Skip to main content
sharethis

ประชาไท—1 เม.ย. 2549 สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องเอาผิดคาราวานคนจนกรณีปิดล้อม "คม ชัด ลึก" ระบุเข้าข่ายผิดกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน ชี้ ข้อตกลงที่ทำขึ้นถือเป็นโมฆะ


 


สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ออกแถลงการณ์กรณีกลุ่มคาราวานคนจน ปิดถนนบางนา-ตราด พร้อมปิดล้อมอาคารเนชั่นทาวเวอร์ ที่ทำการของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และ คม ชัด ลึก ห้ามพนักงานผ่านเข้าออก โดยระบุว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้แต่การจะสั่งปิดหนังสือพิมพ์ โดยใช้อำนาจของรัฐยังไม่อาจจะกระทำได้


 


สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยังเห็นว่า ข้อตกลง หรือคำรับรองใด ๆ ในภาวการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการยอมรับที่จะให้มีการปิดหนังสือพิมพ์นั้น จึงถือว่าเป็นโมฆะ และไม่อาจใช้บังคับได้กับวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพราะขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง จึงขอให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการกับผู้เป็นตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน โดยให้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการตามกฎหมาย และตามข้อหาแห่งความผิดที่ได้กระทำขึ้นตามความหนักเบาแห่งการกระทำของบุคคลในกลุ่มทั้งหมด


 


สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สนับสนุนและเห็นด้วยกับแถลงการณ์และข้อเรียกร้องของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 และใคร่ขอให้นักข่าว และหนังสือพิมพ์ ประชาชนโดยทั่วไป ช่วยกันร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจแฝงของรัฐในการดำเนินการต่างๆ ของกลุ่มพลังมวลชนเพื่อเป็นการตรวจสอบตามมาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้การแสดงออกของกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ เป็นไปโดยโปร่งใส


 


.....................................................................................................................................  


 


 


 


แถลงการณ์


สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ


เรื่อง การข่มขู่คุกคามของกลุ่มมวลชนต่อวิชาชีพหนังสือพิมพ์


  


ตามที่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่ากลุ่มมวลชนที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มคาราวานคนจน ที่ได้มาชุมนุมกัน ณ บริเวณสวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้ทำการอย่างอุกอาจปิดกั้นถนนบางนา-ตราด หน้าที่ทำการของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และ คม ชัด ลึก และปิดกั้นทางเข้าออกห้ามบุคคลไม่ว่าจะเป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่มาติดต่อเข้าไปยังอาคารสำนักพิมพ์ดังกล่าว ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นวิชาชีพอิสระ ควรได้รับหลักประกัน และการคุ้มครองตามมาตรา 39 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


 


การดำเนินการดังกล่าว สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เห็นว่า เป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายโดยชัดแจ้ง ไม่สอดคล้องกับอำนาจการตรวจสอบของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และสิทธิในการบริโภคข่าวสารของประชาชนโดยชอบ และมีการรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ตามรัฐธรรมนูญ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงขอแถลงการณ์มาเพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติการตามกรอบของกฎหมายดังนี้


 


1.สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขอประกาศว่า การกระทำโดยการข่มขู่ตามที่ปรากฏเป็นข่าวโดยใช้กลุ่มมวลชนรายล้อมสถานที่ทำการหนังสือพิมพ์ และบังคับโดยทางอ้อมให้มีการเจรจาเกี่ยวกับการลงข่าวในหนังสือพิมพ์นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะแม้แต่การจะสั่งปิดหนังสือพิมพ์ โดยใช้อำนาจของรัฐยังไม่อาจจะกระทำได้ ดังนั้น ประชาชนไม่ว่าจะเป็นหมู่เหล่าใด จึงไม่มีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะข่มขู่ให้มีการปิดหนังสือพิมพ์ตามที่ได้ดำเนินการไปแล้ว


 


สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เห็นว่า ข้อตกลง หรือคำรับรองใด ๆ ในภาวการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการยอมรับ ที่จะให้มีการปิดหนังสือพิมพ์นั้น จึงถือว่าเป็นโมฆะและไม่อาจใช้บังคับได้กับวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพราะขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง


 


2.การดำเนินการของกลุ่มมวลชนดังกล่าวข้างต้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงขอให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการกับผู้เป็นตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน โดยให้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการตามกฎหมายและตามข้อหาแห่งความผิดที่ได้กระทำขึ้นตามความหนักเบาแห่งการกระทำของบุคคลในกลุ่มทั้งหมด


 


ทั้งนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไม่เห็นด้วย และไม่สนับสนุนการแสดงออกของกลุ่มพลังใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัว แม้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่การแสดงออกของกลุ่มพลังใดที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่มีกฎหมายรับรองไว้โดยชัดแจ้ง ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและความถูกต้อง ผู้ฝ่าฝืนควรต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย


  


3.สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เห็นว่า การยอมรับที่จะให้มีการปิดการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ตามปกติ ไม่ว่าด้วยความสมัครใจหรือด้วยความประสงค์อื่นใดที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะ หรือให้ละเว้นจากการข่มขู่นั้น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เห็นว่า ไม่ควรที่จะให้มีการยอมรับและปฏิบัติได้ สิ่งที่ถูกต้อง คือ ต้องมีการประกาศความรับผิดในบทความ หรือข้อความที่กองบรรณาธิการเห็นว่ามีส่วนที่จะต้องรับผิดนั้นลงพิมพ์ตามกำหนดระยะเวลาที่สมควร


 


ส่วนการที่จะดำเนินการอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษในข้อความที่ได้มาโดยไม่สมบูรณ์นั้น ก็เป็นเรื่องตามกฎหมายอื่น ในส่วนของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรักษาไว้ซึ่งการพิมพ์และออกจำหน่ายหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข่าวสารตามสิทธิของตน การกระทำอื่นใดที่เกี่ยวกับความผิดถ้าหากจะมีย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายอื่น ดังนั้น หนังสือพิมพ์จึงควรต้องออกจำหน่ายตามปกติ และควรจะออกแถลงการณ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงความจำเป็น และหลักการแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่จะต้องมีอยู่เคียงคู่ประชาชนตลอดไป ส่วนที่กระทำความผิดถ้าหากจะมีก็ดำเนินการไปตามความผิดนั้นแล้วแต่กรณี


 


4.สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สนับสนุนและเห็นด้วยกับแถลงการณ์และข้อเรียกร้องของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 และใคร่ขอให้นักข่าว และหนังสือพิมพ์ ประชาชนโดยทั่วไป ช่วยกันร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจแฝงของรัฐในการดำเนินการต่างๆ ของกลุ่มพลังมวลชนเพื่อเป็นการตรวจสอบตามมาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้การแสดงออกของกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ เป็นไปโดยโปร่งใสและสอดคล้องกับการทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐทุกระดับด้วยความเป็นธรรม


 


จึงแถลงการณ์มาให้ทราบโดยทั่วกัน


 


 


สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ


31 มีนาคม 2549


 


ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net