Skip to main content
sharethis


ภาพจากศูนย์ข่าวอิศรา www.tjanews.com


 


วันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2005 17:55น. 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


"ปัตตานีไม่เคยมีน้ำท่วมหนักขนาดนี้ ครั้งสุดท้ายก็เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว น้ำแดงจากภูเขาไหลบ่าเข้าท่วมทั้งเมือง แต่ครั้งนี้ลุงว่าน้ำยังสูงกว่าตอนนั้นอีก..." เป็นคำบอกเล่าของชายชราจากบ้านบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่พูดถึงอุทกภัยครั้งร้ายแรงในช่วงชีวิตที่เคยประสบ


 


"น้ำแดง" หรือ "น้ำสีแดง" ที่ชายชราเอ่ยถึง ก็คือน้ำสีขุ่นจากดินแดงบนภูเขาซึ่งหลากจากจังหวัดยะลาเข้าท่วมเมืองปัตตานี เมื่อราวปี พ.ศ.2514  และสีของน้ำที่ขุ่นคลั่กเจิ่งนองอยู่ทั่วเมืองปัตตานีในวันนี้ ทำให้ชายชราย้อนระลึกถึงความหลังเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว


 


อย่างไรก็ดี ชายชราบอกว่า ระดับน้ำที่ท่วมอยู่ในปัจจุบัน น่าจะสูงกว่าเมื่อครั้งวิกฤติ "น้ำสีแดง" เสียด้วยซ้ำ เพราะในครั้งนั้นแม้น้ำจะท่วมจนมิดสะพานข้ามคลองและถนนทางเข้าเมืองปัตตานีเหมือนเช่นวันนี้ แต่ทั้งถนนและสะพานที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ถูกสร้างใหม่จนมีความสูงกว่าสมัยก่อนมาก


 


         "ลุงว่าครั้งนี้หนักกว่าครั้งที่แล้วเยอะ และน้ำก็มาเร็วจนเก็บข้าวของกันไม่ทัน ชาวบ้านเดือดร้อนกันมากจริงๆ" ชายชรากล่าวขณะนั่งซุกตัวอยู่ในเต็นท์ผ้าใบบนพื้นถนนเจิ่งน้ำ ซึ่งทางจังหวัดจัดไว้ให้ เนื่องจากบ้านเรือนที่อยู่ลึกเข้าไปล้วนจมอยู่ใต้น้ำสีขุ่นซึ่งสูงกว่าระดับเอว


 


        ความเดือดร้อนจากอุทกภัยในปลายปี 2548 ลุกลามไปทั่วทั้งจังหวัด ทำให้การช่วยเหลือจากทางราชการเป็นไปอย่างล่าช้า แม้แต่พื้นที่รอบๆ เขตเทศบาลเมืองปัตตานีเองก็ตาม


 


        ที่ถนนดอนรัก-ท่าด่าน น้ำท่วมตลอดสายตั้งแต่ระดับเข่าถึงหน้าอก ชาวบ้านตลอดสองข้างทางต้องอพยพมาอาศัยกินอยู่หลับนอนบนทางหลวงสายใหญ่ด้านนอก


 


 


          "บ้านฉันน้ำท่วมมา 2 วันแล้ว น้ำมาตอนกลางคืน เร็วมากจนเก็บอะไรไม่ทันเลย ต้องหนีมาอยู่บ้านญาติริมถนนใหญ่" นิเย นิมะ วัย 42 ปี แม่ค้าขายอาหารสดประจำหมู่บ้าน เล่าให้ฟังถึงนาทีที่น้ำไหลบ่าเข้าร้านของเธอ


 


          "ตอนนี้ฉันต้องปิดร้าน น้ำประปาก็ไม่ไหล ที่ผ่านมายังไม่มีคนของทางการมาช่วยเหลืออะไรเลย" นิเย กล่าว ก่อนจะระบายความรู้สึกว่า


 


          "พูดแล้วก็อยากจะร้องไห้ เพราะ 2-3 ปีมานี้ ต้องทนกับเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่แทบจะทุกวัน พอเริ่มจะดีขึ้นมาบ้าง ก็มาเกิดน้ำท่วมอีก มันเหมือนซ้ำเติมกันจริงๆ" เธอกล่าวพร้อมยกมือขึ้นปิดหน้าด้วยความเครียด และไม่อยากหันไปดูน้ำที่ยังคงท่วมขังอย่างไม่มีวี่แววจะลดรา


 


         นิเย บอกด้วยว่า แม้แต่ที่กุโบร์ (สุสานของชาวมุสลิม) น้ำก็ท่วมจนมิด เมื่อวานเพิ่งมีคนแก่ป่วยจนเสียชีวิต ก็ไม่สามารถนำศพไปฝังได้ ต้องจ้างรถขนาดใหญ่ไปฝังยังกุโบร์อื่นที่น้ำไม่ท่วม


 


         บริเวณริมถนนย่านดอนรัก  ยังมี การีหม๊ะ เด็งโด สาวน้อยวัย 20 เศษๆ กำลังยืนรอพี่สาวและลูกเล็กๆ อีก 6 คนอยู่อย่างใจจดใจจ่อ


 


         "ฉันมาจากกะพ้อ (อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี) มารับพี่สาว " เธอบอก ก่อนจะอธิบายว่า "พอดีบ้านฉันอยู่บนที่ดอน น้ำไม่ท่วม ก็เลยโทรศัพท์มาถามพี่สาวว่าทางนี้เป็นอย่างไรบ้าง พี่สาวบอกว่าน้ำขึ้นทุกชั่วโมงเลย ชั่วโมงละ 2-3 นิ้ว เขากลัวมาก ฉันก็เลยตัดสินใจขับรถมารับ"


 


         กะรีหม๊ะ บอกว่า จริงๆ แล้วที่ อ.กะพ้อ บ้านของเธอ สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีกว่านี้สักเท่าไหร่ เพราะน้ำท่วมสูงจนถนนขาดมาหลายวัน ชาวบ้านที่อยู่ลึกไปทางริมแม่น้ำสายบุรีเริ่มขาดแคลนอาหาร ทางการต้องใช้เรือเป็นพาหนะเข้าไปแจกข้าวกล่องและน้ำดื่ม แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง


 


        โชคดีสำหรับเธอที่บ้านอยู่ไม่ลึกนัก และน้ำท่วมไม่ถึง จึงเดินทางมารับพี่สาวและหลานๆ แต่ก็ต้องขับรถอ้อมไปหลายอำเภอเพื่อหนีน้ำ ใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง…


 


        ถัดจากบ้านดอนรัก ก็เข้าเขตอำเภอหนองจิก ซึ่งสองข้างทางเรียงรายไปด้วยเต็นท์ที่ชาวบ้านกางเอาไว้ เพื่อใช้เป็นที่พักชั่วคราว สลับกับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่จอดกันนับร้อยคัน


 


        "บ้านคลองขุดมีประมาณ 150 ครัวเรือน น้ำท่วมถึงเอว บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปใกล้ๆ คลอง เรียกว่ามิดชั้นล่างเลย" หามะ ดาเร็ง ผู้ใหญ่บ้านคลองขุดเล่าให้ฟัง


 


        สภาพของถนนจากบ้านคลองขุด ที่ด้านหนึ่งเชื่อมกับบ้านบางเขา และอีกด้านหนึ่งมุ่งไปทางตำบลตุยงนั้น ปรากฏว่ามีน้ำท่วมสูงตลอดสาย แม้แต่รถหกล้อที่พยายามจะขนผู้คนกลับเข้าไปเก็บข้าวของที่บ้าน หลังจากหนีน้ำออกมานอนบนถนน 2 คืนแล้ว ก็ยังเครื่องดับกลางทาง เพราะระดับน้ำที่สูงเกินไป


 


 


       ถัดจากบ้านคลองขุดเกือบ 10 กิโลเมตร ก็จะเข้าเขตตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก อันเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานปัตตานี และค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งแม้ทั้ง 2 จุดยุทธศาสตร์ของฝ่ายความมั่นคงจะตั้งอยู่บนเนินสูง ไม่ประสบปัญหาอุทกภัย ทว่าพื้นที่โดยรอบซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า ก็ถูกน้ำท่วมสูงจนรถขนาดเล็กไม่สามารถแล่นผ่านได้


 


       ชาวสวนยางในอำเภอหนองจิก เล่าให้ฟังว่า น้ำที่ขึ้นๆ ลงๆ มาตลอดทั้งเดือน ทำให้เขากรีดยางไม่ได้มานานแล้ว


 


 


        "2-3 วันนี้น้ำสูงเกือบถึงหน้าอก ลืมไปเลยเรื่องกรีดยาง และหลังจากน้ำลดแล้ว ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าครึ่งเดือน ถึงจะกรีดยางได้ เพราะต้องรอให้หน้ายางแห้งเสียก่อน ช่วงนี้ก็ขาดรายได้ไปเลย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร" เขากล่าวอย่างละเหี่ย


 


        บนเส้นทางสายปัตตานี-ยะลา ซึ่งตัดผ่านอำเภอหนองจิก และโคกโพธิ์ แม้จะมีเฉพาะรถขนาดใหญ่ที่แล่นผ่านได้เท่านั้น แต่การจราจรก็ยังติดขัด เนื่องจากมีเต็นท์หลบภัยของชาวบ้านตั้งเป็นระยะตลอดทาง


 


         วิถีชีวิตของชาวบ้านแถบนี้แทบจะย้ายขึ้นมาอยู่บนถนน เพราะมีทั้งโต๊ะ ตู้ เตียงวางอยู่เรียงราย บางคนถึงขั้นยกครัวขึ้นมาทำกับข้าวกินกันบนทางหลวง รวมทั้งร้านน้ำชา ซึ่งเป็นร้านยอดนิยมของชาวไทยมุสลิม


 


      วงน้ำชาริมถนนกลายเป็นแหล่งรวมของผู้คนที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงการให้ความช่วยเหลือจากทางราชการ ท่ามกลางอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์


 


         "ความช่วยเหลือจากทางจังหวัด  ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง และยารักษาโรค แจกจ่ายไม่ทั่วถึงเลย เพราะพวกเจ้าหน้าที่มักจะนำไปให้กับพรรคพวกของตัวเองก่อน ทำให้ชาวบ้านธรรมดาๆ ไม่ได้รับความช่วยเหลือ" ศิริรัตน์ เพ็ญชัยวิทูร ชาวบ้านจากอำเภอโคกโพธิ์ เอ่ยขึ้นด้วยเสียงอันดัง ท่ามกลางความสนใจของคนรอบวงน้ำชา


 


         "อยากจะฝากไปบอกผู้ว่าฯ ว่าของที่นำมาแจกนั้น ได้แต่กับพวกคนรวย ส่วนคนจนๆ ที่อยู่ลึกๆ ไม่ได้รับเลย มิหนำซ้ำพวกที่อยู่บ้านเช่าก็ไม่มีสิทธิได้รับ เพราะการจะไปรับของ ต้องนำทะเบียนบ้านไปด้วย" เธอเล่าถึงปัญหา และว่า แม้แต่ตัวเธอเองก็ต้องยืนแช่น้ำอยู่ 2 วันจนเท้าเปื่อย  ยาก็ไม่มี ต้องจ้างรถไปหาหมอที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธฯ


 


         ศิริรัตน์ บอกด้วยว่า น้ำท่วมครั้งนี้เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะเธอเพิ่งย้ายลงมาเปิดกิจการร้านอาหารเมื่อเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องพบกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่พอดี เมื่อมาเจอกับน้ำท่วมเข้าอีก ก็ทำเอากิจการของเธอแทบไปไม่รอด


 


         "ฉันก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะอพยพมาจากอยุธยาทั้งครอบครัว ก็คงต้องรอให้สถานการณ์มันค่อยๆ ดีขึ้นไปเอง" เธอกล่าวเสียงท้อ


 


 


         อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่แผ่กระจายไปในทุกพื้นที่ ก็มีความงดงามแทรกอยู่บ้างเหมือนกัน กับภาพของทหารที่พักรบชั่วคราว และระดมกำลังกันออกแจกจ่ายถุงยังชีพเพื่อบรรเทาทุกข์ชาวบ้าน


 


        ขณะเดียวกัน ครูจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหลายแห่ง อาทิ โรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน ก็ได้นำข้าวกล่อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขึ้นรถตระเวนแจกผู้ประสบภัย โดยไม่เลือกว่าเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม...


 


         แม้อุทกภัยครั้งใหญ่ส่งท้ายปี 2548 จะเป็นเสมือนเคราะห์ที่กระหน่ำซ้ำผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สงบมานานนับปี ทว่าน้ำจิตน้ำใจในยามยาก ย่อมจะเป็นพลังที่ทำให้ทุกคนก้าวพ้นวิกฤตการณ์ไปได้ ไม่ว่ามันจะรุนแรงแค่ไหนก็ตาม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net