Skip to main content
sharethis



AP Photo


 


แรงงานอพยพหลากหลายเชื้อชาติราว 500,000 คน ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนในกรุงลอสแองเจลิส เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2549 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎนิรโทษกรรมแก่ผู้ลักลอบเข้าเมือง และเรียกร้องให้มีการยกเลิกร่างกฎหมายปฏิรูประเบียบการเข้าเมืองใหม่ เนื่องจากร่างกฎหมายฯ ดังกล่าวอาจก่อให้ เกิดผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในละตินอเมริกา ด้วยสาเหตุที่ว่าแรงงานอพยพส่วนใหญ่เป็นกลไกสำคัญในระบบสายพานการผลิตของเศรษฐกิจทุนนิยมของสหรัฐฯ อย่างยิ่ง


 


การชุมนุมประท้วงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวผ่านทางสถานีวิทยุว่าสหรัฐฯจะมีมาตรการจัดการผู้ใช้แรงงานที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดกวดขันมากขึ้น พร้อมทั้งระบุด้วยว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่จะกำหนดให้แรงงานต่างด้าวเข้าทำงานในสายอาชีพที่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง และจะต้องเป็นงานที่ประชาชนชาวสหรัฐฯ ไม่ทำ ซึ่งประกอบด้วยงานในภาคการเกษตรร้อยละ 24 พนักงานทำความสะอาดร้อยละ 17 และแรงงานก่อสร้างร้อยละ 14


 


ทั้งนี้ ร่างกฏหมายฉบับใหม่ระบุไว้ชัดเจนว่านายจ้างทุกคนจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเรื่องการเข้าเมืองของลูกจ้างทุกคน หากไม่มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบจะส่งผลให้ลูกจ้างกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายและเป็นผู้มีความผิดในคดีอาญา และรัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีโครงการที่จะสร้างกำแพงกั้นเขตแดนยาวตลอดเส้นแบ่งเขตตามแนวชายแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกด้วย


 


อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนผู้นำผู้นำสหรัฐฯ จะพยายามให้มีการประนีประนอมกันมากขึ้นหลังจากเกิดเหตุที่ผู้ชุมนุมประท้วงหลายแสนคนออกมากดดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ ประธานาธิบดีบุชจึงมีกำหนดการที่จะเดินทางไปเยี่ยมเยือนประเทศเม็กซิโกในวันที่ 29 มีนาคม 2549 เพื่อหารือเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานอพยพและปัญหาอื่นๆ ร่วมกับประธานาธิบดีวิเซนเต ฟอกซ์ ของเม็กซิโก


 


เนื่องจากรายได้ร้อยละ 20 ของกลุ่มประเทศในละตินอเมริกาล้วนมาจากการขายแรงงานในต่างประเทศ และตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของชาวละตินอเมริกาก็คือประเทศสหรัฐฯ หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้จริงก็อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวละตินอเมริกาจำนวนมาก เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ เองก็อาจได้รับความกระทบกระเทือนในเรื่องการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรและการบริการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net