Skip to main content
sharethis


แม้จะเหลือเวลาในการดำรงตำแหน่งอยู่ไม่ถึง 2 เดือน แต่วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกของไทยก็ทำ "แฮตทริก" ที่ต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์หลังถูก "ตีกลับ" จากสำนักราชเลขาธิการเป็นหนังสือขอให้ทบทวนการขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายร่างประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) เพื่อทรงพิจารณาและขอพระราชทานพระมหากรุณาทรงลงพระปรมาภิไธย


 


ถ้าเป็นเด็กต้องถูกจับมาตีมือแล้วว่า "เจ็บไม่รู้จำ" บอกไม่รู้กี่ครั้งจะเลือกกรรมการเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระต้องทำให้รอบคอบ อะไรที่ไม่สง่างามก็อย่าดันทุรังไปทำ


 


ถ้าในวุฒิสภา ประกอบไปด้วยเด็กเล็ก ๆ ลอง มาดูกันเถิดว่า เด็กชายและเด็กหญิงที่อยู่ในสภาอันทรงเกียรตินั้นทำอะไรกันมาบ้างที่ว่า "ไม่รู้จักจำ" จนกลายเป็น "แฮตทริก" อัปยศไปในที่สุด


 


เรื่องราวคล้าย ๆ กันอย่างนี้ประเด็นแรก คือทำผิดซ้ำซาก ผิดแล้วผิดอีก ในกรณีของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เริ่มกันตั้งแต่เรื่อง "บัญชีรายชื่อ" ว่า คตง.ต้องส่งมาให้ ส.ว. พิจารณาคนที่ได้คะแนนสูงสุดเพียงคนเดียว หรือเป็น "บัญชีรายชื่อ" แล้วก็ยืนกรานว่าต้องเป็น "บัญชีรายชื่อ" แล้วก็เลือกกันไปจนได้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา มาดำรงตำแหน่ง อยู่ไปปีกว่าๆ มี ส.ว. บางคนนึกขึ้นได้ว่า การดำรงตำแหน่งของคุณหญิงจารุวรรณนั้นขัดระเบียบ คตง. ส่งเรื่องให้ประธาณวุฒิสภา แล้วก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไปตามลำดับ พอศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าการดำรงตำแหน่งเลือกผู้ว่า สตง. ขัดระเบียบ คตง. ก็เอามาตีความกันต่อว่า คุณหญิงพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว


 


สุดท้ายดึงดันเลือกผู้ว่าสตง. ใหม่ได้ชื่อ นายวิสุทธิ์ มนตริวัตร นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภาก็นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ปรากฏว่าพ้นระยะเวลา 90 วันแล้วก็ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯลงมา เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องยาวมาจนกระทั่งบัดนี้ นี่คือเรื่องที่ 1


 


เรื่องต่อมาคือกระบวนการสรรหากรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสช.) ซึ่งมีปัญหา มีคดีค้างศาลปกครอง มิไย ส.ว.เสียงส่วนน้อยเสนอแล้วว่า ให้รอคำพิพากษาของศาลปกครองก่อน มิไยจะมีเสียงทัดทานว่ากระบวนการสรรหากสช. เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ เนื่องจากผู้ได้รับการเสนอชื่อและกรรมการสรรหามีส่วนได้ส่วนเสียตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจนกระบวนการสรรหาต้องคว่ำไปเป็นท่ามาครั้งหนึ่งแล้วผู้สมัครและกรรมการคู่เดิมตามคำพิพากษาก็ยังดึงดันอยู่ในกระบวนการสรรหา แต่เสียงทัดทานก็ไม่เป็นผล ที่ประชุม ส.ว.ยังคงนำพากันไปสู่กระบวนการสรรหาอันอิหลักอิเหลื่อจนได้มาครบ 7 รายชื่อ ด้วยคำแนนฉลุยรอบเดียวผ่านคะแนนทิ้งห่างชัดเจนอย่างกับเตี๊ยมกันมา


 


สุดท้าย การสรรหากสช.อันเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็มาจบเห่ลงตรงคำพิพากษาศาลปกครองว่าการสรรหานั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย "ทุกขั้นตอน" ยังเป็นความอิรุงตุงนังกันมาจนทุกวันนี้ว่า จะอุทธรณ์ดีหรือไม่อุทธรณ์ดี แต่ที่แน่ๆ เมื่อไม่มี กสช. ก็มีแนวคิดจะโอนอำนาจที่ กสช. มีอยู่ให้กทช. (กรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคม)ไปซะอย่างนั้น


 


และล่าสุด กรณี ป.ป.ช. ซึ่งก็ผ่านกระบวนการสรรหาที่ ส.ว. เสียงส่วนน้อยอย่างแก้วสรร อติโพธิ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ยืนกรานว่า ดำเนินการต่อไม่ได้ เมื่อปรากฏว่า พล.อ.ประวิตร พงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. ขอถอนตัว ทำให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อมีไม่ครบ 18 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด


 


ลำพังการถอนตัวของพล.อ. ประวิตรก่อนการเลือกของวุฒิสภาก็เป็นเรื่องต้องถกถียง แต่ข้อเท็จจริงยังเพิ่มเติมขึ้นอีกด้วยว่า ประธานวุฒิสภา นามสุชน ชาลีเครือได้รับหนังสือแสดงเจตจำนงขอถอนตัวจากพล.อ. ประวิตร ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมเพื่อสรรหา ป.ป.ช.ในวันที่ 1 พ.ย. 2548 มีเวลา 10 วันก่อนหน้า ประธานวุฒิสภากลับไม่แจ้งให้กับสมาชิกวุฒิสภาทราบเรื่องดังกล่าว


 


เมื่อจำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อไม่ครบตามรัฐธรรมนูญกำหนด นั่นก็คือปัญหาว่า การดำเนินการสรรหาต่อไปจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประเด็นในช่วงเช้าของวันที่ 1 พ.ย.จึงอยู่ที่ว่า วุฒิสภาจะดำเนินการสรรหาต่อไปหรือไม่ และในที่สุดด้วยคะแนน 92 ต่อ 78 คะแนนยืนกรานให้สรรหาต่อไป กระทั่งเลือกได้ ว่าที่ ป.ป.ช. จำนวน 9 คน ในขณะที่ ส.ว. เสียงส่วนน้อยหลายคน วอล์กเอาท์ไปตั้งแต่พ่ายมติในช่วงแรก


 


ประธานสุชน ทำหน้าที่ทูลเกล้าฯ รายชื่อทั้ง 9 เพื่อทรงทรงพิจารณาและขอพระราชทานพระมหากรุณาทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แต่ที่สุดแล้ว สำนักราชเลขาฯ ก็ทำหนังสือมาขอให้ทบทวนดังที่เป็นข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27 ม.ค.)


 


เนื้อหาในหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการว่าอย่างไร


นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว. กรุงเทพฯ กล่าวว่าประเด็นปัญหาที่สำนักราชเลขาธิการต้องการให้วุฒิสภาทบทวนมี 3 เรื่องหลัก ๆ คือ


 


1.การเลือกกรรมการป.ป.ช.ต้องมีจำนวน 2 เท่าตามรัฐธรรมนูญกำหนดคือ 18 คน แต่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ทบ.ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อป.ป.ช.ขอถอนตัวทำให้เหลือ 17 คน ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่น และได้ส่งเรื่องกลับไปสรรหาใหม่ แต่ในวันนั้นพยายามดึงดันที่จะเลือก และพยายามปกปิดทำเรื่องให้ครบ 18 คน โดยใส่ชื่อพล.อ.ประวิตรให้เลือกด้วย และก็มีส.ว.4 คนจงใจเลือกพล.อ.ประวิตรเพื่อให้ครบ 18 คน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน


 


2.คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ เป็นกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 17 คน ต่ำกว่าเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ป.ป.ช. ต้องเป็นผู้ที่เคยเป็นอธิบดีหรือดำรงตำแหน่งเทียบเท่า แต่ผู้ได้รับการเสนอชื่อบางคนใช้ซี 10 หรือตำแหน่งเงินเดือนเทียบเท่า โดยไม่เคยเป็นผู้บริหารในหน่วยงานมาก่อน


 


3.กรรมการสรรหา ป.ป.ช. บางคนมีส่วนได้เสียกับการสรรหา เนื่องจาก ร.ศ.สุพล วุฒิเสน กรรมการสรรหา ป.ป.ช.มีเรื่องถูกร้องเรียนจากนายชวลิต ชัชยานุกร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ร้องเรียนต่อป.ป.ช. 18 ข้อ ซึ่งคำร้องเรียนดังกล่าวเป็นความจริง และ ป.ป.ช.รับไว้พิจารณา ซึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวน จึงทำให้กระบวนการสรรหาครั้งไม่ชอบธรรม ไม่โปร่งใส ไม่ชอบด้วยหลักจริยธรรม และจะส่งผลให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อสาธารณะชน


 


แล้วจะทำอย่างไรต่อไป


เมื่อหนังสือจากสำนักราชเลขาฯ เป็นที่รู้กันทั่วในวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ท่าทีในการตอบรับก็แตกต่างกันไป หลายเสียงเรียกร้องให้นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา ลาออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาเสียเพื่อแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโอการโดยตรง


 


สำหรับกระบวนการที่เสียไปแล้วนั้น มี 2 สายเห็นต่างกัน สายหนึ่งว่า ถ้าจะเลือกให้ครบก็ต้องเลือกใหม่ทั้งหมด ถือเป็นการล้มกระดานเริ่มใหม่แต่ต้น โดยให้เหตุผลว่า หากจะเลือกเพิ่มเติมก็เป็นการทำให้กระบวนการไม่จบไม่สิ้น ความเห็นด้านนี้ มี ส.ว.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองเป็นผู้เสนอ โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมด้วยว่า เนื่องจากกระบวนการสรรหาที่ผ่านมาไม่โปร่งใส และขณะนี้ทราบว่า มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเตรียมที่จะขอถอนตัวหลายคน เพราะบางคนเป็นถึงอัยการสูงสุด มีประวัติดี แต่ไม่ได้รับเลือกแม้แต่คะแนนเดียว คงไม่ทนอยู่ให้ถูกย่ำยีซ้ำซากไม่มีวันที่สิ้นสุด


 


โดย ส.ว.เจิมศักดิ์คาดว่าจะใช้เวลาในการเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ไม่เกิน 1 เดือน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ พร้อมกันนั้น ส.ว. เจิมศักดิ์ยังกระตุกต่อมความทรงจำว่า ประเด็นที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อคราวก่อนในจำนวน 18 คนนั้น มีบางคนแสดงตัวชัดเจนว่า สนิทสนมกับนายกรัฐมนตรีและภริยาเป็นพิเศษ อย่าลืมกันเสียล่ะ


 


ข้อเสนออีกแนวทางก็คือ แนวทางของนายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ส.ว. สิงห์บุรี ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา ซึ่งเสนอว่า   กระบวนการสรรหา ปปช. ต้องกลับมาเริ่มใหม่ให้ครบถ้วน คือต้องเลือกคนมาแทน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือไม่ก็ให้ พล.อ.ประวิตร ยืนยันการไม่ถอนตัวไปที่ราชเลขาฯ


 


ที่สุดก็คงต้องมีการถกเถียงกันในหลักการอีก ซึ่งเชื่อว่าคงอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยนายสุชนกล่าวว่า ถ้าจะให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเร็วที่สุด ก็ต้องทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพราะหากรอไปถึงวันที่ 4 มี.ค. ซึ่งเป็นสมัยประชุมปกติ ก็คงไม่ทันการเนื่องจากวุฒิสภาจะหมดวาระแล้ว     


 


ทั้งนี้นายสุชนยังคงยืนกระต่ายขาเดียวอย่างที่เคยทำมาตลอดการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาอันอื้อฉาวว่า ปัญหากระบวนการแต่งตั้ง ปปช. ถือเป็นปัญหาโดยรวมของวุฒิสภาที่ต้องร่วมกันแก้ไขไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เอ๊ะ ยิ่งพูดยิ่งคุ้น....ลองนึก ๆ ดู อ๋อ....ก็มันหลายครั้งมาแล้วนี่นะ ที่ท่านสุชนพุดอย่างนี้


 


ฟังท่านสุชนอธิบายแบบนี้บ่อย ๆ ก็ชวนให้คิดเล่น ๆ ว่า ในกระแสแก้รัฐธรรมนูญอันเกรียวกราวอยู่ขณะนี้ ถ้าจะเพิ่มเข้าไปอีกมาตราหนึ่งว่า "ประธานวุฒิสภาไม่ต้องแสดงความรับผิดด้วยการลาออกไม่ว่าในกรณีใด ๆ" ก็คงไม่น่าจะแปลกอะไร เพราะท่านประธานสุชน ชาลีเครือ ได้สร้างบรรทัดฐานดังกล่าวให้ประชาชนคุ้นชินจนกระทั่งจะกลายเป็นกฎหมายจารีตอยู่มะรอมมะร่อแล้ว


 


ผิดซ้ำซาก หมดเวลาเรียนรู้


นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่าการที่ราชเลขาฯขอความเห็นมาครั้งนี้เป็นเสมือนคำเตือนว่า "อย่าสุกเอาเผากิน" อีก และต้องระมัดระวังจิตวิญญาณของตนไว้ เพราะสิ่งที่กระทำนั้นเป็นเรื่องกระทบต่อศรัทธาของประชาชน แต่ก็ไม่รู้ว่าข้อเสนอของนายวีรศักดิ์จะมาช้ากว่าเวลาไปหรือไม่ เพราะบัดนี้ ประชาชนไทยย่อมเห็นด้วยตาตนเองอยู่แล้วว่า ท่านวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติทั้งหลายไม่ได้เรียนรู้ หรือเรียนรู้ช้าเกินกว่าที่ประชาชนจะต้องเสียเวลารอคอยและเสียเงินเสียทองจ่ายค่าเสียรู้ของท่านทั้งหลายอยู่ต่อไปก็เปลืองเปล่า บางทีลาออกกันไปทั้งคณะเลยก็อาจจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมและประหยัดภาษีราษฎรได้มาโขอยู่


 


บทเรียนผิดพลาดซ้ำซากของคนที่ไม่รู้จักเรียน 200 คนนี้ อย่าลืมว่าต้องจ่ายไปในราคาแพงเดือนละไม่ต่ำว่า 12,600,000 บาท มาเป็นเวลาตั้งเกือบ 6 ปีแล้ว สำหรับ ส.ว. เสียงส่วนน้อย แม้จะได้พยายามทัดทานคัดค้านหรือแสดงพลังอย่างไร แต่ท่านก็ย่อมเห็นอยู่ด้วยตาตนเองแล้วว่า ไม้ซีกงัดไม่ซุงไม่ขึ้น พาลจะหักเสียเปล่า ๆ เหลือเวลาสำหรับ ส.ว.อีก 2 เดือน ถ้าจะร่วมกันรับผิดชอบกับความผิดพลาดอันน่าเหนื่อยใจก็จะช่วยประหยัดภาษีราษฎรไปได้ไม่ต่ำกว่า 25,200,000 นึกว่าทำบุญช่วยชาติ ถึงจะไม่มากเท่ากับที่ท่านนายกฯ อัจฉริยะผู้มีทักษะใช้สมอง 2 ซีกซึ่งมีเงินตุงกระเป๋าอยู่กว่า 7 หมื่นล้านบาทก็ตามที


 


แต่เอ....เมื่อพูดถึงเงิน 7 หมื่นล้านในกระเป๋าตุงๆ ของนายกและเครือญาติแล้วก็อดคิดไม่ได้...ท่ามกลางคำถามที่ระงมเซ็งแซ่ด้วยความอิจฉาที่ดังขึ้นว่า "ทำไมไม่เสียภาษีซักบาท" ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า ไม่มี ป.ป.ช อย่างนี้ก็คงจะดีพิลึกสำหรับใครบางคน


 


....................................................................


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ผิดซ้ำซาก ราชเลขาฯ ตีกลับ รายชื่อ ป.ป.ช.


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2351&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 


 


รายงาน : Encore une Fois อีกครั้งกับ ป.ป.ช.


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=1423&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net