Skip to main content
sharethis


 

แม้ตอนนี้ยังไม่มีหัวหน้าคณะเจรจาไปเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐอเมริกา แต่การเจรจาก็ยังคงดำเนินต่อไป และเข้าใกล้รอบ 7 ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เต็มที


 


สัปดาห์ที่แล้วท่ามกลางกระแส "ม็อบสนธิ" ปรากฏข่าวเล็กๆ ที่มีความหมายใหญ่ๆ ว่าด้วยเรื่องเอฟทีเอออกมาจากการแถลงข่าวของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (4 ก.พ.49)


 


คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจนี้ ตั้งขึ้นอย่างเร่งด่วนเมื่อ 23 มกราคมที่ผ่านมา ประกอบด้วยนักวิชาการจากหลายสาขา เพื่อให้ทำการศึกษาตรวจสอบการทำเอฟทีเอของภาครัฐ โดยเฉพาะ "ยักษ์" อย่างสหรัฐ


 


ผลของการร่วมกันวิเคราะห์ปรากฏเป็นข้อเสนอ 2 ข้อใหญ่ๆ คือ 1. ชะลอการเจรจาไว้ก่อน ไม่ต้องรีบ 2. การผูกพันข้อตกลงควรใช้วิธีให้สัตยาบรรณ


 


"ไม่ต้องรีบ" ดูเหมือนเป็นประเด็นเล็กๆ แต่ต้องมาเป็นจุดเน้นแรกของคณะอนุกรรมการฯ นี้ เพราะท่าทีของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีชัดเจนว่า เดินตามกรอบข้อเรียกร้องของสหรัฐที่ต้องการให้เสร็จสิ้นภายใน "ฤดูใบไม้ผลิ" ปี 49 หรืออาจเร่งสปีดให้เสร็จภายในมีนาคม-เมษายนนี้เลยก็ได้ ทั้งที่การเจรจาประเด็นสำคัญ อย่าง ทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน การค้าบริการ เพิ่งมายื่นข้อเสนอที่ชัดเจนมากขึ้นก็ในเดือนมกราคมนี้เอง


 


การเมืองเรื่องความเร็ว สะท้อนชัดในถ้อยคำของ บาร์บารา ไวเซิล หัวหน้าคณะเจรจาสหรัฐ ซึ่งแสดงความไม่ค่อยพอใจในการแถลงข่าวผลการเจรจารอบ 6 ที่เชียงใหม่ (9-13 ม.ค.49) ว่า สหรัฐเจรจากับไทยมา 18 เดือนถือว่านานมาก แต่ยังเหลือเรื่องที่ต้องทำอีกมากมาย ดังนั้น คณะเจรจาสหรัฐจะเพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่า เพื่อให้เสร็จทันเวลาที่กำหนด!


 


ขณะที่นักวิชาการในทีมอนุกรรมการฯ ดร.สมบูรณ์ ศิริประชัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้นำเสนอข้อมูลในด้านกลับกันว่า ในอดีตสหรัฐทำเอฟทีเอกับประเทศอื่นน้อยมาก เพิ่งมารุกเร้าเอาจริงก็หลังปี 2000 โดยเริ่มต้นกับประเทศที่พันธมิตรทางทหาร เช่น ออสเตรเลีย บาร์เรน ชิลี จอร์แดน โมรอกโค สิงคโปร์ เป็นต้น


 


ส่วนใหญ่ใช้เวลา 2-3 ปี และมีหลายกรณีที่เจรจากันยาวนานแต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้ เช่น อียิปต์ ไต้หวัน กลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ ปานามา โดยเฉพาะเกาหลีใต้ซึ่งเป็นคู่ค้ากับสหรัฐที่สำคัญมากกว่าไทยมากนัก เจรจากันมา 15 ปีแล้ว และเพิ่งมาฟื้นฟูกันใหม่อีกเร็วๆ นี้


 


ประเทศไทยเพิ่งเปิดการเจรจาเพียง 19 เดือน จึงจิ๊บจ๊อยนัก ขนาดสิงคโปร์ที่ว่าแน่ๆ มีความสามารถในการแข่งขันสูง ไม่มีภาคเกษตรกรรม ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติให้ต้องคิดหนักกลัวใครเข้ามาขโมย พอตกลงใจนั่งเจรจากับสหรัฐแล้ว ยังใช้เวลาถึง 31 เดือน


 


"ตัวอักษรเพียงหนึ่งตัว อาจทำให้ความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้น เราจึงต้องรอบคอบอย่างยิ่ง" เหตุผลที่ดร.ลาวัลย์ ถนัดศิลปกุล จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ให้ไว้สำหรับการชะลอการเจรจา


 


เรื่องนี้เคยมีนักกฎหมายระหว่างประเทศท่านหนึ่งเสนอไว้ว่า การทำสนธิสัญญาใดๆ ควรทำเป็น 2 ภาษา คือ ให้มีภาคภาษาไทยด้วย เพื่อให้มีการพิจารณากันอย่างรอบคอบแท้จริง และมีปัญหาในการตีความน้อยลง


 


ด้านบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร ระบุถึงเหตุผลที่รัฐบาลไทยจำต้องเร่งจบกาเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐให้เร็วที่สุด มี 2 ประการ อย่างแรกคือ กฎหมายการค้า (TPA/Trade Promotion Authority 2002) ของสหรัฐที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารเจรจาการค้าได้อย่างรวดเร็ว กำลังจะสิ้นอายุในปี 2550 นี่เป็นข้ออ้างได้ว่า ถ้าเอฟทีเอเสร็จไม่ทัน กฎหมายนี้หมดอายุเสียก่อนจะลำบาก ทำให้ต้องรอการต่ออายุกฎหมายอีก


 


บัณฑูรชี้ว่า การที่กฎหมายนี้หมดอายุว่ากันตามจริงน่าจะเป็นผลดีกับประเทศไทย เพราะจะเป็นการปลดล็อกที่สหรัฐปฏิเสธไม่ยอมให้เราต่อรองเรื่องสำคัญๆ เช่น สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต สิทธิบัตรในการรักษาโรค โดยเอาแต่อ้างว่า "กฎหมายของเรากำหนดไว้อย่างนั้น"


 


ต้องทำความเข้าใจระบบของสหรัฐนิดหนึ่งว่า ในการทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ตามกรอบของกฎหมายนี้ ฝ่ายบริหารจะจัดทำ "เป้าหมาย" ของเอฟทีเอว่ารัฐบาลสหรัฐเรียกร้องต้องการอะไรบ้างเพื่อเสนอให้ทั้งสภาล่างสภาบนอนุมัติ แล้วนำมาเสนอสภาอีกทีตอนที่การเจรจาสำเร็จลงตามกรอบนั้น โดยรัฐสภาสหรัฐไม่มีสิทธิแก้ไขข้อตกลงนั้น ทำได้เพียงเซย์ Yes หรือ No


 


อีกเหตุผลหนึ่ง บัณฑูรระบุว่า สนธิสัญญาไมตรี 2509 (Treaty of Amity) ที่ให้สิทธิพิเศษนักลงทุนสหรัฐเหนือประเทศอื่นจะหมดอายุลงในปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยได้ขอยกเว้นกับองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ไว้ 10 ปี (ตั้งแต่ 2538) เพื่อให้สนธิสัญญานี้ยังใช้การได้ แม้ว่าจะไปขัดกับกฎการแข่งขันของดับบลิวทีโอ


 


เขาชี้ว่า สหรัฐต้องการคำตอบว่าไทยจะทำอย่างไรต่อในเรื่องนี้ แน่ละ คำถามของพี่เบิ้มเป็นเรื่องต้องตอบ และทางออกเรื่องนี้ก็มีอยู่ไม่กี่ทางคือ 1.ปล่อยให้สนธิสัญญาไมตรีถูกยกเลิกไปเลย 2. ขอต่ออายุกับดับบลิวทีโอ 3. ให้สิทธิพิเศษกับประเทศอื่นๆ ด้วยจะได้ไม่ขัดกับกฎของดับบลิวทีโอ 4.ทำเอฟทีเอ โดยเอาสิทธิพิเศษต่างๆ ในสนธิสัญญาไมตรีใส่ไว้ด้วย ..... ท้ายที่สุดรัฐบาลเลือกทางสุดท้าย


 


"อย่างไรก็ตาม ผมได้ข้อมูลมาเมื่อเร็วๆ นี้จากผู้เจราจาว่า ไทยได้ยื่นข้อเสนอในการต่ออายุสนธิสัญญาไมตรีกับดับบลิวทีโอไปแล้ว นั่นหมายความว่า แรงกดดันที่เราเคยมีว่าจะตอบคำถามสหรัฐอย่างไรนั้น ในวันนี้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องขีดเส้นให้เสร็จภายในมีนา เมษานี้แล้ว" บัณฑูรกล่าว


 


ทั้งนี้ สนธิสัญญาไมตรีที่ว่านี้ มีการยกเว้น 7 สาขาที่นักลงทุนต่างชาติจะเป็นเจ้าของไม่ได้ คือ การสื่อสารโทรคมนาคม การขนส่ง การรับฝากเงิน การลงทุนในที่ดิน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การซื้อขายสินค้าพื้นเมือง การค้าบริการ ซึ่งหลายสาขาที่อยู่ในนี้เป็นผลประโยชน์สำคัญที่สหรัฐเรียกร้องให้เปิดเสรีในเอฟทีเอ


 


"ภาคบริการนี้คือหัวใจของสหรัฐ ฝ่ายไทยบอกว่าได้รับชัยชนะที่ไม่เปิดเสรีการเงิน ขอเรียนว่านั่นแค่ชัยชนะเบื้องต้น สิ่งที่น่ากลัวอยู่ในบทการลงทุนทั้งหมด เขาไม่แคร์แม้ว่าเราไม่เปิดภาคการเงิน เพราะบทนิยามการลงทุนมันกว้างขวางมาก มันครอบคลุมไปหมดโดยอัตโนมัติ และสิ่งที่จะถูกยกเลิกคือ การควบคุมเงินลงทุนระยะสั้น ซึ่งอันตรายที่สุด วิกฤตปี 40 จะกลับมาหลอกหลอนพวกเราอีก รวมทั้งบทคุ้มครองการลงทุน จะทำให้การฟ้องร้องค่าโง่มีจำนวนมากขึ้น" ดร.ลาวัลย์กล่าวเสริม


 


ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องการให้สัตยาบรรณ ดร.ลาวัลย์ได้อธิบายความสำคัญ และเหตุผลที่ขอให้รัฐบาลเลือกวิธีนี้ว่า ในการผูกพันตามสนธิสัญญา (ข้อตกลงเอฟทีเอก็มีสถานะเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ) อันเป็นการรับรองขั้นสุดท้ายนั้น รัฐสามารถกระทำได้หลายวิธี เช่น การลงนาม การแลกเปลี่ยนตราสาสน์ การยอมรับ การให้ความเห็นชอบ การภาคยานุวัติ การให้สัตยาบรรณ แล้วแต่รัฐภาคีจะตกลงกัน


 


ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้วิธีลงนาม ซึ่งจะผูกพันทันทีที่ลงนาม โดยที่เนื้อหาในข้อบทต่างๆ นั้นไม่ได้ถูกเปิดเผยอย่างครบถ้วน ทำให้ขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นนอกเหนือจากรัฐ


 


ในกระบวนการให้สัตยาบรรณนั้น ก่อนให้สัตยาบรรณ จะต้องมีการยอมรับข้อบททั้งหมดเสียก่อนว่า สิ่งที่กำหนดในสนธิสัญญานั้นถูกต้องตามที่ตกลงไว้จริง ต่อมาก็ต้องรับรองความถูกต้อง แล้วจึงพิจารณาที่จะให้สัตยาบรรณ ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายภายใน เช่น หากเป็นสนธิสัญญาที่ต้องผ่านการอนุมัติ เห็นชอบ หรือผ่านการพิจารณาของสภา ก็ต้องดำเนินการตามนั้น


 


อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการให้สัตยาบรรณนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อบทที่ได้รับการรับรองแล้วในสนธิสัญญาได้ เพราะการให้สัตยาบรรณเป็นเพียงการยืนยันว่ายินยอม หากพิจารณาแล้วพบภายหลังว่าไม่เป็นประโยชน์กับประเทศจริง ก็ทำได้เพียงไม่ให้สัตยาบรรณ


 


"วิธีการนี้ประชาชนจะได้ร่วมพิจารณาแท้จริง เจ้าของประเทศควรมีสิทธิรับรู้ว่าอนาคตของตนเอง ต้องผูกพันกับสนธิสัญญาในประการใดบ้าง" ดร.ลาวัลย์แสดงความคิดเห็น


 


อย่างที่บอกว่าสัตยาบรรณเป็นหนึ่งในหลายวิธีของการผูกพันประเทศตามสนธิสัญญา ดังนั้น หากต้องการวิธีนี้ ดร.ลาวัลย์บอกเอาไว้ว่า ไทย-สหรัฐก็ต้องตกลงร่วมกันว่าจะเลือกแบบนี้ หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้องระบุในสนธิสัญญากำหนดให้ใช้วิธีนี้เสียเลย หรืออีกทางหนึ่ง ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจลงนามในสนธิสัญญา ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมีการให้สัตยาบรรณโดยรัฐอีกครั้งหนึ่ง


 


"เราถึงต้องเรียกร้องไว้ตั้งแต่ยังเจรจากันอยู่ เพื่อให้กำหนดไว้ให้ชัดเจน เพราะหากทำไปถึงขั้นรับรองข้อบทแล้ว ก็จะไม่มีประโยชน์" ดร.ลาวัลย์ระบุ


 


ที่สำคัญ รัฐไม่ควรมัดคอตัวเอง ด้วยการกำหนดระยะเวลาว่าต้องให้สัตยาบรรณภายในเท่านั้นเท่านี้ เพราะสหรัฐเองก็เคยใช้เวลานานถึง 40 ปีในการพิจารณาการให้สัตยาบรรณผูกพันสหรัฐ


 


เมื่อยอมผูกพันตามสนธิสัญญาไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตามเรียบร้อยแล้ว รัฐภาคี่ต้องปฏิบัติตามสิทธิสัญญานั้น ปฏิเสธอ้างนู่นอ้างนี่ไม่ได้


 


การปฏิบัติตามสนธิสัญญา ครอบคลุมถึงองค์กรต่างๆ ของรัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ จึงมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายภายในรองรับ บังคับให้เป็นไปตามผลของสนธิสัญญานั้นๆ ด้วย


 


"ภายใต้เอฟทีเอ จะทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลง หรือออกกฎหมายใหม่ไม่ต่ำกว่า 200-300 ฉบับ เรียกว่าจะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนครั้งมโหฬาร" ดร.ลาวัลย์กล่าว


 


นี่คือเหตุผลที่ดร.ลาวัลย์เห็นว่าเรื่องนี้ควรผ่านรัฐสภาตามมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะสนธิสัญญานี้จะเปลี่ยนขอบเขตอำนาจรัฐ ในแง่อำนาจของการออกกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามเอฟทีเอ


 


 


 


ทั้งหมดนี้เป็นที่มาที่ไปในข้อเสนอของนักวิชาการ ซึ่งรัฐบาลสามารถรับฟัง นำไปพิจารณาได้ทันที โดยไม่ต้องเมื่อยแล้วเมื่อยอีกกับการ "เปิดทำเนียบ" รับฟังความคิดเห็นจากคนอื่น !!!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net