Skip to main content
sharethis


เหตุผลการแจ้งความกล่าวโทษกรมวิชาการเกษตร


ในกรณีปัญหาการแพร่กระจายมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม


 


1. ในเดือนมิถุนายน 2547 ได้มีองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบพบว่ามะละกอพันธุ์แขกดำท่าพระที่ได้ซื้อไปจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ส่วนแยกพืช จังหวัดขอนแก่น และมะละกอที่ปลูกในแปลงของเกษตรกร อ.พล จ.ขอนแก่น เป็นเมล็ดพันธุ์มะละกอที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม และได้มายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบต่อสิทธิเกษตรกรและสิทธิผู้บริโภคอันเนื่องมาจากการหลุดแพร่กระจายของมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมดังกล่าว


 


2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ความสำคัญต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวโยงกับการกำหนดนโยบายด้านสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม(GMOs)ของประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในหลายมิติ ทั้งในด้านสิทธิเกษตรกร สิทธิของผู้บริโภค สิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิในทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และสิทธิในการพัฒนา


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการทดลองมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมต้านทานโรคจุดวงแหวนระดับแปลงในภาคสนาม และในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2547 ผลการตรวจพิสูจน์ข้อมูลทางพันธุกรรมยืนยันว่า มีมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมอยู่ในแปลงของเกษตรกร


 


4. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อ 14 กันยายน 2547 (ที่สม.0001/01/122) เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบ เสนอแนะในเชิงนโยบาย รวมทั้งแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมในสภาพแวดล้อม


 


อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมิถุนายน 2548 ได้มีข้อร้องเรียนจากเกษตรกรและองค์กรพัฒนาเอกชนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า จนถึงปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลปัญหาเรื่องนี้ยังมิได้ดำเนินงานจัดการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลสำเร็จ ยังมีการปลูกมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น จ.กำแพงเพชร จ.ระยอง เป็นต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้ตั้ง " คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบกรณีการหลุดรอดและแพร่กระจายของมะละกอตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) ในสิ่งแวดล้อม" ขึ้นมาเพื่อดำเนินการตรวจสอบประเด็นปัญหาข้อร้องเรียนดังกล่าว


 


5. จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ โดยทำการเก็บตัวอย่างมะละกอในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ระยอง , .มหาสารคราม , .ชัยภูมิ และ จ.กาฬสินธุ์ ในเดือนกรกฎาคม 2548 จากพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร 6 ราย ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อเกษตรกรที่ทางกรมวิชาการเกษตรส่งมาให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าเป็นผู้ได้รับเมล็ดและต้นกล้าพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระไปจากส่วนแยกพืชสวนขอนแก่น


 


ผลการตรวจพิสูจน์ข้อมูลทางพันธุกรรมที่ห้องปฏิบัติการ พบว่ามีมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมทั้งใน 4 จังหวัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่การตรวจสอบพบปัญหาการแพร่กระจายมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมในปี 2547 หลังจากผ่านไปกว่า 1 ปี ก็ยังคงมีการเพาะปลูกมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมอยู่ในแปลงเกษตรกร ในพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) .. 2542 ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย


 


 


6. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2548 เพื่อรายงานสภาพปัญหาความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และขอให้สั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน ซึ่งทราบภายหลังว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ยังคงมีการเพาะปลูกมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมอยู่ในหลายพื้นที่ โดยที่กรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้สรุปสาเหตุการหลุดรอดแพร่กระจายของมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมที่เกิดขึ้น และดำเนินการลงโทษผู้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น


 


7. จากสภาพปัญหาที่ปรากฏข้างต้น แสดงให้เห็นถึงปัญหาในด้านระบบและกลไกในการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafey System) ของประเทศไทย ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบตามกฎหมาย ซึ่งแม้จะได้ยอมรับแล้วว่ามีปัญหาการแพร่กระจายของมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมในสภาพแวดล้อมเกิดขึ้นจริง แต่ยังไม่เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบแก้ไขปัญหา ทำให้ปัญหาขยายออกไปกว่าที่ควรจะเป็นและมีความยุ่งยากในการแก้ไข


 


8. ดังนั้น เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย อันจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิของประชาชนและเป็นการแก้ไขเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ จึงต้องดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษอธิบดีกรมวิชาการเกษตรในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) ..2542 ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่


 


*****************************************************************


 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net