Skip to main content
sharethis

ที่ห้องประชุมสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ปี 2549 ร่วมกับอดีตนายก อมธ.หลายรุ่น และอดีตองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ทำการประชุมเพื่อหารือถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน และหาแนวทางการเคลื่อนไหวในการช่วยเหลือทางสังคม


 


นายกฤษภางค์ นุตจรัส อดีตนายก อมธ.ปี 2519 แถลงภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้ที่ประชุมได้มีมติว่า ต่อไปนี้ทาง มธ. และมหาวิทยาลัยมหิดลจะจับมือร่วมกันเคลื่อนไหวในเรื่องของสถานการณ์บ้านเมือง โดยในวันที่ 20 มี.ค.จะออกแถลงการณ์อีกครั้งว่าจะมีทิศทางในการทำงานอย่างไร แต่ส่วนมากแล้วจะใช้ยุทธวิธีแนวรบในแบบของการใช้ความรู้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งจะเน้นที่ประชาคมในมหาวิทยาลัย นิสิต นักศึกษา เป็นหลัก


 


"ยุทธวิธีของเราจะอยู่ในกรอบของประชาธิปไตยอย่างแน่นอน และแม้ว่าโดยการกระทำแล้วเราอาจไม่ไปเข้าร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยโดยตรง แต่เราก็จะเป็นหน่วยสนับสนุนการชุมนุมของประชาชน โดยเน้นทางด้านสติปัญญาและแนวความคิด ที่จะให้ข้อมูลกับประชาชนในด้านเป็นประโยชน์" อดีตนายก อมธ.ปี 2519 กล่าว


 


นายพีรพล ตริยะเกษม นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ปี 2516 กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีข้อเสนอหลายประการ และหนึ่งในข้อเสนอได้มอบให้ อมธ.ชุดปัจจุบันไปประสานงานและดำเนินการในโครงการธรรมศาสตร์ยาตรา ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็นของประชาคมธรรมศาสตร์ ทั้งนักศึกษา ข้าราชการ คณาจารย์ รวมถึงศิษย์เก่าทุกรุ่น เพื่อหาทางออกให้กับสังคม โดยจะประสานกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร และส่วนอื่นด้วย


 


ทั้งนี้ นายพีรพลได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องของการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีให้ข่าวว่าจะมีการออก พ.ร.ก.ภาวะฉุกเฉิน หรือการที่รัฐสร้างกลุ่มชนเพื่อให้เกิดการปะทะระหว่างม็อบทั้งสองฝ่ายนั้น เป็นเรื่องที่ผู้นำระดับประเทศไม่ควรทำ และไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด เนื่องจากต่างประเทศได้เผยแพร่ข่าวดังกล่าวไปทั่วโลก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของชาติ และการปะทะกันระหว่างม็อบนั้นก็อาจเกิดเหตุการณ์รุนแรงจนถึงขั้นมีการล้มล้างประชาธิปไตยได้


 


ด้านนายสุรพงษ์ บุญเดชารักษ์ นายก อมธ.ปี 2549 กล่าวว่า ระหว่างนี้ทาง อมธ.จะหารือและประสานกับประชาคมธรรมศาสตร์ทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงแนวทางที่ชัดเจน และจะแถลงจุดยืนในการทำงาน รวมทั้งทิศทางการทำงานในการเคลื่อนไหว ในวันที่ 20 มี.ค.นี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในการล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี 50,000 รายชื่อ ขณะนี้ทาง อมธ.ได้รายชื่อครบตามเป้าแล้ว 80,000 รายชื่อ และอยู่ในระหว่างกระบวนการตรวจสอบรายชื่อ (20-28 มี.ค.) ก่อนยื่นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไปทั้งนี้ หากรัฐบาลยังคงยืนยันให้มีการเลือกตั้งต่อไป ทาง อมธ.จะทำการรณรงค์โครงการ "Vote for no vote" หรือ Vote no เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่จะแนะนำให้โดยกาช่องงดออกเสียง ในกรณีที่ประชาชนคนใดไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐ และไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ อีก เพื่อรักษาสิทธิไว้


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ นายก อมธ.ปี 2519 ได้ฝากให้นายกฤษภางค์ร้องกับสื่อมวลชนว่า ตั้งแต่เข้าร่วมเป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวร่วมกับ อมธ.ว่า ถูกกลั่นแกล้ง รังแก ขู่ให้ถอนรายการออกจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ซึ่งขณะนี้ถูกคนในรัฐบาลสั่งให้ระงับการจัดรายการเป็นเวลา 10 วัน


 


.............................................


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 19 มีนาคม 2549


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net