Skip to main content
sharethis


 


ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรภายใต้โลกาภิวัตน์....บางทีเราอาจจะหาอ่านคำอธิบายพื้นฐานได้จากหนังสือที่เขียนโดยคนอินเดีย....ทำไมน่ะหรือ  ตอบแบบกำปั้นทุบดิน....ก็โลกาภิวัตน์มันคือโลกาภิวัตน์ไง !


 


ตอบดี ๆ อีกที ก็อาจจะเป็นเพราะประเทศกำลังพัฒนาก็ประสบกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันหมดภายใต้โลกาภิวัตน์ที่ดูเหมือนจะมีเจ้าภาพกำหนดวาระของโลกให้ประเทศที่เหลือหมุนตามไปอีกทีด้วยสำนึกว่าเรากำลังวิ่งไปในจังหวะที่เท่าเทียมกัน ด้วยกติกาเดียวกัน แต่เมื่อทำความเข้าใจมันลึก ๆ ก็กลับพบว่า มันชักจะไม่เป็นอย่างที่เราเข้าใจนะสิ....


 


กวัลจิต สิงห์ เป็นชาวอินเดีย ผู้ศึกษาและผลิตงานเขียวเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Public Interest Research Center ในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย สิ่งที่เขาศึกษาและเขียนก็คือหัวข้อเกี่ยวกับการเงิน การค้า และการพัฒนา งานของเขาได้รับการตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และหนังสือพิมพ์


 


เขาคือผู้แต่งหนังสือซึ่งได้รับการตอบรับอย่างสูง 2 เล่มคือ Taming Global Financial Flow: Challenge and Alternatives in the Era of Financial Globalization ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2000 และ The Globalization of Financial: A Citizen" s Guide ตีพิมพ์ในปี 1988 หนังสือทั้งสองเล่มของเขาได้รับการแปลในหลายภาษา


 


และสำหรับหนังสือเล่มล่าสุด "ถามท้าโลกาภิวัตน์"- Questioning Globalization กำลังจะได้รับการแปลเป็นภาษาไทย เขากล่าวแนะนำหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวเองเมื่อวันเสาร์ที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


......................................................................................................


 


 


ผมดีใจและขอขอบคุณที่ให้โอกาสผมมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมดีใจที่หนังสือได้รับการเปิดตัวที่กรุงเทพฯ เพราะมันเริ่มต้นขึ้นที่นี่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว


 


ผมอยากจะทำหนังสือที่ไม่ใช่วิชาการมากมายแต่เป็นเรื่องอ่านกันง่าย ๆ และเป็นประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ นั่นคือจุดเริ่มที่ทำให้ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเมื่อ 3 ปีก่อน


 


คนที่ได้อ่านหนังสือของผมแล้วก็จะพบว่าหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนก็คือบท 1-2 พูดเรื่องลักษณะทั่วไปทางเศรษฐกิจของโลกาภิวัตน์


 


อีกส่วนหนึ่งคือมิติทางการเมืองของโลกาภิวัตน์


 


ถึงอย่างไรคุณก็ต้องอยู่กับโลกาภิวัตน์


โลกาภิวัตน์ไม่ได้มีนิยามเป็นสากล เช่นในอินเดียอาจจะบอกว่า ก็คือการดื่มโค้กหรือใส่กางเกงยีนส์ก็เป็นโลกาภิวัตน์แล้ว หรือบางคนการใช้โทรศัพท์มือถือก็เป็นโลกาภิวัตน์แล้ว ถ้าใช้อินเตอร์เน็ตก็ถูกมองว่าเป็นโลกาภิวัตน์


 


แต่ผมจะบอกว่า แม้ว่าคุณจะไม่ใช้สิ่งเหล่านี้ คุณก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของมันอยู่ดี เพราะโลกาภิวัตน์นั้นแผ่ไปกว้างขวางตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2


 


คนมีการข้ามพรมแดนมาเป็นพันปีแล้ว แต่เมื่อมาดูประวัติศาสตร์ในช่วง 1980 - 1990 โลกถูกทำให้เป็นโลกาภิวัตน์ สิ่งที่ใหม่ของการข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นในโลกาภิวัตน์คือ ความเร็ว


 


ยกตัวอย่างเช่น กว่าที่คนจะใช้วิทยุอย่างแพร่หลายก็ต้องกินเวลาประมาณ 30-40 โทรทัศน์ใช้เวลา 10 ปี ในขณะที่อินเตอร์เน็ตใช้เวลาเพียง 4 ปี ในการเข้าถึงคนประมาณ 50 ล้านคน


 


โลกาภิวัตน์ตอบสนองคนบางชนชั้นเท่านั้น


โลกาภิวัตน์ไม่ได้เป็นกลางแต่โลกาภิวัตน์ตอบสนองคนเพียงบางกลุ่ม บางชนชั้นเท่านั้น เช่น ถ้าเราดูเรื่องตลาดการเงินของโลก เราก็จะเห็นการค้าเงินดอลล่าร์ข้ามประเทศมากมาย ในขณะที่การข้ามพรมแดนของแรงงานถูกจำกัด ยกเว้นก็แต่แรงงานฝีมือชั้นสูง


 


จากมิติของโลกาภิวัตน์ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 มิติได้แก่โลกาภิวัตน์ด้านการผลิต โลกาภิวัตน์ด้านการค้า และ โลกาภิวัตน์ด้านการเงิน บทแรกในหนังสือของผม ผมพูดเรื่องโลกาภิวัตน์ด้านการเงิน


 


โลกาภิวัตน์การเงินไม่มีการจัดระเบียบ


ในขณะที่มีการถกเถียงกันเรื่องโลกาภิวัตน์มากมาย แต่ "โลกาภิวัตน์ด้านการเงิน" กลับไม่มีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันมากนัก


 


โลกาภิวัตน์ด้านการเงินนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ใหญ่มาก ๆ โลกาภิวัตน์ด้านการเงินใน 1 วันมีมูลค่าเท่ากับ 1: 6 ของโลกาภิวัตน์ด้านการค้าเลยทีเดียว


 


โลกาภิวัตน์ด้านจการค้านั้นมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็มีข้อถกเถียงตามมา เป็นต้นว่า ในขณะที่จีนประสบความสำเร็จอย่างมากเรื่องโลกาภิวัตน์ด้านการค้า แต่หลายประเทศก็ประจักษ์ว่า โลกาภิวัตน์ด้านการค้ากลับสร้างปัญหาเรื่องการว่างงาน และแม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วตอนนี้มีการเสียงานมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงงาน ปัจจุบันจึงมีการเรียกร้องให้มีการทำโควตาการนำเข้าเสื้อผ้านำเข้าจากประเทศจีน


 


ในความเห็นของผมการลงทุนกับระหว่างประเทศจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีกรอบการตกลงที่ถูกต้องเท่านั้นและเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้มนการผลิตก็จะต้องไม่นำไปสู่การว่างงานเพิ่มขึ้น


 


ทั้งนี้ เมื่อเราพูดถึงโลกาภิวัตน์ด้านการค้า อย่างน้อยเราก็ยังมี WTO (องค์การการค้าโลก) ซึ่งมีกฎระเบียบ และแม้จะมีข้อถกเถียงว่ากฎระเบียบเหล่านั้นก็ถูกละเมิดโดยประเทศร่ำรวย นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อเรามาดูด้านการเงินแล้วไม่มีกฎระเบียบอะไรเลยที่จะมาควบคุมโควตาเงินตราระหว่างประเทศที่ไหลเปลี่ยนอยู่ในระหว่างประเทศตลอดเวลา ไม่มีนโยบายตรวจสอบติดตามใด ๆ ทั้งสิ้น


 


โลกาภิวัตน์การเงินมีศัพยภาพในการทำลายระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ


โลกาภิวัตน์ด้านการเงินไม่ได้สร้างงานใหม่ ๆ ขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมีศักยภาพที่จะทำลายระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ เช่น ปรากฏการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับ โคลัมเบีย ไทย รัสเซีย อาร์เจนตินา ซึ่งได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ด้านการเงิน


 


ในหนังสือของผมโลก ผมพยายามถอดมายาคติบางอย่าง เช่น การเชื่อว่าโลกาภิวัตน์ด้านการเงินจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งที่จริงแล้ว โลกาภิวัตน์ด้านการเงินไม่มีการเชื่อมโยงอะไรเลยที่จะแสดงให้เห็นว่า ยิ่งเปิดเสรีทางการเงินมากเท่าไหร่เศรษฐกิจก็จะดีมากขึ้นเท่านั้น


 


การไหลเปลี่ยนของการเงินไม่ได้นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นเลย ถ้าเราดูช่วงที่มีการปล่อยเสรีทางการเงิน เราก็จะเห็นภาพตรงกันข้ามเลย โดยพบว่าเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มตกต่ำลงในช่วงนั้น ที่แย่ที่สุดเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ1990 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปิดเสรีทางการเงินอย่างมาก


 


ในทางตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ ซึ่งมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากมาย ประเทศเหล่านี้ไม่มีการเปิดเสรีทางการเงิน


 


ปัจจุบันนี้ ผมเห็นพวกธนาคารต่าง ๆ ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ถูกธนาคารต่างประเทศควบคุม การที่มีธนาคารต่างชาติมาลงทุนไม่ทำให้มีการเติบโตของเศรษฐกิจเลยและธนาคารต่างชาติเข้ามายังทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างผิด ๆ ด้วย ธนาคารใหญ่ ๆ ระหว่างประเทศไม่ปล่อยเงินกู้ให้ธุรกิจขนาดกลาง ชาวไร่ชาวนาเข้าไม่ถึงเงินกู้  มีแต่เพียงเงินกู้สำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เท่านั้น ในขณะที่ธุรกิจเล็ก ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจของชาติ


กลับเข้าไม่ถึง


 


ระเบียบโลก ควบคุมชาติไม่ควบคุมบรรษัท


บทที่ 2 ผมพูดเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆในระดับโลก ตอนนี้ในโลกมีการควบคุมเรื่องการลงทุน และขณะนี้มีการต่อต้าน WTO มากมาย ผมคิดว่าการมีกฎการควบคุมระดับโลกก็เป็นเรื่องดี แต่กฎต่าง ๆ ที่มีอยู่ขณะนี้กลับไม่ได้ควบคุมบรรษัทข้ามชาติเลย แต่กลับมาควบคุมรัฐบาลมากกว่า


 


กฎมันก็ดูดีนะ แต่การลงทุนมันมีประโยชน์กับใคร การอ้างว่ากฎระเบียบเหล่านี้จะเอื้อให้มีการลงทุนสูงขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกาคือ มี 3 ประเทศที่ไปทำข้อตกลงการลงทุนเป็น 100 ข้อ แต่การลงทุนกลับมีน้อยลง ในแอฟริกาได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น


 


โลกาภิวัตน์กับประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน


ส่วนที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้คือ บทที่ 3 และบทที่ 4 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล


 


ผมขอพูดเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยก่อน ผู้ที่สนับสนุนโลกาภิวัตน์จะบอกว่าโลกาภิวัตน์กับประชาธิปไตยนั้นช่วยเสริมซึ่งกันและกัน แต่ถ้าเราบอกว่าประชาธิปไตยหมายถึงกรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น คุณภาพชีวิต การใช้ทรัพยากรอย่างเป็นประชาธิปไตย การได้รับการรักษาโรค การมีที่อยู่อาศัย การได้รับโอกาสในการจ้างงาน การได้รับการศึกษา...ถ้านิยามประชาธิปไตยแบบนั้นแล้ว ผมก็ว่าประชาธิปไตยกับโลกาภิวัตน์ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน


 


ในโปแลนด์ ประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย พวกเขาล้มรัฐบาลเผด็จการ แต่สิ่งที่เขาได้ก็คือ ตลาดหุ้น...ประชาธิปไตยกับตลาดหุ้นมันไม่ใช่เรื่องเดียวกันนะ


 


ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของอาณานิคม มันเป็นเรื่องของการอภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลง โดยต้องมีเงื่อนไขบางอย่าง และเอาไปใช้ในทุกแง่มุมของชีวิตและสังคม ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้น


 


ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยไม่ใช่สินค้าที่จะส่งออก มันไม่ใช่เครื่องเล่น MP3 หรือโทรศัพท์มือถือที่จะส่งออกไปทั่วโลก


 


และประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องการไปทิ้งระเบิดอย่างที่อเมริกากำลังไปทำอยู่ในอิรัก อเมริกากำลังไปบังคับใช้ประชาธิปไตยในอิรักในขณะที่ก็กำลังละเมิดอะไรหลายอย่าง ประชาชนตายมากมายเพราะประชาธิปไตยที่อเมริกากำลังส่งเสริม สิ่งที่อเมริกาทำคือการทำลายประชาธิปไตยในนามของประชาธิปไตย


 


และที่สุดแล้วผมเชื่อว่าประชาธิปไตยไม่ใช่จุดหมายในตัวของมันเอง ปัจจุบันเรามีประเทศมากมายที่ถูกปกครองโดยสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่เมื่อเราดูอย่างละเอียดแล้วกลับพบว่า ส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ไม่สามารถให้การบริการพื้นฐานหรือปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนของตัวเองได้


 


ดูอินเดียสิ อินเดียเป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของอินเดียไม่ได้นำไปสู่สิทธิด้านอาหาร หรือสิทธิในการมีชีวิตที่ดี แบบเดียวกับในอเมริกาใต้ซึ่งกำลังมีการเกิดขึ้นของประชาธิปไตยมากมายตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา แต่ผมอยากให้คุณเข้าไปดูในนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ ซึ่งพูดถึงงานสำรวจของเอ็นจีโอในอเมริกาใต้ พบว่า ชาวอเมริกาใต้ไม่พอใจกับระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเขาไม่พอใจการเลือกตั้งหรือหลักการประชาธิปไตย แต่ว่ามันไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาชีวิต


 


เรามีคำถามที่ต้องถาม 2 ข้อคือ ประชาธิปไตยแบบไหนหรือที่เราต้องการ มันไม่มีตัวแบบ ที่แน่นอน เป็นสากล


 


คำถามที่ 2 คือเราจะบรรลุประชาธิปไตยได้อย่างไร


 


ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเราจะพบว่ามีโลกาภิวัตน์ของการเป็นประชาธิปไตย พวกประเทศตะวันตกที่เคยสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการตอนนี้ก็เปลี่ยนมาสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตย โดยมีเหตุผล 2 ข้อ คือ สงครามเย็นจบไปแล้ว และประการต่อมาซึ่งสำคัญมากคือ นักลงทุนต่างประเทศต้องการความมั่นคงทางการเมือง เพราะฉะนั้นโลกตะวันตกจึงเห็นว่ารัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะไม่มีความมั่นคง การเมืองที่มั่นคงต้องมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจเป็นระยะ ๆ ไป


 


อเมริกาใช้เงินเป็นพันล้านเหรียญต่อปีเพื่อสร้างเสริมประชาธิปไตย แต่อเมริกาก็เป็นประชาธิปไตยโดยรูปแบบการเลือกตั้งเท่านั้นเอง


 


ความจริงก็คือ ถึงแม้จะมีการปฏิวัติให้เป็นประชาธิปไตยมากมายในหลายประเทศ แต่คำถามคือ ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นหรือไม่ประชาชนเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ การปฏิวัติเหล่านี้ไม่ได้ถกเถียงกันว่า สิทธิของประชาชนควรเป็นแบบไหน แต่กลับเป็นการต่อสู้เพียงเพื่อถกเถียงกันว่า เราจะแบ่งเงินกันอย่างไร หรือไม่ก็เป็นเรื่องการต่อสู้กันระหว่างมหาเศรษฐี 2 ฝ่ายเท่านั้นเอง แต่สำหรับประชาชนแล้ว คุณภาพชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้น


 


รัฐชาติไม่หายไปไหน แต่หนุนเสริมกันกับโลกาภิวัตน์


ในบทสุดท้าย ปัจจุบันมีการถกเถียงกันเรื่องโลกาภิวัตน์กับรัฐชาติ หลายคนเชื่อว่ารัฐชาติจะเล็กลงและหายไปในยุคโลกาภิวัตน์


 


จริงอยู่ว่า รัฐชาติกำลังเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายใหม่ ๆ ในโลกาภิวัตน์ แต่รัฐชาติก็ไม่ได้หายไป ดูจาก 20 ปีที่ผ่านมารัฐชาติไม่ได้หายไป


 


ก่อนหน้านี้เรามี 70 กว่ารัฐชาติ แต่เดี๋ยวนี้มีกว่า100 รัฐอิสระในความเห็นผม พรมแดนระหว่างชาติมันเปลี่ยนแปลงไป แต่อำนาจการเมืองยังคงมีอยู่ รัฐยังมีอำนาจอธิปไตยในการบังคับใช้วาระของตัวเอง ดูสิ อเมริกามีอำนาจน้อยลงไหม ประเทศจีนมีอำนาจน้อยลงไหม อินเดียเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีอำนาจน้อยลงเลย


 


ระบบเศรษฐกิจของโลกไปหนุนหลังรัฐชาติ งบประมาณชาติไม่น้อยลงกลับยิ่งพิ่มมากขึ้นยิ่งเปิดเศรษฐกิจมากก็ยิ่งต้องเอางบประมาณมาหมุนเวียน การลงทุนข้ามชาติต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐชาติ ถ้าไม่มีแรงหนุนจากรัฐชาติอย่างแข็งขันแล้วโลกาภิวัตน์ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ


 


การเข้าถึงตลาดต้องพึ่งพารัฐชาติ รัฐต้องดูแลเรื่องสิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญา สร้างการศึกษาและสุขภาพของประชาชน รัฐชาติต้องดูแลตลาดด้วย


 


ตัวอย่างที่สำคัญคือ อินเตอร์เน็ตซึ่งมาจากรัฐนั่นเอง อินเตอร์เน็ตไม่ใช่การกระจายอำนาจในการสื่อสาร อินเตอร์เน็ตถูกควบคุมโดยรัฐบาลอเมริกา รัฐบาลอเมริกาเป็นผู้ควบคุมการให้บริการอินเตอร์เน็ต รัฐบาลอเมริกาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทไอคอนซึ่งเป็นผู้ให้อีเมล์แอดเดรสเว็บไซต์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น .com อะไรก็ตาม


 


ประเทศในสหภาพยุโรปพยายามเรียกร้องให้อเมริกากระจายการควบคุมอินเตอร์เน็ตได้แล้ว แต่อเมริกาก็ปฏิเสธ


 


ในอินเดียก็เหมือนกัน ความสำเร็จเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะรัฐสนับสนุน


 


ฉะนั้น ตลาดเสรีทั้งหลายเป็นมายา เพราะดำรงอยู่ไม่ได้โดยไม่มีกฎหมาย ผมเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีกฎหมายซึ่งอยู่ในการดูแลของรัฐชาติ


 


การถกเถียงกันว่ารัฐอยู่ตรงข้ามกับตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ผิด จริง ๆแล้วเราควรจะคุยกันว่ายุทธศาสตร์อะไรที่เราจะต้องมีเพื่อที่จะทำให้ทั้งรัฐและตลาดมีความเป็นประชาธิปไตยและรับผิดชอบต่อประชาชน เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนโดยรวม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net