Skip to main content
sharethis

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังจากที่นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ส่งรายงานการได้มาซึ่งหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ในจำนวนที่เท่ากันคนละ 164.6 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท โดยระบุว่าเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบไม่พบว่ามีรายการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปผ่านตลาดหลักทรัพย์ในวันดังกล่าว


 


ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต.จึงให้นายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา ในฐานะผู้ซื้อ รวมทั้งบริษัทแอมเพิล ริช อินเวสเม้นท์ ในฐานะผู้ขาย แก้ไขแบบรายงาน พร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดของการซื้อขายหุ้นดังกล่าว โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา นายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา และบริษัทแอมเพิล ริช ได้ส่งแบบรายงานข้อมูลชุดแก้ไขต่อ ก.ล.ต.แล้ว โดยระบุว่า การได้มาซึ่งหุ้นชินคอร์ปของบุคคลทั้งสองเป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์


 


อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในแบบรายงานฉบับใหม่ สำนักงาน ก.ล.ต.พบว่า นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ถือหุ้นชินคอร์ปผ่านบริษัทแอมเพิล ริช มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า บุคคลทั้งสองมีความเกี่ยวพันกับแอมเพิล ริช มาตั้งแต่เมื่อใด และมีหน้าที่ต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ หรือทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) มาก่อนหน้านี้หรือไม่ ดังนั้น ก.ล.ต.จึงมีหนังสือสั่งให้นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวต่อ ก.ล.ต.ภายใน 7 วัน เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่า มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 อย่างครบถ้วนหรือไม่


 


ทั้งนี้ จากเอกสารแนบของสำนักงาน ก.ล.ต.ซึ่งสรุปสาระสำคัญของการรายงานการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์พบว่า นายพานทองแท้ถือหุ้นชินคอร์ป ผ่านแอมเพิล ริช อยู่แล้ว 9.80% และได้มาเพิ่มอีก 5.49% รวมเป็น 15.29% ขณะที่ น.ส.พิณทองทา ถือหุ้นชินคอร์ปผ่านแอมเพิล ริช อยู่แล้ว 14.67% และได้มาเพิ่มอีก 5.49% รวมเป็น 20.15% สำหรับประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในหรืออินไซเดอร์ในการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปในช่วงก่อนหน้านี้นั้น สำนักงาน ก.ล.ต.ระบุว่า ยังอยู่ในขั้นตอนที่ตลาดหลักทรัพย์รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ จึงยังไม่มีข้อยุติในขณะนี้


 


รายงานข่าวจากสำนักงาน ก.ล.ต.เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 246 เรื่องการไม่รายงานการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ กำหนดว่า ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำผิดจริงจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และมีโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทนับจากวันที่กระทำผิดจนถึงวันที่มีการแก้ไขการกระทำดังกล่าวให้ถูกต้อง หรือโทษสูงสุดทั้งจำทั้งปรับ โดยกรณีที่จะมีโทษถึงจำคุกนั้น จะพิจารณาจากความรุนแรงและผลกระทบจากการกระทำผิดดังกล่าว


 


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้ว่าจะการกระทำผิดในมาตราดังกล่าวหลายกรณี แต่ก็ยังไม่เคยมีการลงโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุก เนื่องจากผู้กระทำผิดจะยอมรับโทษการเปรียบเทียบปรับ ทำให้การพิจารณาสิ้นสุดลงที่กระบวนการเปรียบเทียบปรับเท่านั้น แต่หากผู้กระทำผิดไม่ยอมรับ สำนักงาน ก.ล.ต.ก็จะส่งเรื่องต่อไปยังกองบังคับการปราบปรามทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (สศก.)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net