Skip to main content
sharethis


 



ภาพจาก www.tjanews.com


 


 


วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2006 18:07น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


นักวิชาการด้านการจัดการปัญหาความขัดแย้งและสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับอดีตแกนนำกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทั้งกบฏอาเจะห์และโมโร รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีบทบาทในการหารือแก้ไขปัญหา จัดสัมมนาเพื่อศึกษาแนวทางการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้ง โดยเห็นว่าประสบการณ์การเจรจาร่วมกันเป็นทางออกที่ดีที่สุด และรัฐบาลไทยควรศึกษาบทเรียนที่เกิดขึ้นกับสองพื้นที่ดังกล่าว เพื่อหาทางแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้


 


ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม ที่ผ่านมาสถาบันการวิจัยและศึกษาเพื่อสันติภาพ มหาวิทยาลัยซายน์มาเลเซีย(REPUSUM)ร่วมกับเครือข่ายศึกษาความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEACSN) และองค์การความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น(JICA) จัดสัมมนา"สันติสัมมนาเพื่อความเป็นหนึ่ง"กระบวนการสร้างสันติภาพและการวางแผนเชิงกลยุทธสำหรับอาเจะห์และมินดาเนา มีผู้เข้าร่วมจากหลายประเทศด้วยกัน ทั้งนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสตรีและประชาธิปไตยจากจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย นายทหารฟิลิปปินส์ที่ร่วมเจรจากับขบวนการอิสลามปลดปล่อยชาติโมโรหรือ MILF ( Moro Islamic Libration Front) ผู้นำ MILF และสื่อมวลชนด้านสันติภาพซึ่งดำเนินกิจกรรมสื่อทางเลือก ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการร่วมกันคลี่คลายวิกฤติ และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทั้งสองประเทศ


 


ประเด็นหลักในการสัมมนาเน้นไปที่กระบวนการสร้างสันติภาพโดยผ่านโต๊ะเจรจาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มต่อต้าน เนื่องจากผลกระทบจากสงครามและการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งที่ประชุมสรุปผลการสัมมนาว่า ปัญหาทุกปัญหามีทางออกหากทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจและมีความตั้งใจที่จะร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อความสงบสุขและสันติสุขของประชาชน การถอดบทเรียนจากกรณีอาเจะห์และมินดาเนานับว่าเป็นสิ่งที่ท้าท้ายสำหรับทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับรัฐบาลฟิลิปปินส์เนื่องจากยังมีกลุ่มอาบูซายาฟที่มีกองกำลังเป็นของตัวเองและศัตรูตัวฉกาจของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในขณะนี้


 


การเปิดโอกาสของรัฐบาลอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่เปิดใจกว้างในการรับข้อเสนอของกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของพลเมืองอาเจะห์และมินดาเนา หรือที่รัฐบาลเรียกว่า "กบฏ"ได้แสดงถึงความมีสปิริตความเป็นผู้นำที่ชาญฉลาดของผู้นำประเทศทั้งสอง ถึงแม้ว่าต้องใช้ระยะเวลานานก็ตาม เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ต่างก็ต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลในการปราบปราม และกำลังพลทั้งสองฝ่ายต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องกลายเป็นเหยื่อของสงครามและความรุนแรงจากการใช้กำลังของทั้งสองฝ่าย ผลกระทบอีกประการของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็คือ ภาวะการชะลอการพัฒนาในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสังคม และการศึกษา


 


ประเด็นสำคัญที่เวทีสัมมนาครั้งนี้ให้ความสนใจก็คือปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าหากรัฐบาลไทยให้ความสนใจศึกษา และนำบทเรียนจากกรณีทั้งสองในการแก้ปัญหา ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเห็นที่ตรงกันว่า "ความรุนแรงไม่สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งได้การเปิดโอกาสเพื่อเจรจาคือหนทางที่ดีที่สุดในยุคไร้พรมแดน และไทยเองก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาภายในของไทยเท่านั้นตราบใดที่ส่งผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน "


 


"ปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก มีกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่หลายกลุ่มด้วยกัน ต้องศึกษาปัญหาให้มากกว่านี้แท้จริงประชาชนต้องการอะไร ดังนั้นยากให้รัฐบาลกับกลุ่มก่อการยุติการใช้ความรุนแรงและเปิดประตูเจรจากันปัญหาทุกอย่างก็แก้ได้" รศ.ดร. ซัม อัสกันดาร์ ผอ. REPUSUM ให้ความเห็นต่อปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทย


 


___________________________________________


ข้อมูลประกอบ


 


ความเป็นมาเรื่องความขัดแย้งกรณีอาเจะห์


โดย ปรางทิพย์ ดาวเรือง


 


อาเจะห์ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรในช่วงก่อนเหตุการณ์สุนามิประมาณ 4 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีภาษาถิ่นคือภาษาอาเจะห์ ซึ่งต่างกับภาษามลายูอย่างเป็นทางการของอินโดนีเซีย


 


อาเจะห์ในอดีตก่อนยุคอาณานิคมของดัชท์และก่อนการรวมชาติอินโดนีเซีย เป็นอาณาจักรอิสระที่มีการปกครองโดยระบบสุลต่าน เนื่องจากที่ตั้งของอาเจะห์ซึ่งอยู่ในเขตช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือหลักที่เชื่อมต่อเอเซียตะวันออกเฉียงใต้กับภูมิภาคอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมุสลิมในตะวันออกกลาง อาเจะห์จึงเป็นด่านหน้าในการรับเอาวัฒนธรรมและความก้าวหน้าด้านการค้าและศาสนาอิสลาม นอกจากนั้น การที่อาเจะห์มีความร่ำรวยทางด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างสูง ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจึงก้าวหน้าและยังขยายอิทธิพลไปยังอาณาจักรใกล้เคียงด้วย


 


ในสงครามต่อต้านอาณานิคมดัชท์ภายใต้การนำของพลเอกซูการ์โน อาเจะห์ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรและมีประวัติการสู้รบอย่างกล้าหาญ เมื่อซูการ์โนการประกาศเอกราชและรวมชาติอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2487 อาเจะห์ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซียนับแต่นั้นมา


 


ความขัดแย้งระหว่างอาเจะห์กับรัฐอินโดนีเซีย


ความขัดแย้งระหว่างผู้นำของอาเจะห์กับรัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มขึ้นไม่นานหลังจากการประกาศอิสรภาพและรวมชาติอินโดนีเซีย ประเด็นความขัดแย้งเบื้องต้นเกิดจากความรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมของโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากนโยบายที่กำหนดโดยรัฐบาลอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องในเบื้องแรกของอาเจะห์ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นเรื่องสิทธิทางการเมืองในการปกครองและการจัดสรรทรัพยากรด้วยตนเอง (autonomy)


 


ประเด็นความขัดแย้งได้เปลี่ยนไปในยุคของประธานาธิปดี ซูฮาร์โต ผู้นำเผด็จการทหารซึ่งอยู่ในอำนาจกว่าสามทศวรรษ ในยุคนี้อินโดนีเซียได้นำเอาทรัพยากรจากส่วนต่างๆของประเทศเข้าสู่กระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง อาเจะห์นั้นถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียแห่งหนึ่ง โดยเป็นผู้ผลิตแก๊สธรรมชาติที่เรียกว่า LNG หรือ liquefied natural gas เพื่อส่งออกในปริมาณสูงถึงหนึ่งในสามของประเทศ โดยบริษัทผู้ผลิตผูกขาดคือ เอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเข้าร่วมทุนกับวิสาหกิจด้านน้ำมันของรัฐที่ชื่อว่าเปอร์ตามินา (Pertamina) แม้ว่าอินโดนีเซียจะได้รับรายได้จากการส่งออกน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจากอาเจะห์อย่างมหาศาล ประชาชนส่วนใหญ่ของอาเจะห์เองกลับมีปัญหาความยากจนและไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ ความไม่ยุติธรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจนี้เอง ทำให้กลุ่มต่อสู้เพื่อเอกราชกลุ่มใหม่ได้ก่อตัวขึ้นในนามของ แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะห์สุมาตรา (Aceh Sumatra National Liberation Front) หรือเป็นที่รู้จักทั่วไปว่า "แกม" ตามตัวย่อของชื่อภาษาอินโดนีเซีย (Gerakan Aceh Merdeka) ในปี พ.ศ. 2519โดยผู้ก่อตั้งคือ ฮัสซัน ดี ทีโร ผู้สืบเชื้อสายจาก ชีค ดี ทีโร วีรบุรุษในส่งครามปลดปล่อยเพื่อเอกราชจากดัชท์


 


"แกม" มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนในเรื่องการแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศอินโดนีเซีย(independence) เพื่อตั้งรัฐใหม่ที่ชื่อว่าอาเจะห์สุมาตรา และปฏิเสธแนวคิดเรื่องการปกครองตนเองภายใต้อธิปไตยของอินโดนีเซีย (autonomy) อุดมการณ์ของแกมได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชนอาเจะห์ เพราะนอกจากความไม่ยุติธรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจอันก่อให้เกิดปัญหาความยากจนแล้ว การทารุณกรรมต่อประชาชนโดยกำลังทหารและตำรวจอินโดนีเซียที่มีอย่างกว้างขวางในระดับที่ร้ายแรงได้สร้างความโกรธแค้นต่อรัฐอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนนอกจากนั้น ประเด็นด้านประวัติศาสตร์ซึ่งชี้ว่าอาเจะห์เป็นรัฐอิสระมาก่อน ยังสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ของแกมด้วย


 


การปราบปรามอย่างหนักภาคใต้รัฐบาลซูฮาร์โตทำให้ผู้นำรุ่นแรกของแกมลี้ภัยและทำการจัดตั้งรัฐบาลเงาอยู่ที่ประเทศสวีเดน อย่างไรก็ตาม สมาชิกฝ่ายทหารของแกมในพื้นที่ได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ก่อนเหตุการณ์สุนามิ กองกำลังติดอาวุธของแกมได้แบ่งการควบคุมออกเป็น 17 เขต แต่ละเขตนำโดยผู้บังคับบัญชาของตนเอง มีการหารายได้ด้วยการเก็บภาษีจากประชาชนเช่นเดียวกับรัฐบาล กล่าวกันว่าการที่กองกำลังติดอาวุธของแกมมีสมาชิกใหม่เพื่อขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและต่อเนื่องโดยกองทัพ และฝ่ายความมั่นคงของอินโดนีเซีย ผู้นำแกมอ้างว่า กองกำลังของตนสามารถขยายตัวครอบคลุมพื้นที่ในอาเจะห์ได้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์


 


การปะทะกันระหว่างแกมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ก่อให้เกิดภาวะสงครามในอาเจะห์มานานกว่า 30 ปี ทั้งยังมีผลกระทบต่อโครงสร้างทางการปกครองและสังคมในอาเจะห์อย่างสูง เช่นการขาดผู้พิพากษาในศาลท้องถิ่นเนื่องจากผู้พิพากษาที่มาจากส่วนกลางตกเป็นเป้าโจมตีของกองกำลัง การย้ายถิ่นของประชากรจำนวนมากเนื่องจากหมู่บ้านของตนเองถูกโจมตีและถูกเผา ซึ่งส่วนมากระบุว่าโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปรากฎการณ์ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือการโจมตีและสังหารประชาชนโดยกลุ่มคนติดอาวุธซึ่งไม่ระบุว่าเป็นฝ่ายไหนอย่างต่อเนื่องมานับสิบปี


 


มีความพยายามของทั้งสองฝ่ายในการเจรจาสันติภาพตั้งแต่ปี 2542 หลังจากที่ประธานาธิบดี ซูฮาร์โตลงจากลงจากอำนาจ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งเหตุการณ์สุนามิทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง และได้เซ็นสัญญาสันติภาพยอมรับการปกครองตนเองตามเงื่อนไขของแกมซึ่งยุติสงครามอันยาวนานในอาเจะห์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net