรปฏิบัติประจำวันตามศาสนาซึ่งทำให้เขากลายเป็นคนบาป สำหรับคนมุสลิมการเป็นบาปเป็นเรื่องใหญ่มาก


 


เจ้าหน้าที่สามารถทำแบบนั้นได้หรือ เช่น เปิดไฟใส่เป็นวันๆ         


มันไม่เหมาะสม ในวิธีพิจารณาความอาญานั้นห้ามการปฏิบัติที่ผิดแปลกไปจากธรรมดา ต้องตีความว่าการไม่ให้นอนโดยเปิดไฟตลอดเวลาแล้วอ้างว่าไม่ได้ห้ามนอน อยากนอนก็นอนได้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องมาถกเถียงกัน แต่ในมุมของสิทธิมนุษยชนการสอบสวนมีมาตรฐานสากลว่าการตรวจสอบด้วยวิธีการทรมาน วิธีการเปิดไฟสว่างจ้าหรือการทำเสียงดังให้คนถูกคุมตัวนอนหลับไม่ได้ถือเป็นการทรมานรูปแบบหนึ่ง เป็นการทำทารุณ


 


จะปรับกระบวนการให้เหมาะสมได้หรือไม่


เคยมีหวัง ตอนที่เอา   พ.ร.ก. เข้าสภาเป็นประเด็นที่คนพูดกันเยอะ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ไม่แก้เลยสักมาตรา มีการเสนอกันว่าต้องออกรายละเอียดมาสกัดการใช้อำนาจตาม พรก.ฯ วิธีการคือออกระเบียบวิธีการสอบสวน ควบคุมมา เพราะเขาเขียนกฎหมายแบบลักไก่ว่า ช่วงที่เอาตัวมาให้ข้อมูลยังไม่ได้ถือว่าเป็นผู้ต้องหา แม้แต่วิธีพิจารณาความอาญาก็ยังไม่สามารถเอาตัวมาคุมได้ แต่ตาม  พ.ร.ก. ปรากฏว่ากรณีที่ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่กลับไม่มีการคุ้มกันอะไรเลย


 


ฝ่ายเจ้าหน้าที่มองว่ากฎหมายนี้มีประโยชน์ต่อเขาเพราะสามารถคุมตัวก่อนตั้งข้อหาได้ตั้ง 1 เดือน ที่ว่า 7 วันนั้นเป็นเพียงเบื้องต้น เพราะเมื่อไปยื่นศาลต่อแล้วเอาตัวผู้ต้องหาไปให้ศาลดูบ้างไม่ดูบ้าง ท้ายที่สุดก็รวมกันเป็น 1เดือนเต็มๆ


 


บางทีก็ลักไก่ต่อ พอครบเดือนตั้งข้อหาไม่ได้ ก็ไม่ใช้ พ.ร.ก. แต่เปลี่ยนสถานะจับลงบัญชีเป็นคนเข้าร่วมโครงการพัฒนาโรงเรียนเสริมสร้างสันติสุข ตรงนี้หนักเข้าไปอีก แม้ไม่โดนขังเพราะเป็นผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ในระหว่างนั้นมีการกดดันอะไรก็ว่ากันไป รวมแล้วเป็นโดน 2-3 เดือน


 


แล้วก็ยังมีบรรยากาศแบบอยู่ๆมีคนเอาตัวออกจากบ้านในข้ออ้างที่แปลกๆการควบคุมตัวที่ไม่มีกรอบชัดเจน คนในสามจังหวัดเขามีประสบการณ์แบบนี้มาเป็น 20 - 30 ปีที่คนต้องถูกอุ้มเอาตัวไปจากบ้านแล้วหายไปเลยเจออีกทีกลายเป็นศพ หรือบางทีแม้ศพก็ไม่โผล่


 


บางทีถูกเอาตัวไปแล้วโดนซ้อมกลับออกมาแล้วยับเยินหรือโดนตีหนักจนรับสารภาพ ตอนไปเป็นผู้บริสุทธิ์ อยู่ไปสักพักกลายเป็นผู้ต้องหาร้ายแรง แต่พอขึ้นศาลก็ยกฟ้อง ก็ถูกจับฟรี โดนซ้อมฟรีซึ่งถูกขังนานมากๆกว่าศาลจะตัดสิน


 


ในความคิดของคนเหล่านี้ เขารู้สึกว่าอยู่ในบรรยากาศของความอยุติธรรมมาโดยตลอด ถามว่าความกลัวของคนสามจังหวัดเป็นความกลัวที่มีเหตุผลอันควรหรือไม่ ในทรรศนะคิดว่ามี เพราะนอกจากประสบการณ์ใน 20-30 ปีที่ผ่านมาแล้ว มันก็ยังมีกรณีในปัจจุบัน


 


คนหายมีแม้กระทั่งหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีออกมาให้สัญญาว่าต่อไปนี้จะไม่มีการอุ้มอีกแล้วนายกฯไปพูดกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยรับปากรับคำหนักแน่นว่ามีตำรวจบางคนหวังดีแต่ใช้วิธีผิดไปอุ้มต่อไปนี้จะไม่มีแล้ว แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไรกับตำรวจที่ไปอุ้มเขานะ เอาเป็นว่าเป็นสัญญาแบบครึ่งๆหลังจากสัญญาไม่ถึงเดือนก็เกิดการอุ้ม แล้วก็เกิดต่อเนื่องๆๆๆแล้วมีข่าวลือประปรายโดยตลอด ล่าสุดกรณีสุดท้ายที่ยืนยันว่าโดนอุ้มจริงๆคือพฤศจิกายน พ.ศ. 2548


 


รวมทั้งหมดมีกี่กรณี พอจะเล่าตัวอย่างได้หรือไม่ รวมทั้งกรณีล่าสุดด้วย


เล่าได้บางกรณี จำนวนกรณีดูเหมือนว่าจะสัมพันธ์กับการที่รัฐบาลพยายามจะเร่งดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างเช่นก่อนหน้าการปล้นปืน พ.ศ.2547 มันก็มีอุ้มประปราย มีจุดตรวจทหาร ตำรวจโดนลอบโจมตี พอหาคนร้ายไม่ได้ก็จะมีการอุ้มเกิดขึ้นแล้วจะซาไป พอเกิดเหตุก็จะมีอุ้มอีก แต่ที่เห็นชัดๆเลยว่ามีคนหายขนานใหญ่ก็หลังการปล้นปืน ไม่เกินสามวันจากนั้นก็เกิดกรณีอุ้ม แล้วก็เกิดต่อเนื่องไปล็อตใหญ่ๆล็อตหนึ่ง ใช้คำว่าเป็นล็อตได้


 


ในหมู่คนที่ถูกอุ้มมีพยานเห็น ได้ยิน ว่าคนที่มาเอาตัวไปสอบถามคนที่ถูกอุ้มบางทีกระทืบไปด้วยว่ามึงเอาปืนไปไว้ไหนวะ ตีไปตีมาก็หิ้วหายขึ้นรถ


 


จากนั้นก็ซาไปมาโผล่อีกทีเดือนตุลาคม พ.ศ.2547 เป็นช่วงของความสงสัยว่า ปอเนาะบางแห่งอาจจะเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในภาคใต้เช่น "ธรรมวิทยา" คนที่ถูกอุ้มจะมีภูมิหลังคล้ายกันคือ เป็นคนที่อยู่ในข่ายผู้ต้องสงสัยไม่ทางตรงก็ทางอ้อม คนที่เข้าเรียนในสถานที่ที่ถูกสงสัยถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแบบอ้อมๆ


 


บางคนก็เป็นพวกที่โชคร้ายไปด้วยเพราะมีเพื่อนเป็นผู้ต้องสงสัยแล้วรู้ตัวว่าถูกตกเป็นผู้ต้องสงสัยไม่กล้าไปไหนคนเดียว ชวนเพื่อนไปด้วยในที่สุดก็โดนอุ้มไปด้วยกัน บางทีก็ทิ้งมอร์เตอร์ไซค์ไว้ให้ ไอ้คนที่อุ้มเห็นขี่มอร์เตอร์ไซค์มาสองคนก็ดักรถ เอาตัวคนไป ทิ้งรถไว้แล้วโทรไปบอกที่บ้านว่าไม่ต้องมาตามนะมันหายไปแล้ว แต่มอร์เตอร์ไซค์อยากได้คืนมาเอาที่นี่จะจอดทิ้งไว้ให้ เขากล้ากันถึงขนาดนี้


 


บางคนเขารู้สึกว่านี่มันอะไร มันคือสิ่งที่อยู่เหนือกฎหมายอย่างสมบูรณ์แบบ ชาวบ้านเขาคิดกันว่า หลักฐานไม่พอก็อุ้มกันเลยเหรอ คุยกับหลายคนที่เป็นพ่อแม่ของคนที่ถูกอุ้ม เขาบอกว่าถ้าผิดจะไม่ว่า ถามเขาไปถามตรงๆว่า ลูกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเป็นโจร ยิงมาหลายศพแล้วจริงหรือไม่ เขาบอกไม่รู้ แต่ถ้าจริงก็เอาหลักฐานมา ถ้าผิดก็เอาไปประหารกฎหมายไทยประหารได้ อัลเลาะห์ก็บอกว่าห้ามฆ่าคนถ้าฆ่าคนก็เป็นบาปก็ผิดหลักศาสนาอยู่ดี แต่ไม่ใช่สงสัยแล้วไม่มาบอกหรือแสดงหลักฐานว่าสงสัยเรื่องไหน ต้องเอาขึ้นศาลไปให้เขาได้เห็นว่าเอาไปขังไว้จริงๆ แล้วสู้คดีกัน


 


เขาไม่ได้ปฏิเสธความยุติธรรม ไม่ใช่จะเข้าข้างญาติตนเองอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่ขอให้ชัดเจน ไม่ใช่มากลางวันทำเป็นถามๆๆๆๆชุดหนึ่ง กลางคืนก็มาอีกชุดหนึ่ง คราวนี้ใส่ดำหมด มาบุกบ้านตอนเที่ยงคืน ตีสอง เคาะประตู ถีบประตูเข้าไป อุ้มจากเตียงนอนก็มี


 


บางคนนอนอยู่กับเมีย มีลูกเล็กๆบุกเข้ามาในบ้านแล้วจับลูกเมีย มัดมือผูกตา แล้วก็ซ้อมๆๆๆๆๆผัวในบ้านแล้วก็เอาตัวไปเลย รายนี้สองสามวันถัดมาก็เอาศพไปทิ้งไว้ใกล้ๆบ้าน ยับไปทั้งตัว ลูกกับเมียได้ยินจะจะ เมียคนที่ถูกกระทำเป็นครูมีการศึกษาเรียนปริญญาโท พอไปแจ้งตำรวจเขาบอกว่าพวกกระบวนการโจรก่อการร้ายมาเอาตัวไป แต่เขาฟังออกว่าภาษาของคนที่มาเอาตัวไปไม่ใช่ภาษาโจร เป็นภาษาคนมีการศึกษา เป็นภาษาเจ้าหน้าที่


 


ญาติผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าเด็ก ภรรยา หรืออื่นๆจะมีความแค้นที่รอการปะทุสะท้อนออกมาหรือไม่


มันเป็นลักษณะของหลายความรู้สึกปนกัน หนึ่งคือความคับแค้นใจว่า มันมีการกระทำต่อเขาที่เป็นปัจเจกคือครอบครัวเขา สองคือในฐานะที่เป็นกลุ่มคือคนมุสลิมในภาคใต้ทำ เหมือนกับเขาไม่ใช่คนในบ้านในเมืองนี้ กฎหมายไม่สามารถคุ้มครองเขาได้


 


เขาถามว่าเพราะอะไร เพราะเป็นคนเลวหรือ แล้วทำไมคนเลวที่อยู่ที่อื่นกฎหมายก็ยังคุ้มครองยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จับตัวไม่ได้ ทำไมของพวกเขาสงสัยก็ยิงทิ้ง หรืออุ้มหายไป เขาไม่ใช่คนหรือ เป็นคำพูดที่แรงนะ


 


ช่วงที่กรุงเทพมีคดีข่มขืนก่อนหน้านี้คดีหนึ่ง เขายังจับเอาตัวไปทำแผนตำรวจยังช่วยผู้ต้องหาไม่ให้โดนรุมกระทืบ แต่ของเขาหลักฐานไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น ยังพิสูจน์ไม่ได้ด้วยซ้ำกลับหายตัวไปเลย แล้วไม่มีใครช่วย ไม่มีใครแยแสตรงนี้เป็นเรื่องของความขมขื่นในใจ แต่ในส่วนของความแค้นบางครอบครัวก็มี


 


ส่วนเด็กจะยังไม่ได้มองว่าแค้นหรือจะเอาอะไรมาสู้เขามีแต่ความเศร้าความเสียใจ ส่วนมากคนที่หายจะเป็นหัวหน้าครอบครัว คือผู้ หรือบางครอบครัวพ่อตายก็เป็นลูกชายคนโต ที่ดูแลทั้งแม่และครอบครัว กลุ่มเด็กเหล่านี้จะลาออกจากโรงเรียน แล้วพอมาหายไปมันก็แพแตก


 


กลับกรณีล่าสุด "อุ้ม" พฤศจิกายน 2548 เป็นอย่างไร


เป็นเด็กวัยรุ่น 4 คน อายุประมาณ 21- 22 ปี มาจากหมู่บ้านเดียวกันในปัตตานี หนึ่งในสี่คนนี้เคยเป็นผู้ต้องหาในคดียิงนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เดือนตุลา พ.ศ. 2547 ผู้ถูกยิงเป็นลูกของผู้กำกับฯ เย็นวันนั้นตำรวจก็จับผู้ต้องสงสัยได้กลุ่มหนึ่ง อีก 2-3 วันขยายผลไปจับผู้ต้องหาได้เพิ่ม ก็รวมถึงวัยรุ่นคนนี้ด้วย


 


มีการแถลงข่าวต่อหน้ากล้องแล้วเอาแม่ของเด็กมาถามเด็กต่อหน้ากล้องว่ายิงจริงหรือไม่ เด็กคนนั้นพยักหน้าต่อหน้ากล้องทีวี แต่พอหลังจากนั้นเด็กคนนั้นได้มีโอกาสคุยกับแม่เขาอีกครั้งหนึ่งและได้คุยกับทนายเขาบอกว่าเขาถูกขู่บังคับให้รับสารภาพต่อหน้ากล้อง


 


เรื่องขึ้นสู่ชั้นศาล วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ศาลตัดสินยกฟ้อง เพราะหลักฐานไม่พอ เจ้าตัวพอกลับมาที่บ้านก็ระวังตัวโดยตลอด จนใกล้ๆวันฮารีรายอมีเพื่อนในกลุ่มเดียวกันที่ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียกลับมาก็ดีใจ กลุ่มเพื่อนสนิทมีกัน 4 คนก็รวมกลุ่มกัน เพื่อนคนหนึ่งขอยืมรถพี่ชายมา และไปหาเพื่อน ชวนเพื่อนจากมาเลเซียไปกินน้ำชา เข้าใจว่าวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันฮารีรายอก็ซื้อเสื้อผ้าเตรียมจะไปงานเลี้ยง บางคนก็บอกกับแม่ว่าทำกับข้าวไว้จะกลับมากิน สามทุ่มพอออกจากบ้านลืมบัตรประชาชนก็กลับมาเอาก็คงกลัวว่าจะโดนด่านตรวจจับ คราวนี้หายไปเลยทั้งรถทั้งคน รวม 4 คน


 


เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างไรก็คดีนี้


เรื่องนี้มันคึกโครมพอสมควร เพราะคนที่หายเคยเป็นผู้ต้องหามาก่อนทำให้สงสัยกันต่อว่า เอาผิดในศาลไม่ได้ก็มาเอาผิดนอกศาล เช็คบิลตามหลัง ส่วนทางเจ้าหน้าที่และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีบอกว่ารู้เรื่องแล้ว จะตามให้ จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้เรื่องเลย


 


มีข่าวลือตามมาว่ารถไปโผล่ตามค่ายทหารที่โน่นที่นี่บ้าง ข่าวลักษณะนี้มันดีกับใคร สำหรับครอบครัวจะอึดอัดต่อไปว่าถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ สำหรับเจ้าหน้าที่คนก็จะมองในแง่ลบว่าทำตัวเหนือกฎหมาย


 


เจ้าหน้าที่อาจจะได้ข่าว ได้ข้อมูล แต่ภาพรวมทางยุทธศาสตร์เสีย ความน่าเชื่อถือของสถาบันด้านความมั่นคงเสื่อมถอยลงไปทุกวัน ชาวบ้านเสียความไว้เนื้อเชื่อใจ เหลือแต่ความกลัว ภาพรวมของพื้นที่เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน


 


หลายบ้านบอกว่าถ้าหนีไปได้หนีไปแล้ว บางบ้านไม่เห็นผู้ชายเลย หายไปไหนหมดเขาว่าส่งไปทำงานมาเลย์หมด สบายใจกว่า ชาวบ้านบอกเดินอยู่ เตะบอลอยู่ก็โดนเอาตัวไปแล้วไม่ได้กลับเลยช่


 


บทบาทของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ( กอส.) ในระยะหลังเป็นอย่างไรในกรณีแบบนี้


กอส.ทำได้ในส่วนที่ทำได้ จะสร้างความไว้วางใจมันต้องตบมือ 2 ข้าง มีกอส.ที่อยากตบมือแต่ฝ่ายความมั่นคงชักมือหนีตลอด หน้าที่กอส.คือไปสร้างความสมานฉันท์ แต่ทางความมั่นคงไม่ได้สร้างตัวเองให้มีภาพผู้พิทักษ์ที่มีความยุติธรรม แล้วจะมีใครมาสมานฉันท์ด้วย กอส.อีกสิบกอส.ก็ทำอะไรไม่ได้


                          


การเยียวยาที่เคยว่าจะทำเป็นอย่างไร


ตอนนี้มีชุดของนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นคณะกรรมการเยียวยา พยายามจะสืบเสาะ ตอนนี้รายชื่อผู้สูญหาย 21 คนหลังสุดก็มีในบัญชีก็อยู่ในนั้นแล้ว และครอบครัวซึ่งพิสูจน์ได้ในชั้นต้นว่าเป็นครอบครัวของผู้สูญหายจะได้รับความช่วยเหลือเป็นจำนวนเงินประมาณ หนึ่งแสนบาท โดยจ่ายให้ก่อนหนึ่งหมื่นบาทเป็นความช่วยเหลือฉุกเฉิน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ไม่จำนวนที่เพียงพอเพราะบางครอบครัวมีลูก3-4 คนและกำลังเรียนหนังสือ เกือบทุกครอบครัวเป็นหนี้ เนื่องจากต้องกู้เงินมาใช้จ่ายหลังจากหัวหน้าครอบครัวหายไป


 


เรื่องของเยียวยานั้นเป็นความตั้งใจที่ดี แต่เงินหนึ่งแสนก็ไม่พอ ต้องมีอะไรที่ทำให้คนที่เหลือสามารถอยู่ได้ เช่น สร้างงาน ประกันอาชีพ หรือจะทำให้ลูกมีโอกาสเรียนอย่างไร


 


มีครอบครัวหนึ่ง ลูกกำลังเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อพ่อตายไม่มีคนส่งเสีย ไปขอทุนเรียนไม่ได้ โดยได้รับการชี้แจงว่าผไม่มีประเภทพ่อหายแล้วขอทุน ผมได้ฟัง ก็เฮ้ย! มันมีอย่างนี้ด้วย อะไรวะ มันมีทัศนคติด้วย ระบบราชการไทยเป็นระบบที่ไม่กล้าขยับก้น กลัวระเบียบไปหมด แทนที่ว่าจะตีความให้กว้างช่วยอะไรได้ก็ช่วย แต่สำหรับราชการอะไรที่ช่วยไม่ได้ก็ไม่ช่วยไว้ก่อน ระบบราชการจึงเป็นระบบที่ ทำให้คนมีความสุขไม่ได้ นอกจากมีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง เช่นนายกฯลงมาเยี่ยมแล้วสั่งการแบบนั้นจะกล้า คนที่ใหญ่กว่ากรอบมาสั่งจะแหวกกรอบได้ แต่ช่วงหลังนายกฯ ไม่กล้าลงใต้อีกก็ไม่มีคนกล้าแหวกกรอบ


 


เรื่องคนหายมันมีความเจ็บช้ำน้ำใจที่กดทับลงไปอีกคือ ในช่วงแรก ครอบครัวของกลุ่มบุคคลที่สูญหายหลังเหตุการณ์ปล้นปืน หลายครอบครัวมีโอกาสได้พบนายกฯ รวมทั้งครอบครัวที่ถูกบุกเข้าไปจับกุมแล้วถูกกระทืบต่อหน้าลูกเมีย นายกฯได้มาพบแล้วสัญญาว่าจะดูเรื่องให้ แล้วก็หายไปเลย เมียก็ยังจำจนเป็นเรื่องที่อยู่ในใจว่า นายกฯเห็นใจบอกจะดูให้ถึงตอนนี้ก็ไม่ได้อะไร ศพอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เขาว่าตายก็ตาย...แต่ศพอยู่ที่ไหน จะได้ทำพิธีได้


 


การเยียวยาในกรณีคนหายล่ะเป็นอย่างไร


การเยียวยาในกรณีคนหายเป็นเจตนาที่ดี แต่ทำได้เพียงในเรื่องของเงินและเป็นจำนวนน้อย


ที่มากกว่านั้นคือหลายคนรู้สึกว่าการเยียวยาเป็นการซื้อความยุติธรรม คือเอาเงินมาให้แต่ไม่ให้คำตอบว่าใครเป็นคนกระทำ เงินแสนหนึ่งที่ให้ถามว่าตอบได้หรือไม่ว่าใครเอาสามี เอาลูกเขาไป แสนหนึ่งซื้อชีวิต ซื้อความถูกต้อง ความยุติธรรมได้หรือไม่


 


ในหลายประเทศจะมีการเยียวยาเฉพาะหน้าและหลังจากพิสูจน์ทางกระบวนการยุติธรรมแล้วจะมีการเยียวยาระยะยาว


 


แต่ขอไม่โทษทางคณะกรรมการเยียวยาเพราะเขาไม่ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการด้วยกัน ถ้าระดับสูงสุดตั้งแต่นายกฯ ลงมา ส่งสัญญาณว่าการเยียวยาจะต้องควบคู่ไปกับการสอบสวนทางกระบวนการยุติธรรมทุกอย่างก็จบและรัฐบาลยอมรับในสิ่งที่ได้ทำผิดพลาดไป ให้มีการตรวจสอบดำเนินการเอาผิดและลงโทษได้ แต่ตอนนี้ชาวบ้านยังรู้สึกว่าเอาเงินมาฟาดหัว เขาตายแล้วเอาเงินมาให้แสนนึงแล้วเดินไปมันไม่ใช่ ในใจเขาจะคิดอย่างไร


 


มีข่าวว่าตำรวจในพื้นที่ภาคใต้ จะดำเนินการล้างป่าช้า เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับกรณีคนหายหรือไม่


คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ภายใต้สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์มีความพยายามที่จะขอพิสูจน์ไอดีของศพไร้ญาติในปัตตานีที่มีป่าช้าคนจีน และกุโบร์หรือป่าช้ารวมของมุสลิม ซึ่งการพิสูจน์ป่าช้ามุสลิมนั้นติดในเรื่องข้อวินิจฉัยว่าไม่ให้ขุดศพขึ้นมา ความจริงในหลักศาสนาบอกว่าขุดได้ถ้าเป็นเรื่องทางกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย แต่ในพื้นที่ตีความว่าไม่ให้ขุด


 


ส่วนในป่าช้าจีนนั้นขุดได้ จึงมีความกลัว ดังนั้นจึงคิดว่าถ้าขุดแล้วทำความสะอาด เผากระดูกก็ทำให้ติดตามอะไรไม่ได้


 


อย่างไรก็ตามการล้างป่าช้ามีการทำเป็นประจำทุกปี แต่ถ้ามีการเร่งรัดจนผิดสังเกตจึงเป็นเรื่องทีควรจับตามอง ซึ่งมีข้อสังเกตกันไว้แล้วว่า ทันทีที่คุณหญิงพรทิพย์ เปิดประเด็นอยากพิสูจน์ไอดีของศพไม่มีญาติในป่าช้าจีนก็มีข่าวว่าจะมีการล้างป่าช้าขนานใหญ่ อย่างไรก็ตามตอนนี้ทีมของคุณหญิงพรทิพย์ยังไม่ได้เริ่มลงไปทำการพิสูจน์


 


ตอนนี้กระแสการเมืองกลบพื้นที่ข่าวส่วนใหญ่ ในขณะที่กระแสสถานการณ์ภาคใต้ดูเงียบไป คุณคาดว่าสถานการณ์ต่อไปจะอันตรายขึ้นหรือไม่


มันเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อและไม่มีคำอธิบายชัดเจน บางคนเบื่อที่จะติดตามโดยเฉพาะคนนอก ในขณะที่ในพื้นที่มันแย่ลงทุกวัน คนมองว่ามันหมดที่พึ่งแล้ว กระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายมันพึ่งไม่ได้ มีทางเลือกคืออยู่เฉยๆก้มหน้ารับตารับการถูกกระทำจากทั้งสองฝ่ายต่อไป อีกทางคือลุกขึ้นสู้แต่ไม่ว่าจะสู้กับเจ้าหน้าที่ก็ดี สู้กับผู้ก่อการร้ายก็ดีมันก็มีผลกรรมร้ายตามมาทั้งคู่ สู้กับเจ้าหน้าที่ก็เสี่ยงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่จัดการด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง สู้กับผู้ก่อการด้วยการไปเข้ากับเจ้าหน้าที่ผู้ก่อการร้ายก็ตามมาฆ่าล้างโคตรก็เป็นไปได้


 


ทางที่สามคือหนี ไปไหนก็ได้นอกพื้นที่ แต่ว่าทางไหนก็ไม่ดีสักอย่าง มันเป็นบ่อนทำลายสายใยชุมชน


                                  


สรุปว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นปัญหาเดิมแต่เงียบหายไปในช่วงนี้


มันเหมือนจะดีขึ้นในช่วงหนึ่งที่คนสนใจ แต่พอกระแสการเมืองกลบ เรื่องนี้กลับเข้ามาสู่วงจรอุบาทว์เหมือนเดิม และมันเป็นคลื่นใต้น้ำจะประทุหรือไม่มันไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อไหร่ แต่มันน่าจะประทุเพราะเงื่อนไขทั้งหมดไม่มีการแก้เลย มีแต่สุมเข้ามาเพิ่มเพียงแต่ไม่มีพูดขึ้นมาแค่นั้นเอง


 


แม้พยายามจะทำอะไรบ้างแต่ฝ่ายความมั่นคงไม่ร่วมมือ ฝ่ายนโยบายไม่ร่วมมือ ฝ่ายรักษากฎหมายไม่ร่วมมือ ก็ต้องเคว้ง ฝ่ายยุติธรรมหรือศาลทำงานได้ค่อนข้างดีก็ขอชมแต่เป็นกระบวนการขั้นปลายสุดส่วนมากไปไม่ถึงมันตายหรือน่วมก่อนที่จะถึงศาล


 


ที่น่าห่วงคือตอนนี้มีกรรมการต่างๆเกิดขึ้นมา แล้วก็ชอบประชุมแต่ชาวบ้านไม่รู้ว่าประชุมอะไรและชาวบ้านเคยร้องเรียนมันแล้วไปไหน เพราะร้องเรียนเรียนไปหลายแห่ง เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนชาวบ้านบอกว่าไม่รู้จะให้ข้อมูลไปทำไม มาถามก็คงตอบแต่คงไม่ดิ้นรนไปแจ้งความ เอาเวลามาทำมาหากินให้ครอบครัวอยู่รอดดีกว่า ทุกวันศุกร์ก็ทำบุญให้คนที่หายเพราะถือว่าตายไปแล้ว


 


กรรมการต่างๆที่ตั้งขึ้นไม่มีการสื่อสารกับชาวบ้านที่ชัด การมีกรรมการต่างๆมากมายไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ หรือเงื่อนไขที่คับแค้นข้องใจหมดไป ยิ่งคนที่มีความรู้พอที่จะทราบว่ากรรมการเหล่านี้ที่ตั้งขึ้นมีหน้าที่อะไรจะยิ่งเจ็บใจมากขึ้น เมื่อในที่สุดมันปรากฏแต่ส่วนที่ตรงกันข้าม


 


เช่น กรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่กรือเซะ หรือตากใบ มีคำตอบออกมาว่ากรือเซะเจ้าหน้าที่ผิด ของตากใบเจ้าหน้าที่ก็ผิดอีกแต่มันไม่มีเรื่องยุติธรรมเกิดขึ้น บางคนบอกว่าไม่มีรายงานเสียยังดีกว่า เมื่อวันที่ครบรอบหตุการณ์กรือเซะ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา มีคนที่เสียชีวิตหลายจุด หลายคนบอกว่าเห็นชัดๆว่าลูกโดนยิงหลังจากที่มอบตัวแล้วแต่ไม่มีใครเอาผิดกับคนที่ยิงลูกเขา ดังนั้นปล่อยให้ไม่มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเสียดีกว่า หาข้อเท็จจริงเพื่ออะไร เพื่อจะตอกย้ำจิตใจว่าเจ้าหน้าที่ฆ่าลูกเขาได้ไม่ต้องรับโทษหรือ


 


ทางแก้ไขควรเป็นอย่างไร


มันต้องแก้หลายระดับ เรื่องภาคใต้คือหนังชีวิตที่ยาวมากๆเรารังแกเขาไม่หยุดตั้งแต่ไปยึดเขามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา การสร้างชาติ อุดมการณ์ชาตินิยมมันถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าในตำราสังคมศาสตร์หรือในเพลงชาติผูกพันอยู่ในนั้นหมดว่า รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยมันไม่บอกว่ารวมกันมาอย่างไร ไปเอาเลือดเขามาทำให้เขาต้องรวมกับเราหรือไม่ แต่ความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้นมันต้องไล่แก้ขนานใหญ่


 


แต่ก็มีปฏิกิริยาทุกครั้งที่ขอให้ชำระตำราประวัติศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ นโยบายการศึกษาที่ให้โอกาสการเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเอาเข้าจริงๆแล้วมันไม่ได้ใช้ ในประวัติศาสตร์ภาคใต้ก็มีแค่เรื่องคุณหญิงจัน คุณหญิงมุกสู้กับพม่ามีแค่นั้นจริงๆบทบาทมีแค่ช่วยปกป้องกรุงเทพ


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะแก้ได้เฉพาะหน้าแบบด่วนๆเลยคือการยอมรับผิด และต้องยอมรับโทษด้วย ไม่ว่าจะทางวินัยหรือทางอาญาก็ต้องรับโทษ อีกด้านหนึ่งคือการชดใช้


 


ถามว่ามีการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ ตอบว่ามี แต่ใครเป็นคนแบ่งแยกดินแดนได้สำเร็จ ก็คือระบบการเมืองความยุติธรรมในไทยแบ่งแยกเขา กระบวนการแบ่งแยกดินแดนมันอยู่ที่กรุงเทพฯและเป็นกระบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอายุเก่าแก่มาก


 


หมายเหตุ


รายชื่อผู้หายตัวไปในกรณีล่าสุด พฤศจิกายน พ.ศ.2548


 


กูฮาหมัด อมีเด็น อายุ 21 ปี อดีตผู้ต้องหาคดียิงนักศึกษามอ.วิทยาเขตปัตตานีแต่ศาลยกฟ้อง


แวไซนุง แวนาแว อายุ 22 ปี เจ้าของพาหนะในวันที่หายตัวไป


อับดุลเลาะห์ สาหลำ อายุ 21 ปี


มูฮัมหมัด เซ็นเหร็น อายุ 22 ปี

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net