Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการเสวนาเรื่อง "เข้าใจคนรากหญ้าในสังคมไทย" เนื่องในงาน "ครบรอบ 6 รอบนักษัตร ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม" โดยมีนักวิชาการ มช.วิพากษ์ นักการเมือง ว่า มองคนรากหญ้า คือ "โหวตเตอร์" หนึ่งเสียง หนึ่งโหวต เท่านั้นเอง เพราะคนกลุ่มนี้ ถูกกดตรึงโดยระบบอำนาจท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับอำนาจส่วนกลางที่เรียกว่า "ประชานิยม" และค้านแนวคิด "นัคราประชาธิปไตย" เนื่องจากปัจจุบัน คนรากหญ้าเคลื่อนไหวปฏิสัมพันธ์กับเมืองมากขึ้น พร้อมเสนอให้"ปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม" ไปพร้อมๆ กับปฏิรูปการเมือง


 


ฉลาดชาย รมิตานนท์


ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


           


ผมยังไม่รู้จะพูดถึงคนรากหญ้าในลักษณะไหน เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิว่าคนชั้นกลางเป็นคนที่ไม่เข้าใจคนรากหญ้ามากที่สุด ผมก็เป็นคนชั้นกลาง และผมก็ไม่มีความเข้าใจคนรากหญ้าเลย คิดว่าเคยเข้าใจ แต่ว่าพอสำรวจตัวเองว่า จะมาพูดแบบนี้แล้วรู้สึกว่าไม่มีความเข้าใจคนรากหญ้า สาเหตุที่สำคัญ ผมไม่มีประสบการณ์ของความเป็นคนรากหญ้า ประสบการณ์ของผมคือความเป็นคนชั้นกลางที่อยู่บ้านติดแอร์และนั่งขับรถยนต์ไปไหนต่อไหนใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย ความจนความยากต่าง ๆ ก็ไม่เคยเผชิญหน้าจริง ๆ รู้แต่เรียนรู้จากการคิดการอ่านและการฟัง


 


เพราะฉะนั้น การเข้าใจคนรากหญ้าของผมมีจำกัด เมื่อมีจำกัดแล้วโจทย์ที่ตั้งไว้ในวันนี้ โจทย์ตั้งไว้ว่าเข้าใจคนรากหญ้า มันจึงทำให้ผมต้องมาย้อนกลับดูว่าทำไมต้องเข้าใจคนรากหญ้า ทำไมคนรากหญ้าถึงเป็นสาระสำคัญของความพยายามที่จะทำความเข้าใจของพวกเราและอีกหลาย ๆ คน ผมคิดว่า คำตอบก็มาจากที่อาจารย์นิธิได้ให้นิยามไปแล้วว่าคนรากหญ้าคือใคร นั้นก็คือ คนรากหญ้าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นคนที่ทำการผลิตเป็นพลังหลักของการผลิตของประเทศ เช่น ทำไร่ ทำนา เป็นเกษตรกรต่าง ๆ ทั้งเป็นแรงงานด้วย


 


แต่ผมคิดว่า คนรากหญ้า ถ้าทำเพียงแต่เท่านั้น ถ้ามีความหมายว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรก็ดี สินค้าอุตสาหกรรมก็ดี ถ้ามีความหมายแค่นั้น คนเขาอาจจะไม่สนใจเท่าไร โดยเฉพาะถ้าผู้ที่สนใจอาจจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก แต่ปรากฏว่า มีคนสนใจคนรากหญ้าเยอะ


 


ผมมานั่งคิดดูแล้ว ผมก็ได้ข้อสรุปซึ่งทุกคนก็ทราบกันดี แท้ที่จริงแล้ว คนรากหญ้าเป็นคนที่สามารถไปออกเสียงลงคะแนนได้ คนรากหญ้าก็คือ ฐานเสียงของระบอบประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นเมื่อคนรากหญ้ามีความสำคัญในลักษณะนั้น จึงทำให้คนรากหญ้าเป็นที่สนใจของฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมือง ที่เขาจะเอาคนรากหญ้าเข้ามาสนับสนุนฐานอำนาจทางการเมืองของเขา


 


ส่วนเขาจะสนใจว่าคนพวกนี้จะมีความกินดีอยู่ดี หรือว่าจะมีรายได้ดี จะไม่เป็นหนี้เป็นสินหรือไม่นั้น ผมว่าเป็นประเด็นรอง ประเด็นหลักคือเขามองเห็นเป็นผู้โหวตหนึ่งเสียง หนึ่งโหวต เมื่อเป็นหนึ่งเสียง หนึ่งโหวต มันก็ไม่มีอะไรสำคัญยิ่งไปกว่านั้น สำหรับผู้ที่มองคนรากหญ้าจากทัศนะของผู้ที่ต้องการได้อำนาจในการเมืองการปกครองของประเทศ


           


สำหรับนักวิชาการ ก็อาจจะต่างกับคนชั้นกลางทั่วไปสักนิดหนึ่ง คือมีความกังวล มีความกังวลอาจจะโดยเพราะวิชาชีพหรืออะไรก็ไม่ทราบ ทำให้มีความรู้สึกว่าต้องสนใจคนรากหญ้านะ ไม่อย่างนั้นสังคมจะอยู่ไม่ได้ประเทศจะอยู่ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องหันเหมาสนใจคนรากหญ้า


 


แต่กระแสการศึกษาคนรากหญ้ามันก็มีหลายกระแส กระแสที่ศึกษาไปเพื่อที่จะไปแก้ไขปัญหาชนบทในแนวของกรมพัฒนาชุมชน หรือว่าในแนวของหน่วยราชการที่พัฒนาชนบทต่าง ๆ ก็มี


 


แต่ว่าประเด็นปัญหาที่ผมคิดว่ามันค้างคาใจอยู่ ก็คือว่า มันมีนักวิชาการบางกลุ่มที่สนใจคนรากหญ้าในฐานะที่เป็นทั้งเจ้าของเสียงในการโหวต แล้วก็เป็นทั้งเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งคำว่าอำนาจอธิปไตย ก็เป็นคำที่ผมมีความคิดว่ามันเบลอ ๆ เหมือนกัน ถ้าเราพูดอยู่ตลอดเวลาว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมันก็ถูก แต่ในขณะเดียวกันถ้ามาดูการเมืองเท่าที่เป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย คนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็คือที่อาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ว่า ก็คือตั้งแต่คนชั้นกลางเป็นต้นไป เพราะฉะนั้น การเมืองมันจะเป็นการเมืองของพวกผู้นำ มากกว่าที่จะเป็นการเมืองของชาวบ้าน


 


มาถึงข้อสรุปตรงนั้นว่า การเมืองมันไม่ใช่การเมืองของประชาชน นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีพวกเราอยู่ด้วย ก็พยายามที่จะผลักดันให้เกิดการโอนถ่ายอำนาจลงไปที่ประชาชน ซึ่งก็คือคนรากหญ้า แต่ทีนี้การที่จะโอนถ่ายอำนาจลงไป มันก็จะไปเข้าล็อคของหนึ่งเสียงหนึ่งโหวตอีก ก็จะทำให้คนรากหญ้ามีความหมายแต่เพียงโหวตเตอร์ ซึ่งวางบนฐานของความเป็นปัจเจก


 


และความเป็นปัจเจกนี้ก็ไม่ได้มีผลกระทบแต่เฉพาะในเรื่องของการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง หนึ่งเสียงหนึ่งโหวตเท่านั้น แต่ว่าความเป็นปัจเจกซึ่งเป็นวัฒนธรรมของประชาธิปไตยตะวันตกมันก็เข้าไปตอกย้ำความเป็นปัจเจกซึ่งน่าจะมีอยู่แล้วในชุมชนรากหญ้า เพียงแต่ว่าความเป็นปัจเจกในในชุมชนรากหญ้าถูกกดเอาไว้ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี ด้วยจารีต ด้วยความเคารพในผู้อาวุโส ด้วยความอยู่รอดของชุมชน จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันแทนที่จะแข่งขันกัน


 


ดังนั้นความเป็นปัจเจก ซึ่งผมเชื่อว่ามันมีอยู่ในชุมชนรากหญ้า เมื่อมันได้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยในความหมายที่เป็นเพียงการเลือกตั้ง มันก็เลยทำให้ความเป็นปัจเจก มันแข็งขึ้น อันนี้ไม่ต้องพูดถึงทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเน้นความเป็นปัจเจกของแต่ละคนมากกว่าที่จะเน้นความเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้รากหญ้าตกอยู่ในสภาวะที่อาจารย์นิธิพูดถึง แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ความเข้าใจของเราที่มีต่อชุมชนรากหญ้ายังค่อนข้างมีจำกัด ผมคิดว่ามีอยู่จำกัดเยอะเลย          


 


บางครั้ง เราอาจจะมีความรู้สึกว่า ทำไมคนรากหญ้าถึงออกมาสนับสนุนคุณทักษิณทั้ง ๆ ที่เขาเป็นผู้เสียผลประโยชน์ จากการวิเคราะห์ของอาจารย์นิธิ ทำไมเขาออกมาเต็มไปหมดตามจังหวัดต่าง ๆ แล้วก็ยังมีวี่แววว่าจะออกมาอีก อาจจะปลอบใจว่าเขาถูกจ้างมา ในขณะเดียวกัน ผมก็คิดว่า ก็มีคนที่ถูกจ้าง แต่ในขณะเดียวกันคนที่ไม่ถูกจ้างก็น่าจะมี หรือคนที่ไม่ถูกจ้างยินดีที่จะมาอยู่แล้ว ถ้าเราไปคิดว่าเขาถูกจ้างเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าเป็นอันตรายสำหรับเรา หรือเราไปคิดว่าเขามีจิตสำนึกที่ผิด นี่เป็นศัพท์มาร์กซิสต์ที่บอกว่า ชาวนากรรมกรถูกครอบงำทางความคิด จนกระทั่งมีจิตสำนึกที่ผิด แล้วเราจะมีสิทธิอะไรไปบอกว่า เขาคิดผิดในเมื่อสิ่งที่เขาทำอยู่นี้เขาอาจจะคิดว่าถูก


 


ผมไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด แต่ผมคิดว่าปัญหามันอยู่ที่เราไม่เข้าใจ ปัญหาที่เรายังไม่มีความเข้าใจคนรากหญ้าเพียงพอ เท่าที่ผ่านมาเราอาจจะมีอคติตรงที่ว่าเราอยากจะเห็นประชาธิปไตยที่คนรากหญ้ารู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารทุกชนิด รู้เท่าทันระบบโลก รู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ รู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่าง รู้เท่าทันนักการเมือง


 


เพราะฉะนั้น เราก็พยายามที่จะให้เขามีสถานีวิทยุเข้าถึงสื่อ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารอะไรต่าง ๆ แต่ผมคิดว่าอันนั้นก็เป็นความคิดที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ยังเชื่อว่า มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คนอย่างผมก็ไม่เข้าใจเรื่องความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์ เรื่องความซับซ้อนของตลาดหุ้น เรื่องความซับซ้อนของการเคลื่อนย้ายของทุนอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งผมว่าไม่มีวันเข้าใจ ผมพยายามอย่างไร ผมก็ไม่เข้าใจอยู่ดี


 


บางครั้ง ก็ได้แต่เออออตามเขาว่า มันเป็นอย่างนี้ซุกหุ้นก็เออออตามเขาไปด้วย ผมคิดว่า ถ้าผมพยายามขนาดนี้ ผมยังไม่เข้าใจ ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นเรื่องลำบากขนาดไหนสำหรับคนรากหญ้าที่จะเข้าใจความซับซ้อนเหล่านี้ แต่ถ้าจะให้บอกว่า แล้วจะให้ทำอย่างไรนั่งเฉย ๆ ก็ทำไม่ได้ ก็คงต้องลุกขึ้นมาพูดว่าทำอย่างไรถึงจะให้เขาได้รับข้อมูลข่าวสารที่เท่าทัน แต่จะทำอย่างไรที่จะให้รู้ทัน ผมว่าชนชั้นกลางเองก็ยังรู้ไม่ทันโลกาภิวัฒน์


 


ผมไม่ได้บอกว่ารู้ไม่ทันคุณทักษิณนะ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิว่า ถ้าเราเอาคุณทักษิณออกไป ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหามันได้รับการแก้ไข เพราะว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในขณะนี้ มันไม่ใช่ตัวคุณทักษิณ แต่มันเป็นระบบทุนโลกาภิวัฒน์ หรือว่าระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ซึ่งมันมีการเคลื่อนย้ายของทุนที่ไม่จำกัด มันมีการเปิดตลาดเสรีมันมีการลดภาษีอากร มีการผลักดันทำให้เกิดการค้าขายทั่วโลก ซึ่งระบบนี้มันเป็นระบบที่มันอยู่เบื้องหลัง


 


คุณทักษิณเป็นเพียงคนที่เข้ามาฉวยโอกาสในช่วงระบบนี้กำลังถูกผลักดันขึ้นมาโดยกระแสของโลก แกเข้ามาฉวยโอกาสได้อย่างแนบเนียน ถึงแม้ว่าเราจะบอกว่าเรารู้ทัน แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็คิดว่าความรู้ทันของเราก็ค่อนข้างจำกัด


                       


ประเด็นสุดท้ายจริง ๆ คือประเด็นนิยามที่ผมยกมาเมื่อกี้ คือ คนรากหญ้าคือคนที่อยู่ห่างไกลชายขอบจากอำนาจรัฐ ถ้าเราใช้นิยามตัวนี้ ความเป็นคนรากหญ้าจะลดลงหรือหมดไปเมื่ออำนาจรัฐเข้าไปถึงแล้วให้ประโยชน์กับเขา เพราะฉะนั้น ความเป็นคนรากหญ้าจึงไม่ได้คงที่อยู่ตลอดเวลา แต่การเป็นคนรากหญ้าขึ้นอยู่กับว่า อำนาจรัฐสามารถจะเข้าหาเขาได้มากน้อยแค่ไหน


 


ในปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าคุณทักษิณประสบความสำเร็จประการหนึ่ง คือ สามารถจะเข้าถึงคนรากหญ้าได้ดีกว่ารัฐบาลชุดก่อน ๆ แล้วสามารถเข้าถึงคนรากหญ้าได้ดีกว่านักวิชาการ และเขาอาจจะเข้าใจคนรากหญ้าได้ดีกว่าเราด้วยซ้ำไป


 


ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากจะจบลงว่า สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมด พูดมาจากความไม่รู้พูดมาจากคำถามที่มีเยอะแยะมากมาย และผมอยากจะเชิญชวนให้ช่วยกันคิด เพราะว่าคราวนี้ เราเห็นโจทย์ใหม่มหาศาลเลยว่า คนรากหญ้าไม่ได้ออกมาอย่างที่เราคิดว่าเขาจะออก แล้วคนรากหญ้าก็อาจจะไม่เป็นคนรากหญ้าในอุดมคติทางวัฒนธรรมที่เราคาดคิดว่าเขาเป็น


 


แต่นั่นก็ไม่ใช่ความผิด แต่นั่นก็ไม่ใช่อาชญากรรม แต่นั่นเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจ เพื่อที่จะหาคำตอบว่า จะทำอย่างไรกันต่อไปในอนาคต


 


ชยันต์ วรรธนะภูติ


คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


ผมต้องขอสารภาพเรื่องของคำว่า "คนรากหญ้า"ผมเป็นคนตั้งโจทย์ขึ้นเองในงานเสวนาหัวข้อเรื่อง          เพราะคิดว่าเราไม่เข้าใจอย่างที่อาจารย์ฉลาดชายพูดมาเหมือนกัน รู้สึกว่าเราไม่เข้าใจคำ ๆ นี้ ว่าเราควรจะมองกันอย่างไร ควรจะทำความเข้าใจอย่างไร มันมีปรากฎการณ์หลายอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่า มีคนบางกลุ่มที่อาจจะเข้าใจจิตวิทยาของคนรากหญ้าได้ดีกว่าของนักวิชาการที่ได้ศึกษามาเป็นระยะเวลาเกือบ 30-40 ปีมาแล้ว


 


นักวิชาการรุ่นก่อน ถ้าพูดถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่เป็นคนอยู่ในเมือง มักจะบอกว่าเป็นชาวไร่ชาวนาและในช่วงปี 2520 คำว่า ชาวไร่ชาวนา เป็นคำที่พวกเรา ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคมหรือว่านักพัฒนา ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่เราต้องการทำความเข้าใจ และต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เขาเผชิญอยู่


           


แต่หลังจากนั้นมา ช่วงประมาณปี 2530 กว่าๆ เราเริ่มรู้สึกว่าคำว่า ชาวนา มันไม่สามารถจะใช้อธิบายสภาวะที่ดำรงอยู่ของคนกลุ่มนี้ได้อย่างชัดเจน ผมจำได้ว่าเมื่อราว ๆ ปี พ.ศ. 2536-2537 เราเคยจัดเวทีนี้ขึ้นมา ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรากำลังรณรงค์รัฐธรรมนูญ เราใช้คำว่า "คนชายขอบ" คำว่าคนชายขอบ เป็นคำที่นักวิชาการนักศึกษาโดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลายเพื่อใช้มาอธิบายปรากฏการณ์ที่ว่า คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงอำนาจ หรือเข้าไม่ถึงทรัพยากรเป็นคนที่อยู่ชายขอบของอำนาจ


 


เมื่อเราใช้แนวคิดนี้ทำความเข้าใจกับคนชายขอบ ก็รู้สึกว่า กรณีของคนชายขอบ ได้ผ่านประสบการณ์และได้ทดลองใช้กลไกหรือวิธีการต่าง ๆ ปรับปรุงชีวิตของเขา เขาก็ไม่ใช่อยู่ชายขอบเสมอไป เขาอาจจะสามารถต่อรองอำนาจของส่วนกลางได้เหมือนกัน


 


เพราะฉะนั้น คำว่าชายของจริง ๆ เริ่มมีความหมายในการทำความเข้าใจ ผมคิดว่าเรากำลังพูดถึงคนกลุ่มไหนกัน ถ้าพูดอย่างกว้าง ๆ ผมคิดว่า เรากำลังพูดถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ช่วงล่างของสังคม อาจจะเป็นที่อยู่ในช่วงล่างทางเศรษฐกิจ หรืออำนาจทางการเมือง


 


แต่ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่า เราจะมองคนรากหญ้าอย่างไม่สัมพันธ์กับคนชั้นกลางอยู่ในเมืองก็ไม่ได้ แต่ว่าเราต้องระมัดระวังอย่างหนึ่ง ที่ผ่านมา มีเวทีที่ธรรมศาสตร์ปีที่ผ่านมา ที่พูดถึง "นัคราประชาธิปไตย" คำว่านัคราประชาธิปไตย เป็นคำที่อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เขียนไว้ในหนังสือที่ว่าสองนัคราประชาธิปไตย และพยายามจะแบ่งคนในสังคมไทยมีอยู่สองกลุ่มหรือสองขั้ว คือกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มคนที่อยู่ในชนบท และกลุ่มหนึ่งคือคนในเมือง


 


กลุ่มคนในเมือง หมายถึงกลุ่มคนในเมืองที่มีโอกาสดีกว่า มีเสรีภาพเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีการศึกษา มีฐานะดี และอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นคนที่อยู่ในชนบท ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและอาจจะมีระดับการศึกษาด้อยกว่า หรือว่ามีโอกาสที่มีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยกว่า ไม่ใช่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ดังที่มีคนพูดว่า คนชนบทซึ่งเป็นโหวตเตอร์เป็นผู้เลือกรัฐบาล แต่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯเป็นคนที่ปลดรัฐบาลออก


 


แต่ผมคิดว่า การมองปัญหาแบบสองขั้วนี้ คือกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มชนบท กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มในเมือง 2 นักคราที่มีรูปแบบประชาธิปไตยแตกต่างกัน ผมคิดว่า ก็ยังไม่ทำให้เราเข้าใจคนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในสังคมได้อย่างดี


 


ผมคิดว่า ในปัจจุบันนี้ เราไม่อาจจะพูดได้ว่า คนในชนบทมีอาชีพหรือมีการทำมาหากินที่อาศัยจากท้องไร่ท้องนาอย่างเดียว คือไม่ใช่เป็นชาวนาทั้งหมด คนกลุ่มนี้อาจจะมีบางส่วนที่ทำไร่ทำนา ในบางฤดูกาล บางปี หรือในครอบครัวของเขาเองก็ออกไปทำงานด้านอื่นไม่ว่าจะเป็นแรงงานรับจ้าง เป็นคนขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ซึ่งก็มีการแสดงออกทางการเมืองอย่างที่เราได้เห็นอยู่ หรือว่าเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาขายแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ


 


ผมมองเห็นคนกลุ่มนี้อยู่ระหว่างกลาง ระหว่างคนที่กำลังทำไร่ทำนากับคนที่อยู่ในเมือง คือเป็นคนที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ มีวิถีชีวิตบางส่วนที่พึ่งพาทรัพยากรเป็นชาวไร่ชาวนา หรือมีวัฒนธรรมแบบชนบทอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งก็ได้เข้ามาสู่สังคมในเมือง เป็นสังคมของคนชั้นกลาง ได้รับข้อมูลข่าวสารเหมือนคนชั้นกลาง มีโทรทัศน์ มีมือถือ มีรถจักรยานยนต์ และเคลื่อนย้ายแรงงานตามฤดูกาล และเป็นคนที่เคลื่อนไปเคลื่อนมาอยู่ระหว่างชนบทกับเมือง


 


ผมคิดว่าตรงนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องหันมาทำความเข้าใจว่า ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมันเป็นอย่างไร แต่เดิมเรามองว่าคนติดอยู่แต่ในหมู่บ้าน ติดกับไร่กับนา แต่ปัจจุบันผมคิดว่าไม่ใช่อย่างนั้น คนในชนบท ถึงแม้จะมีไร่มีนา ปัจจุบันหลายคนก็ได้ขายที่ไร่ที่นาไป หรือได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทำให้เขาต้องสูญเสียทรัพยากรไป ในครอบครัวของคนชนบท ที่เราเรียกว่าคนรากหญ้า พ่อแม่อยู่ในหมู่บ้าน แต่ลูกออกไปทำงานในเมืองเดินทางไปเดินทางมา


 


ถ้าดูจากเชียงใหม่ จะเห็นว่าเรามีประชากรที่อยู่รอบนอกจำนวนมาก ที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในชนบท แต่เข้ามาทำงานในเมือง ขับมอเตอร์ไซด์มาทำงานตอนเช้าพอตอนเย็นก็เดินทางกลับ หรือบางคนมาอยู่ในหอพักคนกลุ่มนี้ เป็นคนที่ได้รับอิทธิพลจากข้อมูลข่าวสารที่โลกทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ได้ป้อนให้เขาโดยผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อที่ถูกครอบคลุมโดยรัฐ


 


ดังนั้นผมคิดว่า จิตสำนึกหรือว่าวัฒนธรรมไม่ใช่กลุ่มชาวบ้านที่นับถือผีปู่ย่าอย่างที่เราเคยพูดถึงกันเมื่อยี่สิบปีก่อน ปัจจุบัน คนเหล่านี้ไม่ได้ยึดอยู่กับประเพณีหรือคุณค่าแบบเดิมแล้ว มีความขัดแย้งในหมู่บ้าน มีความขัดแย้งในครอบครัว บางทีในครอบครัวเองหรือว่าในหมู่บ้านเองก็มีวิถีชีวิตแตกต่างกัน เราอาจจะเห็นทั้งความเป็นเมืองและความเป็นชนบทอยู่ด้วยกันในสังคมของคนรากหญ้าที่เราอยู่ หรือเราเห็นวัฒนธรรมสองอย่างดำรงอยู่ด้วยกัน หรือเราเห็นการเปลี่ยนแปลงจากชนบทหรือจากคนรากหญ้าที่อยู่กับท้องไร่ท้องนามาอยู่ในที่เมือง


 


คนเหล่านี้ ตกอยู่ในโครงสร้างทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ที่อาจารย์นิธิได้อธิบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่สูญเสียทรัพยากรจะต้องอาศัยการกู้ยืมเงินทุนทั้งนอกระบบและในระบบ และยิ่งมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการผลิตสินค้าด้านการเกษตรเพื่อขายไปไม่ได้อาศัยพึ่งพาทรัพยากร ก็ยิ่งทำให้ตกอยู่ในวังวนของการกู้หนี้ยืมสินมาโดยตลอด ยิ่งใครที่ปลูกพืชไร่ ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือลำไย ก็จะตกอยู่ในวัฏจักรของการกู้หนี้ยืมสิน


 


แต่ผมคิดว่า สิ่งที่ผมให้ความแตกต่าง ก็คือเราอาจจะต้องมาพิจารณาอยู่อย่างหนึ่งว่า นอกจากคนกลุ่มนี้อยู่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ชีวิตเขาเข้าสู่ระบบการพึ่งพาระบบตลาด แล้วสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในระยะยาว อาจจะเป็น 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เรามีระบอบทักษิณ ก็คือการที่รัฐส่วนกลางได้กระจายอำนาจออกไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่น การกระจายอำนาจออกไป ผมคิดว่าไม่ได้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายในรัฐธรรมนูญที่เราต้องการไว้


 


อันที่จริงแล้ว อำนาจจากส่วนกลางงบประมาณ การตัดสินใจต่าง ๆ กลับลงไปอยู่ในมือของโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่มีดำรงอยู่ก่อนแล้ว อย่างที่เราเข้าใจแล้วว่าไม่ว่าจะเป็น อบต.ที่ไหนก็ตาม ส่วนใหญ่ก็คือ ผู้ที่มีอำนาจในท้องถิ่น หรือมีผลประโยชน์ในการควบคุมทางเศรษฐกิจ ควบคุมทรัพยากรหรือควบคุมการเงินที่กดทับหรือที่มีบทบาทกำหนดชะตากรรมของชาวบ้านเหล่านี้


 


ผมคิดว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวค่อนข้างจะมีความสำคัญทั้งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่ผ่านโดยสื่อมวลชนที่มีการควบคุม อันที่สองคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจในท้องถิ่นหมายถึงกลุ่มผลประโยชน์ในท้องถิ่น สามารถเอางานจากข้างบนลงมา เพื่อที่จะจัดทำเป็นโครงการต่าง ๆ ในชนบท รวมทั้งการที่รัฐเข้ามาขีดเส้น หรือเข้ามาควบคุมการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ตรงนี้เอง ผมเรียกว่า เรากำลังเห็นการเข้ามา


จัดการหรือให้ความหมายกับคนในท้องถิ่น หรือว่าคนในรากหญ้าอีกรูปแบบใหม่ ที่สามารถจะเข้ามาควบคุม


ได้ อาจจะไม่ได้ใช้อำนาจในการปกครองแบบเดิม แต่ว่าใช้อำนาจทางด้านธุรกิจการเงินเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่ผ่านเข้ามา เช่น วัวล้านตัว หรือหนึ่งล้านบาทต่อหนึ่งตำบล หรือโครงการต่างๆ เข้ามา ไม่ได้เข้ามา


เพราะว่า จะส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจในชุมชนของคนรากหญ้าอย่างเดียว แต่มันเข้ามาเพราะว่าการควบ


คุมด้วย


 


ที่ผมมองเห็นก็คือ คนเหล่านี้ กลับถูกกดตรึงโดยระบบอำนาจท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับอำนาจตัวกลาง


           


แต่อย่างไรก็ดี ผมก็ไม่ได้มองว่าคนรากหญ้าเหมือนกันไปหมด คือเห็นด้วยกับอาจารย์ฉลาดชาย


ว่่าใช่จะเป็นเนื้อเดียวกันไปหมด ก็มีบางกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่ออย่างนี้ หรือบางกลุ่มที่มองเห็นว่า เขาได้รับผล


กระทบจากนโยบายประชานิยม และมองหาทางออกทางเลือกอื่นที่เขาได้ผ่านประสบการณ์มา แต่อีกกลุ่มหนึ่ง มองเห็นว่านโยบายประชานิยม เป็นโอกาสที่เขาไม่เคยมี เขาก็อยากจะได้ เพื่อที่จะ


เปิดทางให้เขาได้เข้าถึงโอกาสและทรัพยากรมากขึ้น


 


มีนักศึกษาของผมหลายคนที่บอกว่า เขาเห็นด้วยกับนโยบายประชานิยม เพราะว่าตราบใดที่พี่น้องเขาท้องอิ่มเขาก็ยินดีที่จะเห็นโครงการประชานิยม และยินดีที่จะสนับสนุนนโยบายชุดนี้ โดยไม่คำนึงว่านโบายดังกล่าวจะมีผลระยะยาวอย่างไร จะมีผลต่อการที่ทำให้ชาวบ้านสูญเสียทรัพยากรไปอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเขาไม่มีโอกาสนี้เลย ผมคิดว่า มันมีความสลับซับซ้อน ที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันมากขึ้น


 


ในความเห็นของผม ในฐานะที่เป็นนักวิชาการ คงจะต้องมาจับประเด็นมาศึกษาให้เห็นถึงความเข้าใจ ให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว และความหลากหลาย และลักษณะที่แตกต่างกันในกลุ่มคนที่เราเรียกว่า "คนรากหญ้า" ให้มากขึ้น


 


แต่ส่วนหนึ่ง ผมคิดว่า งานศึกษาอย่างเดียวไม่พอ แต่จะทำอย่างไรจะทำให้เกิดประสบการณ์ที่อาจารย์นิธิได้พูดถึงไปในเบื้องต้นว่า ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีส่วนได้ใช้ข้อมูลข่าวสารอย่างวิเคราะห์ ทำอย่างไรที่จะให้เขาได้ใช้ช่องทางของรัฐธรรมหรือกฎหมายและองค์กรอิสระต่าง ๆที่ปรากฏไว้ในรัฐธรรมนูญ เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการที่สามารถทำให้เขาที่จะต่อรององค์กรท้องถิ่นที่มีอำนาจเหนือเขา หรือต่อรองกับนโยบายต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการเข้าถึงทรัพยากรและอนาคตต่อไป


 


อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์


ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


สิ่งแรกที่ผมอยากจะพูดคือสังคมไทยตอนนี่ไม่ใช่วิกฤติการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ ผมคิดว่า เราวิกฤติความรู้ โดยเฉพาะความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์หรือมนุษย์ศาสตร์ ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ เราไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ได้เลยเราลองนึกถึงรัฐศาสตร์ที่ได้อธิบายเรื่องระบอบทักษิณ


 


เราลองนึกถึงปรากฏการณ์ที่จะอธิบายคนรากหญ้าที่ไปอยู่ที่จตุจักร เราไม่มีความรู้เลย สังคมวิทยาชนบทอาจจะมองถึงสังคมชนบทในรูปแบบที่มี อาจจะมีการพูดกันมามากมายว่า มีแรงงานนอกภาคเกษตรเกิดขึ้นเยอะแยะ ยังไม่เคยมีการศึกษาที่จะบอกไว้ว่า แล้วแรงงานนอกภาคเกษตรอยู่อย่างไร นั่นเป็นเพราะมันเป็นวิกฤติของวิชาสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์โดยรวม


 


ที่เราไม่สามารถจะสร้างองค์ความรู้อธิบายปรากฎการณ์สิ่งใหม่ ๆ ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ความรู้ทางสังคมศาสตร์


และมนุษย์ศาสตร์ อาจจะต้องถีบตัวเองให้พ้นจากสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นใคร เป็นจารีตประเพณี เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมา บางอย่างมันไม่มี ไม่ใช่จารีต


 


ยกตัวอย่างชัดๆ ในมาตรา 7 ไม่มีอยู่ในจารีต ถ้าหากเราเข้าใจ เราลองขยับมาดูว่า มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในชนบทบ้าง นอกจากสิ่งที่อาจารย์ชยันต์ได้พูดแล้ว ผมคิดว่า เราจะเห็นว่า ในปัจจุบันสังคมชาวนาจริง ๆ ไม่มีอีกแล้ว คนที่อยู่ในท้องไร่ท้องนา หรืออยู่ในพื้นที่นาเองจะมีขาอีกข้างหนึ่ง หรือมีการทำงานที่อยู่ในภาคเงินสด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานรับจ้าง ผมคิดว่ามีมากกว่า 70-80 % นอกจากไกลจริงๆ ซึ่งก็มีน้อยลง นอกจากมีความเปลี่่ยนแปลงตรงนี้แล้ว คือ เกิดแรงงานนอกภาคเกษตรออกมา มันยังเกิดอีกสองอย่างที่สำคัญ ก็คือ การเกิดแรงงานนอกภาคเกษตรนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่เกิดขึ้นระหว่างความสัมพันธ์กับเมืองและชนบทที่เปลี่ยนไปด้วย


 


ครั้งหนึ่ง เมืองเคยเป็นแหล่งรองรับชั่วคราว แต่ในวันนี้เอง เมืองกับชนบทเข้ามาต่อกันอย่างค่อนข้างอย่างชัดเจน ในขณะที่เข้ามาต่อกัน มีฐานะของเมืองที่มีสภาพที่สูงกว่า การเลือกตั้ง อบต.ครั้งที่ผ่านมา เราจะพบว่าสัดส่วนของคนสมัครและคนที่ได้รับเลือกตั้งเป็นคนที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเมืองกับชนบท เช่น ผู้รับเหมารายย่อย รายกลาง ที่ดึงเอาแรงงานในบ้านตัวเองออกไปเป็นแรงงานที่รับใช้ในเมือง เราจึงไม่เห็นรอยที่แบ่งแยกระหว่างเมืองกับ


ชนบทที่ชัดเจนอีกต่อไป


 


อย่างกรณีที่ อ.แม่ริม มีนักวิจัยที่ทำการวิจัย พบว่า มีสภาพเหมือนกับเป็นหอพักสำหรับคนที่เดินทางเข้ามา


ทำงานเช้า เย็นกลับในเชียงใหม่ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทแบบที่กำลัง


เกิดอยู่นี้ และคงจะเข้มข้นมากไปกว่านี้ มันจะนำไปสู่อะไร ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่สิ่งสำคัญอีกอันหนึ่งใน


ความเปลี่ยนแปลงชนบท คือ มันเริ่มมีการแตกตัวทางชนชั้นในชนบทสูงขึ้น


 


ผมคิดว่า ในชนบทในวันนี้ เราจะพบว่า เราสามารถขีดเส้นแบ่งระหว่างชาวนารวย ชาวนากลาง ชาวนาจน ชัดได้มากขึ้น ไม่ว่าจะชัดโดยรายได้ ชัดโดยรสนิยม ชัดโดยการทำงาน หรือชัดโดยวิธีการอื่นๆ ก็ตาม แต่สามารถขีดเส้นแบ่งนี้ได้ชัดขึ้น ในขณะเดียวกัน ความแตกตัวกันของชนบทที่แบ่งกันนี้ มันก็เข้าไปสัมพันธ์กับการเข้าถึงทรัพยากร หรือเปลี่ยนอัตลักษณ์ของคนในชนบทเองด้วย


 


สิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าหากเราพูดถึงคนรากหญ้าในความหมายดี หรือว่าในความหมายโรแมนติก ผมคิดว่าคนรากหญ้าถูกใช้ในความหมายที่อธิบายคนที่เข้ามาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชน เพื่อสิทธิตัวเองก่อน ไม่ได้หมายถึงม็อบที่จตุจักร แต่หมายถึงคนที่เข้ามาเคลื่อนไหวของเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยเรียกแทนตัวเองว่าคนรากหญ้า คนกลุ่มนี้เอง คือคนกลุ่มที่อาจจะเรียกว่า เป็นชาวนาที่ค่อนข้างจนในหมู่บ้านต่าง ๆ และจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงชีพตัวเองด้วยการเข้าไปดึงเอาทรัพยากรส่วนกลาง สร้างสิ่งที่เราเรียกว่าสิทธิชุมชนขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้เขามีหลังพิงในการต่อสู้กับระบบเศรษฐกิจ


 


ในขณะที่ชาวนากลางหรือชาวนารวย จะมีโอกาสในการปรับตัวเชื่อมโยงเข้าไปสู่เขตเมืองมากกว่า ในการแตกตัวคนในชนบท รวมไปถึงว่า การเปลี่ยนระหว่างเมืองกับชนบทนำไปสู่อะไร ผมคิดว่า ในวันนี้เอง สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การแตกตัวทางชนชั้น มันไม่ใช่แค่การแตกตัวของชนชั้นทางกายภาพ แต่ผมรู้สึกว่า มันมีความสำนึกทางชนชั้นที่เป็นศัตรูกับคนในเมืองกับชนชั้นกลางสูงมากขึ้น


 


หลายปีก่อน ตอนที่ท่านอาจารย์นิธิสร้างบ้าน ท่านก็เล่าให้ฟังว่า คนงานได้กระทำบางอย่างต่อบ้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอึดอัดที่มีต่อชนชั้น ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่า ถ้าหากเราเดินไปดูหลาย ๆ แห่ง หลายหมู่บ้าน เราจะพบว่าสิ่งที่ชาวบ้านพี่น้องคุยกับเรา ถ้าในกรณีที่ไม่ใช่มาเคลื่อนไหวร่วมกัน เราพบว่ามันมีเส้นแบ่งอะไรบ้างอย่างอยู่ ผมคิดว่ามันเริ่มแรงมากขึ้น


 


ถ้าเราลงไปดูที่ม็อบจตุจักรจริง ๆ ผมคิดว่า คนจำนวนไม่น้อย รู้สึกถึงความแตกต่างตรงนี้ และรู้สึกว่าทำไมเราต้องจนแบบนี้ ทำไมเราต้องถูกฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบ ดังนั้นในความแตกต่างทั้งหมดที่เกิดขึ้น มันคือจุดเปลี่ยนที่สุดของสังคมไทย ผมคิดว่าในวันนี้ การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้น นอกจากที่มันชี้ให้เห็นวิกฤติการเมือง มันชี้ให้เห็นถึงผลรับหรือว่าเราจะพูดว่ากรรมก็ได้ กรรมของสังคมไทยของแผนพัฒนา(แผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติฯ) ที่ไม่พัฒนาอย่างไม่เท่าเทียมกันมา กรรมอันนี้มันกำลังจะตกทอดและส่งผลมาสู่สังคมไทยโดยรวม


 


นึกถึงนักวิชาการที่ออกเวที และก็พูดถึงม็อบชาวบ้าน ว่าเป็นคนโง่ ไม่รู้เรื่องต่าง ๆ ผมคิดว่า นี่ก็เป็นการสะท้อนอันหนึ่งของนักวิชาการที่ไม่เข้าใจชาวบ้าน ถ้าหากเรานึกถึงสิ่งที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่อาจารย์ชยันต์ได้พูด ที่โผล่มาและเขาอยู่มาได้ ปรับตัวมาได้ ไม่ว่าจะเป็นคนขายน้ำแข็ง เขาปรับตัวด้วยศักยภาพของเขาเอง ในขณะที่รัฐไม่เคยเอื้ออำนวยกับเขาเลย


 


ดังนั้น ถ้าถามว่า เมื่อมีคนมาโยนเงินให้เขาก็ย่อมรู้สึกแฮปปี้ นึกถึง "รัตนพล ส.วรพิน" ได้ใช่ไหม ที่เขาสัมภาษณ์ออกทีวีทำนองว่า ลืมตาอ้าปากได้ ก็เพราะว่าเงินประชานิยม แต่ถ้าหากว่าไม่เข้าใจ ดูถูกว่าเขาโง่ผมคิดว่า นี่คือรอยแบ่งทางชนชั้นที่ชัดขึ้น ในความเปลี่ยนแปลงแบบนี้เอง สิ่งที่เราต้องคิดต่อไป ก็คือว่า ถ้าหากเราจะพ้นวิกฤติตรงนี้ เราต้องแสวงหาความรู้มากขึ้น ในการที่จะเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งมากกว่าพูดเฉย ๆ เราต้องเข้าไปทำความเข้าใจอะไรอีกเยอะแยะเลย


 


และสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากความเข้าใจนี้แล้ว เราคงต้องคิดถึงการปฏิรูปที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ "ปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม" คนชายขอบเอง คนรากหญ้าเอง ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่เกิดขึ้นในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมแบบหนึ่ง ดังนั้น การปฏิรูปการเมือง มีรายละเอียดเยอะแยะ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปการเมือง ก็คือว่า จัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมใหม่ อย่างน้อยที่สุด ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า 30 บาท หรืออื่น ๆ มันเป็นพันธกิจที่รัฐต้องให้กับพลเมืองอยู่แล้ว เพื่อที่จะทำให้คนทั้งหมดถอดตัวเองจากการถูก 30 บาท ถูกกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ เข้ากับตัวบุคคล ถ้าไม่อย่างนั้น เราหนีบ่วงนี้ไม่ได้


 


ผมได้ไปเจอพี่น้องที่ปากพนัง และได้นั่งกับเขา สิ่งที่น่าสนใจคือ ในเขตที่มีมีคนชั้นกลางหรือมีคนที่คลุกคลีกับการเมือง ความสัมพันธ์กับรัฐเคลื่อนไหวทางการเมืองมากหน่อย เขาจะไม่รู้สึกว่า สิ่งที่เขาได้ ไม่ว่าจะเป็น 30 บาท หรือประชานิยม เรื่องที่ผูกติดอยู่กับตัวบุคคล แต่เขาจะรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่รัฐต้องให้


 


ตรงนี้เอง ถ้าเราปฏิรูปทางการเมือง และปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม รัฐต้องประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระดับหนึ่งขึ้นมา ผมคิดว่าเราก็จะสามารถก้าวพ้นบ่วงประชานิยมไปได้ ไม่อย่างนั้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในชนบทวันนี้ มันยังจะทำให้เกิดทักษิณสอง ทักษิณสาม อย่างที่ท่านอาจารย์ทุกท่านได้พูด เราหนีบ่วงนี้ไม่ได้


 


และสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเราไม่ปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ผมคิดว่ารัฐบาลประชานิยมทั้งหลายก็จะสร้างภาพศัตรู และศัตรูนั้น ก็จะทำให้เราตีกัน เราฆ่ากันเองโดยที่อาจจะไม่มีเหตุผลอะไร เราอาจจะถูกปาระเบิดเข้าไปที่บ้านบางบ้าน บางร้านโชคดียังไม่ระเบิด หรือตีหัวกันง่ายขึ้นโดยไม่มีเหตุผลอะไร ผมคิดว่าสิ่งสำคัญก็คือว่า ถ้าหากเราไม่สามารถปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมได้ ทำให้มีหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่แน่นอน การผูกติดกับสิ่งที่ได้ในวันนี้ที่ได้จากรัฐกับตัวบุคคลก็จะยิ่งกว่าเป็นการตอกลิ่มให้กับความแตกแยกให้ชัดขึ้น


 


สังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงมีความแตกตัวเป็นชั้น ๆ ชัดขึ้น แต่การแตกตัว มันไม่ปรากฎชัดเจนจนกระทั่งมีการตอกลิ่มโดยนายกรัฐมนตรีรักษาการคนนี้ และการตอกลิ่มอันนี้เอง ถ้าหากลิ่มอันนี้ถูกเสียวไปแล้ว เราไม่ระวัง ลิ่มอันใหม่ก็จะตอกเพื่อที่จะทำให้อำนาจอยู่ที่ลิ่ม สิ่งที่เราต้องคิดในวันนี้ ก็คือว่า ถ้าหากเราแก้ไข เราต้องฝันถึงวันข้างหน้าไม่ใช่คิดถึงวันนี้ ถ้าหากเราคิดแก้ปัญหาวันนี้ โดยที่ไม่มีความคิดฝันถึงวันพรุ่งนี้ ผมคิดว่าสังคมไทยจะเผชิญปัญหาที่หนักหน่วงและสาหัสมากกว่าเดิม

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net