Skip to main content
sharethis


 



โดย ศูนย์ข่าวประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี

 


เครือข่ายเภสัชกร 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ร่วมกันหารือถึงการจัดสร้าง "ร้านยาสร้างสุขภาพ" โดยการดึงร้านยาต้นแบบจากจังหวัดใก้ลเคียงนำร่อง พร้อมให้บริการคำปรึกษาเรื่องกางดเหล้า-อดบุหรี่แก่ประชาชน


            ร้านยาเป็นสถานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ที่เป็นที่พึ่งและทางเลือกที่ใกล้ชิดประชาชน ในการดูแลรักษาภาวะความเจ็บป่วยเบื้องตนของตนเองและมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาที่ถูกต้องและการดูแลสุขภาพควบคู่กันไปกับการให้บริการด้านยา โดยประชาชนมักจะนึกถึง "ร้านยา" เมื่อต้องการจะซื้อยา หรืออาจมาร้านยาเมื่อต้องการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามแรงโฆษณาของสินค้าผ่านสื่อต่าง ๆ


            เครือข่ายเภสัชกรอุบลราชธานี มีความประสงค์ที่จะจัดทำโครงการ "ร้านยาสร้างสุขภาพ" โดยเริ่มจากการหาแนวร่วมที่เป็นร้านยาต้นแบบ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากร้านยาคุณภาพทั้ง 3 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี และเภสัชกรแกนนำอีกจำนวนหนึ่งร่วมกันประชุมโดยได้เชิญร้านยาในจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เพื่อร่วมประชุมและกำหนดหัวข้อการจัดทำโครงการ "ร้านยาสร้างสุขภาพ"


            เภสัชกรพีรวัฒน์ จินาทองไทย อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาเภสัชปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การสร้างร้านยาสุขภาพเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยให้ผู้ที่ติดบุหรี่มีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการเข้ารับคำปรึกษา ทั้งวิธีการอดเหล้า- อดบุหรี่ แม้แต่การนวดถนอมสายตา การนวดกดจุดลดอาการท้องอืดท้องผูกในบางกรณี และเป็นทางเลือกให้บริการด้านคำปรึกษาแก่ประชาชนเรื่องเหล้า-บุหรี่ และเพื่อเป็นการพัฒนาบทบาทของเภสัชกรในการสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมในร้านยาตลอดจนส่งเสริมให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการสร้างสุขภาพเพิ่มทักษะขีดความสามารถในการให้ความรู้แก่ประชาชนหรือผู้ติดเหล้า-บุหรี่ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนผู้มารับบริการมีความรู้ในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง และเภสัชกรประจำร้าน ในเขต จ.อุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 70 คน โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเงินงบประมาณกว่า 272,000 บาท


            ขณะที่สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยในปัจจุบันน่าเป็นห่วง จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2547 พบว่า มีผู้สูบบุหรี่ประจำ 9.6 ล้านคน โดยลดลงจาการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2544 เป็นชาย 9,627,686 คน เป็นหญิง 526,695 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 6.2 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 64 ของผู้สูบบุหรี่) เป็นประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีผู้สูบบุหรี่มากที่สุด คือ 3.5 ล้านคน ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ปีละ 52,000 คน หรือวันละ 142 คน หรือชั่วโมงละ 6 คน (ศูนย์ข้อมูลมูลนิธิรณรงค์เพื่อการสูบบุหรี่ พ.ศ. 2548)


            นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากอดีตในปี 2531 ถึงปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก และมีคำขวัญรณรงค์ประจำในแต่ละปีเพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนได้คระหนักถึงโทษ และพิษภัยของบุหรี่ ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยการสนับสนุนให้บุคลากรสาธารณสุขที่สังคมยอมรับและมีอิทธิพลในการเป็นผู้นำชุมชน ซึ่งมีศักยภาพสูงสุดที่จะส่งเสริมการลดการบริโภคยาสูบ มีบทบาทในการแสดงพลังสร้างสรรค์ให้สังคมปลอดบุหรี่ ทั้งการเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่ จัดสถานที่ทำงาน คลินิก หรือโรงพยาบาลเป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยการติดสัญลักษณ์ไม่สูบบุหรี่ให้เห็นอย่างชัดเจน ตลอดจนให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายของการสูบบุหรี่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เยาวชนตกเป็นเหยื่อของการส่งเสริมการขายบุหรี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net