Skip to main content
sharethis

สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา "นคราประชาธิปไตยทางรอดสังคมไทย" โดยมี ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ ดร.เกษียร เตชะพีระ จากรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาอธิบายสภาพแห่งสองนคราปัจจุบันและอนาคตรวมทั้งภาพรวมของทางออก

 

 

หลังเหตุการณ์เดินขบวนขับไล่รัฐบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้นำเสนอทฤษฎีที่เรียกว่า "สองนคราประชาธิปไตย" อันให้ภาพธรรมชาติลักษณะของสังคมการเมืองไทยไว้ กล่าวคือ "คนชนบทคือผู้เลือกรัฐบาล ส่วนคนในเมืองคือผู้ล้มรัฐบาล"

 

จนกระทั่งเวลานี้ สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับ "รัฐบาลทักษิณ" คล้ายกับกำลังก้าวเข้าสู่วงจรแห่งสองนคราประชาธิปไตย เช่นกัน

 

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 3/2549 ในหัวข้อ "นคราประชาธิปไตยทางรอดสังคมไทย" โดยมี ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ ดร.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาอธิบาย สภาพแห่งสองนคราปัจจุบันและอนาคตรวมทั้งภาพรวมของทางออกในมุมมองของแต่ละคน นอกจากนี้ นักวิชาการรัฐศาสตร์ทั้งสามยังได้ให้ความเห็นต่อประเด็น มาตรา 7 ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในเวลานี้ด้วย

 

รายงานเสวนานี้จึงขอแบ่งเป็นสองตอนจากเรื่องราวที่พูดคุยกัน โดยตอนที่ 1 ว่าด้วยสองนคราประชาธิปไตย และตอนที่ 2 ว่าด้วยมาตรา 7

 

0 0 0

 

ตอนที่ 2

ว่าด้วยมาตรา 7

 

ผู้ดำเนินรายการ : ตอนนี้สังคมการเมืองวิกฤติ ทางออกที่เสนอล่าสุดคือการใช้มาตรา 7 ขอนายกฯ พระราชทาน แก้ปัญหาได้จริงหรือ

ดร.ชัยวัฒน์ : เท่าที่ฟังท่านอื่นๆเห็นว่า เราพยายามจะบอกว่า แนวคิดเรื่องสองนคราอยู่ในฐานะที่เป็นพื้นฐาน แต่ให้น้ำหนักต่างกันไป

 

ก่อนปี 2540 การล้มรัฐบาลเกิดขึ้นอธิบายโดยใช้สองนคราได้หมด แต่รัฐบาลทักษิณปรากฏตัวขึ้นในเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ เราได้บางอย่างที่รัฐธรรมนูญต้องการ คือประชาธิปไตยแบบเข้มแข็งหรืออย่างหนา แล้วไประดมคนให้มาเห็นด้วยกับมัน นี่คือเงื่อนไข

 

พอประชาธิปไตยอย่างหนาหล่นแหมะมาบนสองนคราประชาธิปไตยแบบเดิม ไปจนถึงช่วงเวลาที่ฐานทางความชอบธรรมถูกสั่นคลอนมากก็วิ่งไปสู่การเลือกตั้งใหม่ เกิดสองนคราใหม่ เราอธิบายได้โดยต้องลงไปในรายละเอียดว่า ในแต่ละนครามีความแตกต่างอะไร แค่ไหน การเลือกตั้ง เสรีภาพเป็นเครื่องมือหรือเงื่อนไขในการแก้ปัญหา แต่ทักษิณกลับขโมยไปใช้ทำให้เกิดความเดือดร้อน

 

ต่อไปสถานีวิทยุ โทรทัศน์ ควรมีช่องของฝ่ายค้านด้วย โดยได้รับงบประมาณจากภาครัฐ และควรเป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะเป็นสิทธิในการรับรู้สิ่งเหล่านี้ ถึงไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิในการฟังเสียงอื่น

 

การชุมนุมก็เป็นการแก้ไขปัญหาแบบหนึ่งตามหลักสันติวีธี สามารถทำได้ตามโครงสร้าง สังคมประชาธิปไตยพยายามใช้เครื่องมือต่างๆ และแสดงออกมา เป็นเรื่องปกตินอกเวลาเลือกตั้ง คนสามารถแสดงออกมาได้ว่า อยากหรือไม่อยากให้รัฐบาลอยู่ เป็นความปกติอันน่ามหัศจรรย์ แต่บางคนกลับสับสนกับคำว่าวิกฤต

 

สังคมไทยมีความทนกันได้ มีความยืดหยุ่น ผมต้องทนอาจารย์นครินทร์ได้แม้อาจารย์นครินทร์จะชอบลากรัฐธรรมนูญเข้ามา อาจารย์นครินทร์ก็ต้องทนผมได้เมื่อผมชอบลากสันติวิธีไปยังที่ต่างๆ ความทนกันได้นี้เป็นเงื่อนไขของระบอบประชาธิปไตย

 

ในขณะนี้ในสังคมไทยมีดีกรีของความทนกันได้สูง มันน่ามหัศจรรย์ แต่เราไม่ค่อยพูด ที่เราเอาความทนได้มาวางในที่สาธารณะเยอะขนาดนี้ เลยตกใจนึกว่าวิกฤติ ความน่ามหัศจรรย์อีกอย่างคือ ตัวการใช้สันติวิธีในการคลี่คลายความขัดแย้งก็เป็นเงื่อนไของประชาธิปไตย ส่วนเงื่อนไขของความรุนแรงคือความขัดแย้งโดยที่เห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรู

 

เงื่อนไขของความขัดแย้งแบบสันติวิธี คือการขัดแย้งโดยเห็นอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่ศัตรู การเลือกตั้งถ้าสู้กับพรรคฝ่ายค้านเขาก็ฟังพรรคฝ่ายค้านได้ไม่ใช่ในฐานะคู่ต่อสู้ ไม่ใช่ศัตรู อธิบายแบบนี้หมายความเหมือนกีฬา ถ้ามีข้างเดียวก็ไม่รู้จะแข่งกับใคร ต้องสู้กับอีกฝ่าย อีกฝ่ายสำคัญกับอีกฝ่าย หมายความว่าแข่งเลิกแล้วแตะมือกันได้ กินน้ำเย็นหรือน้ำชากันได้

 

ดังนั้นมันขึ้นอยู่กับว่า เรานิยามสถานการณ์ว่าอย่างไร นักกฎหมายมหาชนจำนวนมากทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกำลังบอกว่า มาตรา 7 มีไว้ในกรณีที่เกิดวิกฤติ คนที่ไม่เห็นว่าควรใช้ มองว่าขณะนี้ยังไม่วิกฤติ แต่คนที่มองว่าควรใช้บอกว่าถึงทางตันแล้ว

 

ถ้าอธิบายอย่างผมจะบอกว่า ขณะนี้ถึงทางแยกแห่งความเป็นปกติอันน่ามหัศจรรย์ ยังปกติแต่แปลกเพราะไม่ค่อยได้เห็น เราก็ต้องอยู่ให้ได้ แล้วจะเห็นว่ายังมีช่องทางเยอะแยะที่จัดการได้ ฝ่ายพันธมิตรเองอาจจะไม่ต้องเด็ดขาด แต่คิดต่อไปว่า ถ้ามีการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนแล้วเอาอย่างไรต่อ

 

การชุมนุมแบบนี้ไม่ใช่วิธีการเดียว มีทางอีกเยอะ สันติวิธีทำได้ทั้งในฐานะคนกลุ่มใหญ่ และปัจเจกชน มีทั้งไม่ถูกกฎหมายหรือถูกกฎหมาย ซึ่งทำได้ เช่นการชุมนุมก็ใช่ ต้องออกไปในพื้นที่บางอย่างก็ไม่อยากทำก็ต้องทำ ต้องไปนั่งร้อนตากแดดบนถนน ถามว่าถูกกฎหมายหรือไม่ บางคนก็บอกว่าผิดกฎจราจร ส่วนแบบอื่นก็ทำได้ อยู่บ้านคนเดียวก็ได้ เช่นจุดธูปสวดมนต์แช่งคนก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล

 

แบบที่มีประสิทธิภาพกว่านั้นก็เช่นการคว่ำบาตรสินค้า หรือตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับบริษัทของคนที่เราไม่ชอบ ไล่ไปว่าพวกนี้ขายอะไร ในฐานะผู้บริโภคมีอำนาจมหัศจรรย์ที่จะไม่ซื้อ เช่น ไม่ขึ้นสายการบินนี้ หรือสายการบินนี้เกี่ยวกับคนที่เราไม่ชอบแล้วรับการสนับสนุนเงินจากธนาคารบางแห่ง เลยถอนเงินจากธนาคารก็ทำได้ เพราะเป็นเรื่องของผม เงินของผม สิทธิของผม ไม่ผิดกฎหมาย ผมว่าโครตมีพลังเลย

 

เพราะระบบเศรษฐกิจหรือระบบบริโภควันนี้วางอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ ความเชื่อถือ เครดิต วันไหนบอกว่าไม่เอาแล้ว ไม่ให้เครดิตแล้วยุ่งนะ ดังนั้นต้องเริ่มต้นที่นิยามสถานการณ์และขอเชื้อเชิญให้ลองนิยามสถานการณ์ว่า เรากำลังอยู่ในสังคมไทยสมัยที่เต็มไปด้วยความปกติอันน่ามหัศจรรย์

 

ผู้ดำเนินรายการ : สันติวิธีมันใช้เวลานานเกินไปหรือไม่ เพราะพันธมิตรเขามองว่าวิกฤติแล้วต้องใช้นายกฯพระราชทานมาแก้

ดร.ชัยวัฒน์ : สันติวิธีต้องคิดถึงแต่ละฝ่าย ทั้งอาจารย์เอนกและและอาจารย์เกษียรตั้งคำถามสำคัญว่า คนที่เป็นวินมอร์เตอร์ไซค์ เกษตรกร เขาได้อะไรจากการที่นายกฯอยู่หรือไม่อยู่ ทำนองเดียวกันสันติวิธีก็ต้องคิดเพื่อคนอื่นด้วย อะไรคือสันติวีสำหรับนายกฯ อะไรคือสันติวีสำหรับพันธมิตรฯ อะไรคือสันติวิธีก่อนวันที่ 2 เมษายน หลังจากนั้น ต้องสร้างเงื่อนไขต่อ

 

เคยพูดว่าปัญหาอันตรายสำหรับสังคมไทยคือเข้าใจว่าตัวเองอยู่ในจุดอับ แล้วมีคนอยู่จำนวนหนึ่งคล้ายๆพยายามเอาเราไปอยู่ในมุม สันติวิธีคือบอกว่า ทางเลือกสังคมไทยมีเยอะแยะ แล้วมาดีเบตกันว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ในที่สุดทางที่เลือกจะไม่ใช่แค่ว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร แต่จะสร้างสังคมการเมืองชนิดไหน เป็นแบบที่เราอยากได้มากน้อยแค่ไหน

 

ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าสมมติมีนายกฯพระราชทานจริงปัญหาที่ตามมาคืออะไร

ดร.เกษียร : ผมไม่เชี่ยวชาญเรื่องมาตรา 7 แต่เข้าใจว่า การถวายพระราชอำนาจคืนก็ดี ใช้มาตรา 7 ขอพระราชทานนายกฯก็ดี ในทางธรรมเนียมประเพณีประชาธิปไตยในปรัชญาตะวันตกมาจากแนวคิดหนึ่งซึ่งราชบัณฑิตแปลว่า อำนาจพิเศษ

 

คืออำนาจของฝ่ายบริหารที่จะใช้ดุลพินิจดำเนินการเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม โดยกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ กระทั่งบางกรณีขัดกฎหมายด้วยซ้ำ

 

สิ่งที่เรียกว่าอำนาจพิเศษคิดว่าเป็นรากของวิธีคิดเรื่องมาตรา 7 สภาพการปกครองที่ฝ่ายบริหารใช้อำนาจเหนือกฎหมายเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม กลายร่างในสังคมไทย กลายเป็นข้อเสนอถวายพระราชอำนาจคืน มาตรา 7 พออ่านแล้วเห็นอะไร

 

เห็นว่า ที่มึงอยากได้คืออำนาจสมบูรณายาสิทธิ์เฉพาะกิจสักพักหนึ่ง พอปัญหาจบปั๊บ เราก็กลับไปอยู่ในระบบ ซึ่งมันมีปัญหาเยอะมาก เพราะโดยไอเดียเรื่องมาตรา 7 เขาล็อคไว้ 2 ชั้น ชั้นแรกจำกัดไว้เฉพาะว่า ในกรณีที่กฎหมายไม่ได้ระบุไว้เท่านั้น ไม่ได้บอกว่าทำฝืนกฎหมายได้ และยังจำกัดไว้อีกครั้งด้วยประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

กล่าวโดยตัวหนังสือ คิดว่าใช้ไม่ได้ เพราะเมื่อไรที่สังคมโหยหาหรือจำเป็นต้องใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ คิดว่าเกิดได้ในกรณีรัฐล้มเหลวเท่านั้น ซึ่งมี 2 แพร่ง แพร่งหนึ่งคือไม่มีรัฐ เรากลับไปเป็นภาวะธรรมชาติ ใครดีใครได้มึงยิงมา กูฟาดหัว

 

อีกอันคือจำเป็นต้องสถาปนาสังคมการเมืองขึ้นใหม่ ในภาวะแบบนี้ อำนาจพิเศษจึงนำมาใช้ได้ รัฐล้มเหลวดูได้จาก 3-4 สภาพ คือล้มเหลวในการทำหน้าที่ดูแลสิทธิพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชนทั้งร่างกายทรัพย์สิน หรือไม่มีตุลาการที่มาตัดสินความขัดแย้งได้อย่างยุติธรรม ข้อต่อมาคือรัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธิของพลเมืองเอง อีกประการคือพลเมืองถอดถอนการยินยอมอยู่ใต้อำนาจรัฐ ตอนที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬอันนั้นคือใช่

 

ใน พ.ศ.2476 รัชกาลที่ 7 เคยงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นผู้ลงนาม ภาวะในตอนนั้นเกิดจากการขัดแย้งระหว่างกลุ่มเจ้ากับปีกซ้าย ซึ่งมีลักษณะเป็นการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่ไม่นานสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ พระยาหลพลพยุหเสนา ทำการรัฐประหารคืน และระบุว่าพระยามโนฯกระทำขัดรัฐธรรมนูญ

 

สำหรับในตอนนี้ไม่ใช่ภาวะรัฐล้มเหลว และในหลวงเป็นของทุกฝ่ายจะเลือกข้างไม่ได้ ถ้าทรงพระราชทานนายกฯที่ชื่อทักษิณลงมา ผ่ายพันธมิตรจะรู้สึกอย่างไร ในทางกลับกันก็เป็นเช่นนั้น

 

ดังนั้นการขออำนาจอาญาสิทธิ์มากำจัดศัตรูการเมืองแบบนี้ทำไม่ได้ เพราะมันกัดกร่อนสังคมไทยลึกมาก ในแง่ศีลธรรมต้องยืนยันความถูกผิดที่เหนือกฎเกณฑ์กติกา ดังนั้นหลักอารยะขัดขืนแม้ขัดกติกา แต่ควรทำ เพราะมึงทำไม่เป็นธรรม ส่วนสองนคร สองม็อบก็ต้องคุยกัน

 

นอกจากนี้เหยื่อของความรุนแรงจากนโยบายรัฐที่ผ่านมา ตอนนี้อาจปฏิเสธรัฐไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นญาติของเหยื่อยาเสพติดหรือในสามจังหวัดภาคใต้ เป็นไปได้ว่าเขาเชื่อว่ารัฐล้มเหลวแล้ว เขาอาจไม่เชื่อประชาธิปไตยอีกแล้ว ซึ่งผมเข้าใจ เพราะอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมรู้สึก คุณทักษิณผลักคนจำนวนมากไปตั้งนานแล้ว สำหรับคนกลุ่มนี้มันมากกว่ามาตรา 7 เขาจับปืนด้วย ในบางมุมความชอบธรรมและความเป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญเขาหมดไปตั้งนานแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ออกไป

 

ตามทฤษฎีความเป็นไปได้ที่จะนำอาญาสิทธิ์เฉพาะกิจมาใช้นั้น เจ้าที่ดีจะได้ใช้บ่อย แต่อันตรายจะไปอยู่ที่ผู้ที่สืบทอดพระราชบัลลังก์ เพราะเสรีภาพจะถูกคนทำลายไปในช่วงเวลานาน

 

ดร.ชัยวัฒน์ : รัฐล้มเหลวจากคนจำนวนหนึ่ง แต่ยังอยู่และมั่นคงมากสำหรับคนจำนวนหนึ่ง เราเห็นเฉดของความล้มละลายและความมั่นคงเต็มไปหมดเลย สำหรับผมมันน่ามหัศจรรย์อีกครั้งหนึ่ง แต่จะอยู่กับมันอย่างไรในสิ่งเหล่านี้ สมมติเราเป็นญาติพี่น้องของคนที่เขาตาย มันเป็นหน้าที่ของสังคมประชาธิปไตยจะต้องหาวิธีให้รัฐแข็งแรงขึ้น ตอบสนองความยุติธรรมให้ได้ เขาจะได้ไม่ใช้ปืน จะได้เข้ามาอยู่ในระบอบที่จะใช้อำนาจแลกเปลี่ยนได้ ทำอย่างไรให้เขามีหวัง

 

เราก็เห็นอย่างกรณีศาลตัดสิน กฟผ.คนดีใจทั้งนั้นเลย รู้สึกว่าเรายังมีอะไรบางอย่างพึ่งได้ แต่ถ้าเราเห็นกรณีทนายสมชาย ถูกฆ่าตาย คือคนๆ หนึ่งใช้ชีวิต 25 ปี สู้ในระบอบกฎหมาย ในกระบวนการยุติธรรมยังตาย แปลว่าพึ่งไม่ได้แล้ว มันมีกระบวนการหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่อยากให้ลืมอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์นครินทร์อาจจะมองรุนแรงกว่าอาจารย์ชัยวัฒน์ เพราะมองว่าโกลาหลแล้ว

ดร.นครินทร์ : สิ่งที่อาจารย์เกษียรพูด ผมอยากเรียกว่า พระราชอำนาจ บางส่วนอยู่ในประเพณีบางส่วนอยู่ในรัฐธรรมนูญ และท่านใช้เกือบทุกวัน มีอยู่เกือบ 10 กว่ารายการที่เรานึกไม่ถึง

 

ในต่างประเทศเรื่องนี้เถียงกันมาก แต่ก็ใช้ทุกวัน เช่น การแต่งตั้งตำแหน่งขุนนางที่เรียก ท่านเซอร์ เป็นขุนนางเฉพาะตำแหน่งที่ไม่ได้สืบตระกูล เป็นพระราชอำนาจอย่างหนึ่ง แต่ในอังกฤษมีกรรมการกลั่นกรองว่าใครได้หรือไม่ได้ ส่วนเมืองไทยเราไม่มีการให้ตำแหน่งคุณพระแต่ให้ตำแหน่งคุณหญิง ท่านผู้หญิงอย่างเป็นปกติทุกปี นี่คือ พระราชอำนาจ

 

การให้อภัยโทษมีการถกเถียงกันอยู่ว่า ประมุขของรัฐควรมีการให้อภัยโทษหรือไม่ ในอเมริกาก็ทำตอนประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ อภัยโทษผู้หนีสงครามหลายหมื่นคน ถูกตั้งคำถามว่าประธานาธิบดีมาอภัยโทษได้อย่างไร แต่บ้านเรามีเป็นประจำในเกือบทุกวันสำคัญ

 

เราพูดถึงพระราชอำนาจมันกว้างมาก ลองนับดูแล้วได้ 16 - 17 รายการ โครงการพระราชดำริก็เป็นพระราชอำนาจอย่างหนึ่ง การรับปริญญาบัตรก็ใช่ เห็นรับกันทุกคน รับทำไม เราก็ชอบ เพราะท่านให้

 

เวลาพูดถึงพระราชอำนาจ พวกเสรีนิยมก็อยากให้มีน้อยรายการมากๆ ใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ถึงขั้นนองเลือดก็อย่าใช้ แต่พวกอนุรักษ์นิยมกับคิดอีกอย่างหนึ่ง อย่างที่บอกหลายคนเชื่อว่าประชาธิปไตยของไทยมาจากการพระราชทาน และคิดว่าเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ

 

เรื่องเหล่านี้อยู่กับใจของมนุษย์ เรื่องมาตรา 7 คิดว่าการตีความยืดหยุ่นมาก ถ้าพูดในเชิงเสรีนิยมคือไม่สมควร แต่พูดในเชิงอนุรักษ์นิยมสมควรแล้ว ถ้าทำแล้วเป็นเรื่องของพระราชวินิจฉัยก็ต้องรับกันไป เหมือนการให้ตำแหน่งท่านผู้หญิงก็ไม่เห็นมีใครมาโวยวาย

 

ในความเห็นของผม สภาวะแบบนี้ ในทางรัฐศาสตร์ ประมุขของรัฐในปัจจุบัน ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราช ถ้าเป็นแบบแท้ๆ พระเจ้าอยู่หัวต้องเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาเดียวกันด้วย แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ท่านเป็นประมุขของรัฐในระบบแบบนี้ ซึ่งพระราชอำนาจจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเพณี กฎหมาย ความเข้าใจ และในความเข้าใจของคนคิดว่าชอบให้ท่านมาไม่ใช่หรือ

 

แต่ก็ต้องเตือนกันไว้ว่า การใช้พระราชอำนาจอย่างมากจะกระทบไปทุกอย่าง ศาลฎีกาบอกว่า ช่วงหนึ่งเคยมีการอภัยโทษคนค้ายาเสพติดด้วย ช่วงหลังจึงไม่ให้เลย ก็โต้เถียงกันไป เราในชีวิตประจำวันก็ได้รับอานิสงส์จากการใช้พระราชอำนาจเหล่านี้

 

ถามว่าปัจจุบันเกิดอะไร ผมเห็นว่าทุกอย่างมันโกลาหล เพราะมันพิการ ถ้าไปมองว่าวันที่ 2 เมษายนเรียกว่าการเลือกตั้งหรือไม่ ผมว่าไม่ใช่ ในสายตาเรียกว่าการรับรอง การเลือกตั้งผู้ที่เป็นพลเมือง คนไทยที่บรรลุนิติภาวะก็ควรไปสมัครได้

 

คนทั่วไปทำไมสมัครไม่ได้ ส่วนที่สมัครได้ถูกตัดสิทธิไปตั้ง 300 กว่าคนแล้ว จะไล่ไปเรื่อยๆ ไล่คนออกจากสนามได้อย่างไร จะเป็นกรรมกร ชาวนา ไม่มีชื่อเสียงเขาก็มีสิทธิ

 

ท่านนายกฯก็พูดชัดในการเลือกตั้งเที่ยวนี้ว่า ใครอยากให้ผมมาทำงานออกเสียงให้ผม อันนี้การรับรองที่ชัดเจน และในโลกสมัยใหม่คนที่ชอบใช้คนหนึ่งคือนโปเลียน

 

เราต้องพูดคอนเซ็ปทางรัฐศาสตร์ว่า วันที่ 2 เมษายน อย่าเรียกว่าการเลือกตั้ง ถ้าทำอย่างนี้มันพิการไปหมด ตัวรัฐธรรมนูญ กติกาทั้งหมดมันพิการไปแล้ว ถ้ามองว่ารัฐสมัยใหม่ต้องอยู่กับกติกา นี่ก็คือความล้มเหลวของรัฐอย่างที่สุด เพราะรัฐเองไม่สามารถประคองกติกาที่ตัวเองมีได้

 

ผู้ดำเนินรายการ : แต่การมอบปริญญามันไม่มีการแตกแยก แต่กรณีวันนี้มันมี และเท่ากับดึงเจ้ามาเลือกข้างจะเปรียบเทียบกันได้หรือ

ดร.นครินทร์ : การใช้พระราชอำนาจแล้วแต่พระบรมราชวินิจฉัย แต่ถ้าจะวิจารณ์กันก็ต้องลงสนามการต่อสู้ทางการเมือง การเรียนเรื่องพวกนี้มีข้อจำกัดในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทำให้การเปิดโอกาสในการเรียนการสอนเรื่องพวกนี้มีน้อย เราไม่สามารถพูดเรื่องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนได้มากนัก พอพูดอาจจะเกรงกระทบเพราะตัวกฎหมายมันบังคับจริงๆ ทั้งๆที่ในความจริงเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเสาหลักและปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการดำรงอยู่ของชุมชนทางการเมืองสมัยใหม่

 

โลกทางการเมืองสมัยใหม่เราจะแบ่งอำนาจออกเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อย่างไรก็ตาม ประมุขของรัฐต้องมีพระราชอำนาจเสมอ เพียงแต่ว่าจะมากหรือน้อยเท่านั้น

 

ส่วนปัญหาว่าฉีกหรือไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ใช้แล้วยกเลิกตัวรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ ปัญหานี้เป็นเทคนิคทางกฎหมายเท่านั้น ต้องดูว่ามีพระบรมราชโองการ พระราชกฤษฎีกาหรืออื่นๆ ออกมางดใช้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ไม่ถือว่าฉีกรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net